แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานทันตฯ ในผู้สูงอายุ (8) รวมกลุ่มผู้สูงอายุจัดกิจกรรม (ตอนที่ 6 เรื่องเล่าจากจังหวัดชัยภูมิ เพชรบุรี และสุพรรณบุรี)


กิจกรรมส่งเสริมทันตสุขภาพในชมรมผู้สูงอายุต้องมีความหลากหลาย และต้องการระยะเวลาในการฝึกปฏิบัติ ต้องเน้นย้ำบ่อยๆ

 

series นี้ หมอยุ๊ย ... ทพญ.ดลฤดี แก้วสวาท ... จาก ศูนย์อนามัยที่ 4 ราชบุรี เก็บมาเล่าให้ฟังค่ะ

กลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดเลย มีผู้ร่วมคุยทั้งหมด 3 จังหวัด ประมาณ 10 กว่าคน มาเล่าเรื่อง เมื่อเขาคิดจะทำโครงการส่งเสริมสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุ แล้วเขาคิดทำอะไรกัน

คนยืนนั่นละค่ะ หมอยุ๊ย ... มือ note เหมือนกันนะเนี่ยะ

PCU แรก ก็คือ หลุบโพธิ์ จ.ชัยภูมิ เขาเริ่มต้นด้วย

  • เตรียมชุมชน เพราะว่าผู้สูงอายุมีการรวมกลุ่มกันในลักษณะชมรมอยู่แล้ว จึงเพิ่มกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในเรื่องทันตฯ เข้าไป
  • โดยเริ่มจากถอดความรู้ผู้สูงอายุก่อน ว่าเขาดูแลสุขภาพช่องปากอย่างไร ทั้งในอดีต และปัจจุบัน
  • เพิ่มเสริมเข้าไป อย่างเช่น ประธานชมรมเสนอให้ใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดช่องปากในท้องถิ่น คือ ไม้กุดทา คล้ายไม้ข่อย มีรสขม หรือรสฝาด โดยเลือกไม่แข็ง/ไม่อ่อนเกินไป รูปร่างเหมือนไม้เสียบลูกชิ้น แต่ตรงปลายทำให้แตกเป็นฝอยๆ เอามาใช้ขัดฟัน
  • ในชมรมผู้สูงอายุมีการสร้างกระแส ให้ใช้ไม้กุดทาทำความสะอาดช่องปากทุกวัน ทั้งเช้า/กลางวัน/เย็น ทั้งเวลาไปวัด หรือกิจกรรมออกกำลังกาย ให้พกไม้กุดทาไปแทนแปรงสีฟัน เวลาไปไหนๆ เช่น ไปเยี่ยมลูกหลาน ไปงาน เป็นต้น จะได้ใช้ทำความสะอาดฟัน
  • และยังมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในกลุ่มผู้สูงอายุ ว่าใช้ไม้กุดทาแล้วเป็นอย่างไร

ที่ PCU บ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ

  • หมอฟันเป็นทันตแพทย์เพิ่งจบเมื่อปีที่แล้ว จึงนำไม้จิ้มฟันที่มีด้ามเสียบ จากไม้ตะเกียบ ที่ได้เรียนรู้จากคณะทันตฯ มาเผยแพร่ในชมรมผู้สูงอายุ
  • รพ. จัดทำโครงการ เพื่อดำเนินการในชมรมผู้สูงอายุใน รพ. เนื่องจากเป็นชมรมที่อยู่ใกล้ มีความเข้มแข็ง จัดกิจกรรมเป็นประจำ
  • ผู้สูงอายุมีความสนใจเรื่อง สุขภาพ
  • ประสานงาน ดำเนินการร่วมกับ ศสช.รพ.บ้านเขว้า เพื่อเข้าถึงชมรมผู้สูงอายุได้สะดวก
  • กระบวนการเริ่มจากการประชุมอบรม ให้ความรู้ เรื่อง ทันตสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ เน้นส่งเสริมให้ผู้สูงอายุใช้อุปกรณ์เสริมทำความสะอาดฟัน คือ ไม้จิ้มฟันที่มีด้ามเสียบจากไม้ตะเกียบ ใช้ทำความสะอาดซอกฟัน เนื่องจากผู้สูงอายุมีข้อจำกัดในการใช้ไหมขัดฟัน มือเคลื่อนไหวไม่คล่อง
  • เริ่มจากสอนวิธีการใช้ในกลุ่มแกนนำผู้สูงอายุก่อน ฝึกใช้โดยย้อมสี plaque ด้วย
  • แล้วให้นำไปสอนผู้สูงอายุกลุ่มใหญ่ และติดตามผลด้วยแบบสอบถาม
  • พบว่า ผู้ที่เข้าประชุมใช้ไม้จิ้มฟันเสียบไม้ตะเกียบเป็นประจำ ร้อยละ 56
  • ผู้สูงอายุเปลี่ยนท่าแปรงฟันจากเดิม ที่เป็นแบบถูไปมาในแนวนอน หรือไม่มีแบบแผน เป็นแปรงฟันแบบปัดขึ้นปัดลง roll technique มากขึ้น

ในความคิดเห็นส่วนตน คิดว่ากิจกรรมส่งเสริมทันตสุขภาพในชมรมผู้สูงอายุต้องมีความหลากหลาย และต้องการระยะเวลาในการฝึกปฏิบัติ ต้องเน้นย้ำบ่อยๆ

ที่ PCU บ้านโสก และคอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ

  • ผ่ายทันตฯ รพ. จะเข้าไปหาชมรมผู้สูงอายุโดยตรง
  • มีกิจกรรมตรวจสุขภาพช่องปาก ชมรมละ 2 ครั้ง
  • สอนทันตสุขศึกษา
  • ฝึกปฏิบัติทักษะการแปรงฟัน โดยมีแบบฟอร์มการตรวจช่องปาก ตรวจครั้งที่ 1 แล้วนัดมารับบริการ มีผู้สูงอายุให้ความร่วมมือมารับบริการ 64 คน จากทั้งหมด 80 คน
  • ประกวดความร่วมมือของชมรมผู้สูงอายุ ซึ่งมีเกณฑ์ด้านการแปรงฟันด้วย พบว่า ทั้งสองแห่งให้ความร่วมมือมาก จึงให้รางวัล ทั้งสองชมรม
  • นำเงินรางวัล ไปจัดตั้งกองทุนแปรงสีฟันยาสีฟันสำหรับผู้สูงอายุ

ที่ ชมรมผู้สูงอายุท่าไม้รวก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี

  • เป็นชมรมผู้สูงอายุที่เข้มแข้ง
  • เริ่มจากที่ศูนย์อนามัยที่ 4 มาจัด workshop ระดมความคิดในกลุ่มผู้สูงอายุ ทำให้ทราบว่าผู้สูงอายุต้องการอะไร
  • อย่างแรก คือ ความรู้ การให้สุขศึกษาในผู้สูงอายุที่ทำอยู่ก็จะมีปัญหา คือ พูดแล้วผู้สูงอายุไม่ค่อยได้ยิน ... จึงคิดว่าน่าจะพัฒนาสื่ออื่นๆ ที่ใช้ได้ดีประกอบการบรรยาย
  • อย่างที่สอง คือ ในด้านการปฏิบัติ จะมีการทำบันทึกตรวจฟันสะอาด ทุกครั้งที่ผู้สูงอายุมาร่วมกิจกรรม เช่น มาออกกำลังกาย เลี้ยงอาหารกลางวัน ฯลฯ
  • ชมรม มักจะจัดการประกวดอยู่แล้ว ในวันพ่อ วันแม่ จึงคิดจะจัดประกวดสุขภาพฟันด้วย
  • ในอนาคต สมาชิกที่ได้รับการตรวจฟันแล้ว จะถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ตามสุขภาพช่องปาก คือ กลุ่มฟันเหลือน้อย กลุ่มนี้จะต้องการฟันเทียม ต้องช่วยเหลือเป็นพิเศษ และกลุ่มฟันเหลือเยอะ กลุ่มนี้ก็ต้องส่งเสริมรักษา ไม่ให้แย่กว่าเดิม

ที่ ชมรมผู้สูงอายุห้วยลึก อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี

  • มีความเข้มแข็ง
  • สมาชิก 400 กว่าคน
  • มีกิจกรรมสม่ำเสมอทุกวันอังคาร ทุกสัปดาห์
  • ไม่นานมานี้เพิ่งชนะการประกวดการออกกำลังกายด้วยไม้พลองระดับอำเภอ และจะประกวดในระดับจังหวัดต่อไป
  • กิจกรรมที่ดำเนินการแล้ว คือ สอนสุขศึกษาให้ความรู้ในชมรมผู้สูงอายุ
  • คัดกรองผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ รวมทั้งปัญหาในช่องปาก ปัญหาที่พบ คือ ผู้สูงอายุมากกว่า 30% โดยเฉพาะผู้หญิงจะกินหมาก เพราะเชื่อว่าจะทำให้ฟันทน จากการสอบถามและตรวจช่องปากผู้สูงอายุก็พบว่าจริง ฟันไม่ผุ แน่น แต่ฟันดำ ขูดหินปูนก็ไม่ออก ผู้สูงอายุบางคนใช้มีดขูดออกก็มี
  • ในเรื่องการฝึกปฏิบัติแปรงฟัน ก็ได้ให้แกนนำนักเรียน ที่ผ่านการฝึกอบรมด้านทันตฯ มาแล้ว มาช่วยสอน/ฝึกผู้สูงอายุแปรงฟัน

ที่ ชมรมผู้สูงอายุ รพ.เจ้าพระยายมราช จ.สุพรรณบุรี

  • ชมรมผู้สูงอายุได้เชิญวิทยากร รพ. ไปสอนให้ความรู้เรื่อง การดูแลสุขภาพฟันอยู่แล้ว
  • ขณะนี้ รพ.เจ้าพระยายมราชต้องดูแล 16 ชุมชน ในเขตเทศบาลเมือง มีการตั้งชมรมผู้สูงอายุทุกชุมชน และ อสม. ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มาเข้าร่วมด้วย เพราะการดูแลชมรมผู้สูงอายุ ต้องมีการประสานงานระหว่างชุมชน อสม. และ PCU
  • กลุ่มงานทันตกรรมร่วมกับงานเวชกรรมสังคมในการคัดกรองผู้สูงอายุในชุมชน เป็นทีมงานสหวิชาชีพ ตรวจทั้งความดันโลหิต เบาหวาน ตา และช่องปาก เนื่องจากนโยบายของโรงพยาบาลเน้นให้ทำงานร่วมกัน
  • ทันตบุคลากรต้องมีคำตอบในเรื่องการให้บริการฟันเทียมด้วย เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะต้องการบริการในด้านนี้
  • รพ. มีรถmobile ให้บริการทันตกรรมแก่ประชาชนทั่วไป และมีป้ายนิเทศรอบรถ mobile ให้ทันตสุขศึกษาไปพร้อมกัน
  • การส่งเสริมสุขภาพช่องปากจะทำไปพร้อมกับการให้บริการรักษาเป็นรายบุคคล แต่ยังไม่ได้ติดตามผลไปที่บ้าน
  • รพ. กำลังพัฒนาเรื่องการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มีการดูแลทั้งในเรื่องของเบาหวาน ตา และช่องปาก อย่างสม่ำเสมอ

ดูแล้วก็เห็นว่า กิจกรรมผู้สูงอายุแต่ละแห่ง แต่ะละที่ ก็มีต่างๆ กันไป ตามบริบทของพื้นที่ละค่ะ

รวมเรื่อง แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานทันตฯ ในผู้สูงอายุ ครั้งที่ 1

 

หมายเลขบันทึก: 47136เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2006 21:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นแล้ว น่าร่วมวงด้วยจังค่ะ

เหมียว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท