แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานทันตฯ ในผู้สูงอายุ (2)


ที่ผ่านมา PCU และชมรมฯ ก็ได้มีการทำกิจกรรมแล้วในระดับต่างๆ ซึ่งการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้กันในวันนี้ได้กำหนดให้มีการพูดคุยกัน ในเรื่องของความสำเร็จของการจัดกิจกรรม ของพื้นที่นำร่อง

 

ก่อนที่จะจัดกลุ่มคุยกัน ในเรื่องงานทันตฯ ในผู้สูงอายุ หมอสุปราณีได้พูดถึงที่มาที่ไปของการจัดให้มีกิจกรรมเรื่อง การส่งเสริมป้องกันนี้ภายใต้โครงการของกองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ในเรื่องต่างๆ ก็คือ

  • กลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และควรต้องได้รับการดูแลสุขภาพช่องให้ดี ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มที่จะมีการเข้าไปตั้งต้นดูแล ตั้งแต่เมื่อเป็นเด็กรุ่นใหม่ๆ
  • กองทันตฯ ได้ดำเนินการในโครงการฟันเทียมพระราชทาน โดยตั้งเป้าหมายเพื่อการรณรงค์เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวาระมหามงคล 80 พรรษา และมีกิจกรรมดำเนินการในปี 2548-2550
  • ความเกี่ยวข้องกับสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุนั้น ก็คือ สุขภาพช่องปากผู้สูงอายุที่ได้ทบทวนมาแล้วนั้น มีการสูญเสียฟันร้อยละ 82 ถึง 4 ล้านคน เป็นส่วนของการสูญเสียฟันทั้งปากประมาณ 3 แสน และผู้ที่มีฟันนั้นก็มีฟันผุอยู่แล้วเกือบ 100% และเกือบครึ่งต้องการรักษาโรคเหงือก
  • สุขภาพช่องปากจะส่งผลกับสุขภาพการกิน ทั้งในเรื่องของอาหาร ภาวะโภชนาการ โรคระบบทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินหาย จนถึงเรื่องของคุณภาพชีวิต ซึ่งจากการประเมินผลโครงการที่ผ่านมา พบว่า เมื่อใส่ฟันเทียมไปแล้ว ผู้สูงอายุก็มีความมั่นใจ เรื่องการเข้าสังคม และมีความสุขของผู้สูงอายุจริงๆ
  • มีการรวมพลังจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เป็นภาคีเครือข่าย และมีกิจกรรมอยู่ 4-5 เรื่อง ได้แก่ เรื่องการใส่ฟันเทียม การส่งเสริมสุขภาพช่องปาก การพัฒนาบุคลากร รณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ผลิตสื่อ และการสนับสนุนการดำเนินงาน

“โครงการฟันเทียมพระราชทาน” ได้มีการตั้งเป้าหมายแนวคิดไว้ว่า

  1. โครงการนี้ต้องใช้งบประมาณของภาครัฐ
  2. อย่าให้เป็นไฟไหม้ฟาง คือ ไม่ใช่ทำจบ 3 ปี
  3. ให้ดำเนินการต่อเนื่องหลังจากจบ 3 ปีแล้ว

หลายๆ ฝ่าย ก็กำลังคิดกันว่า ถ้าจะมาปล่อยให้ผู้สูงอายุสูญเสียฟันไปหมด และมาไล่ใส่ฟันเทียม ก็คงไม่ไหว จากข้อมูลผู้สูงอายุ มีการสูญเสียฟันทั้งปาก 300,000 ราย แล้ว ภายใน 3 ปี เราทำกันทั้งประเทศก็ได้ประมาณ 80,000 ราย เท่านั้น

และทันตบุคลากรที่ทำงานไปแล้วจะรู้ว่า การใส่ฟันเทียมนั้นต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก คนหนึ่งก็ประมาณ 4-5 ครั้ง ครั้งหนึ่งก็ครึ่งชั่วโมงขึ้นไป บางคนก็ 2-3 ชั่วโมง ไม่ง่าย และค่าใช้จ่ายก็สูง และต้องมีการปรับตัวของผู้สูงอายุเมื่อใส่ฟัน และอาจต้องปรับแก้ปัญหาเสมอ และความจริงก็บอกเราว่า ฟันเทียมที่ดีที่สุดก็มีประสิทธิภาพเพียงแค่ 40% ของฟันแท้เท่านั้น

ดังนั้น ในระยะที่ 2 เมื่อเราได้แก้ปัญหาการใส่ฟันเทียมได้ทั่วถึงพอสมควรแล้ว จึงมาถึงเรื่องของการลดการสูญเสียฟันว่า เราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะลดการสูญเสียฟัน ด้วยการส่งเสริมป้องกันในช่องปากไม่ให้สูญเสียฟันเพิ่มขึ้น

เราก็มาเริ่มที่ว่า เราจะป้องกันโรคได้อย่างไร และพบว่า ชมรมผู้สูงอายุเป็นกลุ่มผู้สูงวัยที่มีภูมิปัญญา มีเวลาให้กับส่วนรวม ทั้งการดูแลผู้สูงอายุกันเอง ความเอื้ออาทร และผู้สูงอายุที่ทำงานในชมรมฯ ก็เป็นกลุ่มที่มีความรู้ อาจจะเป็นข้าราชการ หรืออื่นๆ และเราก็มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งให้การสนับสนุนผู้สูงอายุอยู่แล้ว ทั้งส่วนข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือ PCU, CUP, สสจ., ศูนย์อนามัย และกองทันตสาธารณสุข กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่เชื่อมโยงกันกับผู้สูงอายุทั้งหมด แต่ก็อาจจะมีผู้เกี่ยวข้องที่เพิ่มขึ้น

โครงการศึกษาพัฒนารูปแบบ / ระบบการสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก จึงเป็นโครงการที่ทำขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิด สุขภาพและคุณภาพชีวิตในผู้สูงอายุ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ว่า ในหน่วยงานของการบริการภาครัฐ อยากจะพัฒนาระบบบริการ และระบบสนับสนุนว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพช่องปากที่จะส่งผลไปสู่สุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดี และส่วนที่สอง คือ กระบวนการ หรือกิจกรรมอะไรที่จะดำเนินการ เครือข่าย หรือผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อจะทำให้เกิดการดูแลสุขภาพช่องปากที่จำเป็นของผู้สูงอายุ หรือเกิดกิจกรรมในชมรม ... ทั้งที่เป็นกิจกรรมในชมรมเองแล้ว และกิจกรรมอื่นๆ อาทิ การให้ความรู้ ข่าวสาร และสื่อต่างๆ ให้กับผู้สูงอายุ

กิจกรรมที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม คือ ศูนย์อนามัยที่ 4 ราชบุรี, ศูนย์ฯ 5 นครราชสีมา และ ศูนย์ฯ 10 เชียงใหม่ และมี สสจ. ที่เข้าร่วมด้วย 7 แห่ง ได้แก่ สุพรรณบุรี เพชรบุรี ราชบุรี บุรีรัมย์ ชัยภูมิ เชียงใหม่ และลำปาง โดยกระจายกิจกรรมไปที่ รพช. PCU และชมรมผู้สูงอายุ

ที่ผ่านมา PCU และชมรมฯ ก็ได้มีการทำกิจกรรมแล้วในระดับต่างๆ ซึ่งการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้กันในวันนี้ได้กำหนดให้มีการพูดคุยกัน ในเรื่องของความสำเร็จของการจัดกิจกรรม ของพื้นที่นำร่องในประเด็น

  1. เรื่องที่ดำเนินการสำเร็จ
  2. วิธีการ / กระบวนการที่ได้ดำเนินการ และ
  3. สิ่งที่คิดว่าจะต้องทำต่อไป (ถ้ามี)

ในตบท้ายด้วย การสรุปประเด็น ปัจจัยความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมผู้สูงอายุในแต่ละพื้นที่ และก็แถมด้วย AAR ด้วยค่ะ

ซึ่งเรามีพื้นที่ที่มาคุยกันทั้งหมด 25 PCU ค่ะ ผู้สนใจต้องติดตามอ่านบันทึกในตอนต่อๆ ไปนะคะ ... ท่านจะได้รู้ว่า แล้วที่ PCU หรือชมรมผู้สูงอายุนั้น มีการทำกิจกรรมอะไรกันบ้าง

รวมเรื่อง แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานทันตฯ ในผู้สูงอายุ ครั้งที่ 1

 

หมายเลขบันทึก: 46412เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2006 20:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ถึงตอนนี้อาจจะยังไม่ใช่ผู้สูงอายุ แต่มีบางอย่างที่เริ่มสูงอายุเกินวัยไปแล้วครับผม
  • เพราะการที่มุ่งแต่ทำงานมิค่อยได้ดูแลสุขภาพตนเอง ทำให้ตอนนี้ร่างกายเริ่มแย่ครับ
  • หาหมอฟันครั้งสุดท้ายก็เกือบสี่ปีครับ
  • เกิดมายังไม่เคยตรวจสุขภาพเลยครับ
  • ทำงาน ๆ ๆ ๆ แล้วก็ทำงานครับ
  • เห็นบันทึกนี้แล้วรู้สึกเหมือนมีพลังกระตุ้นให้ตนเองต้องดูแลสุขภาพ และรักตนเองให้มากขึ้นครับ
  • ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับที่นำสิ่ดี ๆ มาฉุกให้คิดในการรักตัวเองได้มากขึ้นครับ

อ.ปภังกรคะ

  • ตั้งใจว่า จะนำเรื่องที่ PCU ได้มีการดำเนินงานในกลุ่มผู้สูงอายุในรูปแบบต่างๆ มาทยอยเล่าให้ฟัง
  • และอยากให้รู้ว่า ผู้สูงอายุเวลาที่เขามารวมตัวกัน ท่านสนใจเข้าร่วมกิจกรรมกันอย่างจริงจัง และ
  • อยากถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของผู้เล่าค่ะ
  • อาจารย์กรุณาติดตาม และให้ความคิดเห็นด้วยนะคะ ว่าสมดังเจตนารมย์หรือไม่
  • ขอบคุณค่ะ ... เพราะว่า เราทีมงานทันตฯ เริ่มมองเห็นคำตอบแล้วว่า การส่งเสริมป้องกัน จะเป็นกลไกสำหรับการแก้ไขปัญหาโรคในช่องปากค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท