น้ำรดกองไฟ กลยุทธ์ หยุดก่อไผ่


ภูมิปัญญาที่ได้มาก็เอามาแบ่งกันใช้ไม่ปกปิดและไม่ได้คิดว่าเพื่อนจะลอกเลียนอะไร ไม่ได้จดลิขสิทธิ์อะไรเหมือนสมัยนี้เพราะไม่ได้วัดกันที่ตัวเงินแต่ทำกันแบ่งปันเพื่อความอยู่รอดของเพื่อนบ้าน

             เมื่อผมมาทบทวนดู  ช่วงที่เราอายุน้อย  เดินตามหลังผู้ใหญ่  ได้พบอะไร ๆ หลาย ๆอย่างที่เป็นประโยชน์   แต่เรายังเด็กไม่ได้คิดอะไรมากมาย  เพียงแต่เห็นและให้มันผ่านไป   เมื่อมาเปรียบเทียบกันแล้วกับปัจจุบัน  ที่เรารับอะไร ๆ หลาย ๆ อย่างจากภายนอกเข้ามาทำให้เราสูญเสียสิ่งดี ๆ ไปมากมาย  โดยเฉพาะเราสูญเสียน้ำใจความเอื้ออาทรต่อกันในสังคมไปมาก  ปัจจุบันนี้

             ทุกอย่างต้องการแลกเป็นตัวเงิน  เพราะสังคมที่นิยมวัตถุต้องเอาเงินไปแลกวัตถุมา  สมัยนี้เอานับแค่เริ่มตื่นนอน เราจะเห็นว่าเราต้องจ่ายเงินแทบทั้งนั้น   ไม่มีอะไรที่ไม่ซื้อครับ  ลองทบทวนครับ  ตื่นมาจับแปรงสีฟันซื้อ ยาสีฟันซื้อ สบู่ซื้อ  แชมพูซื้อ  ฯลฯ  ต่าง ๆ อีกมากมาย  ผมเริ่มที่ชื่อเรื่องอาจดูไม่ค่อยสัมพันธ์กันเท่าไหร่กับการขึ้นต้นบันทึก  แต่ก็คงนำเข้าเรื่องได้โดยการเลี้ยวหักมุมเอาครับ


            ตอนนั้นผมอายุสัก 10 ขวบครับ  บ้านผมก็อยู่ในชนบท  ตั้งอยู่ที่สูงหน่อยน้ำท่วมไม่ถึงที่บ้านทำสวนยางพาราและทำนาปลูกข้าวกินด้วยครับ  ช่วงนั้นสภาพป่าดั้งเดิมตามที่พ่อเล่าให้ฟังว่าท่านกับปู่มาหักร้างถางพง  เพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว  สภาพป่าที่ว่าที่ผมเห็นคือยังมีกอไผ่ใหญ่ ๆ เยอะมาก  ไม้ต้นใหญ่ 3 - 4  คนโอบก็ยังมีให้เห็นในช่วงนั้น  และมันก็ร่มรื่นดีผมกับเพื่อน ๆ และญาติ ๆ จะทำลานเล่นใต้ร่มไผ่  แต่ละกอใหญ่โตมากรัศมีตั้ง 2-3 เมตรครับ  ลำไผ่ก็โตแข็งแกร่งมาก  การจะเอากอไผ่ออกจากพื้นที่เพาะปลูกยากมากครับ  เพราะใช้เวลาฟันทั้งพร้า ทั้งขวาน  แต่ละกอเป็นวัน ๆ เลยครับ  ผมเห็นเวลาผู้ใหญ่เขาฟันกอไผ่นั้นทำลำบากมากเพราะเมื่อฟันไปแล้วมันไม่ล่มลงมันจะค้างอยู่และต้องคอยระวังถ้าเผลอมันเลื่อนลงมาทิ่มเอา  ความแหลมของลำไผ่เมื่อโดนพร้าฟันไปแล้วจะคมมากครับ  นึกแล้วเสียววาบเลยครับ  

            เมื่อฟันกอไผ่แล้วปล่อยตากแดดไว้หลาย ๆ วัน แห้งดีแล้วก็จะเผาไฟโดยเอาลำไผ่ฟันเป็นท่อน ๆ สุมไว้ที่ตอไผ่แล้วจุดไฟเผา  ซึ่งเมื่อไฟติดแล้วเสียงจะดังเหมือนยิงปืนในหนัง  เพราะปล้องลำไผ่เมื่อร้อนจะระเบิดออกมาเป็นเสียงดังสนั่นป่าเลยครับ   เมื่อเผาตามปกติแล้ว  วันหลัง ๆ ก็เอาเศษไม้ ใบไม้ไปสุมไฟต่อเพื่อต้องการไม่ให้มันขึ้นมาอีก   เมื่อเวลาผ่านไป  ย่างเข้าเดือนหกทุกคนก็ต้องผิดหวังทุกปี  เพราะหน่อไม้ไผ่จะเจริญงอกงามออกมาอีกเขียวชะอุ่มครับ  ก็ต้องปล่อยให้มันขึ้นตามธรรมชาติของมันอีกไว้ค่อยว่ากันใหม่ในช่วงแล้งปีหน้า
            มีอยู่ครั้งหนึ่งครับไผ่กอเดิมนี่แหละที่พ่อกับผมได้พบเรียนรู้กันและหลาย ๆ คนได้เอาภูมิปัญญานี้ไปใช้จนถึงปัจจุบัน  ครั้งนั้นเราฟันกอไผ่กันอีกเมื่อถึงหน้าแล้ง  และสุ่มไฟกันเหมือนเดิม  วันนั้นตอนเย็น  ลมพัดค่อนข้างแรง พ่อผมบอกว่าจำเป็นต้องดับไฟที่สุมไว้เพราะลมแรงเดี๋ยวจะลามไปติดสวนยาง  จึงช่วยกันขนน้ำมารดกองไฟซึ่งขณะนั้นติดถึงขั้นเป็นถ่านแดงอร่ามเลยครับ      

            เมื่อโดนน้ำรดราดลงไปไฟก็แพ้น้ำ แต่กว่าจะแพ้ก็สู้กันพอสมควรครับไม่ยอมง่าย ๆ ทั้งควันทั้งไอน้ำพุ่งส่งกลิ่น(ผมว่าหอมนะครับ) ออกมาจนไฟสงบลงเราก็กลับบ้านกัน

            จนเข้าหน้าฝนเราก็ไม่ได้สังเกตครับ  มาวันหนึ่งลุงเพื่อนของพ่อมาที่บ้านและถามพ่อว่า  พ่อใช้ยาอะไร(สารเคมี) ฉีดพ่นที่กอไผ่ที่มันไม่งอกขึ้นมาอีก  เขาจะหาซื้อมาทำบ้าง   พ่อก็บอกเปล่าเพื่อนพ่อทำท่าไม่เชื่อ  ก็เลยมาช่วยกันนั่งคิดทบทวนสาเหตุ  ก็น่าจะเพราะน้ำที่ราดรดตอนที่ไฟกำลังเป็นถ่านแดงแน่ ๆ  ลุงก็ไม่ค่อยเชื่อนักแต่ก็จะลองไปทำดูแต่ก็บ่นว่า "หน้าแล้งน้ำก็หายาก"  แต่ลุงก็ลองทำนะครับ  และก็ได้ผลครับกอไผ่ในสวนลุงไม่ขึ้นมาอีกเหมือนกัน  และหลาย ๆ คน แถว ๆ บ้านผมก็นำวิธีการนี้ไปใช้กันครับ



             นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นตอนหลายปีที่แล้ว  ภูมิปัญญาที่ได้มาก็เอามาแบ่งกันใช้ไม่ปกปิดและไม่ได้คิดว่าเพื่อนจะลอกเลียนอะไร   ไม่ได้จดลิขสิทธิ์อะไรเหมือนสมัยนี้เพราะไม่ได้วัดกันที่ตัวเงินแต่ทำกันแบ่งปันเพื่อความอยู่รอดของเพื่อนบ้านครับ

หมายเลขบันทึก: 46941เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2006 20:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 เมษายน 2012 00:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
นายสำราญ สาราบรรณ์
              น่าคิดว่าเป็นเพราะเหตุใด  ผมว่าน้ำที่รดลงไปมันร้อนและซึมลงไปในดินทำให้ส่วนที่มีชีวิตอยู่ใต้ดินตายหรือไม่  ในมุมมองของผม  ผมคิดว่าเรายังมีภูมิปัญญาแบบนี้อีกมากแต่เราไม่ค่อยให้ความสำคัญ ในการถอดรหัสและนำไปต่อยอด  ในการทำงานกับชุมชน/เกษตรกรถ้าเรารู้จักนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ประโยชน์น่าจะดีไม่น้อย

เป็นความรู้แปลก ๆ ที่น่าสนุกดีครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท