มหาวิทยาลัยวิจัย : 3. ตั้งคำถาม (2) ภาพใหญ่ของมหาวิทยาลัยวิจัย


          ถ้าอยากรู้ว่ามหาวิทยาลัยวิจัยเป็นอย่างไร อย่าไปถามคนที่เราคิดว่าเป็น "ผู้รู้" เพราะเขาจะไม่รู้จริง นี่คือคำแนะนำของผม สิ่งที่ควรทำคือเข้าไปศึกษาทางอินเทอร์เน็ต ว่ามหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำของโลกเขามีลักษณะอย่างไร

          มหาวิทยาลัยใด ไม่มีคนทำวิจัยนี้ได้ ไม่รู้วิธีหารายชื่อมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำของโลก ไม่รู้จัก World University Ranking และไม่รู้ว่าจะค้นอย่างไร ก็ควรต้องพิจารณาตนเอง ว่าจะยังอ้างเป้าหมายการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยต่อไปอีกหรือไม่ ถ้าจะอ้าง จะพัฒนาระบบความเข้าใจความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยอย่างไร

          คำถามที่จี้จุด (focus) การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย มีทั้งที่มีคำตอบเชิงปริมาณ และที่มีคำตอบเชิงพรรณา หรือต้องตอบแบบเล่าเรื่อง เพราะมันซับซ้อนมาก

          (๑) จำนวนนักศึกษา และจำนวนบัณฑิต ที่ลงรายละเอียด ว่าจำนวนทั้งหมดกี่คน ระดับต่ำกว่าปริญญากี่คน ระดับปริญญาตรีกี่คน ระดับปริญญาโทกี่คน ระดับปริญญาเอกกี่คน ผู้เข้ารับการอบรมวิจัยหลังปริญญาเอก (postdoc) กี่คน ยิ่งจำนวนในกลุ่มหลังๆ มาก ก็แสดงว่ามีลักษณะของมหาวิทยาลัยวิจัยมาก จำนวน สัดส่วน แบบไหนเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย หาเอาเอง หรือกำหนดเอาเองนะครับ ตอนผมไปงานรับปริญญาของลูกสาวที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อเดือนมิถุนายน ๔๙ เข้าใจว่าคนจบปริญญาเอกมีมากกว่าคนจบปริญญาตรี
มองที่จำนวนมันก็หลอกกันได้นะครับ มหาวิทยาลัยไทยบางแห่งมีหลักสูตรปริญญาเอก โดยที่ไม่มีอาจารย์ที่ทำวิจัยเรื่องนั้นสักคน หรือบางทีอย่าว่าทำวิจัยเลย แค่มีความรู้เรื่องนั้นก็ไม่มี หลักสูตรปริญญาเอกแบบนี้ไม่ช่วยทำให้ได้แต้มความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยเพิ่มขึ้น น่าจะติดลบด้วยซ้ำ

          (๒) จำนวนอาจารย์ และการทำภารกิจของอาจารย์ ผมเข้าใจว่ามหาวิทยาลัยวิจัยบางแห่งเขามีอาจารย์มากกว่านักศึกษา หรือใกล้เคียงกับจำนวนนักศึกษา เพราะเขามีอาจารย์ไว้ทำหน้าที่หลักคืองานวิจัย อาจารย์แต่ละคนอาจใช้เวลาและสมอง ๙๐% ในเรื่องวิจัย ใช้เวลานิดเดียวสอนนักศึกษา แต่ไม่ใช่เขาไม่สนใจสอนนักศึกษานะครับ การสอนนักศึกษาที่ฉลาดช่างซักช่างถามช่างแย้งเป็นมหรสพทางปัญญาสำหรับอาจารย์

          (๓) ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยวิจัยมักมีเงื่อนไขการจ้างงานอาจารย์หลากหลายแบบ ขึ้นกับว่ามหาวิทยาลัย "ง้อ" อาจารย์ผู้นั้นแค่ไหน ถ้าง้อมากๆ เขาก็ให้สัญญาจ้างงานตลอดชีพ ไม่มีการบังคับให้ต้องเกษียนอายุ มีตัวอย่างบางคนอายุ ๘๐ ยังทำงานเต็มที่ หรือบางคนเกษียนอายุแล้วก็ยังมีห้องทำงานและห้องปฏิบัติการให้ แต่อาจารย์เหล่านี้จะเอาทุนวิจัยเข้ามหาวิทยาลัยมากมาย เอามาเลี้ยงทีมวิจัย และทำวิจัยสร้างชื่อเสียง สร้างทรัพย์สินทางปัญญา (สิทธิบัตร) และรายได้จากทรัพย์สินทางปัญญา เรียกว่าอาจารย์แบบนี้หาเงิน (วิจัย) เลี้ยงมหาวิทยาลัย ไม่ใช่มหาวิทยาลัยเลี้ยงอาจารย์ แต่จริงๆ แล้วก็เป็นการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน (symbiosis) แต่อาจารย์แบบนี้ไม่ใช่ว่าจะมีมากมายนะครับ เพียงแต่ว่าทุกคนจะพยายามสร้างตัวไปสู่สถานะนั้น หรืออย่างน้อยก็ให้ได้รับการจ้างงานถาวร (tenure)

           (๔) โยงมาสู่วิธีรับอาจารย์ มหาวิทยาลัยวิจัยเขาไม่ "รับ" อาจารย์หรอกครับ เขา "แย่ง" อาจารย์กัน คือเขาคิดจนทะลุแล้วว่ามหาวิทยาลัยจะจี้จุดเด่นด้านไหน แล้วก็สอดส่ายเสาะหาว่าใครบ้างในโลกนี้ (ย้ำว่าในโลก ไม่ใช่ในมหาวิทยาลัยของตน) ที่จะมาสร้างความเด่นดังให้แก่มหาวิทยาลัยได้ ตรงนี้แหละครับที่เป็นภาระของผู้บริหารอย่างแรงกล้า ที่จะกล้าละเลยไม่หยวนเอาอาจารย์ที่มีอยู่แล้วและความสามารถงั้นๆ ขึ้นเป็นผู้นำวิชาการ และมีตาแหลมพอที่จะหา "ดาวที่กำลังทะยานขึ้นฟ้า" (risng star) มา ดีกว่า "ดาวค้างฟ้า" เพราะดาวค้างฟ้าทำงานไม่นานก็หมดไฟ หรือหมดแรงเพราะแก่ แต่ดาวที่กำลังพุ่งจะทำงานได้นาน สร้างทีมและผลงานวิจัยได้ยาวนานกว่า เห็นวิธีคิดในการจัดการทางวิชาการไหมครับ การสร้างสรรค์ทางวิชาการเป็นกิจกรรมที่ต้องทำต่อเนื่องยาวนาน ผลงานวิชาการระดับนวัตกรรมมาจากคนที่มีความเป็นอัจฉริยะและมุ่งมั่นรักงานนั้น บวกกับการได้รับโอกาส ได้รับการสนับสนุน และมีอิสระหรือเสรีภาพที่จะใช้ความสร้างสรรค์ของตนอย่างเต็มที่ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยวิจัยจะต้องเข้าใจเรื่องเหล่านี้และกล้าหาญพอที่จะตัดสินใจแบบหวังผลต่อมหาวิทยาลัยในระยะยาว ไม่ใช่แค่หวังผลความราบรื่นในมหาวิทยาลัยเฉพาะช่วงที่ตนดำรงตำแหน่ง

          (๕) โยงมาสู่เงินเดือนหรือค่าตอบแทนอาจารย์ มหาวิทยาลัยวิจัยเขามีเงินเดือนอาจารย์ ๒ ก้อนครับ คือก้อนที่เป็นเงินเดือนประจำ เรียกว่า base salary อาจเพียง ๑/๓ ของเงินเดือนทั้งหมด อีก ๒/๓ เรียกว่าเงิน top up ได้มาจากทุนวิจัย ดังนั้นอาจารย์คนไหนไม่มีทุนวิจัยก็ได้แค่เงินเดือนก้อนแรก กินเงินเดือนก้อนแรกเท่านั้นอยู่หลายปีมหาวิทยาลัยก็จะไล่ออกไป เพราะไปเป็นภาระการเงินให้เขา อาจารย์ที่จะมีความมั่นคงต้องเป็นผู้หาเงินเลี้ยงมหาวิทยาลัยครับ หาจากทุนวิจัยก้อนใหญ่ๆ (ตรงนี้ก็จะโยงไปสู่ระบบทุนวิจัยของรัฐ วิธีที่รัฐกระตุ้นให้เอกชนลงทุนวิจัย และไปจ้างมหาวิทยาลัยทำวิจัย มหาวิทยาลัยวิจัยเกิดจากรูไม้ไผ่ไม่ได้ครับ ต้องเกิดจากสังคมที่ "ดินดีปุ๋ยดี" (หมายถึงเห็นคุณค่า และลงทุน) และ "จัดการฟาร์ม" (หมายถึงฟาร์มมหาวิทยาลัย) เป็น

          มหาวิทยาลัยที่ต้องการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยต้องไปศึกษาข้อมูลพวกนี้เอามาทำความเข้าใจร่วมกันในมหาวิทยาลัย และเอามาปรับใช้พัฒนาความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยของตนเอง แต่ความรู้ไม่พอนะครับ ต้องการความกล้าหาญ และความเสียสละของทุกฝ่ายด้วย ที่สำคัญ มหาวิทยาลัยวิจัยเขาไม่มีความเท่าเทียมเสมอภาคให้คนโง่และคนขี้เกียจนะครับ ยิ่งโง่และถนัดเล่นการเมืองเพื่ออำนาจด้วยแล้วเขาไม่รับครับ

เรื่องภาพใหญ่ของมหาวิทยาลัยวิจัยยังไม่จบครับ

วิจารณ์ พานิช
๒๗ สค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 47242เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2006 15:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 00:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ อาจารย์วิจารณ์

       ได้อ่านบทความแล้วน่าสนใจดีครับผม มีประเด็นต่างๆที่จริงแล้วก็เป็นจริงในต่างประเทศ แต่ผมพยายามจะมองกลับไปยังประเทศไทย ว่าเราจะเป็นแบบนั้นได้อย่างไรหากเราจะเป็นแบบนั้น เราจะทำอย่างไร หรือว่าเราจะเป็นแบบไทยๆ

เป้าหมายของการวิจัยเราจะวางอย่างไรดี เช่น ทำวิจัยเพื่อให้รวย หากจะทำเพื่อรวย เราต้องมองว่าผลการวิจัยของเราต้องขายได้ เราจะขายใคร  เรามีทรัพยากรอะไรบ้างที่จะนำไปสู่การเพิ่มพูนให้เกิดการวิจัยแบบเสริมแรง หรือว่าเรามีเป้าหมายไม่ได้เน้นความร่ำรวย แต่เน้นการพึ่งพาตนเอง คนทุกคนมีกินมีใช้ มีการพัฒนาการเรียนรู้อย่างถูกต้องตามระบบ ให้เกิดการครบวงจรของการวิจัย

ในเมืองไทย ผมว่าเรามีทรัพยากรหลายอย่างที่ดี ที่ต่างประเทศไม่มี เราจะวางแผนการวิจัยแบบนั้นได้อย่างไรให้มีการเชื่อมโยงและทำงานร่วมกันระหว่าง นักวิจัยในมหาวิทยาลัย นักศึกษา บริษัทเกี่ยวข้อง และผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน บ้านเรายังขาดในส่วนนี้อยู่หรือเปล่าครับ ในเรื่องของการทำงานร่วมมือกัน ของนักวิจัยและองค์กรเอกชน หากตรงนี้ไม่เกิด งานวิจัยอาจจะไม่ได้นำไปใช้ได้จริง หากปัญหาการวิจัยมาจากเอกชน แล้วส่งปัญหาให้นักวิจัยในมหาลัยที่ถนัดก็สามารถเกื้อกูลได้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากองค์กรของรัฐ หรือหน่วยงานสนับสนุนงานวิจัยของรัฐเป็นเพียงพี่เลี้ยงให้เกิดสิ่งเหล่านี้ นำไปสู่การเกื้อกูลแบบยั่งยืน ซึ่งตรงกับที่อาจารย์กล่าวว่า โปรเฟสเซอร์นำเงินเข้ามหาวิทยาลัยนั่นเองครับ

พอมองประเด็นของอาจารย์เรื่อง ครู หรือค่าตอบแทนของอาจารย์ ส่วนนี้หล่ะผมว่าบ้านเรามีปัญหาครับ เพราะมองกันแล้ว ครูมีเงินเดือนน้อย ทำให้เค้าเลี้ยงตัวเองไม่ได้ด้วยค่าตอบแทนนั้น นับตั้งแต่ระดับครูประถม มัธยม จนทำให้ครูต้องหาหนทางในการหาอาชีพสำรอง เช่นขายสินค้าขายตรงต่างๆ หรือว่าเปิดสอนพิเศษ ผมว่าบ้านเราไม่ประสบผลสำเร็จเรื่องการศึกษาแน่ๆ หากบ้านเรามีสถาบันสอนติวเปิดขึ้นเกลื่อนทั่วประเทศ ซึ่งแทนที่แหล่งองค์ความรู้ควรจะอยู่ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเป็นหลัก

เป็นไปได้ไหมหล่ะครับ ที่เราจะปูการศึกษาในสถาบันการศึกษาโรงเรียน หรือมหาลัยให้เป็นแหล่งการสร้างสรรค์องค์ความรู้ที่แท้จริงให้เกิดบรรยากาศการวิจัยจริงๆ ผมสังเกตสถาบันการวิจัยต่างประเทศส่วนใหญ่นักวิจัยเข้าได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง แต่บางทีเมืองไทย สถาบันการศึกษา หนึ่งทุ่มปิดตึกแล้วครับ อาจารย์จะอยู่ทำวิจัยก็ไม่ได้ แบบนี้แค่สภาพภายนอกก็ไม่เอื้ออำนวยแล้วครับ แต่บางที่อาจจะมีการให้ทำงานดึกได้ แต่ก็มีอยู่น้อยครับ พอบรรยากาศการเรียนการวิจัยไม่เกิด ก็ไปทำอย่างอื่นแทน

ต่างประเทศ จบ ปริญญาเอกเป็นเรื่องธรรมดา บ้านเรากลายเป็นเหมือนคนวิเศษไป เพราะปริมาณคนจบน้อย บริษัทเองก็ไม่ได้ต้องการคนจบ เอกเพราะต้องจ่ายค่าจ้างแพงเพราะงานวิจัยในระดับ องค์กรเอกชนไม่ได้เกิดจริงๆภายใน

ผมเชื่อว่าหากมีการร่วมมือกันจริงๆ ทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน ตั้งแต่ปัญหา ไปสู่ผู้การแก้ปัญหาและนำไปใช้สู่ประชาชน หรือกลุ่มเป้าหมาย เราก็สามารถอยู่ได้และเกิดการสั่งสมองค์ความรู้ของเราเป็นแบบไทยๆ ได้ เพราะเราเรียนรู้ปัญหาที่เรามี ตลอดจนการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนครับ

ขอบคุณครับ

 

ขอบคุณ ดร. เม้งครับ     ลองเขียน บล็อก เล่าสภาพมหาวิทยาลัยวิจัยในเยอรมันในหลากหลายแง่มุม    โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมุมของ นศ. ป. เอก ก็จะเป็นประโยชน์มากครับ

วิจารณ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท