นางแสนถี (หรือ ป้าสันที) คนมอญไร้สัญชาติจากทวายที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทย


---------------------------------------------------------- 

กรณีศึกษา : นางแสนถี (หรือป้าสันที) คนมอญไร้สัญชาติจากทวาย ที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทย

โดย กิติวรญา รัตนมณี ข้อสอบปลายภาค วิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ภาคการศึกษาที่ 2/2553 วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2554
---------------------------------------------------------- 

นางแสนถีและนายสอน เป็นคนมอญที่เกิดและอาศัยอยู่ในทวาย ต่อมาครอบครัวของทั้งสองคนได้อพยพหนีภัยความตายจากประเทศพม่า เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ทั้งคู่ยังเป็นเด็ก เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2505 โดยผ่านเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และเดินเท้าเข้ามาตั้งบ้านเรือนและทำมาหากินใน อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี

หลังจากทั้งคู่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยได้ไม่กี่ปี ได้ทำพิธีผูกข้อมือแต่งงานอยู่กินกันตามประเพณีของคนเชื้อสายมอญทั่วไป จนมีบุตรด้วยกันทั้งสิ้น 7 คน ได้แก่ เอมิ(เสียชีวิต ก่อนทำทะเบียนประวัติผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า) ปัจจรา(หรือบุญมี) เบญจพร อำพล อดุลย์ สัญชัย(หรือชาญชัย) และบุญชัย โดยบุตรหกคนแรกเกิดที่ บ้านในหมู่บ้านคนมอญที่ทุ่งก้างย่างต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ส่วนบุตรคนสุดท้องชื่อนายบุญชัย เกิดเมื่อ พ.ศ.2524 ที่ ร.พ.ท่าเรือ อ.ท่ามะกา
จ.กาญจนบุรี 

นางแสนถีและนายสอนไม่เคยแจ้งเกิดให้แก่บุตรเลย บุตรทุกคนจึงไม่มีเอกสารรับรองการเกิด

ใน พ.ศ.2527 หลังจากย้ายมาอยู่ที่ อ.สังขละบุรี ได้ไม่นาน นางแสนถีนายสอนและบุตรทุกคนได้เข้ารับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า ณ ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี หลังจากนั้นสมาชิกทุกคนในครอบครัวได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านสำหรับบุคคลต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย(ท.ร.13) ซึ่งระบุว่านางแสนถีและนายสอนหลบหนีเข้าเมืองเข้ามาจากพม่า ส่วนบุตรได้รับการระบุว่าเกิดในประเทศไทย สมาชิกทุกคนได้รับการกำหนดเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ขึ้นต้นด้วย “6”

หลังมีชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.13) ได้ไม่นานบุตรสาวคนรองชื่อเบญจพร และนายสอนผู้เป็นสามีก็เสียชีวิตลงด้วยโรคไข้มาเลเรีย เนื่องจากไม่มียารักษาเพราะอยู่ไกลตัวเมือง

ภายหลังการเสียชีวิตของสามีและบุตรสาวคนรอง นางแสนถีจึงตัดสินใจนำสมาชิกในครอบครัวที่เหลือทั้งหมดย้ายออกจาก อ.สังขละบุรี มาอาศัยที่ บ้านทุ่งก้างย่าง อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี และตระเวนทำงานรับจ้างรายวันไปเรื่อยๆจนกระทั่งประมาณ ปี พ.ศ.2535 จึงได้ย้ายครอบครัวมาปักหลักเช่าบ้านใน อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ เพื่อทำงานรับจ้างทั่วไป แต่ก็ไม่พอเลี้ยงปากท้องของสมาชิกในครอบครัว นางแสนถีจึงออกเก็บของเก่าเล็กๆน้อยๆขายประทังชีวิต ส่วนปัจจราบุตรสาวคนโต ก็ได้เช่าหน้าร้านสำหรับวางแผงลอยขายผักสด แถวปากซอยวัดคู่สร้าง เพื่อเป็นรายได้หลักของครอบครัว

ทั้ง 6 ชีวิต อาศัยอยู่ในบ้านไม่มีเลขที่ ในซอยวัดคู่สร้าง บริเวณปากคลองบางปลากด อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน  แม้ว่าบุตรหลายคนจะแต่งงานมีครอบครัวและมีลูกของตนเองแล้วก็ตาม แต่ทุกคนก็ยังอาศัยอยู่ในบ้านบริเวณใกล้เคียงกันมาโดยตลอด และไม่เคยย้ายกลับไปอาศัยที่ อ.สังขละบุรี อีกเลย เพราะกลัวถูกตำรวจจับ

ในช่วงที่กรมการปกครองแจ้งให้อำเภอในทุกพื้นที่ดำเนินการเปลี่ยนเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ของคนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาโดยผิดกฎหมายรวมถึงบุตรของบุคคลดังกล่าวซึ่งเคยได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า ทางอำเภอสังขละบุรีเองก็ได้แจ้งให้คนกลุ่มนี้มาแสดงตนเช่นกัน

เพื่อทางอำเภอจะได้ดำเนินการจัดทำเลขกลุ่มประเภทบุคคลใหม่ และเปลี่ยนบัตรประจำตัวจากบัตรกระดาษเป็นบัตรอิเลคทรอนิค แต่กว่าที่นางแสนถีและครอบครัวจะทราบข่าวก็ล่วงเลยเวลาแสดงตนไปนานแล้ว จึงไม่ได้ไปแสดงตนภายในระยะเวลาที่กำหนด

ผ่านมาจนกระทั่ง เดือนกันยายน พ.ศ.2552 เมื่อนายอำพลบุตรชายคนรองของนางแสนถีได้ติดต่ออำเภอเพื่อสอบถามเกี่ยวกับเลข 13 หลัก ของตนเองและครอบครัวจึงทราบว่าสมาชิกในครอบครัวทั้งหมดถูกจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนราษฎร ไปตั้งแต่เดือนกุมพาพันธ์ พ.ศ. 2552 เจ้าหน้าที่อำเภอจึงแนะนำให้สมาชิกทั้งหมดมาแสดงตนพร้อมยื่นคำร้องเพื่อขอคืนสิทธิในเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักเดิม และนำหลักฐานทะเบียนบ้าน ท.ร.13 พร้อมพยานบุคคลมาแสดงว่าเป็นบุคคลเดียวกับที่ถูกจำหน่ายชื่อไป

หลังจากทราบเรื่องดังกล่าว นายอำพลได้หารือคณะทำงานโครงการบางกอกคลินิก และคณะทำงานได้ทำหนังสือเข้าหารือต่อคณะอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพ และชนพื้นเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้ช่วยประสานในการจัดการปัญหาสถานะบุคคลของนางแสนถีและครอบครัว โดยขอให้นำนางแสนถีและสมาชิกในครอบครัวทุกคนไปแสดงตน  ณ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2553 สมาชิกทุกคนจึงได้เดินทางไปยื่นคำร้องเพื่อแสดงตน ณ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี หลังจากอำเภอได้พิจารณาพยานหลักฐานที่นำมาแสดงทั้งหมดแล้วมีความเห็นว่า “น่าเชื่อได้ว่าบุคคลทั้งหมดเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกับที่ถูกจำหน่ายชื่อจริง” จึงส่งความเห็นไปยังส่วนกลางเพื่อหารือแนวทางในการดำเนินการ  

ขณะนี้ สมาชิกทุกคนกำลังอยู่ระหว่างรวบรวมพยานเอกสารพยานบุคคลเพื่อรับรองการอาศัยอยู่ในประเทศไทย และบุตรทั้ง 5 คน  กำลังรวบรวมพยานเอกสารพยานบุคคลเพื่อรับรองการเกิดในประเทศไทย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการจัดการปัญหาสถานะบุคคลในช่วงต่อไปหลังจากได้รับการคืนสิทธิในเลข ประจำตัวประชาชน 13 หลัก แล้ว

 

---------------------------------------------------------- 
คำถามที่ 1 
ภายใต้หลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล นางแสนถีมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐใดบ้าง? เพราะเหตุ? จงอธิบาย? 
---------------------------------------------------------- 
แนวคำตอบ 

ประการแรก จากกรณีปัญหาเป็นการแสวงหาจุดเกาะเกี่ยวระหว่างบุคคลกับรัฐภายใต้หลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ นานารัฐต่างยอมรับโดยทั่วไปว่า รัฐใดๆก็ตามย่อมมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของตน และประชากรซึ่งอาศัยในดินแดนของตน เว้นแต่มีการกำหนดเป็นอย่างอื่น (เช่น มีสนธิสัญญาสละอำนาจอธิปไตยบางประการ)

การปรากฎตัวของบุคคลธรรมดานำมาสู่การมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐ โดยผ่าน 2 หลัก กล่าวคือ (1) หลักดินแดน และ (2) หลักบุคคล

ซึ่งปรากฎได้ใน 2 ช่วงเวลา กล่าวคือ (1) ในขณะเกิด และ (2) ภายหลังที่บุคคลนั้นเกิด โดยผ่านข้อเท็จจริง 5 ประการ กล่าวคือ  (1) ถิ่นที่เกิดของบุคคลธรรมดา (2) ถิ่นที่บุคคลปรากฏตัว (3) สัญชาติของบุคคลธรรมดา (4) ภูมิลำเนาของบุคคล และ (5) ถิ่นที่ทรัพย์สินอันเป็นสิทธิของบุคคลตั้งอยู่

ประการสอง ในการปรับใช้ทฤษฎีจุดเกาะเกี่ยวระหว่างรัฐและบุคคลธรรมดาตามที่กล่าวมาข้างต้น นั้นจะเห็นได้ว่า นางแสนถีมีจุดเกาะเกี่ยวกับ 2 รัฐ/ประเทศ กล่าวคือ

1.  ประเทศพม่า  เป็นประเทศแรกที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับนางแสนถี  กล่าวคือ

(1) เมื่อนางแสนถีเกิดในพม่า ประเทศนี้จึงมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของถิ่นที่เกิดของนางแสนถี

(2) เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่านางแสนถีเคยอาศัยอยู่ในประเทศนี้มาช่วงหนึ่ง ประเทศนี้จึงเคยมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของถิ่นอันเป็นภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนของนางแสนถีด้วย และ

(3) เมื่อปรากฏว่านายสอนสามีของนางแสนถีเกิด และเคยอาศัยอยู่ในพม่าในช่วงเวลาหนึ่งประเทศนี้จึงเคยมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของถิ่นที่เกิด และเคยเป็นภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนของสามีของนางแสนถี อีกด้วย

จะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์โดยหลักดินแดนระหว่างนางแสนถีกับรัฐพม่าเป็นความสัมพันธ์ทั้งตั้งแต่การเกิดและภายหลังการเกิด ในขณะที่ความสัมพันธ์โดยหลักบุคคลระหว่างนางแสนถีกับรัฐพม่านั้นเป็นความสัมพันธ์ภายหลังการเกิดโดยผ่านนายสอนผู้เป็นสามี

ข้อสังเกตเพิ่มเติม  

หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าบิดาและมารดาของนางแสนถีเกิดและเคยอาศัยอยู่ในประเทศพม่า ประเทศนี้จึงมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของบุพการีทั้งสองของนางแสนถีเพราะรัฐพม่าเป็นรัฐเจ้าของดินแดนอันเป็นถิ่นที่เกิดและเจ้าของถิ่นอันเป็นภูมิลำเนาเดิมของบุพการีของนางแสนถี

ดังนั้น จึงเกิดความสัมพันธ์โดยหลักดินแดนระหว่างบุพการีของนางแสนถีกับประเทศพม่าจึงเกิดความสัมพันธ์โดยหลักบุคคลระหว่างนางแสนถีและประเทศพม่าโดยผ่านบิดาและมารดาของนางแสนถี เป็นความสัมพันธ์โดยหลักสืบสายโลหิตระหว่างนางแสนถีและรัฐพม่าตั้งแต่การเกิด

2.  ประเทศไทย  เป็นประเทศที่สองที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับนางแสนถี กล่าวคือ

(1) นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา นางแสนถีได้เดินทางเข้ามาอาศัยตั้งบ้านเรือนและทำมาหากินในประเทศไทยมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยจึงมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของถิ่นอันเป็นภูมิลำเนาทั้งตามกฎหมายเอกชนและตามกฎหมายมหาชนของนางแสนถี เพราะนางแสนถีอาศัยอยู่จริงในประเทศไทย และยังเคยได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า และนอกจากนี้การที่นางแสนถีมีชื่อในทะเบียนบ้าน ท.ร.13 ย่อมแสดงว่านางแสนถีมีภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนในประเทศไทยอีกด้วย

(2) ไม่เพียงแต่นางสันที่เท่านั้น แต่นายสอนสามีของนางแสนถีก็เดินทางเข้ามาอาศัยตั้งบ้านเรือนและทำมาหากินในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2505 จนกระทั่งเสียชีวิตประมาณปี พ.ศ.2527ที่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ประเทศไทยจึงมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของถิ่นอันเป็นภูมิลำเนาทั้งตามกฎหมายเอกชนและตามกฎหมายมหาชนของสามีของนางแสนถี เพราะนายสอนเคยอาศัยอยู่จริงในประเทศไทย และยังได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า และการที่นายสอนมีชื่อในทะเบียนบ้าน ท.ร.13 ย่อมแสดงว่านายสอนเคยมีภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนในประเทศไทยอีกด้วย

(3) นางแสนถีเช่าบ้านทำมาหากินเก็บของเก่าขาย แสดงว่านางแสนถีอาจมีรายได้มีทรัพย์สินต่างๆในประเทศไทย  ประเทศไทยจึงมีสถานะเป็นถิ่นที่ทรัพย์สินอันเป็นสิทธิของนางแสนถีตั้งอยู่ด้วย

จะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ทั้งโดยหลักดินแดนระหว่างนางแสนถีกับรัฐไทย และความสัมพันธ์โดยหลักบุคคลผ่านสามีคือนายสอนนั้นล้วนเป็นความสัมพันธ์ภายหลังการเกิดทั้งสิ้น

 

โดยสรุป เนื่องจากนางแสนถีมีจุดเกาะเกี่ยวกับ 2 รัฐ/ประเทศ คือ ประเทศพม่าและประเทศไทย จึงทำให้สถานะบุคคลของนางแสนถีมีลักษณะระหว่างประเทศและตกอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ แม้ว่าปัจจุบันประเทศพม่ายังไม่ยอมรับบันทึกชื่อของนางแสนถีในทะเบียนราษฎรของตน แต่โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ประเทศพม่าและประเทศไทยย่อมมีอำนาจอธิปไตยอยู่เหนือตัวบุคคลของนางแสนถี


งานเขียนที่เกี่ยวข้อง 

 

๑.     พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, สันที ลูกๆ และหลาน : จากมอญไร้รัฐแห่งทะวาย มาสู่คนไร้รัฐแห่งสมุทรปราการ, รายงานกรณีศึกษาภายใต้โครงการห้องเรียน คลีนิค และสำนักงานที่ปรึกษากฎหมายสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่ประสบความไร้รัฐหรือความไร้สัญชาติในสังคมไทย (Classroom, Clinic and Law Firm for Child, Youth and Family who face Statelessness and nationalityless in thai society or “CCL”), เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๙

http://gotoknow.org/blog/stateless-and-nationalityless-management-by-law/30523

 

๒. บงกช นภาอัมพร, ครอบครัวนายอำพล : ไร้เอกสารและไร้ตัวตนในสังคมไทย!!, รายงานกรณีศึกษาภายใต้โครงการห้องเรียน คลีนิค และสำนักงานที่ปรึกษากฎหมายสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่ประสบความไร้รัฐหรือความไร้สัญชาติในสังคมไทย (Classroom, Clinic and Law Firm for Child, Youth and Family who face Statelessness and nationalityless in thai society or “CCL”), เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๙ http://gotoknow.org/blog/bongkot-classroom/30529

 

๓.  พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, มาช่วยกันล้างบาปบริสุทธิ์ให้น้องแพรและน้องวิษณุในรายการโทรทัศน์ "คนหรือฅน : เพื่อสิทธิมนุษยชน", ใน ASTV ช่อง ๓ เวลา ๒๐.๓๐ – ๒๒.๐๐ น., รายงานกรณีศึกษาภายใต้โครงการห้องเรียน คลีนิค และสำนักงานที่ปรึกษากฎหมายสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่ประสบความไร้รัฐหรือความไร้สัญชาติในสังคมไทย (Classroom, Clinic and Law Firm for Child, Youth and Family who face Statelessness and nationalityless in thai society or “CCL”), เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๙ http://gotoknow.org/blog/stateless-and-nationalityless-management-by-law/34292

 

๔. วิษณุ บุญชา, งานวันแม่ไร้สัญชาติ : จากใจลูกและหลาน (วิษณุ) เพื่อแม่และยายไร้สัญชาติ (แม่บุญมีและยายสันที), รายงานกรณีศึกษาภายใต้โครงการห้องเรียน คลีนิค และสำนักงานที่ปรึกษากฎหมายสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่ประสบความไร้รัฐหรือความไร้สัญชาติในสังคมไทย (Classroom, Clinic and Law Firm for Child, Youth and Family who face Statelessness and nationalityless in thai society or “CCL”),  เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๙ http://gotoknow.org/blog/bongkot-classroom/43890

 

๕.  ชลฤทัย แก้วรุ่งเรือง, เมื่อมนุษย์ที่ไม่มีเลข ๑๓ หลัก ป่วยหนัก : กรณีของเด็กชายวิษณุ หลานยายเชื้อสายมอญที่เข้าเมืองปี ๒๕๐๖ ป่วยเป็นไส้ติ่งอักเสบ (ตอนที่ ๑ - การปรากฎตัวของมนุษย์ผู้ไม่มีเลข ๑๓ หลัก  : ความเป็นจริง ในสังคม), รายงานกรณีศึกษาภายใต้โครงการห้องเรียน คลีนิค และสำนักงานที่ปรึกษากฎหมายสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่ประสบความไร้รัฐหรือความไร้สัญชาติในสังคมไทย (Classroom, Clinic and Law Firm for Child, Youth and Family who face Statelessness and nationalityless in thai society or “CCL”), เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ http://gotoknow.org/blog/chon-statelessperson/101597  

 

๖. ชลฤทัย แก้วรุ่งเรือง, เมื่อมนุษย์ที่ไม่มีเลข ๑๓ หลัก ป่วยหนัก : กรณีของเด็กชายวิษณุ หลานยายเชื้อสายมอญที่เข้าไทยปี ๒๕๐๖ ป่วยเป็นไส้ติ่งอักเสบ (ตอนจบ - ข้อสังเกตและข้อค้นพบบางประการที่จำเป็นต้องเร่งทำการแก้ไข), รายงานกรณีศึกษาภายใต้โครงการห้องเรียน คลีนิค และสำนักงานที่ปรึกษากฎหมายสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่ประสบความไร้รัฐหรือความไร้สัญชาติในสังคมไทย (Classroom, Clinic and Law Firm for Child, Youth and Family who face Statelessness and nationalityless in thai society or “CCL”), เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ http://gotoknow.org/blog/chon-statelessperson/101887

 

๗. กิติวรญา รัตนมณี และปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว, เมื่อป้าสันที (แสนถี) คนไร้สัญชาติป่วยหนัก...เราจะดูแลราษฎรไทยกันอย่างไร? (ตอน ๑), วันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒ http://www.statelesswatch.org/node/213 ,http://www.gotoknow.org/blogs/posts/325277

 

๘. กิติวรญา รัตนมณี และปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว, เมื่อป้าสันที (แสนถี) คนไร้สัญชาติป่วยหนัก...เราจะดูแลราษฎรไทยกันอย่างไร? (ตอน ๒), วันที่ ๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๓http://www.gotoknow.org/blogs/posts/325663  

 

๙. ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล, ใครกัน ? ที่จะมายืนยันว่า ลูกอีก ๔ คนของป้าสันที เกิดที่ อ.ไทรโยคจริง, บันทึกการทำงานเพื่อการจดทะเบียนการเกิด: กรณีครอบครัวป้าสันที ตอน ๒, ภายใต้โครงการเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และกลไกการทำงานเครือข่ายด้านสถานะบุคคลและสิทธิเพื่อการจดทะเบียนการเกิดถว้นหน้า (มกราคม – ธันวาคม ๒๕๕๓), ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไรรั้ฐ (SWIT) โดยการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต แรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล (คพรส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) http://www.gotoknow.org/blogs/posts/383163

 

๑๐. ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล, บันทึกการให้ถ้อยคำของนายเสวก วงษ์ขวัญเมืองและนางวรรณา วิภาสวีเกี่ยวกับการเกิดในประเทศไทยของบุตรของป้าสันที, งานเพื่อคณะอนุกรรมการด้านสถานะบุคคลของผูไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพและชนพื้นเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๓

 

๑๑.  ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล, ย้อนเวลา ๒๙ ปี เพื่อตามหาเอกสารรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) ให้บุญชัย, บันทึกการทำงานเพื่อการจดทะเบียนการเกิดถว้นหน้า : กรณีครอบครัวป้าสันที ตอน ๑, ภายใต้โครงการเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และกลไกการทำงานเครือข่ายด้านสถานะบุคคลและสิทธิเพื่อการจดทะเบียนการเกิดถว้นหน้า (มกราคม – ธันวาคม ๒๕๕๓), ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไรรั้ฐ (SWIT) โดยการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต แรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล (คพรส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) http://www.gotoknow.org/blogs/posts/383097

 

๑๒. ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล, บันทึกถึงระหว่างทางการเปลี่ยนผ่านจากความไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ของคนมอญอพยพสามรุ่นในรัฐไทย, เอกสารประกอบการพัฒนาวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกหัวข้อ “แนวคิดทางกฎหมายในการพัฒนาและพิสูจน์สิทธิในสถานะบุคคล”, ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔, ๖ หน้า http://www.gotoknow.org/blogs/posts/469711


หมายเลขบันทึก: 470819เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2011 14:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 12:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท