ย้อนรอย ... ค้น และควานหา ... อัญมณี “คุณค่าของคนทำงาน” ... เพื่อจัดแสดง ในตลาดนัด KM กรมอนามัย (5)


KM ให้รายละเอียดเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความสำเร็จของเค้าโครงใหญ่ ที่น่าสนใจมาก

 

KM Learning Process

ประเด็นที่ 4 ... เช้าวันที่ 2 (19 กค.49) เป็นอีกหัวปลาที่สำคัญยิ่ง คือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ “การใช้ KM ในการสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่าย” การสรรหาอัญมณี ยังคงต้องค้นหาต่อ ...

โดยมีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

  • ท่านแรก คือ คุณฉัตรลดา กาญจนสุทธิแสง ศูนย์อนามัยที่ 1 กรุงเทพฯ ซึ่ง นำ KM มาใช้ ในขั้นตอนสรุปบทเรียน เมืองน่าอยู่ด้านสุขภาพ พี่อ้วน ... เป็นหนึ่งในนักวิชาการผู้กล้า ที่ชื่นชอบในการนำทฤษฎีใหม่ๆ มาใช้ในงาน เธอบอกเช่นนั้น ซึ่งก็สามารถอ่านเรื่องเล่าที่ถอดบทเรียน โดยคุณหมอนนทลี ได้ทั้งหมด สิ่งหนึ่งที่เชื้อเชิญมาขึ้นเวที เพราะอยากให้ผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ เห็นรายละเอียดของการนำ KM มาเนียนในงาน ซึ่งพี่อ้วนใช้ 2 หลักการ ส่วนแรกในการสรุปบทเรียน ครั้งที่ 1 พยายามนำแนวคิดของทฤษฎีต้นไม้ ซึ่งมีอาจารย์วิรัตน์ จาก ม.มหิดล มาร่วมกระบวนการด้วย พี่อ้วนเล่ากับดิฉันว่า จากการสรุปครั้งนั้นได้ภาพใหญ่ๆ การนำKM มาใช้ในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งดิฉันก็มีเอี่ยวด้วยในวันนั้น พี่อ้วนบอกดิฉันว่า ... KM ให้รายละเอียดเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความสำเร็จของเค้าโครงใหญ่ ที่น่าสนใจมาก ... ทำให้เราเข้าใจคนทำงานเทศบาลอีกแยะเลย มันช่วยลดตัวตนของเรา (อัตตา) ลง และเรียนรู้ที่จะเข้าใจคนอื่นด้วย
  • ท่านที่ 2 คือ คุณจิตติมา ธาราพันธ์ ศูนย์อนามัยที่ 4 ราชบุรี กับน้องจิตติมานี่คุยทางโทรศัพท์แบบไม่ปะติดปะต่อ แต่รู้แน่ๆ ว่า เป็น Key man คนสำคัญของงาน KM ศูนย์อนามัยที่ 4 ซึ่งได้รับการ confirm จาก ท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ คุณหมอชลทิศ (อดีต CKO ศูนย์อนามัยที่ 4) และจากคุณหมอวรศักดิ์ CKO คนปัจจุบัน และจากพี่มัณฑนา เจ้าแม่เมืองน่าอยู่ของศูนย์อนามัยที่ 4 ว่า จิตติมา นี่แหล่ะ ตัวจริงของคนทำ KM มีการนำ KM ไปใช้และชาว อบต.บอกว่า ทำให้รู้สึกว่า KM เหมือนยาคูลต์ แทนยาขมตามความรู้สึกเดิม
  • ท่านที่ 3 เดิมที จะเป็นอาจารย์นง แต่ด้วยภารกิจสำคัญ เราจึงเชิญ พี่ยุพา พูนขำ CKO กองอนามัยการเจริญพันธุ์ ขึ้นเวทีแบบกะทันหัน จริงๆ แล้วเคยทาบทามพี่อู๊ด ... ยุพา หลายยกแล้ว ด้วยเหตุที่เป็น CKO คนขยัน เอาจริงเอาจัง ให้โอกาสคนทำงานเสมอ ไม่ถือเขาถือเรา กับดิฉัน พี่ก็ให้เกียรติเสมอ แม้ตัวเราก็เท่านี้ ในความหมาย คือ ให้เกียรติ ในการขอคำปรึกษาจากดิฉันบ้าง เชิญเป็นวิทยากรบ้าง ทั้งที่คุณสมบัติต่างๆ ในตัวพี่อู๊ด จะเพียบพร้อมกว่าดิฉันหลายเท่านัก แต่ก็ยังให้โอกาสดิฉันพูดโน่นนี่ เพ้อเจ้อไปเรื่อยในหลายๆ งาน ในงานนี้ เป้าหมายแรกที่ต้องหาคนแทน จึงตกเป็นของพี่อู๊ด เพราะประสบการณ์ในการนำ KM มาใช้ในหัวปลานี้ พี่อู๊ดใช้มาแล้วหลายครั้งและหลายงาน ความช่างสังเกต การปรับประยุกต์ใช้ และความสม่ำเสมอของการทำ AAR หลังการทำงาน จึงเป็นอะไรที่ต้องบอกว่า พี่อู๊ดเหมาะกับหัวข้อนี้มาก
  • ท่านที่ 4 คือ ดร.พัชรินทร์ เล็กสวัสด์ กลุ่มงานทันตสาธารณสุขระหว่างประเทศ จ.เชียงใหม่ เป็นท่านสุดท้าย ที่ดิฉันทาบทามแบบกะทันหัน เพราะอยากให้มีการนำเสนอการใช้ KM ในการสร้างการมีส่วนร่วมฯ ที่มาจากหลายหน่วยงาน ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ที่ทำกับภาคีคนคุ้นเคย และภาคีที่แตกต่างออกไป ดร.พัชรินทร์ หรือพี่ช้าง พยายามนำ KM เพื่อใช้ในงานกับภาคีทั้ง ส่วนท้องถิ่น อาจารย์ มหาวิทยาลัย ชาวบ้าน แม้เรื่องเล่าอาจจะฟังยากบ้าง เพราะเป็นกรอบใหญ่ ที่เป็นพัฒนาการจากการทำงาน แต่ก็ได้สาระน่ารู้ไม่แพ้กันค่ะ
  • ท่านที่ 5 คือ อาจารย์หมอสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธาน KM ที่เป็นผู้ดำเนินการ และต้องสรุปประเด็นสำคัญจากเรื่องเล่าทั้งหมด 

 

หมายเลขบันทึก: 46861เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2006 13:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท