สรุป "การประเมินวิเคราะห์งานวิจัย" สอนโดย ผศ.ดร.มรรยาท รจิวิทย์


ในการประเมินวิเคราะห์งานวิจัย ควรประเมินวิเคราะห์ในหัวข้อดังต่อไปนี้

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

ส่วนนี้งานวิจัยที่ดี มักกล่าวถึงข้อความที่จะนำเรื่องที่จะโยงเข้ามาสู่เรื่องที่จะวิจัย การนำเข้าสู่เรื่องนั้นไม่ควรยาวเกินไป เพราะอาจจะนำเข้าสู่เรื่องยาก ส่วนนี้อาจมีการอ้างอิงได้บ้างตามสมควร แต่ไม่ควรอ้างอิงมากจนเกินไปจนเหมือนกับเอาข้อความที่อ้างอิงมาเขียนต่อๆ กัน  อย่างไรก็ตาม ในตอนสุดท้ายของส่วนนี้งานวิจัยที่ดีต้องสรุปให้ได้ว่า ด้วยเหตุอะไรจึงทำให้เกิดงานวิจัยนี้ขึ้น โดยข้อความที่เขียนมาตั้งแต่ต้นจะต้องต่อเนื่องกันโดยตลอด            เนื้อหาส่วนที่เป็นความเป็นมาและความสำคัญของปัญหานี้ ไม่จำเป็นต้องยาวมากนักเพียงแต่ให้ผู้อ่านมองเห็นว่ามีความสำคัญหรือจำเป็นอย่างไรจึงต้องทำวิจัยเรื่องนี้ รวมทั้งควรกล่าวถึงประชากรที่สนใจ ตัวแปรที่ต้องการศึกษา ซึ่งระบุผู้ที่ทำการศึกษามาก่อนและมีช่องว่างอะไรที่ทำให้ต้องศึกษาเพิ่มเติม 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย       

งานวิจัยที่ดีจะต้องมีวัตถุประสงค์ของงานวิจัยและการเขียนวัตถุประสงค์ของการวิจัย อาจระบุออกมาเป็นข้อๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีการอธิบายเพิ่มเติมอะไร หรืออาจจะแยกเขียนเป็นวัตถุประสงค์ทั่วไป (ไม่แยกข้อ) แล้วมีวัตถุประสงค์เฉพาะ โดยแยกเป็นข้อๆ ให้ชัดลงไปอีกก็ได้           

สมมุติฐานของการวิจัย                

สมมุติฐานที่ผู้วิจัยตั้งไว้ในการวิจัยเรื่องหนึ่ง จะมีสมมุติฐานกี่ข้อขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการวิจัย  ถ้าวัตถุประสงค์มีมากก็อาจมีสมมุติฐานหลายข้อ  ถึงแม้ว่าวัตถุประสงค์มีข้อเดียวก็อาจตั้งสมมุติฐานไว้หลายข้อก็ได้ การตั้งสมมุติฐานการวิจัยควรให้เป็นคำตอบที่คาดว่าจะเป็น โดยอาจเขียนให้อยู่ในรูปของความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรหรืออาจเปรียบเทียบความคล้ายคลึงหรือความแตกต่าง ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการวิจัย  

 ขอบเขตของการวิจัย 

  เป็นการบอกกรอบของงานวิจัยว่า มีขอบเขตกว้างขวางหรือแคบเพียงใด ครอบคลุมกลุ่มใดบ้างหรือมีเนื้อหาอยู่ในกรอบอย่างไร อะไรที่ครอบคลุมไม่ถึง เป็นต้น แต่ไม่จำเป็นต้องระบุรายละเอียดมากนัก 

ข้อตกลงเบื้องต้น         

 เป็นการตกลงกับผู้อ่านว่างานวิจัยเรื่องนี้มีข้อตกลงอะไรบ้าง เช่น ตัวแปรตัวนี้สามารถวัดได้ด้วยเครื่องมือประเภทนี้เท่านั้น  อย่างไรก็ตามหัวข้อนี้ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ ถ้าการวิจัยไม่ใช่การวิจัยเชิงทฤษฏีที่ต้องอาศัยข้อตกลงพิเศษ           

 ข้อจำกัดของการวิจัย  

มีงานวิจัยหลายเรื่องที่ไม่มีหัวข้อนี้ เพราะคิดว่าไม่จำเป็นต้องบอกในสิ่งที่เป็นจุดอ่อนของการวิจัยตนเอง  ตัวอย่างเช่น ข้อจำกัดในการวัด  ถ้าจะวัดให้ได้ดีจะต้องใช้วิธีสังเกต แต่ในสภาพที่เป็นจริงทำไม่ได้เพราะข้อจำกัดด้านอื่นๆ จึงต้องใช้วิธีสอบถามแทน เป็นต้น การที่บอกข้อจำกัดไว้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านตามสมควร เพราะทำให้ทราบว่าการวิจัยนี้มีข้อควรพิจารณาในการนำไปใช้ต่อไปอย่างไร จึงจะเหมาะสมกับข้อจำกัดที่มี 

คำจำกัดความที่ใช้ในการวิจัย          

 หัวข้อนี้จำเป็นมากเพราะในการวิจัยเรื่องหนึ่งๆ จะต้องมีคำที่บางคนไม่คุ้นเคย หรืออาจจะคุ้นเคยแต่ในคนละความหมาย จะเรียกว่าเป็นการกำหนดขอบเขตของตัวแปรที่ศึกษาอย่างหนึ่งก็ได้ โดยเป็นขอบเขตของความหมายในการให้คำจำกัดความ งานวิจัยที่ดีนั้นจะต้องระบุว่า

ในการวิจัยครั้งนี้ คำนี้มีความหมายอย่างไร

เป็นการทำความเข้าใจระหว่างผู้วิจัยกับผู้อ่านรายงานการวิจัย คำที่จะนำมาให้คำจำกัดความหรือให้นิยามนั้นให้เลือกเฉพาะที่สำคัญๆ และจำเป็นจริงๆ คำที่ทราบความหมายกันอยู่แล้ว แม้จะเป็นคำศัพท์เฉพาะจะไม่นิยามก็ได้ เช่น นักเรียน โรงเรียน ครู เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าการนิยามนั้นไปตรงกับขอบเขตหรือที่มีการอธิบายอยู่แล้วในหัวข้ออื่นๆ            ความหมายของคำที่นิยาม ให้นิยามตามที่ใช้จริงๆ ไม่ใช่นิยามตามทฤษฏีหรือตามความหมายสากล (ยกเว้นการนำมาใช้นั้นใช้ตามทฤษฏี หรือใช้ตามความหมายที่เป็นสากล)   

วรรณคดีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 

ในส่วนนี้จะเป็นการรวบรวมเอกสารและผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องที่จะวิจัย คำว่า  เกี่ยวข้อง ในที่นี้อาจจะเกี่ยวกับตัวแปรในการวิจัยแต่ละตัวหรืออาจจะเกี่ยวข้องกับผลการวิจัยตามสมมุติฐานที่กำหนดไว้ก็ได้ ในการเขียนวรรณคดีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องนี้ ควรเขียนในลักษณะสรุปมากกว่าการโค้ตมาโดยตรง และถ้ามีเอกสารหรืองานวิจัยที่ตรงกันหรือไม่ตรงกันอย่างไรก็ควรมีการสรุปไว้ด้วยว่า ส่วนใหญ่มีแนวทางไปทิศทางไหนหรือควรสรุปได้อย่างไร            มีข้อที่ผู้ประเมินควรจะพิจารณาเรื่องหนึ่งก็คือ การเลือกวรรณคดีหรืองานวิจัยที่จะนำมาใช้อ้างอิง ขอให้พิจารณาถึงความเชื่อถือได้ของวรรณคดีและงานวิจัยนั้นด้วย เช่น ถ้าเป็นหนังสือ/ตำรา ใครเป็นผู้เขียน สมควรอ้างอิงหรือไม่ ถ้าเป็นงานวิจัย งานวิจัยนี้มีคุณภาพอย่างไร กลุ่มตัวอย่างพอจะเป็นตัวแทนของประชากรได้มากน้อยแค่ไหน การวัดตัวแปรเป็นอย่างไร เชื่อถือได้แค่ไหน วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลถูกต้องหรือเปล่า เป็นต้น ไม่ใช่พอเห็นเป็นงานวิจัยก็นำมาอ้างอิงทันที น่าจะไม่ถูกต้อง 

รูปแบบของการวิจัย        

 อาจบอกเพียงว่าการวิจัยเรื่องนี้เป็นการวิจัยประเภทใด เป็นงานวิจัยเชิงสำรวจ หรือการวิจัยเชิงทดลอง หรือกึ่งทดลอง รูปแบบที่ใช้เป็นแบบไหน เป็นแบบวัดก่อนและหลังการทดลอง หรือเป็นแบบวัดครั้งเดียว หรือวัดเป็นช่วงเวลาหลายครั้ง           

ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง     

 ควรแยกเป็นสองหัวข้อ คือ ประชากร หัวข้อหนึ่ง กับกลุ่มตัวอย่าง อีกหัวข้อหนึ่ง การระบุกลุ่มประชากรให้ระบุเพียงว่าได้แก่ กลุ่มใด มีจำนวนเท่าใด ถ้าไม่รู้จำนวนก็บอกเพียงว่าครอบคลุมกว้างขวางเพียงใด เช่น  ทั่วประเทศ   ทั่วทั้งภาค  หรือเฉพาะในจังหวัด เป็นต้น  สำหรับกลุ่มตัวอย่างนั้นให้ระบุวิธีเลือกตัวอย่างว่า เลือกโดยวิธีใด มีขั้นตอนในการเลือกอย่างไร และเมื่อเลือกเสร็จแล้วจะเป็นกลุ่มตัวอย่างที่มีจำนวนเท่าใด เมื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเสร็จแล้วได้ตัวอย่างครบจำนวนหรือไม่ ถ้าไม่ครบ ได้มาจริงๆ ร้อยละเท่าไรของกลุ่มตัวอย่างที่เลือกไว้ 

ตัวแปรและการวัดตัวแปร 

     

การระบุตัวแปรเป็นสิ่งสำคัญเหมือนกัน เพราะเป็นการบอกให้รู้ว่างานวิจัยนี้จะศึกษาเรื่องอะไรบ้าง ตามปกติการระบุตัวแปรจะแยกเป็นสองกลุ่ม คือตัวแปรอิสระกับตัวแปรตาม โดยบอกว่าแต่ละกลุ่มมีตัวแปรย่อยอะไรบ้าง งานวิจัยที่ดีควรบอกด้วยว่าแต่ละตัวแปรมีวิธีวัดอย่างไร ผลที่วัดได้จะออกมาเป็นอย่างไร  เช่น ตัวแปรกลุ่มจะมีกลุ่มอะไรบ้าง ถ้าเป็นคะแนนจะมีตั้งแต่กี่คะแนนถึงกี่คะแนน ถ้าเป็นมาตราส่วนประมาณค่าจะมีมาตราอย่างไร 0 ถึง 4 หรือ 1 ถึง 5 หรืออย่างไร  ตัวแปรบางตัวมีผลการวัดละเอียดและมาก จะรวมกลุ่มอย่างไร อาทิ อายุ รายได้ จะแบ่งกลุ่มอย่างไร ขึ้นอยู่กับรูปแบบของการวิจัยเป็นหลัก

เอกสารอ้างอิง 

วิเชียร  เกตุสิงห์. (2537).  คู่มือการวิจัย: การวิจัยเชิงปฏิบัติ.   พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี:  มปพ. Martin, P.A. (1997).  Writing a useful literature review for a quantitative research project.  Applied  Nursing Research, 10(3), 159 – 162.  LoBiondo-Wood, G., & Haber J. (1998). Nursing research: Methods, critical appraisal and utilization. (4th Ed.). St. Louis: Mosby Year-Book. Polit, D.F., & Hungler, B.P. (1997). Essentials of nursing research: Methods, appraisal,          And utilization. Philadelphia: Lippincott-Raven.    

คำสำคัญ (Tags): #วิจัย
หมายเลขบันทึก: 47118เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2006 18:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 18:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท