BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ธรรมเทศนาวันพระ ๔


ธรรมเทศนาวันพระ ๔

วันนี้ถึง วนสังยุตต์ ซึ่งเป็นการประมวลเรื่องเกี่ยวกับพระภิกษุที่อยู่ป่าและมีเทวดามาแนะนำตักเตือน มีทั้งหมด ๑๔ พระสูตร ก็นำบางเรื่องมาแสดงพอเป็นข้อคิด....

เรื่องแรก... พระภิกษุกลับมาจากบิณฑบาตแล้วก็จำวัด (นอนหลับ) กลางวัน เทวดาจึงเตือนว่า "ท่านจงลุกขึ้นเถิดภิกษุ ท่านจะต้องการอะไรด้วยความหลับ ท่านผู้เร่าร้อนด้วยกิเลส อันลูกศรคือตัณหาเสียบแทง ดิ้นรนอยู่ จะมัวหลับมีประโยชน์อะไร ท่านออกจากเรือนบวชด้วยความเป็นผู้ไม่มีเรือนด้วยศรัทธาใด ท่านจงเพิ่มพูนศรัทธานั้นเถิด อย่าไปสู่อำนาจของความหลับเลย ฯ"

แต่ท่านรูปนี้เป็นพระอรหันต์แล้ว (เทวดาไม่รู้) จึงได้โต้ตอบไปว่า "คนเขลาหมกมุ่นอยู่ในกามารมณ์เหล่าใด กามารมณ์เหล่านั้น ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ความหลับจะแผดเผาบรรพชิตผู้พ้นแล้ว ผู้ไม่เกี่ยวข้องในกามารมณ์ซึ่งยังสัตว์ให้ติดอยู่ได้อย่างไร....เป็นต้น

.......

เรื่องที่สอง... พระภิกษุแสดงธรรมแก่นายพราน แต่นายพรานเป็นคนโง่เขลาฟังไม่เข้าใจ ท่านเทวาจึงเตือนว่า

"ภิกษุผู้กล่าวสอนนายพรานเนื้อซึ่งเที่ยวไปตามซอกเขา ผู้ทรามปัญญา ไม่รู้เท่าถึงการณ์ในกาลอันไม่ควร ย่อมปรากฏแก่เราประดุจคนเขลา เขาเป็นคนพาล ถึงฟังธรรมอยู่ก็ไม่เข้าใจเนื้อความ แสงประทีปโพลงอยู่ก็ไม่เห็น เมื่อท่านกล่าวธรรมอยู่ ย่อมไม่รู้เนื้อความ

ข้าแต่ท่านกัสสป ! ถึงแม้ท่านจักทรงประทีปอันโพลงตั้ง ๑๐ ดวง เขาก็จักไม่เห็นรูป เพราะจักษุ (คือญาณ) ของเขาไม่มี ฯ"

.......

เรื่องที่สาม... พระภิกษุรูปหนึ่ง ไปบิณฑบาตแล้วคลุกคลีอยู่กับชาวบ้าน กว่าจะกลับมาก็บ่ายแล้ว เทวดา จึงตือนว่า

"ท่านนาคทัตตะ ท่านเข้าไปแล้วในกาลและกลับมาในกลางวัน ท่านมีปรกติเที่ยวไปเกินเวลา คลุกคลีกับคฤหัสถ์ พลอยร่วมสุขร่วมทุกข์กับเขา เราย่อมกลัว พระนาคทัตตะ ผู้คะนองสิ้นดี และพัวพันในสกุลทั้งหลาย ท่านอย่าไปสู่อำนาจของมัจจุราชผู้มีกำลัง ผู้กระทำซึ่งที่สุดเลย ฯ"

.......

และเรื่องสุดท้าย... เป็นการโต้ตอบระหว่างเทวดากับพระภิกษุ โดยย่อว่า พระภิกษุลงสรงน้ำในสระ แล้วก็เอามือเหนี่ยวก้านดอกบัวมา พลางก็สูดดมกลิ่นหอมของดอกบัว ท่านเทวาจึงเตือนว่า "ท่านสูดดมดอกไม้ที่เกิดในน้ำซึ่งใครๆ ไม่ได้ให้แล้ว นี้เป็นองค์อันหนึ่งแห่งความเป็นขโมย ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นผู้ขโมยกลิ่น ฯ"

พระคุณเจ้าถูกเทวดาว่าอย่างนั้นก็ไม่ค่อยจะสบอารมณ์ จึงชี้ไปที่ดาบสซึ่งกำลังดำผุดดำว่ายเพื่อขุดเหง้าบัวและเก็บดอกบัวอยู่ พลางตัดพ้อว่า "เราไม่ได้นำไป เราไม่ได้หัก เราดมดอกไม้ที่เกิดในน้ำห่างๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านจะเรียกว่าเป็นผู้ขโมยกลิ่นด้วยเหตุดังรือ ส่วนบุคคลที่ขุดเหง้าบัว หักดอกบัวบุณฑริกเป็นผู้มีการงานอันเกลื่อนกล่นอย่างนี้ ไฉนท่านจึงไม่เรียกเขาว่าเป็นขโมย ฯ"

ท่านเทวาจึงเปรียบเปรยว่า "บุรุษผู้มีบาปหนา แปดเปื้อนด้วยราคาทิกิเลสเกินเหตุเราไม่พูดถึงคนนั้น แต่เราควรจะกล่าวกะท่าน บาปประมาณเท่าปลายขนทราย ย่อมปรากฏประดุจเท่าก้อนเมฆในนภากาศแก่บุรุษผู้ไม่มีกิเลส ดังว่าเนิน ผู้มักแสวงหาไตรสิกขาอันสะอาดเป็นนิจ ฯ... เป็นต้น

ผู้สนใจจะอ่านทั้งหมดก็ (คลิกที่นี้) โดยเลือกดูที่หมวด วนสังยุตต์

หมายเลขบันทึก: 471611เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2011 08:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

นมัสการพระคุณเจ้า

เรื่องราวที่เทวดาเตือนนี้ทำให้เข้าใจอะไรมากขึ้น "เราไม่ควรกล่าวถึงคนที่มีราคาทิกิเลสหนา "

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท