จวยน่า : บุคคลบนพื้นที่สูง ที่เกิดในประเทศไทย แต่ถูกจำกัดสิทธิเรื่องการเดินทาง


“ตอนโดนจับไม่นึกกลัวอะไรมากครับ เพราะผมเป็นกะเหรี่ยงมีชื่ออยู่ที่หัวหิน พ่อมีบัตรสีฟ้าด้วยอย่างน้อยก็ไม่ใช่พม่า และแน่ใจว่า ทางตำรวจไม่ส่งผมไปฝั่งพม่าแน่ๆ ครับ”
             

                เช้าวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๙ เวลาประมาณ ๗.๐๐ น ขณะที่จวยน่าและเพื่อนอีกสองคนกำลังรอรถประจำทางอยู่ที่ป้ายหยุดรถโดยสาร ย่านพระราม ๓ กรุงเทพฯ เพื่อไปทำงาน ได้ถูกตำรวจซึ่งขับรถผ่านมาจับกุมตัวไปที่โรงพัก หลังจากสอบถามทราบว่าทั้งสามคนไม่มีบัตรฯ

 

           จวยน่า หรือที่เรียกกันในชุมชนว่า ยูอี เกิดเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๑ ที่หมู่บ้านแพรกตะคร้อ หมู่ที่ ๑๑ ตำบลบึงนคร อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงมีโอกาสได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติในแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง พร้อมกับครอบครัว เมื่อครั้งที่กรมการปกครองทำการสำรวจ ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๓๔

 

                บิดาของจวยน่า ชื่อนายกะกู พูลลัต เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑ โดยระบุตามแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง ว่า เกิดที่ชายแดนไทยพม่า หมู่บ้านแพรกตะคร้อ ตำบลบึงนคร อำเภอหัวหิน เช่นเดียวกับนางบุเก พูลลัต มารดาของจวยน่า ซึ่งเกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖ โดยระบุสถานที่เกิดเช่นเดียวกัน

 

                ชีวิตครอบครัวแนวชายแดนของจวยน่า ไม่ต่างจากอีกหลายครอบครัวมากนัก โดยในอดีตที่ผ่านมา วิถีชีวิตทำไร่ล่าสัตว์ ได้ทำให้พ่อแม่ของจวยน่าเดินทางข้ามเขตแดนไทยพม่าไปมาเป็นประจำ จนกระทั่งประมาณ  ๓๐-๔๐ ปีก่อน ที่ทางพม่ามีการกวาดล้างชนกลุ่มน้อยอย่างจริงจัง ทำให้ชาวกะเหรี่ยงตะวันตกแถบนี้ ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทยอย่างถาวร และยังคงมีการเดินทางเข้ามาอาศัยอยู่กับญาติพี่น้องอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๕๓๔ คนที่อยู่ในพื้นที่จึงได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูง โดยต่อมามีการจัดที่อยู่อาศัยให้เพื่อไม่ต้องโยกย้ายไปมาและง่ายต่อการปกครอง โดยครอบครัวของจวยน่าได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านสวนทุเรียน อำเภอหัวหิน ในปัจจุบัน

 

                ชีวิตของจวยน่า ก็ไม่ต่างจากคนชั้นลูกชั้นหลาน ที่ภายหลังจากเกิดอยู่ในหมู่บ้านโดยหมอตำแยทำคลอดให้แล้ว เมื่อเติบโตจนถึงเกณฑ์เข้าโรงเรียน ก็ได้เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนในชุมชนใกล้บ้าน หลังจากจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ในปี พ.ศ.๒๕๔๕ ก็เริ่มเข้ามาทำงานในเมือง โดยจวยน่าและเพื่อนได้เริ่มต้นทำงานที่ร้านอาหาร ในอำเภอหัวหิน ก่อนจะเปลี่ยนมาทำงานเป็นภารโรงในโรงเรียน จนกระทั่งขยับออกไปทำงานไกลบ้านมากขึ้น คือที่กรุงเทพ ฯ และถูกตำรวจจับในเวลาต่อมา  อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้จวยน่าเห็นความสำคัญของการมีบัตรประชาชนอย่างจริงจัง

 

                หลังจากจวยน่าถูกตำรวจจับที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่๓ มิถุนายน ๒๕๔๙ และนายจ้างประกันตัวออกมาแล้ว นายจ้างยังอุตส่าห์พาตัวกลับมาเดินเรื่องทำหนังสือขออนุญาตออกนอกพื้นที่ให้ถูกต้องกับทางปลัดอำเภอ  แต่เนื่องจากขั้นตอนปฏิบัติที่มีข้อจำกัดหลายประการ และไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยเฉพาะเรื่องระยะเวลาการให้อนุญาต  ทำให้นายจ้างไม่สามารถรอได้ จวยน่าจึงต้องตกงานและกลับมาอยู่ที่หมู่บ้านอีกครั้ง

 
หมายเลขบันทึก: 46744เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2006 15:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 12:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
ขั้นตอนปฏิบัติของการขออนุญาตออกนอกพื้นที่ของบุคคลบนพื้นที่สูงเพื่อไปทำงานในปัจจุบัน ต้องให้มีการขออนุญาตที่อำเภอซึ่งมีทะเบียนประวัติถึง ๒ ครั้ง โดยครั้งแรกทางอำเภอจะอนุญาตให้ออกนอกพื้นที่ราว ๗-๑๕ วัน เพื่อไปขอหนังสืออนุญาตทำงาน ที่ทางสำนักงานแรงงานจังหวัด แล้วจึงกลับมาที่อำเภออีกครั้งเพื่อให้อำเภออนุญาตออกนอกพื้นที่ ครั้งที่ ๒ ตามระยะเวลาที่ขออนุญาตทำงานได้  แต่ทางปฏิบัติในปัจจุบัน หลายพื้นที่ให้อนุญาตออกนอกพื้นที่เพื่อทำงานเพียงครั้งละ ๖ เดือน

ปัจจุบันจวยน่า และครอบครัว   มีพยานบุคคลยืนยันว่าเกิดชายแดนไทย  ได้ยื่นคำร้องขอมีสัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิฯ  เมื่อปี พ.ศ.2547 แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ  แต่เมื่อ 23 ก.พ.2549 มารดาของ นายจวยน่าได้รับการอนุมัติ 7 ทวิฯแล้ว และได้เพิ่มชื่อใน ท.ร.14 ถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนเรียบร้อย เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2549

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท