Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ตอบคุณนาทีเรื่องการจัดการสิทธิของนักศึกษารามคำแหงซึ่งเป็นชนเผ่าไร้สัญชาติ


บันทึกเกี่ยวกับการจัดการประชากรในประเทศไทย โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔

คำถามของคุณนาที

คุณนาทีได้อีเมลล์มาหารืออาจารย์แหววเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔ เวลา ๑๕.๑๙ น. โดยใช้ระบบอีเมลล์อัตโนมัติของ [email protected]  โดยมีใจความว่า

-----Original Message-----

From: [email protected] [mailto:[email protected]]

Sent: Tuesday, November 01, 2011 15:19

To: [email protected]

Subject: [gotoknow.org] เกี่ยวกับสัญชาติ

ตอนนี้หนูยังไม่ได้สัญชาติไทยค่ะ กำลังถือบัตรชาวเขาพื้นที่สูงสีชมพูที่ขึ้นด้วยเลข 6 ค่ะตอนนี้หนูกำลังเรียนมหาลัยรามคำแหงค่ะ หนูอยากทราบว่าถ้าหนูจบแล้วหนูจะได้วุฒิบัตรมัยค่ะ แล้วกรณีที่เราเป็นนักศึกษาพอจะมีวิธีในการที่จะได้ขอสัญชาติไทยมัยคะ ครอบครัวหนูเป็นชนเผ่าค่ะได้อพยพเข้ามาประเทศไทยตั้งแต่ 2536 ค่ะ พอจะมีคำแนะนำมัยค่ะ เพราะตอนนี้ลำบากมากเลยค่ะเกี่ยวกับการเรียนกู้ยืมเงินเรียนก็ไม่ได้ค่ะและถูกคนอื่นดูถูกด้วยค่ะลำบากในการเดินทางด้วยค่ะหนูต้องกลับไปต่อหนังสือออกนอกเขตทุกปีเลยค่ะ หนูขอคำแนะนำหน่อยนะค่ะ ขอบคุณมากค่ะ”

-------------------------

คำตอบของอาจารย์แหวว

-------------------------

ในประการแรก ที่ถามว่า “ตอนนี้หนูยังไม่ได้สัญชาติไทยค่ะ กำลังถือบัตรชาวเขาพื้นที่สูงสีชมพูที่ขึ้นด้วยเลข ๖ ค่ะตอนนี้หนูกำลังเรียนมหาลัยรามคำแหงค่ะ หนูอยากทราบว่าถ้าหนูจบแล้วหนูจะได้วุฒิบัตรมัยค่ะ” นั้น  อาจารย์แหววขอตอบว่า สิทธิทางการศึกษาเป็นสิทธิมนุษยชน เมื่อคุณเรียนครบกระบวนวิชาตามที่กำหนดในหลักสูตร คุณก็จะต้องได้วุฒิการศึกษา  หากคุณศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติ คุณก็จะทราบว่า มีบัณฑิตไร้สัญชาติในประเทศไทยอยู่ไม่น้อยค่ะ หากมหาวิทยาลัยปฏิเสธที่จะให้ปริญญาบัตรแก่คุณเมื่อคุณเรียนจบ คุณก็อาจก็อาจร้องเรียนต่อสภาทนายความ หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือฟ้องต่อศาลปกครอง หากคุณมีเวลาและอยากมีความรู้เพื่อปกป้องสิทธิทางการศึกษาของคุณเอง โปรดอ่านงานเขียนที่แนบมาให้นี้ค่ะ 

รวมผลการวิจัยเรื่องสิทธิในการศึกษาของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในประเทศไทย,

ภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.),สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), เมื่อวันเสาร์ที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

http://www.archanwell.org/autopage/show_all.php?t=2&s_id=59&d_id=60

ในประการที่สอง ที่บอกว่า “แล้วกรณีที่เราเป็นนักศึกษาพอจะมีวิธีในการที่จะได้ขอสัญชาติไทยมัยคะ ครอบครัวหนูเป็นชนเผ่าค่ะได้อพยพเข้ามาประเทศไทยตั้งแต่ 2536 ค่ะ พอจะมีคำแนะนำมัยค่ะ” นั้น   อาจารย์แหววอยากเรียนว่า ข้อเท็จจริงที่คุณให้มานั้น ไม่เพียงพอที่จะตอบได้ว่า คุณมีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายในลักษณะไหน ? เมื่อไม่ทราบข้อเท็จจริง ก็ไม่อาจวิเคราะห์ปัญหาและแนะนำได้ หากคุณอยากให้อาจารย์แหววแนะนำ ก็โปรดให้ข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้มาด้วย กล่าวคือ (๑) คุณเกิดในประเทศไทยหรือไม่ ? เมื่อไหร่ ? (๒) บิดาและมารดาของคุณเกิดในประเทศไทยหรือไม่ ? เมื่อไหร่ ? (๓) คุณอาศัยอยู่ ณ ที่ใดในประเทศไทย ? (๔) คุณได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยโดยอำเภอใด ? บัตรที่อำเภอออกให้มีชื่อว่าอะไร ? อ่านทุกข้อความบนบัตรมาให้ก็ดี หรือสแกนบัตรส่งมาให้ดูก็ดี  (๕) คุณเรียนในคณะอะไร ?  (๖) คุณเคยยื่นคำร้องขอสิทธิในสัญชาติไทยต่ออำเภอแล้วหรือยัง ?

ในประการที่สาม ที่บอกว่า “ลำบากในการเดินทางด้วยค่ะหนูต้องกลับไปต่อหนังสือออกนอกเขตทุกปีเลยค่ะ” นั้น  อาจารย์แหววขอบอกว่า คุณมีสิทธิร้องขออนุญาตออกนอกพื้นที่เพื่อศึกษาตลอดหลักสูตรการศึกษา สิทธิเดินทางเพื่อการศึกษาของเด็กและเยาวชนไร้สัญชาติได้รับการยืนยันโดยคณรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๘ ในกรณีนี้เช่นกัน หากนายอำเภอปฏิเสธ ก็อาจร้องเรียนต่อสภาทนายความ หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือฟ้องต่อศาลปกครอง

ในประการที่สี่ ที่บอกว่า “ถูกคนอื่นดูถูกด้วยค่ะ” นั้น อันนี้ อาจารย์แหววขอให้คุณคิดใหม่ ความเป็นชนเผ่าไร้สัญชาตินั้นมิใช่สิ่งที่ควรอับอาย และการที่มีคนมาดูถูก เราก็ไม่ควรจะหวั่นไหว ในวันนี้ สังคมไทยเข้าใจเกี่ยวกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติมากขึ้น โปรดศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นปัญหาที่คุณประสบอยู่ แล้วคุณจะพบว่า มีทางออกให้แก่ชีวิตมากมายค่ะ

---------------------------

ข้อสังเกตของอาจารย์แหวว

----------------------------

ข้อสังเกตในประการแรก ก็คือ ผู้ที่อีเมลล์ถามมาไม่ยอมบอกชื่อและรายละเอียดส่วนบุคคลใดๆ เลย อาจารย์แหววจึงอีเมลล์ถามกลับไปในวันอังคารที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔ เวลา ๑๖.๒๕ น. โดยมีใจความว่า “คุณเป็นใคร ? เมื่อต้องการขอคำปรึกษา คุณก็ควรจะเปิดเผยชื่อและอีเมลล์ซิคะ” คุณนาทีอีเมลล์ในวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔ เวลา ๘.๒๓ น. เพื่อตอบเพียงชื่อและสถานศึกษา โดยไม่มีรายละเอียดอื่นใดๆ เพิ่มเติม ดังนี้ “ค่ะ ชื่อ นางสาวนาที XXX  ตอนนี้กำลังเรียนอยู่ที่มหาลัยรามคำแหงค่ะ”

ขอโปรดสังเกตว่า ปัญหาของคนไร้รัฐไร้สัญชาติจำนวนหนึ่งอยู่ที่พวกเขาเป็นคนป่วยที่ไม่ยอมบอกอาการป่วยให้แก่หมอผู้รักษา บอกแต่ว่า เจ็บปวดรวดร้าวจนทนไม่ไหว หมอไม่อาจทราบสาเหตุแห่งโรคร้ายที่สร้างความเจ็บปวด การรักษาพยาบาลจึงเริ่มต้นไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม อาจารย์ก็ได้ตอบประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและการจัดการทัศนคติกลับไปดังข้อความปรากฏข้างต้น

เราจะต้องรอคอยการตอบกลับมาของคุณนาทีอีกครั้ง เพื่อวิเคราะห์ธรรมชาติแห่งสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายให้แก่คุณนาทีอีกครั้ง อันจะนำไปสู่การพัฒนาสิทธิดังกล่าวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงของคุณนาทีต่อไป

-----------------------------------------------------

 

หมายเลขบันทึก: 468162เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2011 10:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 00:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ขอให้คุณมีผมนิยมเสมอ
  • ขอให้เธอมีผมสมสมัย
  • ขอให้เธอรักผมด้วยด้วงใจ
  • ผมคือใครใยเธอรักยิ่ิงนักเอย....

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท