โครงการเบาหวานครบวงจรของ สปสช. : (๒) เริ่มเห็นเค้า


เริ่มเห็นเค้าการดำเนินงานและภาพต่อต่าง ๆ ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

(ตอนที่ ๑

วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๙ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๓.๐๐ น. มีการประชุมคณะเตรียมการโครงการบริหารจัดการโรคเบาหวานครบวงจร ณ ห้องประชุม ๑ ชั้น ๒๘ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมี นพ.ชูชัย ศรชำนิ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการโรคเฉพาะ ทำหน้าที่ประธานการประชุม อาจารย์ผู้ใหญ่ที่เข้าประชุมด้วยคือ ศ.พญ.ชนิกา ตู้จินดา และ ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ

ในการประชุมวันนี้ พญ.เขมรัสมี ขุนศึกเม็งราย ได้นำเสนอแนวทางการบริหารจัดการโรคเบาหวานครบวงจร ภาคเหนือ ประกอบด้วยแนวทางการคัดกรอง แนวทางการดูแลรักษา บทบาทหน้าที่ของบุคลากรในสถานบริการระดับต่าง ๆ ตัวชี้วัดการดูแลโรคเบาหวาน ที่น่าสนใจคือในแบบบันทึกการตรวจคัดกรองความเสี่ยงมีการผนวกเอาโรคเรื้อรัง ๓ โรคไว้ด้วยกันคือเบาหวาน ความดันสูง และ COPD มีร่างการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่แจกแจงผู้รับผิดชอบ กระบวนการ กิจกรรม แหล่งงบประมาณ ฯลฯ ทำให้มองเห็นภาพรวมของการบริหารจัดการ

รศ.พญ.สุภาวดี ลิขิตมาศกุล นำเสนอแนวทางการบริหารจัดการโรคเบาหวานชนิดที่ ๑ เป็นโมเดลที่ใช้ในการดูแลผู้ป่วยที่เป็นเด็กและวัยรุ่น ของภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อาจารย์สุภาวดีออกตัวก่อนว่าในความรู้สึกของตนเองแนวทางนี้ก็ครบวงจรพอสมควร แต่จะสมบูรณ์แบบแค่ไหนนั้นต้องดูอีกที แนวทางดังกล่าวเน้นเรื่อง intensive education ซึ่งมีการให้ความรู้ทั้งครอบครัว และการดูแลรักษาที่ได้มาตรฐาน ปัจจุบันกลุ่มผู้ปกครองได้มีการรวมตัวกันและจะตั้งเป็นเครือข่ายครอบครัวเด็กที่เป็นเบาหวานต่อไป ระหว่างการนำเสนอมีภาพตุ๊กตาด้วย ที่น่าสนใจเพราะตุ๊กตานี้ผู้ช่วยพยาบาลในทีมผลิตขึ้นสำหรับใช้สอนฉีดอินซูลิน ระบุตำแหน่งที่ใช้ฉีดอินซูลินอย่างชัดเจนและสามารถถอดออกมาซักทำความสะอาดได้

ภก. คทา บัณฑิตากุล นำเสนอบทบาทและแนวทางการจัดการของร้านยาคุณภาพในการบริหารจัดการโรคเบาหวานครบวงจร ศ.พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ในนามของสมาคมโรคเบาหวาน นำเสนอการพัฒนาแนวทางเวชปฏิบัติโรคเบาหวานและการควบคุมคุณภาพการบริการ ที่กำลังจะดำเนินการ ตามด้วย นพ.จักรกริช โง้วศิริ และ นพ.เพชร รอดอารีย์ ที่นำเสนอเรื่องของ data management ช่วงนี้ใกล้ ๑๒.๐๐ น. แล้วจึงรีบเร่งและย่นย่อ

ดิฉันได้นำเสนองานและกิจกรรมต่างๆ ของเครือข่ายของเรา เพื่อให้พิจารณาว่าโครงการนี้จะใช้เครือข่ายให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง คุณหมอชูชัยจึงเสนอให้เปิดเวทีให้เครือข่ายได้คุยกับกลุ่มงานสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคี สปสช. ซึ่งกลุ่มงานนี้ได้นำเสนอแนวคิดเรื่องการสร้างเครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรัง พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากรหรือคุณหมอช้าง เพิ่มเติมให้ว่างานของเครือข่ายเรา รวมทั้งเครือข่าย PCU ของคุณหมอน่าจะมีส่วนในอยู่ใน guideline เรื่องของการให้ความรู้

ปิดท้ายด้วยการนำเสนอของ นพ.ฆนัท ครุธกุล เรื่องแนวทางการป้องกันโรคเบาหวาน จากผลการวิจัยที่ทำที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เราไม่มีเวลาคุยในรายละเอียด

ดิฉันเข้าร่วมประชุมโครงการนี้มา ๓ ครั้งแล้ว ในครั้งนี้เริ่มเห็นเค้าการดำเนินงานและภาพต่อต่าง ๆ ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ได้เรียนรู้จากที่มีการนำเสนอและการให้ความเห็นของหลาย ๆ ท่าน และต้องขอชื่นชม นพ.ชูชัย ศรชำนิ ที่สามารถเชื่อมโยงงานต่าง ๆ เข้าสู่ระบบการบริหารจัดการโรคได้ พร้อมทั้งมอบหมายกลุ่มผู้รับผิดชอบ ดิฉันเข้าใจว่าโครงการนี้ไม่ได้เริ่มจากศูนย์แน่นอน

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๙

หมายเลขบันทึก: 46911เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2006 16:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท