สานสายใยสายสัมพันธ์ สู่ความร่วมมือกันทางการศึกษา


จิระศาสตร์วิทยาขยายเครือข่ายการเรียนรู้สู่...ประเทศญี่ปุ่น

สานสายใยสายสัมพันธ์สายใยสายสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์กันมาค่อนข้างยาวนาน นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เคยมีชาวญี่ปุ่นเข้ามาติดต่อทำการค้าขายและตั้งบ้านเรือนอยู่ในกรุงศรีอยุธยา บริเวณหมู่บ้านยามาดาท้ายวัดพนัญเชิง ดังที่ทราบกันดี จวบจนปัจจุบันความสัมพันธ์นับวันจะมีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นเมื่อปี 2548 ได้มีคณะนักการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกียวโตการศึกษา  Kyoto Education University เดินทางมาศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้การศึกษาและศิลปวัฒนธรรมร่วมกับโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา นำโดย Mr.Sazaki Naomasa (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำมหาวิทยาลัยเกียวโตการศึกษา)     ต่อจากนั้นได้ร่วมกันจัดกิจกรรมการเรียนการสอนทางไกลร่วมกันระหว่างนักเรียนญี่ปุ่นกับนักเรียนโรงเรียน จิระศาสตร์วิทยา ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ผ่านระบบ TV.Conference ณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ  มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ภายใต้ประสานงานอำนวยความสะดวกจากท่านผู้อำนวยการ
จิระศักดิ์ ชุมวรานนท์  ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและวิทยบริการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา โดยจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน 3 ครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2548ช่วงเปิดเทอมใหม่ต้นเดือนมิถุนายน 2549 Mr.Sazaki ได้บินมาเจรจาทำข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษา ร่วมกับท่านโรงเรียน จิระศาสตร์วิทยา โดยท่านผู้อำนวยการโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ได้มอบหมายให้ ดร.ปฐมพงศ์
ศุภเลิศ รองผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและแผน   เป็นผู้แทนเจรจา
   ได้ข้อตกลงร่วมกันว่าทางมหาวิทยาลัยเกียวโตการศึกษา และมหาวิทยาลัย
โอซากา ประเทศญี่ปุ่น จะนำนักศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท สาขาศึกษาศาสตร์  มาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู  ณ โรงเรียน จิระศาสตร์วิทยา  ระหว่างวันที่ 15-17 สิงหาคม พ.ศ. 2549
 ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ คณะ
ดังกล่าวประกอบด้วยอาจารย์ผู้ควบคุม จำนวน 4 คน และ   นักศึกษา จำนวน 12 คน  ได้เดินทางมาถึงประเทศไทยและเข้าพักที่อาคารสวนหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2549 เป็นต้นมา ในคณะนี้มีนักศึกษา ไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู        ที่โรงเรียนสาธิต
มหาวิทยาลัยราชัฏพระนครศรีอยุธยา จำนวน 3 คน ส่วนที่เหลือ 9 คน เลือกมาลงที่โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา โดยเข้าทำการสอนในวันที่ 15-17 สิงหาคม 2549 ร่วมกับคุณครูในโรงเรียน ตามระดับชั้น และกลุ่มสาระการเรียนรู้ดังต่อไปนี้
 

ชื่อนักศึกษาฝึกสอน ระดับการศึกษา/มหาวิทยาลัย ชั้นที่สอน กลุ่มสาระ
การเรียนรู้
ชื่อครู พี่เลี้ยง
ร.ร.จิระศาสตร์วิทยา
Miss Chiaki ป.โท/โอซากา ป.3 ภาษาญี่ปุ่น อ.จิรฐา แดงน้อย
Miss Aiko ป.โท/โอซากา ป.4 ศิลปหัตถกรรม อ.ภูษิตา แก่นแก้วรัตน์
Miss Yukiko ป.โท/โอซากา ป.4 ศิลปหัตถกรรม อ.วิทวรรธ อุ่นเมือง
Mr.Genta ป.โท/โอซากา ป.4 วิทยาศาสตร์ อ.สายใจ  อ่อนเงิน
Miss Kanae ป.โท/โอซากา ป.4 วิทยาศาสตร์ อ.วราภรณ์ ปิยะเสถียร
Mr.Naotaka ป.โท/โอซากา ป.1 ภาษาอังกฤษ อ.ธนภรณ์ มีชูนึก
Miss Rina ป.โท/เกียวโต อนุบาล 2 ศิลปะ, ดนตรี อ.สุระณา ห่อทอง
Miss Kyoko ป.ตรี/เกียวโต ป.6 สังคมศึกษา อ.นเรศ สังข์ศิริ
Mr.Daisuke ป.ตรี/เกียวโต ป.4 วิทยาศาสตร์ อ.กัลยกร ธรรมธนกร
           นอกจากนี้ยังมีอาจารย์ผู้ควบคุมดูแลอีก 4 ท่าน ได้แก่ Mr.Naomasa Sazaki จากมหาวิทยาลัยเกียวโตเป็นหัวหน้าคณะ

          ทุกๆวันอาจารย์และนักศึกษาคณะนี้จะพักอยู่ที่โรงแรมอาคารสวนหลวง ของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา  อยู่ห่างจากโรงเรียน     จิระศาสตร์วิทยาไปทางตะวันตกประมาณ 300 เมตร ติดกับศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา ดังนั้นนักศึกษาญี่ปุ่นจึงสามารถเดินทางไปกลับระหว่างที่พักกับโรงเรียนได้โดยสะดวก ซึ่งปกติจะมาถึงโรงเรียนเวลาประมาณ 7.30 น. เพื่อสังเกตการจัดกิจกรรมยามเช้าของนักเรียน เช่น กิจกรรมห้องสมุดเคลื่อนที่  ยอดนักอ่าน จิตรกรน้อย เสียงตามสาย เป็นต้น  ถึงเวลาประมาณ 8.45 น. หลังจากกิจกรรมหน้าเสาธงได้เสร็จสิ้นลงแล้วนักศึกษาแต่ละคนก็จะแยกย้ายกันไปตามชั้นเรียนครูพี่เลี้ยงของตนเอง เพื่อสังเกตการสอนและร่วมจัดกิจกรรมการเรียนการสอน จากการสังเกตพบว่านักเรียนมีความตื้นเต้น สนุกสนานและให้ความร่วมมือในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียนเป็นอย่างดี พอถึงช่วงพักเที่ยงนักศึกษาเหล่านี้ก็จะรับประทานอาหารร่วมกับครูพี่เลี้ยงและนักเรียนในห้อง  จะสังเกตเห็นว่านักศึกษาญี่ปุ่นพยายามปรับตัวเข้ากับคนไทย เช่น ฝึกการไหว้ การพูดจาสื่อสารภาษาใช้ควบคู่กับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ตลอดจนฝึกรับประทานอาหารไทย  ดังนั้นจึงมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับครู นักเรียนของเราค่อนข้างมาก   พอถึงวันสุดท้ายก่อนที่จะลาจากทางโรงเรียนจึงได้จัดกิจกรรมเลี้ยงต้อนรับและเลี้ยงส่งในวันที่ 17 สิงหาคม 2549 ณ  หอประชุมอาคาร 9 โรงเรียน

จิระศาสตร์วิทยา    แลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม          นับตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้าย จากการสอบถามคณะครูนักเรียนที่ทำกิจกรรมร่วมกับนักศึกษาญี่ปุ่น พบว่าสิ่งที่โรงเรียนได้รับประโยชน์มากที่สุด คงจะเป็นเรื่องการที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะนักเรียนของเราได้แสดงให้เห็นถึงศิลปวัฒนธรรม การร้อง การรำ การแสดงดนตรีไทยบนเวทีของนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถึง ม.3 นับเป็นที่ประทับใจของผู้ชมยิ่งนัก ส่วนทางญี่ปุ่นได้แสดงชุดแต่งกายประจำชาติ เช่น ชุดกิโมโน สำหรับสุภาพสตรี และชุดนักรบซามูไรของสุภาพบุรุษ          ระหว่างชมการแสดงไปก็รับประทานอาหาร พูดคุยกันไป จนกระทั่งถึงเวลาบ่ายโมงเศษๆจึงได้มีการกล่าวขอบคุณและแลกเปลี่ยนของที่ระลึกซึ่งกันและกัน  และแล้วเมื่อเจอกันก็ต้องมีจากเป็นธรรมดา แต่จากไปแล้วไม่ไปลับ ทางMr.Sazaki ได้กล่าวว่ารู้สึกประทับใจในการต้อนรับและไมตรีจิตมิตรภาพของทุกๆคน และยืนยันว่าจะส่งนักศึกษามหาวิทยาลัยมาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูที่โรงเรียน
จิระศาสตร์วิทยาในปีการศึกษาต่อๆไปอีก
          ส่วนทางโรงเรียนของเราก็ได้วางแผนไว้ว่า ถ้าท่านผู้ปกครองและ นักเรียนให้ความสนใจและให้ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ทางการศึกษา สักวันหนึ่งเราจะนำคณะครูและนักเรียนไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้และศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นบ้าง  คาดว่าคง
ไม่ไกลเกินฝัน  ดังนั้นหากท่านผู้ปกครองนักเรียนท่านใดสนใจที่จะส่งบุตร
หลานไปศึกษาดูงานหรือเรียนคอร์สสั้นๆ ที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างปิดภาคเรียน
ขอให้แจ้งความจำนงได้ที่โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา
หมายเลขบันทึก: 47006เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2006 10:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 20:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท