การประชุมสัญจรโซนใต้ ครั้งที่ 3/2549 (ต่อ)


       ช่วงนี้กำลังยุ่งกับการเขียนรายงานการวิจัยโครงการ "การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน" อยู่อย่างมากค่ะ  ก็เลยไม่ค่อยมีเวลาเข้ามาเขียนบันทึกสักเท่าไหร่  อยากให้งานเสร็จเร็วๆ  ชีวิตจะได้กลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง

       มาเข้าเรื่องกันดีกว่า  ผู้วิจัยตั้งใจจะเล่าเกี่ยวกับการประชุมสัญจรโซนใต้  ครั้งที่ 3/2549 ต่อให้จบค่ะ  แต่คิดว่าคงจะต้องใช้เวลาอีกหลายวัน 

       เรื่องแรกของการประชุมในครั้งนี้  อยู่ในวาระที่ 1  เรื่องประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ  สำหรับในการประชุมเดือนนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องที่พวกเราไปศึกษาดูงานที่จังหวัดกาญจนบุรี  สมุทรปราการ  และสมุทรสงคราม  ระหว่างวันที่ 12-14 สิงหาคม  2549  ที่ผ่านมา  งานนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากคณะกรรมการไม่ให้ความร่วมมือ  ทุนในการสนับสนุนไม่มี  รวมทั้งการอำนวยความสะดวกของพื้นที่  แต่เมื่อเรามีพร้อมทุกอย่าง  กิจกรรมจึงเกิดขึ้นและดำเนินไปได้ด้วยดี

       ในวันแรก  คือ  วันที่ 12 สิงหาคม  2549  เมื่อคณะกรรมการเดินทางไปถึง อ.พนมทวน  จ.กาญจนบุรี  เราได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากคุณยุทธภัณฑ์  เตชะแก้ว  และครอบครัว  ในฐานะตัวแทนของทีมวิจัยและคณะกรรมการต้องขอขอบพระคุณ (เจ้าภาพ) มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ 

       สถานที่แรกที่ไป  คือ  โรงงานกล้วย  (ไม่ทราบว่าชื่ออะไรเหมือนกันค่ะ)  คณะกรรมการที่ร่วมเดินทางไปด้วยสรุปว่าโรงงานกล้วยแห่งนี้มีจุดเด่น  คือ 

      1.การใช้บรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม  ดึงดูดใจ

      2.กล้วยมีความหลากหลาย  (หลายรส)

      3.มีหน่วยงานให้การสนับสนุน

      4.มีการจัดแบ่งงานตามหน้าที่  เช่น  ฝ่ายผลิต  ฝ่ายการตลาด  เป็นต้น

      แค่ไปที่สถานที่แรก  ทุกคนก็เกิดความประทับใจ  สิ่งที่สะท้อนออกมา  คือ  เป็นการเปิดโลกทัศน์  บางสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราอาจมองไม่เห็นประโยชน์

      หลังจากนั้นได้เดินทางไปที่สถาบันการเงินตำบลหนองสาหร่าย  ก่อนที่จะเดินทางไปที่นั่น  คณะกรรมการบอกว่าคุณยุทธภัณฑ์ได้เล่าสรุปเกี่ยวกับความเป็นมาของสถาบันการเงินแห่งนี้ให้ฟังก่อนแล้ว  ซึ่งคระกรรมการบอกว่ารู้สึกประทับใจตั้งแต่ยังไม่ได้เดินทางไปสถานที่จริง  ส่วนที่ประทับใจก็คงเป็นเรื่องของแนวความคิด  ความตั้งใจจริงในการพัฒนาของคนในชุมชน  และอีกส่วนหนึ่งคระกรรมการสะท้อนว่ารู้สึกประทับใจคุณยุทธภัณฑ์มาก  เพราะ  เป็นผู้ที่มีความรู้  มีอัทยาศัยที่ดี   ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากให้ชุมชนของเรามีคนอย่างนี้เยอะๆ  ในประเด็นนี้ผู้วิจัยเห็นว่าเป็นจุดที่ดี  ที่ทุกคนมีความฝันร่วมกัน  แม้จะมาจากต่างกลุ่ม  ต่างชุมชนกัน  แต่ก็มีอุดมการณ์กัน  หากกล่าวในแง่ของการจัดการความรู้  ก็คงจะพอกล่าวได้ว่าตอนนี้คณะกรรมการเริ่มมีความฝันร่วมกันแล้วว่าอยากสร้างคนในชุมชนให้มีลักษณะอย่างนี้  แต่ทุกคนก็ตระหนักดีว่าการสร้างคนเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาและความอดทน  คณะกรรมการบอกว่าในเบื้องต้นอยากเห็นหน่วยงานสนับสนุนในพื้นที่มีคุณลักษณะอย่างนี้  หน่วยงานสนับสนุนน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนในชุมชนได้  ผู้วิจัยก็เลยบอกว่าถ้าเรามีความตั้งใจจริง  พูดจริง  ทำจริง  เชื่อว่าต่อไปหน่วยงานสนับสนุนก็คงเห็นความสำคัญและเข้ามาร่วมงานกับเรามากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  แต่ขอให้ทุกคนอย่าท้อแท้  เพราะ  การสร้างคนไม่ง่ายเหมือนกับการสร้างตึกราม  บ้านช่อง  เพราะ  นอกจากต้องอาศัยเวลา  ทุน  ความตั้งใจแล้ว  ยังมีมติในเรื่องของความคิด  จิตใจ  และสภาพแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย 

หมายเลขบันทึก: 47271เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2006 20:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท