การจัดการความรู้ : สองหลุมใหญ่ที่ควรหลีกเลี่ยง


การตีความและติดกับการตีความหมายของคำ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างLO

ตอนนี้ใครๆก็อยากรู้ว่าการจัดการความรู้คืออะไร ยิ่งรัฐบาลกำหนดให้หน่วยราชการต้องมีแผนจัดการความรู้เพื่อให้หน่วยราชการกลายเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้แทนที่จะเป็นองค์กรแห่งการใช้อำนาจ และใช้แต่กฏระเบียบ

แถมยังจ้างหน่วยงานภายนอกมาประเมินผลการจัดการความรู้ของหน่วยราชการ ก็ยิ่งเพิ่มดีกรีความคีกคักมากขี้น

หลายแห่งขวนขวายหาผู้รู้มาบรรยายให้ฟัง บ้างก็ไปดูงานกันให้ขวักไขว่ไปหมด

ถ้ามองในแง่ดีก็ต้องบอกว่าอย่างน้อย หน่วยราชการจำนวนไม่น้อยก็เกิดการเรียนรู้เพราะความขวนขวายดังกล่าว

แต่คนที่อยู่ในวงราชการมานานคงรู้ดีว่าหน่วยราชการนั้นจริงๆแล้วเป็นยอดแห่งการหาความด้วยรู้วิธีเหล่านี้มานานแล้ว ไม่งั้นโรงแรมหลายแห่งคงอยู่ไม่ได้ เพราะหน่วยราชการไม่ได้ไปจัดประชุมอบรมสารพัดอย่างโดยเฉพาะในช่วงปลายปีงบประมาณ

แต่ก่อนผมเคยเชื่อว่าราชการใช้เงินกับการพัฒนาบุคลากรน้อยมาก แต่ความจริงก็คือภาครัฐใช้เงินไปไม่น้อย แต่เป็นการใช้ที่ดูเหมือนจะไม่ได้ผลในการสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ หรือการสร้างงค์กรแผ่งการเรียนรู้ (เท่าที่ควรเมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่ลงไป) ไม่งั้นสิ่งที่เรียกว่าการจัดการความรู้เพื่อสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องใหม่อะไรสำหรับหน่วยราชการทั้งหลาย

นอกเหนือจากความสนใจส่วนตัวที่ติดตามอ่านรื่องนี้ ประกอบกับความเชื่อที่ว่า

บทบาทสำคัญของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติในหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นคณะกรรมการระบาดวิทยา ก็คือการจัดการความรู้เพื่อสังคม

พอผมได้มีโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้ (สคส) ของอาจารย์หมอวิจารณ์ พานิชที่ตั้งขึ้นโดย สสส และบริหารโดย สกว มาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

และล่าสุดเมื่อเดือนพคปีที่ผ่านมา (2548) ได้ไปประชุมเชิงปฏิบัติการขององค์การอนามัยโลกที่พยายามสร้างหน่วยงานที่จะทำเรื่องการจัดการความรู้ขึ้นในระดับโลก และระดับภูมิภาค แล้วล่สุดได้จัดประชุมทำแผนเรื่องนี้ในกรมอนามัย ได้เรียนรู้ว่ามีการตความเรื่องนี้อย่างไร ทำให้ผมเข้าใจมากขึ้นว่า

ความสับสนหรืออาจจะเรียกว่าความแตกต่างในการตีความและปฏิบัติในเรื่องที่เรียกว่าการจัดการความรู้นั้นมีอยู่มากมาย และความเข้าใจที่แตกต่างกันนั้น มีผลทำให้การจัดการความรู้กลายเป็นอุปสรรคของการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้

เพราะมัวแต่ไปติดกับคำจำกัดความที่เคยชิน และพยายามทำความเข้าใจให้เป็นรูปธรรมตามทางใครทางมัน มากกว่าการมาทำความเข้าใจ และหาทางทำให้เป็นรูปธรรมเพื่อการทำงานร่วมกัน

พูดง่ายๆคือแทนที่การจัดการความรู้จะเป็นตัวสร้างพลังแห่งการเรียนรู้ กลับกลายเป็นตัวกีดขวางการเรียนรู้ เพราะต่างยึดกับคำจำกัดความที่ไม่เหมือนกัน

ที่ว่าไม่เหมือนกันนั้นว่าไปแล้วมีหลายแง่มุมให้วิเคราะห์ และพูดถึง แต่ผมคิดว่ามีอยูอย่างน้อยสองแง่ที่สมควรพูดถึง เพื่อกระตุกให้ทุกฝ่ายหันมาพิจารณาว่าตัวเองติดอยู่ในหลุมสองหลุมนี้หรือไม่

หลุมที่หนึ่งคือหลุมแห่งความหมาย ความจริงพูดให้เข้าใจง่ายๆคือต่างมองเป้าหมายของการจัดการความรู้ไม่เหมือนกัน แต่คิดว่าเหมือนกัน

เพราะฝ่ายหนึ่งเห็นว่าการจัดการความรู้ทำไปก็เพื่อให้คนมีความรู้มากขึ้น หรือไม่ก็เป็นนักเรียนรู้มากขึ้น

ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่าการจัดการความรู้ต้องมุ่งให้การทำงานดีขึ้น การเป็นคนมีความรู้มากขึ้น หรือการเป็นนักเรียนรู้เป็นผลพลอยได้ หรือเป็นเรื่องรอง

ถ้าคนมีความรู้มากขึ้น หรือเรียนรู้เป็น แต่การทำงานไม่ได้ผลดีขึ้น ก็ไม่นับว่าได้จัดการคามรู้อย่างดีพอ

ว่าไปแล้วเป้าหมายทั้งสองก็ไม่ถึงกับแตกต่างหรือแยกจากกันอย่างเด็ดขาด เพราะความจริงนั้นทั้งสองเป้าหมายสัมพันธ์กันอยู่ จะเริ่มที่เป้าไหนก่อนก็ได้เดี๋ยวก็ได้ผลในอีกเป้าหมายหนึ่ง

แต่ความจริงแล้วถ้าไม่ระวังหรือเข้าใจถึงความสัมพันธ์ดังกล่าวให้ดี เป้าหมายทั้งสองก็อาจจะไม่มาเจอกัน หรือไม่ก็มาเจอกันชาติหน้าตอนบ่ายๆ เพราะถ้ามันเจอกันได้ง่ายๆขนาดนั้น เราก็คงไม่ต้องมาพูดเรื่อการจัดการความรู้ (หรือที่หลายคนชอบเรียกว่าการจัดการเพื่อให้เกิดสิ่งแวดล้อมแห่งการเรียนรู้มากกว่า)

ไม่งั้นคนที่เรียนหนังสือจบมาซึ่งก็ถือว่าล้วนมีความรู้ทั้งสิ้นก็คงทำงานได้ผลดีในทันที

แต่ความจริงก็คือหลายคน ทำงานตั้งนานก็ยังทำงานไม่ได้เรื่อง

ในขณะที่บางคนก็พยายามเรียนรู้เพิ่มเติม ตลอดเวลาแต่ก็ยังไม่สามารถทำงานได้ดีขึ้นเท่าไร ทำความอีดอัดกลัดกลุ้มทั้งแก่ผู้พยายาม และกองเชียร์ โดยเฉพาะหัวหน้างานเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะว่าลูกน้องไม่ฉลาด หรือไม่พยายามก็ไม่ใช่ แต่ทำไมยังทำงานไม่ได้เรื่องสักที

ความแตกต่างในเรื่องเป้าหมายจนอาจนำไปสู่การตีความและทำเรื่องจัดการความรู้แล้วเป้าทั้งสองก็ยังไม่เจอกันสักทีนั้น รูปธรรมเห็นจะเป็นการทีมุ่งสร้างบรรยากาศในที่ทำงานให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่ตีวงกว้างจนเกินไป เช่นจัดมุมอ่านหนังสือ ทำห้องสมุดให้สวยๆเย็นๆ มีหนังสือน่าอ่าน จัดกลุ่มสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องตามความสนใจ เช่นงานอดิเรกต่างๆ เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งการเป็นมิตร และผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะเชื่อว่าเมื่อจัดบรรยากาศดีแล้ว ทุกคนก็จะอยากอ่าน อยากพบและพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้กัน แล้วการทำงานก็จะดีขึ้นเอง

แต่เราอาจพบว่าแม้พนักงานจะคุยกัน สนิทกันมากขึ้น ส่งผลต่อความสนิทสนมในการทำงาน แต่ในแง่การเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานอาจเกิดขึ้นน้อยมาก

เข้าทำนองบรรยากาศดีทำให้สนิทสนมกันมากขึ้น แต่ไม่มีผลต่อการเรียนรู้เพื่อการทำงาน

เพราะใช้บรรยากาศดีๆในการเรียนรู้เรื่องที่อาจไม่เกี่ยวกับการทำงานโดยตรงเท่าไรนัก

ส่วนอีกหลุมนึงคือหลุมตัวความรู้เอง เพราะคนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าการจัดการความรู้ต้องทำให้พนักงานในองค์กร หรือกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสร้างให้เป็นนักเรียนรู้ ได้รู้เนื้อหาสาระที่มีในตำรา หรือจากการวิจัย ใหม่ๆ

พูดเป็นภาษาการจัดการความรู้ก็บอกว่าเป็นพวกเชื่อเรื่องการจัดการความรู้ประจักษ์ (explicit knowledge) มากกว่าการจัดการความรู้แฝง (tacit knowledge)

ซึ่งการจัดการเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ทั้งสองประเภทนี้มีเทคนิคและวิธีการที่แตกต่างกันพอสมควร และที่สำคัญคือการจัดการความรู้ที่ดีควรจะต้องจัดการเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีการผสมผสานความรู้ทั้งสองประเภทนี้ได้อย่างกลมกลืน และเป็นธรรมชาติ

ซึ่งว่าไปแล้วธรรมชาติการเรียนรู้ของคนที่เก่งๆ(ที่ไม่ได้เก่งเฉพาะการสอบหรือพูดตามตำรา) จำนวนมากก็เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว

สิ่งท้าทายสำหรับนักจัดการความรู้จึงอยู่ที่การสามารถสร้างโอกาส และวิธีการจนคนที่เรียนด้วยตนเองไม่ค่อยเเป็น สามารถเรียนรู้จากการเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีการจัดขึ้น (ไม่ว่าจะแบบพบกันซึ่งหน้า หรือผ่าน cyberspace) และในที่สุดเรียนรู้วิธีที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง หรือมีการเสริมการเรียนรู้ซึ่งกันและกันเมื่อได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ตัวอย่างรูปธรรมที่ผมคิดว่าชัดเจนมากที่ยังมีการมองแยกความรู้ทั้งสองประเภท และมีการเน้นจัดการโดยเฉพาะความรู้ประจักษ์เห็นจะเป็นการทำงานในกลไกขององค์การอนามัยโลกที่เชื่อว่าปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของภาคสาธารณสุขคือการที่ความรู้ใหม่ๆจากการลงทุนวิจัยมากมายทั่วโลก ไม่สามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพของประชาชนได้อย่างจริงจัง

และสาเหตุสำคัญที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะผู้มีความรู้ ขาดการจัดการที่เหมาะสม กับความรู้ที่มีอยู่แล้ว ทำให้ผู้ที่อยากใช้ ไม่รู้ หรือเข้าไม่ถึง หรือเข้าถึง แต่ไม่เข้าใจ

จึงมีความพยายามอย่างมากมายที่จะลงทุนจัดการความรู้ ด้วยการรวบรวมผลงานวิจัยจากทุกมุมโลก แล้วนำมาทำเป็นฐานข้อมูลให้คนที่อยากใช้ สามารถค้นหา ความรู้ที่ต้องการ นอกจากนี้ยังพยายามต่อรองให้ประเทศยากจนมีโอกาสอ่านวารสารวิชาการที่ดีๆทีชื่อเสียงโดยไม่ต้องเสียค่าสมาชิก(โครงการ HINARI)

และตอนนี้ก็กำลังสนับสนุนให้มีการสร้างงานวิจัยระบบสาธารณสุขให้มากขึ้น เพราะเชื่อว่าเป็นความรู้สำคัญที่จะช่วยให้เทคโนโลยีใหม่ๆสามารถถูกนำไปใช้ให้บริการประชาชนในทุมมุมโลกดีขึ้นคือความรู้ที่มาจากการวิจัยระบบสาธารณสุข การจัดการความรู้ภายใต้ความพยายามขององค์การอนามัยโลกที่ผ่านมาจึงเน้นความรู้ประจักษ์ ทั้งการสร้างความรู้ใหม่ให้มากขึ้นและมุ่งพัฒนาความสามารถของฝ่ายนักวิชาการให้จัดการความรู้ที่มีอยู่ให้ดีขึ้น เรียกอีกอย่างก็บอกว่าเป็นการจัดการความรู้ที่มุ่งแต่ฝ่าย supply คือฝ่ายที่สร้างความรู้

ไม่ได้ให้ความสำคัญในการจัดการสร้างความสามารถในการจัดการความรู้ของฝ่ายผู้ใช้ความรู้ (demand side)

ที่ว่ามาทั้งหมดก็ไม่ได้ตั้งใจให้เรื่องจัดการความรู้ดูเป็นเรื่องวุ่นวายยุ่งยากเต็มไปด้วยทฤษฏี

ตรงกันข้ามผมหวังว่าจะทำให้ทุกคนที่กำลังหันมาศึกษา และใช้ประโยชน์จากแนวคิดเรื่องการจัดการความรู้สามารถรู้ทันหลุมพรางที่เกิดจากพัฒนาการของตัวแนวคิดนี้เอง ที่เริ่มจากการให้ความสนใจความรู้เชิงประจักษ์ และค่อยๆเห็นว่าความจริงนั้นความรู้แฝงมีความสำคัญยิ่งในการทำงาน

และยิ่งไปกว่านั้นการจัดการความรู้ต้องอย่าลืมเป้าหมายให้ทุกคนทำงานให้ดีขึ้น อย่าหวังแค่ให้พนักงานได้ความรู้ ก็เป็นพอแล้ว เพราะนั่นเราทำผ่านระบบการศึกษาที่เน้นการสอน และการอบรมมานานแล้ว ความรู้ทุกอย่างงอกเงย และเพิ่มพูนเพราะมีการนำไปใช้

ในเมื่อเราทุกคนต้องทำงานตามหน้าที่อยู่แล้วการจัดการความรู้ที่มุ่งให้ทำงานในความรับผิดชอบได้ดีขึ้นก็น่าจะสอดคล้องกับความจริงข้อที่ว่า ความรู้ยิ่งใช้ยิ่งเพิ่ม

หาได้เพิ่มจากการอ่าน การฟังและการคุยไม่

หมายเลขบันทึก: 47160เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2006 23:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

     บางคนก็เรียนรู้ว่าเยอะแล้วเรื่อง "การจัดการความรู้" เห็นขอไปอบรมกันเยอะเลย แต่เป็นห่วงว่ามีอีกหลายคนที่ไม่เคยได้เรียนรู้ที่ไหนมาก่อน จึงอยากให้น้อง (หมายถึงผม) ได้บรรยายพอเข้าใจสัก 1-2 ชม.ในวันประชุมวิชาการ ที่จะถึงนี้

     เป็นคำพูดของคนที่มาประสานกับผมเพื่อเชิญไปเป็นวิทยากรในวันนี้ครับ ผมฟังแล้วก็อดเป็นห่วงอย่างที่อาจารย์ได้กล่าวถึงไว้ในบันทึก เพราะยังไงผมก็เชื่อว่า "การจัดการความรู้" หากได้ลงมือทำก่อนถึงจะเข้าใจ ไม่ใช่การเอาแต่ไปอบรมมา ไปฟังบรรยายมาครับ

  • บันทึกของอาจารย์ทำให้เห็นภาพ(หลุมพลาง)ที่แจ่มชัดมากครับ 
  • ขอบพระคุณอาจารย์มากครับที่บันทึกมาแบ่งปัน
ผมเข้าใจว่าคนที่ทำเรื่องจัดการความรู้ด้วยการลงมือทำ จะตั้งีคำถามน้อย ไม่ใช่เพราะไม่มีคำถาม แต่เพราะรู้ว่าจะหาคำตอบได้ด้วยการทำ และเรียนรู้ผ่านการทำงาน

ขอบคุณค่ะ เข้ามาเก็บเกี่ยวค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท