Warangkhana @PAT
นางสาว วรางคณา สุวรรณชาตรี

ประวัติวัดพระศรีรัตนศาสดาราม


วัดพระศรีรัตนศาสดารามวัดพระแก้วมรกต วัดสำคัญที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์

     วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดพระแก้ว เป็นวัดที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2325 เป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง เช่นเดียวกับ วัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นวัดในพระราชวังหลวงในสมัยอยุธยา และมีพระราชประสงค์ให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต ที่นำมาจากกรุงเวียงจันทร์ แต่แท้ที่จริงแล้ว พบเจอวัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย และเป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ เพราะมีแต่ส่วนพุทธาวาสไม่มีส่วนสังฆาวาส

     วัดพระศรีรัตนศาสดารามได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดย ตลอด การบูรณะครั้งใหญ่ทั้งพระอาราม มีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 100 ปี ใน พ.ศ. 2425 ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งพระอารามในโอกาสที่มีพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี ในรัชกาลปัจจุบันโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ทั้งพระอารามอีกครั้งใน พ.ศ. 2525 เมื่อมีการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นองค์ประธานในการบูรณะ

     วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดที่สำคัญและเป็นที่เชิดหน้าชูตาของบ้านเมือง ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ

พระอุโบสถ
ตั้งอยู่ส่วนกลางของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีซุ้มประดิษฐานเสมารวม ๘ ซุ้ม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๒๖ เพื่อประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (แก้วมรกต) ที่พระองค์ทรงอัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๒๒

     ในการสร้างพระอุโบสถหลังนี้ใช้เวลา ๓ ปี สำเร็จเรียบร้อยลงใน พ.ศ. ๒๓๒๘ ต่อมา เมื่อประมาณได้เกิดเพลิงไหม้บุษบกทรงพระแก้วมรกตซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมขึ้นใหม่ให้ทันฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดารามในปลายรัชกาล

     หลักฐานการก่อสร้างและรายละเอียดทางสถาปัตยกรรม ของพระอุโบสถในรัชสมัยนี้ไม่ชัดเจนนัก นอกจากบ่งไว้ว่า ฝาผนังรอบนอกเป็นลายรดน้ำปิดทองรูปกระหนกเครือแย่งทรงข้าวบิณฑ์ดอกในบนพื้น สีชาด ฝาผนังด้านในเหนือประตูด้านสกัดเป็นภาพเรื่องมารวิชัยและเรื่องไตรภูมิ

    ส่วนฝาผนังด้านยาวเขียนภาพเทพชุมนุมตามแบบที่สืบเนื่องมาจากสมัยอยุธยา ฝาผนังระหว่างหน้าต่างเขียนภาพเรื่องปฐมสมโพธิ หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบซึ่งปรากฏว่ามีการแก้ไขในรัชกาลที่ ๓ และ ๔ ในภายหลังดังที่เห็นได้ในปัจจุบัน

    พระทวารกลาง เป็นพระทวารใหญ่สูง ๘ ศอกคืบ กว้าง ๔ ศอกคืบ ตัวบานเป็นบานประดับมุกลายช่องกลม ส่วนพระทวารข้างเป็นทวารรองสูง ๗ ศอก กว้าง ๓ ศอก ๑ คืบ ๑๐ นิ้ว ตัวบานเป็นบานประดับมุกกลายเต็ม ซึ่งบานพระทวารทั้ง ๒ แห่งนี้ สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ประทานความเห็นว่า "เป็นฝีมือที่น่าชมยิ่ง ตั้งใจทำแข่งกับบานที่ทำครั้งแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งอยู่ที่วิหารยอด"

    ภายในพระอุโบสถได้รับการตกแต่งอย่างวิจิตรงดงามตั้งแต่เพดานถึงพื้น กลางห้องประดิษฐานพระแก้วมรกตในบุษบกทองคำพร้อมด้วยพระพุทธรูปสำคัญมากมาย

พระพุทธรูปสำคัญภายในพระอุโบสถ
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
หรือพระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนตอนต้น ทำจากหินหยกสีเขียวเข้มทึบแสง ปางสมาธิ ขนาดหน้าตัก ๔๓ ซม. สูง ๕๕ ซม.

พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระพุทธรูปที่รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างอุทิศให้กับรัชกาลที่ ๑ และ ๒ ศิลปะรัตนโกสินทร์ ปางห้ามสมุทร สูง ๓ เมตร ทรงเครื่องต้นพระจักรพรรดิราช เป็นพระพุทธรูปสำริดหุ้มทองคำลงยาราชาวดี เครื่องต้นประดับเนาวรัตน์ ใช้ทองคำเท่ากับทองที่หุ้มพระศรีสรรเพชญ ในสมัยอยุธยา

พระสัมพุทธพรรณี รัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างใน พ.ศ. ๒๓๗๓ ตามอย่างพุทธลักษณะที่พระองค์ทรงสอบสวนได้ สร้างจากกะไหล่ทองคำ ปางสมาธิหน้าตักกว้าง ๔๙ ซม. สูงถึงพระรัศมี ๖๗.๕ ซม. มีการเปลี่ยนพระรัศมีเป็นสีต่าง ๆ ตามฤดูกาล พร้อมกับการเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต

 ข้อแนะนำในการเที่ยวที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
แต่งกายให้สุภาพ ไม่ควรสวมเสื้อแขนกุด กางเกงขาสั้น กางเกง9ส่วน
ไม่ควรใช้แฟลชในการถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระระเบียง เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายกับภาพจิตกรรมได้
ภายในอาคารอื่นทั้งหมดโดยเฉพาะพระอุโบสถ ห้ามถ่ายภาพอย่างเด็ดขาด ฝ่าฝืนมีโทษปรับ และยึดสื่อบันทึก
 

 

ข้อมูลจาก :  วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คำสำคัญ (Tags): #kmanw
หมายเลขบันทึก: 465567เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2011 18:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 00:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท