ธปท.หนุนคลังทำงบ 50 ขาดดุล กระตุ้นเศรษฐกิจ-ลงทุน คุมสัดส่วนหนี้ 40% ต่อจีดีพี


เศรษฐกิจ-ลงทุน
กระทรวงการคลังส่งซิก ทำงบปี 50 แบบขาดดุล หลังไม่มั่นใจภาวะเศรษฐกิจที่มีแต่ทรงกับทรุด ลั่นรักษาสัดส่วนหนี้ต่ำที่ 40% ต่อจีดีพี เปิดช่องขยายเพดานตั๋วเงินคลัง อุดถังแตก ผู้ว่าการ ธปท. หนุนคลังทำงบขาดดุล  กระตุ้นเศรษฐกิจ  การลงทุน มั่นใจหากทำได้ตามกรอบเศรษฐกิจโตถึง 5.25% ได้นายทนง  พิทยะ รักษาการ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 28 ส.ค. นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)  จะเสนอกรอบประมาณการรายได้ในช่วง  3 ปีข้างหน้า (2550-2552) เพื่อพิจารณา  ก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 29 ส.ค.นี้  อย่างไรก็ตาม ยังไม่สรุปว่างบประมาณปี 2550    จะเป็นแบบขาดดุลหรือสมดุล แต่มองว่าหากภาครัฐไม่ดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจใด ๆ เชื่อว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2550 จะขยายตัว 3.5-4% ต่ำกว่าที่ประมาณการว่าจะขยายตัว 4.5% และยิ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าการลงทุนในช่วงไตรมาสแรกปี 2550 จะขยายตัวเพียง 2% ถือเป็นอัตราที่ต่ำเกินไปสำหรับไทย   "ผมรู้สึกเป็นห่วงเรื่องภาวะเศรษฐกิจในปีหน้า   ซึ่งเห็นว่ารัฐบาล ควรมีงบประมาณบางส่วนใช้สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ให้ขยายตัวในอัตราที่ต่ำเกินไป รวมถึงจะมีมาตรการกระตุ้นให้เอกชนมีการลงทุนเพิ่มเติมด้วย  แต่เรื่องการตัดสินใจว่าจะจัดทำงบประมาณขาดดุลหรือไม่ เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ตัดสินใจ" นายทนงกล่าวนายทนงกล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะว่า ภาพรวมของ หนี้สาธารณะปี 2550 อยู่ในเกณฑ์ดี และดีกว่าเป้าหมายตามกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ค่อนข้างมาก   ซึ่งเชื่อว่าตั้งแต่ปีงบ 2550 เป็นต้นไป สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) จะไม่เกิน 40% จากกรอบที่ตั้งไว้ที่ 50%  ขณะที่สัดส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณจะลดลงเหลือไม่ถึง 10% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า   จากกรอบที่ตั้งไว้ที่ 15% ส่วนภาระหนี้ต่อรายได้การส่งออกก็อยู่เพียง 2.43% เท่านั้น  "จะเห็นว่าแนวโน้มหนี้คงค้างจะลดลงเรื่อย ๆ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจหรือนโยบายของภาครัฐด้วยว่าจะมีนโยบายลงทุนในอนาคต หรือจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลหรือไม่ โดยสมมติฐานที่ตั้งไว้ คือ จีดีพีจะขยายตัวประมาณ 4.5% ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา" นายทนงกล่าว  ส่วนจะขยายเพดานการออกตั๋วเงินคลังเพื่อบริหารเงินสดเพิ่มเติมในปีงบ  2550   อีกหรือไม่ นายทนงกล่าวว่ามีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะขยายเพดานออกตั๋วเพิ่มจากเพดานเดิมที่อยู่ที่  250,000 ล้านบาท  เนื่องจากแนวโน้มในอนาคตงบประมาณมีโอกาสขาดดุล รวมถึงภาครัฐจะมีการเร่งรัดเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นนางพรรณี  สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า กรอบหนี้สาธารณะ  ที่ประกาศในครั้งนี้ เป็นการรวมนำโครงการลงทุนในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 สาย และโครงการลงทุนต่อเนื่องจากปีก่อน ๆ แล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าสถานะหนี้สาธารณะในเวลานี้ปรับตัวดีขึ้น โดยประเมินว่าหนี้สาธารณะที่สามารถจัดการได้ภายในปี 2550 จะมีประมาณ 841,120 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้เก่า 619,288 ล้านบาท และหนี้ที่เกิดใหม่ 221,000 บาท ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สนับสนุนแนวคิด       นายทนง  พิทยะ รักษาการ รมว.คลัง ที่จะทำให้งบประมาณปี 2550 ขาดดุล  เนื่องจากเป็นแนวคิดที่ถูกต้อง เหมาะสมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจปัจจุบัน   อย่างไรก็ตาม การขาดดุลต้องอยู่ในระดับที่พอดี เชื่อว่า รมว.คลังคงรู้ว่าจะต้องขาดดุลระดับใด  นอกจากนี้ การขาดดุลเป็นตัวบ่งชี้ถึงการดำเนินนโยบายทางการเงินของคณะกรรมการ นโยบายการเงิน (กนง.) ในปีหน้าด้วย หากขาดดุลไม่มาก กนง. จะดำเนินนโยบายการเงินตามปกติ   "คิดอย่างนี้ถูกต้องแล้ว  เพราะตอนนี้เศรษฐกิจค่อนข้างแข็งแรง  หนี้สาธารณะต่ำกว่า 40% ของจีดีพี   ดังนั้น ถ้างบประมาณขาดดุลกว่านี้เล็กน้อยก็ถือว่าไม่เป็นไร ซึ่งถ้าทำได้จีดีพีปีหน้าก็จะโตมากกว่า 4% เข้าเป้าของ ธปท. ที่วางไว้ที่  4-5.25%"  ผู้ว่าการ ธปท.ระบุ.ไทยโพสต์ 26 ส.ค. 49
คำสำคัญ (Tags): #ภาวะเศรษฐกิจ
หมายเลขบันทึก: 47017เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2006 11:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท