ไอคิโด : การเล่นและการเรียนรู้


การที่พ่อแม่ใส่ใจและคาดหวังกับลูกเกินไปสร้างผลเสียต่อการฝึก เพราะไปสร้างแรงกดดันให้กับเด็ก การฝึกไอคิโดให้ได้ผลเด็กจำต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองในบริบทการฝึกบนผืนผ้าใบ โดยปราศจากการควบคุมกดดันจากพ่อแม่

 

ไอคิโด : การเล่นและการเรียนรู้

(แปลจาก Children and Martial Art : Aikido point of view

แต่งโดย Gaku Homma  ฉบับพิมพ์ปี 1993 หน้า  5-8)

 

ถอดความ โดย วิสุทธิ์  เหล็กสมบูรณ์

 

หลายเดือนก่อน ผมได้ดาว์นโหลดไฟล์หนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ  Children and Martial Art : Aikido point of view แต่งโดย Gaku Homma  ฉบับพิมพ์ปี 1993 ต้องขอขอบคุณท่านอาจารย์สมบัติ ตาปัญญาที่กรุณาส่งไฟล์หนังสือเล่มนี้มาให้ วันนี้พอจะมีเวลาว่าง เลยไปสำรวจดูหนังสือเล่มนี้ก็พบว่ามีเนื้อหาน่าสนใจและเกี่ยวข้องกับหลายๆท่านที่ทำงานกับเด็ก หรืออาจจะมีลูกหลาน หรือกำลังลังเลว่าจะสอนไอคิโดแก่เด็กๆดีไหม ผมก็เลยแปลบางบทมาให้อ่านดูนะครับ

 

ผู้เขียนคือคุณ Gaku Homma  เล่าว่า ไอคิโดพัฒนามาจากศิลปะการป้องกันตัวแบบมือเปล่า ซึ่งกำเนิดขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 16 ในยุคที่สงครามยังคงระอุ บ่อยครั้งที่มีดดาบ อาวุธต่างๆ หลุดมือบ้าง แตกหักบ้าง แต่การต่อสู้ยังไม่จบ นักรบจึงต้องฝึกการต่อสู้ด้วยมือเปล่าโดยผสมผสานกับสภาพแวดล้อม โดยใช้พลังของตัวเองให้น้อยที่สุด เมื่อหลักการต่อสู้อย่างนี้สืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน เด็กๆหลายๆคนจึงมีโอกาสนำไอคิโดมาใช้พัฒนาตัวเองทั้งในด้านร่างกาย และจิตใจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กทุกคนจะสามารถเข้าถึงไอคิโดในแง่นี้ได้ เพราะจริงๆแล้ว มันไม่ง่ายอย่างที่คิด

 

ผู้เขียนได้บอกเล่าถึงที่มาของไอคิโดว่า ได้ถือกำเนิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น โดยปรมาจารย์มอริเฮอิ  อูเอชิบะ (คศ. 1883-1969) โดยการหลอมรวมศิลปะการต่อสู้โบราณในญี่ปุ่นหลายๆแขนงเข้าด้วยกัน ภายใต้ความเชื่อศาสนาชินโตและพุทธ อูเอชิบะเชื่อว่ารากฐานของไอคิโดคือความรัก และเป้าหมายสูงสุดก็คือความกลมกลืน ซึ่งไอคิโดก็คือการสร้างวิถีความกลมกลืน ปัจจุบันไอคิโดเป็นที่รู้จักและฝึกฝนแพร่หลายทั่วโลก  อย่างไรก็ตาม พอผู้ปกครองหลายๆคนได้ยินเรื่องรากฐานและเป้าหมายไอคิโดแบบนี้ ก็รู้สึกผิดคาด บ้างก็ว่าไม่น่าสนใจ แต่บางคนก็บอกว่าใช่เลย ทั้งๆจริงๆแล้ว การทำความเข้าใจเรื่องแนวคิดพื้นฐานของไอคิโดเป็นจุดสำคัญในการที่จะเลือกว่าลูกของตนควรจะฝึกไอคิโดหรือไม่อย่างไร

 

ผู้เขียนได้พูดคุยกับพ่อแม่ของเด็กหลายคน พบว่า เวลาพูดถึงศิลปะการต่อสู้ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็มักจะนึกถึงหนังบู๊แอคชั่นจากฮอลลีวู้ด  สู้ แข่งขัน ทำลายล้าง เป็นฮีโร่ โก้เก๋เท่ห์พิชิตเหล่าวายร้าย จึงไม่น่าจะแปลกใจเลยที่เด็กๆจำนวนมากที่เพิ่งมาฝึกไอคิโดจะเอาเทคนิคท่าทางต่างๆที่เลียนแบบจากในหนังมาใช้บนเบาะ ส่วนพ่อแม่ก็มักจะนึกว่าฝึกไอคิโดแล้วแป๊บๆก็เป็น บางคนก็คาดหวังกับลูกๆมากเกินไป

 

บ่อยครั้งที่ผู้เขียนได้รับโทรศัพท์จากพ่อแม่สอบถามเข้ามาว่า “  ลูกฉันฝึกแล้วเป็นไงบ้าง เค้าชอบไอคิโดไม๊ ลูกชนซนมาก ไม่ยอมอยู่นิ่งเลย จะฝึกได้หรือเปล่า ” การที่พ่อแม่สนใจการเรียนรู้เรื่องลูกเป็นสิ่งที่ดี แต่สำหรับเด็กที่เพิ่งเริ่มต้นกับไอคิโดนั้นเร็วเกินไป

ผู้เขียนพบว่า การที่พ่อแม่ใส่ใจและคาดหวังกับลูกเกินไปสร้างผลเสียต่อการฝึก เพราะไปสร้างแรงกดดันให้กับเด็ก การฝึกไอคิโดให้ได้ผลเด็กจำต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองในบริบทการฝึกบนผืนผ้าใบ โดยปราศจากการควบคุมกดดันจากพ่อแม่ แน่นอนว่าในการฝึกจำต้องมีกฎกติกามารยาทเพื่อความปลอดภัย แต่สำหรับเด็กแล้ว ไอคิโดเป็นเกมการละเล่นอย่างหนึ่ง

 

 

 

จากประสบการณ์การสอนไอคิโดให้กับเด็กๆหลายปี ผู้เขียนพบว่าเด็กๆหลายร้อยคนวิ่งเล่นในโรงฝึก (โดโจ) ปล้ำกันไปมา กระโดดขึ้นกระโดดลง ซุกซนหัวเราะสนุกสนาน แกล้งกันบ้าง ดื้อบ้าง แต่นั่นเป็นวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมที่สุดกับพฤติกรรมธรรมชาติของเด็ก เป็นการเรียนรู้ผ่านการเล่น ซึ่งผู้สอนต้องปรับตัวเข้าหาพวกเขา

 

ในเนื้อหาหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เน้นเรื่องราวของปรมาจารย์ผู้ก่อตั้งหรือพัฒนาการของไอคิโด แต่จะกล่าวถึงไอคิโดในฐานะวิธีการศึกษาในแบบใหม่สำหรับเด็กๆ ซึ่งผมจะได้ถอดความมานำเสนออย่างต่อเนื่องในฉบับต่อไปครับ

หมายเลขบันทึก: 467323เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2011 18:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • เด็กชอบสนุกสนานตามวัยครับ
  • มาให้กำลังใจให้ทำต่อไปครับคุณยอดดอย

บนหน้าต่างชั้นสองเจ้าของบ้าน

มองสายธารเจิ่งนองไร้ผองเพื่อน

ญาติพี่น้องของเราให้เฝ้าเรือน

จะกลับเยือนเมื่อใดยังไม่รู้

 

ขอบคุณอาจารย์ขจิตครับ

- ผมหายจากโกทูโนวไปหลายเดือน ง่วนอยู่กับการทำงานในพื้นที่และเดินทางประชุม ตอนนี้คุณเอก (จตุพร) กระตุกให้มาเขียนบล็อกต่อ ก็เลยนึกได้ว่าชีวิตขาดอะไรไป (ต้องขอบคุณ ดร. เอก มา ณ ที่นี้ด้วย)

- เรื่องเด็กๆไม่เล็กอย่างที่คิด มีอะไรๆที่ผู้ใหญ่หลงลืมไป และทำผิดพลาดกับเด็กอีกมากโดยที่เราไม่รู้ตัว ต้องช่วยกันเตือนสติครับ

สวัสดีครับคุณโสภณ

  • น้ำท่วมบ้านแต่อย่าให้น้ำท่วมใจเลยนะครับ
  • ชีวิตมีขึ้นมีลง น้ำขึ้นได้เดี๋ยวมันก็ลด
  • ชีวิตคนรุ่งได้เดี๋ยวก็ร่วง ร่วงเดี๋ยวก็รุ่ง
  • มองน้ำท่วมเป็นบทเรียนการเตือนสติได้ว่าชีวิตไม่เที่ยง
  • ปัจจุบันเท่านั้นที่สำคัญและควรใช้ให้มีคุณค่าที่สุดครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท