สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก-ตอน ๒.๓


ตอนที่ ๑ จุดเริ่มการเปลี่ยนแปลงวงการแพทย์ไทย : นำเสนอพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก นับตั้งแต่ทรงพระราชสมภพ จนกระทั่งตัดสินพระทัยที่จะศึกษาวิชาการแพทย์ อันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงของวงการแพทย์ไทย
ตอนที่ ๒ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย :   นำเสนอพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก ที่มีต่อวงการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย ในฐานะที่ทรงทุ่มเทพระองค์อย่างเต็มที่ในการใช้พระสติปัญญา พระวรกาย พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อทรงพัฒนากิจการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก*

ตอนที่ ๒ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย (ตอน ๒.๓)

 
[อ่านพระราชประวัติ ตอนที่ ๑, ตอนที่ ๑.๑, ตอนที่ ๑.๒, ตอนที่ ๑.๓, ตอนที่ ๑.๔, ตอนที่ ๑.๕, ตอนที่ ๑.๖, ตอนที่ ๒, ตอนที่ ๒.๑, ตอนที่ ๒.๒]

พระราชกรณียกิจหลังจากที่ทรงเป็นแพทย์โดยสมบูรณ์แล้ว

               พระราชกรณียกิจประการแรก คือ ทรงพระราชทานทุนให้นักเรียนออกไปศึกษาเพิ่มขึ้น ถึง ๑๐ คน ในสาขาการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาลและในแขนงวิชาเตรียมแพทย์ ใบสมัครของผู้ขอทุนมีข้อความแสดงความคิดเห็นของสมเด็จพระบรมราชชนกเกี่ยวกับลักษณะของผู้สมควรได้รับทุนคือ

           ผู้สมัครไม่จำเป็นต้องเป็นนักเรียนที่เรียนเก่งหรือมีประวัติการศึกษาดีเยี่ยม สิ่งเหล่านี้ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องนำเข้าพิจารณาเพื่อประโยชน์ของผู้ขอทุน แต่สิ่งที่สำคัญคือจะต้องแสดงว่ามีความสนใจเป็นพิเศษและเป็นผู้มีลักษณะเหมาะสมกับวิชาพิเศษที่ผู้สมัครจะเลือกไปเรียน ผู้สมัครจะต้องแสดงตัวว่าได้ตระเตรียมตัวเกี่ยวกับเรื่องที่สนใจมาพอสมควรแล้ว ซึ่งอาจจะศึกษาได้ภายในประเทศ ลักษณะอื่นก็คือภาษา ต้องแน่ใจว่าได้ศึกษาภายในประเทศจนสุดสิ้นแล้ว ก่อนที่จะออกไปศึกษา ณ ต่างประเทศ นอกจากนั้นต้องมีความประพฤติดี อนามัยดี ตั้งใจจะอุทิศร่างกายและจิตใจเพื่ออาชีพนี้ การมีตำแหน่งหน้าที่ที่จะกระทำภายหลังการเรียนสำเร็จแล้วถือเป็นข้อตัดสินด้วย ผู้สมัครเข้ารับทุนศึกษาภายในประเทศคงใช้คุณสมบัติเช่นเดียวกัน แต่ไม่เข้มงวดเท่าหลักเกณฑ์ที่ทรงวางไว้นี้

            ในสมัยนั้น แพทย์ในประเทศไทยมีความคิดเห็นแตกแยกกันหลายประการ มีการตั้ง “สโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ซึ่งเป็นแพทย์ที่จบมาจากศิริราชเพิ่มขึ้นจากแพทยสมาคม ซึ่งมีอยู่เดิม ทางสโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์ได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จประชุม ณ ที่ตั้งของสโมสรที่บางรัก ทรงได้รับเชิญให้มีพระราชดำรัสในที่ประชุม ทรงปฏิเสธ แต่ภายหลังทรงมีลายพระราชหัตถ์ขอบใจนายกสโมสรและพระราชทานโอวาทในกาสนั้นด้วย ทรงย้ำถึงคุณลักษณะการเป็นแพทย์ที่ดีในคณะแพทย์อันจะเป็นผลให้ประชาชนเลื่อมใส ความประพฤติและน้ำใจของแพทย์เหมือนคณะสงฆ์ ซึ่งต้องมีความรับผิดชอบทั้งคณะ

            “…ในขณะที่ท่านประกอบกิจการแพทย์ อย่านึกว่าท่านตัวคนเดียว จงนึกว่าท่านเป็นสมาชิกของสงฆ์คณะหนึ่งคือคณะแพทย์ ท่านทำดีหรือร้ายในความเชื่อถือหรือดูถูกเพื่อนแพทย์อื่นๆ จะพลอยยินดีหรือเจ็บร้อนอับอายด้วย” ทรงรับสั่งครอบคลุมไปถึงจรรยาแพทย์และสิ่งอื่นๆ อีกมาก

                จากพระราโชวาทในครั้งนั้น ทำให้แพทย์ไทยกลับเข้ารวมกันเป็นแพทยสมาคมแห่งกรุงสยามและเจริญก้าวหน้ามาตราบเท่าทุกวันนี้

                เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๗๑ สมเด็จพระบรมราชชนกทรงเข้าเป็นสมาชิกของแพทยสมาคมและได้ทรงแสดงปาฐกถาในการประชุมใหญ่ประจำปี เนื่องจากไม่ทรงมีเวลาเตรียมเรื่องเกี่ยวกับการแพทย์ จึงทรงให้ความคิดเห็นเป็นกลางๆ ว่าการที่หวังศึกษาวิชาแพทย์นั้นทำให้ทรงได้รับความสนุกและพอพระทัย แต่ว่าพระราชประสงค์ที่แท้จริงคือ เพื่อจะทำพระองค์ให้เป็นประโยชน์แก่มนุษยชาติ และรับสั่งต่อว่าในประเทศไทยนั้นยังมีหนทางอีกมาก ที่จะช่วยกันทำนุบำรุงการแพทย์ให้เจริญขึ้นได้ และควรช่วยกันทำการคันคว้าเรื่องราวสมมุติฐานของโรคในเมืองนี้ ในตำราการแพทย์ต่างๆ มีกล่าวถึงประเทศไทยน้อยมาก ทั้งนี้เพราะไม่ได้พิมพ์สถิติ หรือหาสถิติเป็นหลักฐานแน่นอนไม่ได้

               และเพื่อสนับสนุนให้มีการค้นคว้า ได้พระราชทานทุนค้นคว้า ๒ ทุน แก่แพทย์ที่สำเร็จใหม่ เรียนว่า “ทุนสอนและค้นคว้าของโรงพยาบาลศิริราช” ทรงมีลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๗๑ ถึง ดร. เอลลิส เรื่องนี้ว่า

             “การเรียนจบตามหลักสูตรแพทย์ที่กำหนดนั้น ไม่ได้หมายความว่านักเรียนได้เรียนรู้จนหมดในทางการแพทย์ การรับปริญญาบัตรเป็นแต่เพียงก้าวหนึ่งเท่านั้น คือแสดงว่านักเรียนได้จบการฝึกทางทฤษฎีและอยู่ในฐานะเหมาะที่จะออกไปรับผิดชอบทางการปฏิบัติโดยลำพังเกี่ยวกับปัญหาการป่วยไข้ ซึ่งจะเป็นการศึกษาที่ต่อเนื่องกันแต่เป็นคนละแบบ การที่จะเป็นแพทย์ที่ก้าวหน้าต่อไปให้แพทย์ที่สำเร็จจะต้องยึดอยู่เสมอว่า จะต้องเป็นนักศึกษาอยู่ตลอดชีวิตของอาชีพ”

             โดยเหตุนี้จึงทรงเชื่อว่าแพทย์ที่สำเร็จควรจะได้รับโอกาสที่จะตั้งต้นอาชีพภายใต้การดูแลแนะนำของแพทย์ที่ชำนาญกว่า โดยการทำหน้าที่เป็นแพทย์ประจำบ้านหรือปฏิบัติการอยู่ในห้องวิทยาศาสตร์เป็นเวลาอย่างน้อย ๑ ปี จนเกิดความรู้สึกเชื่อมั่นตนเอง และรู้สึกว่าจะรับผิดชอบงานรักษาได้ตามลำพัง

                 ในเวลานั้น การรับแพทย์ประจำบ้านจำกัดขึ้น จึงทรงเห็นสมควรที่จะให้ทุนแก่ผู้ที่สำเร็จการศึกษา และไม่มีโอกาสเป็นแพทย์ประจำบ้าน เพื่อที่เขาจะได้มีโอกาสฝึกฝนในการปฏิบัติ โดยมีผู้ชำนาญคอยควบคุมดูแลอยู่

                  การให้ทุนนี้ จะให้เป็นโครงการทดลองเพียงปีเดียวก่อน เพื่อจะได้ศึกษาว่าทุนแบบนี้จะเหมาะสมกับความต้องการของโรงเรียนแพทย์หรือไม่ หรือจะต้องแก้ไขดัดแปลงอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดต่อการศึกษาแพทย์ของประเทศ ทุนที่พระราชทาน ๒ ทุน นั้นมี ระเบียบการดังนี้คือ

๑. ทุนชื่อว่า “สอนและค้นคว้าของโรงพยาบาลศิริราช”

๒. ต้องการให้ผู้รับทุนฝึกฝนในทางปฏิบัติในทางแพทย์สาขาใดสาขาหนึ่ง เพื่อจะได้เตรียมตัวออกไปค้นคว้าด้วยตนเองได้ และอาจทำให้ได้รับการฝึกฝนให้เกิดความเชื่อถือตนเองในแนวที่ถูกต้อง เพื่อออกไปปฏิบัติอาชีพ ผู้ได้รับทุนจะต้องสำนึกในความรับผิดชอบ ในปัญหาเกี่ยวกับการเจ็บไข้เกิดการตื่นตัวและเกิดความต้องการที่จะสอนและแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อนำไปสู่จุดประสงค์คือให้ประชาชนชาวไทยมีความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ

๓. ทุนจะให้เป็นเงินเดือนๆ ละ ๑๐๐ บาท ตั้งแต่เดือนเมษายน – มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ เมื่อสิ้นปี ถ้าผู้ได้รับทุนปฏิบัติงานได้ดี และส่งรายงานถ้าผลเป็นที่ยอมรับของคณะ จะได้เงินพิเศษ ๗๒๐ บาท

๔. ทุนนี้ได้รวมการกินอยู่ที่โรงพยาบาล แต่อาจตกลงกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้

๕. คณะจะต้องให้ผู้รับทุนเป็นเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งในบรรดาผู้สอนของคณะ เป็นการตอบแทนในฐานะที่ผู้รับทุนจะได้เป็นผู้ป่วยในกิจการของโรงพยาบาล โรงเรียนและผู้ช่วยสอน นอกไปจากการค้นคว้าที่ผู้รับทุนจะทำ

๖. คณะได้รับอำนาจที่จะกำหนดงานที่ผู้ขอทุนทั้งสองจะกระทำและคัดเลือกจากผู้ที่สำเร็จในปีนี้ และเป็นผู้ที่ได้ยื่นใบสมัครไว้แล้วกับจัดให้ผู้ที่ได้ทุนไปทำงานในแผนกที่ต้องการผู้ช่วยและสามารถที่จะดูแลผู้ที่รับทุนให้ปฏิบัติงานตามความประสงค์ได้ และจะต้องควบคุมและแนะนำงานของผู้รับทุนและตัดสินผลสำเร็จของงานด้วยและสุดท้ายคณะจะได้รับสิทธิที่จะวินิจฉัยว่าผู้รับทุนจะสมควรได้รับเงินพิเศษหรือไม่

๗. ในกรณีที่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือทั้งสองคนที่ได้รับทุนนี้ได้แสดงความสามารถเป็นพิเศษ อาจได้รับทุนไปศึกษาต่างประเทศ

๘. ผู้ที่ได้รับทุนจะต้องเสนอวิทยานิพนธ์ เพราะถือว่าเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของงาน เป็นงานริเริ่มและมีบรรณานุกรมครบถ้วน และจะถือว่าวิทยานิพนธ์เป็นส่วนหนึ่งในการวินิจฉัยการจ่ายเงินพิเศษ

๙. การใช้จ่ายในการค้นคว้าจะต้องจ่ายร่วมกันจากผู้ที่ได้รับทุนและจากแผนกที่ผู้รับทุนไปทำงานซึ่งจะต้องเป็นการตกลงกันระหว่างผู้ได้รับทุนและหัวหน้าแผนก นอกจากจะเป็นทุนพิเศษที่ได้มาจากแหล่งอื่น

๑๐. ผู้สมัครจะต้องเป็นผู้มีความประพฤติดี สนใจงาน มีร่างกายและจิตใจเป็นปกติ

              การคัดเลือกจะต้องคัดเลือกให้เหมาะกับเวลาที่จะได้ส่งไปขอการผ่อนผันการเกณฑ์เข้ารับราชการ

              ทุนนี้ปีแรกให้กับแพทย์ที่เพิ่งสำเร็จ ๒ คน ที่ได้ที่ ๑ และ ๒ ในการเรียน ๔ ปี คนหนึ่งทำที่แผนกพยาธิวิทยาในสาขาบัคเตรีวิทยา และได้พบบัคเตรีของลำไส้ชนิดหนึ่งที่พบได้น้อยจากเด็กป่วยหนักของโรงพยาบาลเป็นเหตุให้ฝ่ายรักษาช่วยชีวิตเด็กนั้นไว้ได้ ต่อมาบิดาเด็กได้ส่งเงินให้โรงพยาบาล ๕๐๐ บาท ในโอกาสวันเกิดของเด็ก อีกคนหนึ่งเข้าทำงานในแผนกอายุรศาสตร์

             หลังจากเสด็จทิวงคตแล้ว มหาวิทยาลัยคงให้ทุนแบบนี้ ปีละทุนอยู่พักหนึ่ง เป็นผลให้เกิดการค้นคว้าที่มีค่าหลายชิ้น งาน ๒ ชิ้น ที่เกิดจากทุนนี้ได้เสนอต่อที่ประชุมสมาคมโรคประเทศร้อนแห่งตะวันออกเฉียงใต้ ที่มาประชุมที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๗๓ ศาสตราจารย์เอลลิส มีความเห็นว่าทุนนี้ควรจะมีอยู่ตลอดไปอย่างน้อย ๑ ทุน เพื่อให้เป็นที่ระลึกถึงสมเด็กพระบรมราชชนก แต่ไม่นานก็เลิกล้มไป

              ในพระราชปรารภของการตั้งทุนนี้จะเห็นได้ว่าทรงถือการเป็นนักศึกษาจนตลอดชีวิตของแพทย์เป็นหลักสำคัญ ทรงมีความเห็นว่านักเรียนที่เรียนแพทย์จบจากต่างประเทศ ซึ่งอยู่ในเขตหนาวและได้ศึกษาเฉพาะโรคที่เกิดขึ้นในเขตนั้น เมื่อกลับมาประเทศไทยควรจะศึกษาต่อไปอีก ๑ ปีก่อน จึงจะถือว่ามีความรู้และความชำนาญโรคของประเทศไทย ซึ่งเป็นหลักที่ทำให้ทรงมีพระราชประสงค์จะทรงทำหน้าที่แพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งทรงมีพระราชหัตถเลขามาก่อนที่จะเสด็จนิวัติประเทศไทย      แต่ทางการก็มิอาจจะรับได้    เป็นเหตุให้ไม่ทรงพอพระราชหฤทัยอย่างยิ่งและเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลเองก็ไม่พอใจที่ไม่ได้พระองค์มาร่วมงานด้วย เพราะการที่จะได้พระองค์มาทรงทำงานร่วมด้วยนั้น จะเป็นแรงกระตุ้นอย่างสำคัญต่อเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายแพทย์และพยาบาล จึงทรงเปลี่ยนพระราชหฤทัย เสด็จไปโรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่     ซึ่งเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลกระตือรือร้นอย่างยิ่งที่จะรอรับให้เสด็จไป

              ก่อนเสด็จเชียงใหม่ ทรงพิจารณาแผนผังที่จะขยายโรงพยาบาลวชิระ ทรงพระราชดำริว่า ควรจะเปลี่ยนแปลงทั้งหมด เพราะตึกที่ทำการได้ดัดแปลงมาจากตึกเดิมซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยมาก่อน ย่อมไม่เหมาะกับการที่จะใช้เป็นโรงพยาบาล

               สำหรับการช่วยเหลือของร็อกกีเฟลเลอร์นั้น รับสั่งกับ ดร. เอลลิส หลายครั้งว่า    ทรงหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือต่อไป     หลังจากที่หมดสัญญาการส่งศาสตราจารย์มาช่วย ทรงตระหนักดีว่าแพทย์ที่จบจากโรงเรียนแพทย์ที่มูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ช่วยเหลืออยู่นี้ จะทำให้คนทั่วไปเห็นคุณค่าของโรงเรียนที่มีการฝึกฝนอย่างดี เพราะในขณะนั้นยังมีบุคคลหลายคนมีความเห็นว่าอยากจะให้มีแพทย์ที่มีคุณวุฒิหลายระดับ ซึ่งไม่ทรงเห็นด้วยอย่างยิ่ง ทรงเกรงว่าถ้าหมดความช่วยเหลือของมูลนิธิฯ แล้ว จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งจะทำให้คุณภาพของแพทย์ที่สำเร็จต่ำลง เวลาต่อมาเหตุการณ์ที่ทรงห่วงใยก็เป็นจริง คือกระทรวงกลาโหมได้ตั้งโรงเรียนแพทย์ทหารขึ้นที่ลพบุรี รับนักเรียนที่จบชั้น ๘   โดยไม่ต้องผ่านโรงเรียนเตรียมแพทย์มาก่อน ใช้เวลาเรียนเพียง ๔ ปี      ดร.เอลลิส ในขณะนั้นเป็นข้าราชการไทย ได้โต้แย้งโดยยึดหลักที่ทรงยึดถือไว้ ทางการก็ไม่รับฟัง  จัดตั้งโรงเรียนขึ้นแต่ก็ดำเนินการได้ไม่นานก็ล้มไป

             งานอีกอย่างหนึ่งที่ทรงเป็นกังวลอยากจะทำให้สำเร็จคือหอพักนักเรียนชาย ทรงตั้งพระราชหฤทัย จะให้ที่ดินและจะทรงช่วยรัฐบาลซื้อที่ดินที่ติดกันให้ แต่หลังจากเสด็จทิวงคตแล้วปรากฏว่า ที่ดินพระราชทานนั้นเป็นของสมเด็จพระราชปิตุฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ซึ่งเมื่อทรงทราบเช่นนั้น ก็พระราชทานที่ดินนั้นให้กับโรงเรียนแพทย์ ทำให้พระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมราชชนกในการจัดสร้างที่พักนักศึกษาชาย ได้บรรลุ สำเร็จดังพระราชหฤทัย

หมอเจ้าฟ้าที่เชียงใหม่

 * ตัดตอนจากหนังสือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก. สภาอาจารย์ศิริราช, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, พิมพ์ครั้งที่ ๓, กรุงเทพฯ ไพศาลศิลป์การพิมพ์ ๒๕๒๖

………….โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ………..

หมายเลขบันทึก: 46856เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2006 12:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท