แลกเปลี่ยนเรียนรู้คุณอำนวย : 1. ฟังเป็น


"หากใจไม่เปิด การฟังนั้นย่อมไม่ได้ยิน"

    

          การฟังนั้น หลายท่านอาจคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนก็ฟังได้ไม่เห็นว่าจะมีความสำคัญ หรือต้องฝึกแต่อย่างใด แต่ในบทบาทของคุณอำนวยแล้ว ผมว่าการฟังที่คิดว่าธรรมดานั้น "ไม่ธรรมดาครับ" หลายครั้งที่ได้เห็นตนเองในอดีตที่ตอบหรือพูดสวนออกไปโดยที่คู่สนทนายังพูดไม่จบ อย่างนี้ผมคือคนฟังไม่เป็นใช่ไหมครับ แต่นั่นเป็นอดีตครับ ตอนนี้ผมพยายามปรับปรุงตัวเองใหม่แล้ว ผมทำอย่างไร ลองอ่านดูหน่อยนะครับ

  • ต้องนิ่งฟังให้จบก่อน เน้นคำว่านิ่งฟังอย่างตั้งใจ

  • ไม่โต้ตอบหรือสวนคำพูดออกไปโดยทันที คิดไตร่ตรองให้ดีแล้วค่อยตอบ ดังที่อาจารย์หมอประเวศ วะสี เล่าทฤษฎีฝรั่งว่าเหมือนตัวยู ถ่วงลงมาก่อน(ให้เวลาคิด)

  • ฟังแล้วคิดตามไปด้วย จับประเด็นไปด้วยทั้งเนื้อหา อารมรณ์ บริบท ฯลฯ

  • ลบภาพในใจของเราออกให้หมด เพื่อไม่ให้เกิดความลำเอียงเข้ามาหาการคิดโดยใช้เหตุที่เราชอบ เป็นตัวสนับสนุนการตัดสินใจให้ไปในทิศทางที่เราต้องการ

  • หากมีกระดาษ ปากกา ก็ให้จดประเด็นที่สำคัญๆ ไว้จะยิ่งดี

  • หนึ่งความคิดล้วนมีค่า ดังนั้นเราต้องฟังทุกคนอย่างความเท่าเทียมและเสมอภาค ไม่ยึดติดกับการศึกษา ตำแหน่ง หรือสถานะใดในสังคม ฯลฯ

  • หากเป็นเรื่องเล่าที่เป็นการระบายความในใจ อย่างนี้ต้องกระตุ้นเพื่อให้เล่าออกมาให้หมด ผู้พูดจะได้สบายใจ

  • ฯลฯ ช่วยคิดต่อด้วยครับ

          การฟังนั้น เป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการทางปัญญา หากไม่ฟัง หรือฟังไม่เป็นเสียแล้ว ย่อมไม่เกิดการคิด การซักถาม หรือการเขียนในขั้นต่อๆ ไปได้ เหมือนกับการปิดประตูไม่เปิดทางไปสู่ทางแห่งปัญญา

          "หากใจไม่เปิดการฟังนั้นย่อมไม่ได้ยิน" เสียงที่พูดออกมาก็เหมือนอากาศที่พัดผ่าน และล่องลอยไป

         บันทึกมาเพื่อการ ลปรร. ครับ ขอเชิญท่านผู้รู้ช่วยต่อเติมเสริมแต่งให้เกิดความสมบูรณ์ด้วยครับ

วีรยุทธ สมป่าสัก  30  ส.ค  2549

หมายเลขบันทึก: 47168เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2006 05:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เป็นบันทึกแสดงขั้นตอนที่ดีจังค่ะ เห็นด้วยมากว่าต้องใช้การฝึกฝน ตัวเองเป็นผู้ฟังที่มีคนชอบมาคุยด้วย เคยแปลกใจว่าทำไมคนบางคน เราอยากฟังเรื่องที่เขาเล่า แต่บางคนเราต้องทนฟัง แต่ตอนนี้เริ่มฉลาดขึ้นแล้วค่ะ รู้ว่าในสถานการณ์ไหนต้องฟังอย่างไร บางครั้งการเบี่ยงเบนหัวข้อก็จะช่วยให้เราได้ฟังเรื่องที่อยากฟัง ได้มากขึ้น (อันนี้รู้สึกจะเป็น "คุณอำนวย" เพื่อตนเองนะคะ)

เคยเป็นแบบที่คุณยุทธเป็นเหมือนกัน ที่ไปตัดบทคนอื่นก่อนที่เขาจะพูดจบ แต่ตอนนี้พยายามฝึกฟังให้จบแล้วคิดมากขึ้น ก่อนจะตอบสนอง เห็นว่าทั้งเราและผู้พูดได้ประโยชน์มากขึ้นนะคะ

รู้สึกว่าบุคลิกของเราก็มีผลต่อการฟังเช่นกันนะคะ การมองผู้พูดอย่างตั้งใจ พยักหน้าเมื่อเห็นด้วย แสดงสีหน้าถึงสิ่งที่เราคิดก็เป็นการคุย แบบ"ไม่มีเสียง"กับผู้พูดได้ ซึ่งสามารถทำได้ทั้งแบบ "ให้พูดต่อไป" กับ "หยุดได้แล้วมั๊งคะ" ด้วยเหมือนกัน

 

  • เข้าใจเยี่ยมเยียนครับ
  • ก่อนตอบนี่ต้องอ่านเป็นด้วยใช่ไหมครับพี่วีรยุทธ
  • ต้องอ่านให้จบก่อนถึงตอบได้ ถึงจะเป็นคนที่อ่านเป็นใช่ไหมครับ
  • เป็นเทคนิคที่เยี่ยมยอดมาก ๆ เลยครับ
  • แต่มาเจออีกเคสนึงก็คือแบบไม่มีจุดจบ อันนี้บางครั้งต้องเสียมารยาทฟังไม่เป็นตัดบทบ้างครับ
  • ขอพลังแห่งการฟังจงสถิตกับท่านพี่ตลอดไปครับ

เรียน พี่โอ๋-อโณ

          ขอบพระคุณมากครับที่กรุณาเข้ามาเพิ่มเติมต่อยอดความรู้

เรียน  อาจารย์ปภังกร

  • ขอบพระคุณมากครับที่เข้ามาเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจ
  • หากเจอแบบไม่มีจุดจบ  ก็คงต้องใช้วิทยายุทธ์ส่วนตัวครับ
  • แวะมาเยี่ยมเยียน
  • จากแนวการเขียนของคุณวีรยุทธ สังเกตได้ว่าเริ่มบันทึกอย่างเป็นระบบ ผมก็กำลังจะทำเหมือนกันครับ เริ่มนับ 1 เหมือนกัน
  • ขอต่อเติมเล็กน้อย เกี่ยวกับการฟัง
  • ฟังแบบให้เข้าถึงตัวตนของผู้พูด ว่ามีแนวคิด ความเชื่อ อย่างไรในสิ่งที่ถ่ายทอดออกมา เพื่อให้เข้าถึงแก่นของเรื่องนั้น (ลึกเกินไปหรือเปล่าไม่รู้นะครับ)

เรียน คุณบอย สหเวช

  • ขอบพระคุณมากครับที่เข้ามาต่อเติมความรู้
  • ขออนุญาตนำมาเพิ่มเติมเป็นองค์ความรู้ในการฟังนะครับ

สวัสดีค่ะคุณสิงห์ป่าสัก

  • อ่านแล้วทำให้เห็นประโยชน์ของการฟังเป็นอย่างมาก
  • ขอบคุณเรื่องราวที่ดีๆและเป็นประโยชน์ค่ะ.
  • คุณ ผึ้งงาน_SDU
  • การฟังนี้ดูจะง่ายๆ แต่ก็ไม่ง่ายเลยนะครับ
  • ผมก็ต้องฝึกฝนและพัฒนาอยู่เสมอ
  • ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท