Learn by AI (Appreciate Inquiry )


เรามีวิทยากร KM ภาคการศึกษาเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน นามว่า ครูใหม่

 

      หลายคนคงสงสัยว่าเรื่องอะไร ไม่ต้องเดาเสียให้ยาก ...คงเดากันไม่ถูกหรอกคะ ....เพราะเป็นเรื่องที่เรา ชาวสคส. ได้เรียนรู้จาก Intern คนที่สองของเรา คือ คุณวิมลศรี ศุษิลวรณ์ มีชื่อเล่นว่า ครูใหม่  โดยครูใหม่ได้เริ่มเข้ามาเป็น Intern ตามโครงการวิทยากรจัดการความรู้ฝึกหัด  (KM Internship Program) ในเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม เพียง 2 เดือนถือว่าเป็นช่วงเวลาที่แสนสั้นแต่ผลงานที่ครูใหม่ร่วมกิจกรรมกับชาว สคส. นับว่าคับคุณภาพจริงๆ เมื่อวานเป็นวันที่ครูใหม่ได้ร่วมทำกิจกรรมภายใน สคส. คือ AAR ชีวิตอินเทอร์น     

      คำถามแรกของ อ. วิจารณ์ พานิช คือ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา การเรียนรู้อะไรที่ให้คุณค่าสูงสุด?   ได้รับคำตอบจากครูใหม่ว่า การซึมซับบรรยากาศของความเป็นองค์กร หน่วยงาน หรือ ชุมชน ที่จะจัดการความรู้ ว่ามีองค์ประกอบอะไรที่แทรกซึมในชีวิตได้อย่างไร โดยทั่วไปคนเราจะจัดการความรู้ โดยอาจจะมองเป็นประเด็น จัดการอย่างเป็นประเด็นๆ  การที่ได้เข้ามาคลุกคลีกันแบบเต็มเวลาเสมือนพนักงานคนหนึ่งของ สคส. พบเจอตลอดเวลา อยู่ในทุกเรื่องราวเป็นวิถีชีวิตในการทำงาน 

      ครูใหม่เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้ร่วมงานกับ สคส. นำเสนอตามเป้าประสงค์ที่ต้องการเรียนรู้จาก สคส. โดยแบ่งออกเป็น

วิชาเอก  การเป็นวิทยากรกระบวนการ และการได้รับรู้ชีวิตของชุมชนนักจัดการความรู้

วิชาโท   เรียนรู้ในเรื่องการสื่อสาร ภาคทฤษฎี : การถอดบทเรียนจากอาจารย์กาญจนา แก้วเทพ และ สรุปความเข้าใจเรื่อง KM ลงในจดหมายข่าว ถักทอสายใยแห่งความรู้ ฉบับเดือน กันยายน-ตุลาคม 2549

วิชาเลือก  การออกแบบกระบวนการ เช่น งานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติครั้งที่ 3, workshop ม. ธรรมศาสตร์ ม.มหาสารคาม และร่วมจับภาพกับทีมประชาสัมพันธ์ เช่น ร.ร. พระมารดานิจจานุเคราะห์ กรุงเทพฯ รร.สัตยาไส จ.ลพบุรี และ อบต. วัดดาว จ.สุพรรณบุรี      

      และความรู้ที่ครูใหม่บอกว่าได้เก็บเกี่ยวจาก สคส. คือ การบรรยาย การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาทักษะการจดบันทึก ให้กับคณาจารย์จาก มสธ., ข้อคิดในการพิจารณา KM Inside จากการประชุมประจำสัปดาห์ ซึ่งจะนำแนวคิดการทำงานในองค์กร โดยต้องมีกรอบความคิดที่ชัดขึ้นไปปรับใช้ใน ร.ร.เพลินพัฒนา และข้อคิดเกี่ยวกับงานกระบวนกรในวิธีของเสมสิกขาลัย จากคุณปรีดา เรืองวิชาธร เช่น เรื่องของทุกคนต้องมีความสุข วิธีคิดเรื่องจิตวิญญาณ เป็นเรื่องที่ควรใส่ใจ

        งานชิ้นต่อไปคือ มี 3 ส่วนคือ

งานหลักคือ วิทยากรกระบวนการให้กับ  Workshop การจัดการความรู้สำหรับผู้บริหารระดับกลาง  สายสนับสนุนวิชาการ มธ. และ Workshop จุดประกายเครือข่าย ครูเพื่อศิษย์คณะศึกษาศาสตร์  มมส. 

งานเลือก การสานเครือข่าย รร. อนุราชประสิทธิ์ จ.นนทบุรี  เรื่องการใช้ ICT เพื่อการสร้างความรู้ โดยการมหกรรมการการจัดการความรู้ ครั้งที่ 3 โดยการชักชวน 2 โรงเรียนคือ รร.อนุราชประสิทธิ์ และ รร.พลับพลาศิริ เข้าร่วมในห้องกระบวนการเรียนรู้

งานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งจะร่วมแบ่งปันความเข้าใจ และสร้างชุมชน นักจัดการความรู้ที่ ร.ร.เพลินพัฒนา และหาความรู้เพิ่มเติม    

     เมื่อครูใหม่เล่าเรื่องการทำงานที่ผ่านมาในช่วง 2 เดือนที่ร่วมใช้ชีวิตกับ สคส. รวมทั้งงานที่จะทำต่อไปจบ ทุกคนจึงเกิดคำถามว่าถ้าเกิดเครือข่ายมากเกินไปทำอย่างไร อ. วิจารณ์ แนะให้ว่า ควรสร้างวิทยากรใน ร.ร. เพลินพัฒนาเป็นกลุ่มฝึกอบรมในภาคการศึกษาได้     

     สิ่งที่ได้ชาว สคส. ได้เรียนรู้จากอินเทอร์นคนนี้คือ

     ครูใหม่ใช้ชีวิตร่วมกับชาว สคส. เพียง 2 เดือนแต่สามารถเรียนรู้ในการวิถีการทำงานได้อย่างมากมาย จากการเป็นวิทยากรกระบวนการหลายเวที การเขียนบทความลงในจดหมายข่าวถึง 3 ฉบับ  และ การออกแบบกระบวนการให้คนมีส่วนร่วมในกิจกรรม

     ครูใหม่เป็นพี่สาวที่น่ารัก โดยให้คำแนะนำที่ดีทั้งในเรื่องส่วนตัวและเรื่องการทำงาน เป็นหลักอุดมคติในการดำเนินชีวิตให้กับชาว สคส.

     ชาว สคส. ได้เรียนรู้บุคลิกภาพที่มีความนุ่มนวลและแฝงความชัดเจนในเป้าหมาย รวมทั้งความสามารถในด้านศาสตร์และศิลป์ที่มีอยู่เต็มเปี่ยม

      เป็นนักเขียนบล็อกตัวยง เห็นได้จากทุกครั้งที่ครูใหม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับชาว สคส. จะนำความเข้าใจ ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ บันทึกลงบล็อกให้ชาวสคส. และผู้สนใจอ่านเป็นประจำ

      มีความสามารถในการเชื่อมต่อเครือข่ายได้อย่างดีเยี่ยมมาก จากการติดตาม  เติมไฟ  ประสาน เชื่อมโยง และขายฝัน เป็นคุณอำนวยตัวจริงและเป็นนักปฏิบัติชั้นยอด

     ที่สำคัญเรามีวิทยากร KM ภาคการศึกษาเพิ่มขึ้นอีกคน ชื่อ ครูใหม่ เป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อน KM ประเทศไทย ผ่านเครือข่ายของครูใหม่

     จากประสบการณ์ในการรับอินเทอร์นนี้ทำให้ ทีม สคส. มีความชัดเจนขึ้นถึงมุมมองในการคัดเลือกเป็นอินเทอร์น โดยต้องมีเป้าหมายในการเรียนรู้ที่ชัดเจน  สามารถเชื่อมโยงเข้ากับงานประจำของตนได้อย่างดีเยี่ยม มีการรายงานผลการดำเนินงานในการเข้าร่วมกิจกรรมตลอดเวลาลงในบล็อกเพื่อให้ทราบถึงแนวความคิด มุมมอง ข้อคิดเห็นให้ทราบอย่างต่อเนื่อง เป็นการเรียนรู้และแบ่งปันซึ่งกันและกันระหว่างอินเทอร์นและชาว สคส.    

      …....แหละนี่คือกิจกรรม AAR ที่ชาว สคส. ภูมิใจกันมากและปฏิบัติกันเป็นกิจวัตรประจำวัน  ...เราได้พูดคุย ซักถามด้วยคำถามเชิงบวก สร้างสรรค์  ชื่นชม ยินดี การสร้างบรรยากาศเชิงบวก  รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์ เพื่อกระตุ้นพลังด้านบวก  ส่งผลให้เกิดพลังในการทำงานทั้งตัวเองและบุคคลรอบข้างจนเกิดเป็นวัฒนธรรมในองค์กร.......

หมายเลขบันทึก: 47095เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2006 15:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 21:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท