ความเป็นมาของอำเภอเกาะช้าง ตอนที่ 2


          ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๕  ได้ประพาสเมืองตราด  ถึง   ๕  ครั้ง สำหรับเกาะช้างได้เสด็จประพาสถึง ๒  ครั้ง  ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๗ (ร.ศ. ๑๐๓)  ได้เสด็จทางชลมารดโดยเรือพระที่นั่งเวสาตรี  ในประกาศหัตถเลขา  ฉบับที่ ๓  ของสยามมินทร์  ได้เขียนไว้ความตอนหนึ่งว่า

       “ ทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ามหามาลา  กรมพระบำราบปรปักษ์  ถึงทางกลาง  ถึงสุรวงศวัยวัฒน์  ด้วยได้ทูลมาแต่ก่อนว่าจะออกเรือจากเสม็ดในวัน  ๗ ฯ ๓  ค่ำ นั้น   ครั้นเวลารุ่งขึ้นเช้าได้ออกเรือจากเสม็ดแล่นลงไปไม่ห่างฝั่งนัก   พอแลเห็นได้ตลอดถึงศิลาขาวริมอ่าวกพงโสมเป็นระยะทางสามชั่วโมงถ้วน   ตั้งแต่เสม็ดลงไปฝั่งทะเลเป็นที่เปิดโล่งไม่ใคร่มีที่บังท้องคุ้ง   ระหว่างศิลาขาวกับเสม็ดนั้นมีบ ้านเรือนคนเป็นหย่อม ๆ  แถบเหล่านั้นเป็นที่อาศัยของโจรสลัดมากด้วยอยู่ใกล้ปลายเขตแดน  จึงคิดจัดการที่จะเอาเรือไปทอดไว้ที่เสม็ดเป็นที่พักกองตระเวนสำหรับลาดตระเวนโจรสลัดลงไปจนตลอดเขตแดน  พอไปถึงศิลาขาว     ก็กลับเรือขึ้นมาถึงเกาะกงเวลาย่ำค่ำ  ทอดนอนอยู่ที่นั่นคืนหนึ่ง  รุ่งขึ้นวัน  ๑ ฯ ๓  ค่ำ  เวลาเช้าขึ้นเที่ยวบนฝั่งแล้วออกเรือมาพักที่ที่ปากอ่าวเมืองตราด  รุ่งขึ้นวัน  ๒ ฯ ๓  ค่ำ ขึ้นเที่ยวเมืองตราดแล้วนอนอยู่อีกคืนหนึ่งเวลาเช้ามืด วัน  ๓ ฯ ๓ ค่ำออกเรือมาทอดที่เกาะช้าง กลางวันขึ้นอาบน้ำพักอยู่บนที่น้ำตกจนเวลาเย็นกลับลงมาเรือนอนที่เกาะช้างหนึ่งคืน  รุ่งขึ้นวัน  ๔ ฯ ๓  ค่ำ  เวลาเช้าลงเรือกระเชียงเรือไฟ   ลากไปที่สลักคอกขึ้นไปตามบ้านพักที่วัดในตำบลนั้น  เจ้านายข้าราชการข้างหน้าข้างใน      เรี่ยรายเงินถวายพระ  ราษฎรพากันขอให้เหยียบที่สร้างพระอุโบสถ  ด้วยวัดนั้นหาที่พระอุโบสถไม่  จึงได้รับจะสร้างพระอุโบสถให้  ตั้งชื่อวัดว่า “ วัดวัชคามคชทวีป ” แล้วกลับขึ้นที่น้ำตกคลองมะยมอีกเวลาหนึ่ง  ได้จารึกอักษรย่อและศักราชไว้กับก้อนศิลาหน้าน้ำตก  ซึ่งสูงกว่าทะเล  ๒๙๐  ฟิต  ที่นั่นมีน้ำตกแต่หน้าผาสูง  ๙  วา  ๒  ศอก  เดินแต่พื้นดินขึ้นไปจนถึงเป็นสองชั่วโมงทั้งหยุดบ้างพักบ้าง  เวลาค่ำนอนอยู่ที่เกาะช้าง  รุ่งขึ้นเวลาวันนี้ข้ามไปจอดแหลมงอบ  ได้ขึ้นดูที่ซึ่งปราบไว้จะทำโรงที่พักกองลาดตระเวน  ได้ปลูกโรงงานขึ้นบ้างแต่ยังหาได้ทำโรงที่อยู่ไม่  ออกเรือจากแหลมงอบเวลาเกือบบ่ายโมง มาถึงจันทบุรีเวลาบ่าย  ๕ โมงครึ่ง  ทอดอยู่ที่แหลมสิงห์  จะอยู่เที่ยวเมืองจันทบุรีต่อไปอีกหลายเวลา     จึงจะได้กลับขึ้นไปหม่อมฉันแลเจ้านายข้าราชการบันดาที่มามีความสุขสบายอยู่ด้วยกันทั้งสิ้นหนังสือเขียนในเรือพระที่นั่งเวสาตรี  ที่แหลมสิงห์  จันทบุรี  ณ
วัน  ๕ ฯ ๓  ค่ำ  ปีวอก  ศักราช  ๑๒๔๖ ”  ต่อมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๒  พระอธิการอิ่ม  เจ้าอาวาสวัดวัชคามคชทวีป  (วัดสลักคอก)  และราษฎรในหมู่บ้านได้จัดสรรให้เร็จเรียบร้อย  เมื่อวันที่  ๑๒  เมษายน  ๒๔๔๒  ซึ่งเป็นระยะห่างจากวันที่รัชกาลที่ ๕  ทรงเหยียบที่สร้างพระอุโบสถและตั้งชื่อวัดให้ประมาณ  ๑๕  ปี

ปี พ.ศ. ๒๔๔๐  ตั้งอำเภอเกาะช้าง
พ.ศ. ๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒)  เกิดเหตุการณ์เมื่อสยามพิพาทกับฝรั่งเศส  เนื่องจากฝรั่งเศสล่าเมืองขึ้น
โดยยึดเมืองญวนและเขมร  และหาว่าสยามล่วงล้ำดินแดนซึ่งอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง  เพราะดินแดนเหล่านี้เคยเป็นของญวนและเขมรมาก่อน  เมื่อญวนและเขมรเป็นเมืองขึ้นฝรั่งเศสทั้งหมดแล้วดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงจึงเป็น
ของฝรั่งเศสด้วย  ฝรั่งเศสส่งเรือรบเข้ามาจากกรุงพนมเปญไปตามลำน้ำโขงทำร้ายเจ้าหน้าที่รักษาดินแดนตามระยะทาง  จึงเกิดการต่อสู้กัน ฝรั่งเศสโกรธเคืองจึงส่งเรือรบสองลำ  ชื่อ  “คอบแม็ด” และ  “แองคองสตัง”
เข้ามาลำน้ำเจ้าพระยาปิดล้อมกรุงเทพฯ  เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๓๖ รัฐบาลสยามจึงต้องยกดินแดนฝั่งซ้าย
แม่น้ำโขงทั้งหมด และค่าเสียหายทั้งหมดที่เรือรบฝรั่งเศสถูกยิงให้กับฝรั่งเศส
รัชกาลที่ ๕ ทรงสนพระทัยในเรื่องการปกครอง ได้จัดตั้งการปกครองส่วนกลาง  คือ  กระทรวง  ทบวง  กรม  ต่าง ๆ  การปกครองส่วนภูมิภาค  คือ  จังหวัด  อำเภอ  ตำบล  หมู่บ้าน   และการปกครองส่วนท้องถิ่น  คือ  เทศบาล  และ  สุขาภิบาล  สำหรับการปกครองส่วนภูมิภาคได้ทรงจัดตั้งอำเภอขึ้นใหม่ ในท้องที่ห่างไกลเพื่อให้
ข้าราชการเป็นตัวแทนของพระองค์ออกไปบำบัดทุกข์  บำรุงสุข ประชาชนได้อย่างทั่วถึง

 Propeller Fly Swat 





หมายเลขบันทึก: 46917เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2006 17:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กรกฎาคม 2013 11:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท