บุคลิกภาพที่ดีของครู


บุคลิกภาพที่ดีของครู

 

บทนำ

            การมีบุคลิกภาพที่ดี ไม่ว่าจะประกอบอาชีพการงานใด ก็เปรียบเสมือนได้ประสบความสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง อาชีพครูก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ต้องอาศัยบุคลิกภาพเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นครูมืออาชีพ ที่กล่าวว่าบุคลิกภาพสามารถนำไปสู่การเป็นครูมืออาชีพได้นั้นก็เพราะว่า นอกจากบุคลิกภาพที่ดีจะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับตัวครูเองแล้ว ยังสามารถสร้างความประทับใจแรกพบ (First Impression) ให้กับผู้พบเห็นโดยทั่วไปอีกด้วย

            บุคลิกภาพ (Personality) หมายถึงลักษณะเฉพาะของคนแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกัน อันประกอบด้วยรูปสมบัติหรือพฤติกรรมภายนอก และคุณสมบัติหรือพฤติกรรมภายใน

(นภัสภร  วรนิธิปรีชา.2545 : 43)

            ส่วนที่เป็นรูปสมบัติหรือพฤติกรรมภายนอก จะเป็นส่วนที่ทำให้เกิดความประทับใจแรกพบ เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นทันทีที่พบเห็นว่าชอบหรือเกลียด ยอมรับหรือไม่ยอมรับ เช่น ความรู้สึกที่ต้องการจะคบเป็นเพื่อน ต้องการจะพูดคุยด้วย หรือความรู้สึกที่ไม่ถูกชะตา ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย

            อีกส่วนหนึ่งเป็นคุณสมบัติหรือพฤติกรรมภายใน เป็นส่วนที่เป็นลักษณะนิสัยซึ่งต้องใช้เวลาในการคบหาหรือสนทนาจึงจะทราบว่าบุคคลผู้นั้นเป็นอย่างไร ส่วนที่เป็นคุณสมบัตินี้จะเป็นส่วนที่ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นและความประทับใจที่ลึกซึ้งกว่ารูปสมบัติ และเป็นคุณสมบัติที่ครูทุกคนพึงมี และต้องให้ความสนใจในการที่จะพัฒนาให้ดีขึ้น

            ครูกับบุคลิกภาพที่ดีนั้นจะต้องเริ่มจากการพัฒนาส่วนต่าง ๆ ดังนี้

  1. การพัฒนาพฤติกรรมภายนอกหรือรูปสมบัติ อันได้แก่

รูปร่างหน้าตา  เรื่องรูปร่างหน้าตาเป็นเรื่องของธรรมชาติที่สร้างมาย่อมเปลี่ยนแปลงได้ยาก คนที่มีรูปร่างหน้าตาดีถือเป็นโชค ถ้าคนเราเลือกได้ ทุกคนย่อมต้องการให้ตนมีหน้าตาที่ดีทั้งสิ้น เพราะรูปเป็นทรัพย์อย่างหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องยอมรับสิ่งที่เป็นอยู่ และพยายามปรับปรุงให้ดูดีขึ้น เช่น การออกกำลังกาย การเสริมแต่งด้วยเครื่องสำอาง แต่อย่างไรก็ตามควรจะต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมชาติ ความสะอาด เรื่องความสวยงามก็ไม่ใช่เรื่องที่สำคัญที่สุดในปัจจุบัน

 

การแต่งกาย   นอกเหนือจากเรื่องรูปร่างหน้าตา การแต่งกายก็มีส่วนสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะช่วยให้บุคลิกภาพดูดีขึ้น การแต่งกายแสดงถึงรสนิยม แสดงถึงลักษณะนิสัยของผู้แต่ง การแต่งกายที่ดูดี ดูสง่างามประกอบด้วย ความสุภาพ ความประณีต ความประหยัด และความสะอาด

กิริยาท่าทาง   การแสดงกิริยาประกอบคำพูด เพราะจะช่วยให้คู่สนทนามีความเข้าใจเรื่องมากขึ้น กิริยาท่าทางเป็นสิ่งที่เน้นย้ำคำพูดให้ดูสมจริง แต่ก็ต้องระวังเรื่องกิริยาซ้ำซาก ซึ่งหมายถึงการแสดงกิริยาอย่างหนึ่งอย่างใดอย่างไร้ความหมาย เช่น การพูดเอ้อ อ้า อยู่ตลอดเวลาจนทำให้นักเรียนเกิดความรำราญ

น้ำเสียงและการพูด   เสียงที่ใช้ในการพูดหรือสนทนาควรเป็นเหมือนเสียงดนตรี คือมีเสียงสูงต่ำ หนักเบา ตามความสำคัญของเนื้อหาที่พูด หรือเป็นการเน้นย้ำในส่วนที่สำคัญของเรื่อง การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พูดบ้าง เพื่อแสดงให้เห็นว่าครูให้ความสนใจกับนักเรียน การพูดเพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ให้ความสนใจนักเรียน ก็จะไม่ทราบว่านักเรียนมีความเข้าใจในเนื้อหาที่เรียนหรือไม่ (ฉันทนิช  อัศวนนท์.2546 : 9)

    2.  การพัฒนาพฤติกรรมภายในหรือคุณสมบัติ ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้

ความเชื่อมั่นในตนเอง   เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะการที่ครูมีความเชื่อมั่นใจตนเอง แสดงถึงการมีความรู้ลึกรู้จริงในขอบข่ายของวิชาที่สอน รวมไปถึงการมีความเชื่อมั่นในการแต่งกายและการวางตัวที่เหมาะสม

ความแนบเนียน   บางครั้งครูจำเป็นต้องใช้จิตวิทยาในการพูดกับนักเรียน เช่น บางครั้งนักเรียนมีความประพฤติก้าวร้าวหรือเกเร ครูจำเป็นที่จะต้องใช้ไม้อ่อนเข้าช่วย หรือใช้จิตวิทยาในการพูดให้มาก เพราะเด็กเหล่านี้ใช้การลงโทษหรือการบังคับไม่ได้ผล

ความกระตือรือร้น   ครูต้องแสวงหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่  หรือมีความกระตือรือร้นที่อยากจะสอน เช่น การเข้าสอนตรงเวลา ซึ่งนักเรียนก็จะดูครูเป็นแบบอย่างและจะเข้าเรียนตรงเวลาด้วย

ความไว้วางใจได้   ครูที่ดีจะต้องเป็นที่ไว้วางใจของลูกศิษย์ สามารถเก็บรักษาความลับของลูกศิษย์ได้ในเรื่องที่ไม่สมควรจะเปิดเผย เพราะจะเกิดความเสียหายให้กับลูกศิษย์ได้

ความจำ   ครูต้องมีความจำที่ดี เช่น ความสามารถในการจำชื่อของนักเรียนได้ เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างมนุษยสัมพันธ์กับนักเรียนแล้ว ยังทำให้นักเรียนรู้สึกประทับใจในตัวครูผู้สอนอีกด้วย

ความยับยั้งชั่งใจ   คือการควบคุมอารมณ์ในสถานการณ์บางสถานการณ์ได้ เช่น การควบคุมอารมณ์โกรธ ครูไม่ควรแสดงกิริยาท่าทางที่ไม่สุภาพ หรือใช้คำพูดที่รุนแรงออกไป ซึ่งเป็นการควบคุมภาวะทางอารมณ์หรือที่เรียกว่า EQ นั่นเอง (ทวี  บัวทองและคณะ.2546 : 93)

จากการสัมภาษณ์นางสาวน้ำทิพย์  แสงแก้ว  ครูผู้สอนสาขางานการขาย  โรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์พณิชยการ (9 สิงหาคม 2550)  ได้แสดงความคิดเห็นว่า บุคลิกภาพที่ดีของครูก็คือการที่ครูแต่งกายที่เหมาะสมกับอาชีพ ครูไม่ควรใส่เสื้อผ้ารัดรูป หรือใส่กระโปรงสั้นจนเกินไป การยืน เดิน นั่ง พูด การส่งสายตา อากัปกิริยาต่าง ๆ จะต้องวางตัวให้เหมาะสมและดูดี ให้เป็นที่เคารพนับถือแก่เด็ก ซึ่งสามารถจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักเรียนได้ และอีกประการหนึ่งก็คือ การมีจิตวิญญาณของความเป็นครู คอยอบรมสั่งสอนและตักเตือนลูกศิษย์ไม่ให้เดินไปในทางที่ผิด และการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อนักเรียน เพื่อนร่วมงาน เคารพในผู้บังคับบัญชาและกฎระเบียบขององค์กรอย่างเคร่งครัด

จากการสัมภาษณ์นางสาวธนัชชา  บินดุเหล็ม  ครูผู้สอนสาขางานการขาย  โรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์พณิชยการ (10  สิงหาคม  2550)  ได้กล่าวถึงบุคลิกภาพที่ดีของครูว่าครูจะต้องมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพครูและต่อลูกศิษย์ก่อน  ครูจะต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ที่อาวุโสกว่า  และจะต้องแต่งกายที่เหมาะสมกับอาชีพ การเดิน การนั่ง การพูด จะต้องมีความสง่างาม และดูภูมิฐาน เพราะนอกจากจะเป็นการวางตัวได้เหมาะสมแล้ว ยังเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูกศิษย์อีกด้วย

จากการสัมภาษณ์นางสาวชมัยพร  แซ่ลิ่ม  นักเรียนสาขางานการขาย  โรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์พณิชยการ (14  สิงหาคม  2550)  นักเรียนแสดงความคิดเห็นถึงบุคลิกภาพที่ดีของครูว่า ครูจะต้องมีความมั่นใจในตนเอง มีความรู้ในเรื่องที่สอนอย่างแจ่มแจ้ง มีบุคลิกที่น่าเกรงขาม พูดจริงทำจริง อารมณ์มั่นคง มีความเยือกเย็น และใจดีกับเด็กนักเรียน

จากการสัมภาษณ์นางสาวสาวิตรี  นิยมเดชา   นักเรียนสาขางานการขาย  โรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์พณิชยการ  (14  สิงหาคม  2550)  นักเรียนแสดงความคิดเห็นถึงบุคลิกภาพที่ดีของครูว่า ครูจะต้องมีความน่าเชื่อถือ มีความเป็นกันเองกับนักเรียน คือการมีอัธยาศัยที่ดี สามารถพูดคุยหรือสร้างความสนุกสนานให้กับนักเรียนได้ในบางเวลา ครูจะต้องมีความตั้งใจในการสอนให้ความรู้ความเข้าใจอย่างเต็มที่ และมีจรรยาบรรณของความเป็นครูอยู่เสมอ

บุคลิกภาพที่ดีของบุคคลจึงมีความสำคัญและมีผลต่อความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างมาก เพราะนอกจากบุคลิกภาพจะสามารถสร้างความมั่นใจในตนเองได้แล้ว ยังสามารถสร้างความรู้สึกนิยมชมชอบในสายตาของผู้ที่พบเห็นอีกด้วย (กวี  วงศ์พุฒ.2547 : 11)

 

บทสรุป

บุคลิกภาพที่ดีกับอาชีพครูจึงขาดกันเสียมิได้ มีครูหรือบุคคลอื่นอีกหลายคนที่ไม่เคยคิดคำนึงถึงบุคลิกภาพของตนเอง นั่นเป็นเพราะว่าเขาคนนั้นไม่เคยวิเคราะห์ตนเองหรือมองตนเองในด้านลบเลย จึงได้มองข้ามและไม่คิดที่จะปรับปรุงหรือลองเปลี่ยนแปลงตัวเองบ้าง ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าครูคนใดมีบุคลิกภาพที่ดีก็สามารถประสบความสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง  ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งก็น่าจะเป็นความรู้ความสามารถเฉพาะตัวของบุคคลนั้น ๆ ที่จะหลอมรวมกันเพื่อสร้างความสำเร็จในชีวิตให้กับตนเอง

คำสำคัญ (Tags): #kmanw3
หมายเลขบันทึก: 464416เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2011 11:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 15:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท