เด็กค่าย : (จิตสำนึกสาธารณะ) งดงามและแสนงามเสมอ


ในทุกปีหลังการออกค่ายของนิสิต  องค์การนิสิต จะจัดโครงการ "ลมหายใจปัญญาชนคนชาวค่าย" เสมอ  บางปีอยู่ในห้วงเดือนกรกฎาคม บางปีอยู่ในห้วงเดือนสิงหาคม หรือแม้แต่เดือนกันยายนก็มีเช่นกัน

ลมหายใจปัญญาชนคนชาวค่าย  เป็นเวทีที่ให้ชาวค่ายมาพบปะสังสรรค์กัน  มีการออกซุ้มแสดงผลงาน  มีการแสดงบนเวที  มีการเสวนาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการออกค่าย ฯลฯ

และที่สำคัญก็คือการประกวดเรื่องเล่าเร้าพลัง,ภาพถ่ายชาวค่าย  ซึ่งจะมีการมอบรางวัลเป็นทุนการศึกษาคืนให้กับชาวค่ายเพื่อไปต่อยอดในพันธกิจและความฝันของพวกเขา

 

การเขียนเรื่องเล่าเร้าพลัง  หรือแม้แต่ภาพถ่ายเร้าพลังนั้น  ผมถือเป็นกระบวนการหนึ่งของการจัดการความรู้ของนิสิต เพราะเรื่องที่เล่านั้น  ล้วนเกิดจากการถอดบทเรียนจากการปฏิบัติจริงทั้งสิ้น 

ผมให้ความสำคัญกับการเขียนเรื่องเล่าเร้าพลังชาวค่ายค่อนข้างมาก  เพราะผมเชื่อว่าหากนิสิตสามารถรังสรรค์ออกมาได้  ไม่เพียงจะเป็นประโยชน์ต่อการขัดเกลาความคิดตัวเองเท่านั้น  แต่ยังหมายถึงการบันทึกประวัติศาสตร์องค์กรตัวเองไปในตัว ซึ่งนั่นก็หมายถึงการเกิดองค์ความรู้ที่พร้อมใช้เป็นวัตถุดิบในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้...

ดังนั้นในแต่ละปีจึงมีนิสิตบางกลุ่มเดินทางสู่ถนนสายกิจกรรมเพราะได้อ่านเรื่องเล่าเหล่านี้  เช่นเดียวกับในแต่ละปี  ก็มีการข้ามพ้นปัญหาเดิมๆ ได้  เพราะนิสิตได้อ่านข้อมูลจากหนังสือเด็กค่ายของรุ่นพี่...ซึ่งมีทั้งที่เป็นปัญหา อุปสรรค  และความสำเร็จในค่ายบ่งบอกไว้อย่างชัดแจ้ง  ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถประยุกต์ใช้กับสภาวะปัจจุบันได้แค่ไหนเท่านั้นเอง


 

และถัดจากนี้ไป  คือคำนำที่ผมเขียนไว้ในหนังสือ "เด็กค่าย"  (นวัตกรรมความคิดนิสิต มมส"

...

 

มันเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่า “เด็กค่าย” หรือ “เรื่องเล่าชาวค่าย” ของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามมีคุณค่ามากน้อยแค่ไหน  เพราะ “ชาวค่าย” ไม่ใช่นักเขียน พวกเขายังคงมีสถานะเป็นเพียง “นิสิต” เป็น “นักกิจกรรม” เป็น “คนหนุ่มสาว” ที่ยังเสาะแสวงหาคุณค่าและความหมายของชีวิตด้วยวิธีการที่ตนเองหลงรัก  เพื่อนำไปสู่พลังอันเป็น “ปัญญาปฏิบัติ”  ที่เกิดจากการ “ทำจริง”

แต่สำหรับผมแล้ว เรื่องเล่าเร้าพลังชาวค่ายยังคงมีค่าและความหมายต่อผมอย่างมหาศาล  เพราะนี่คือภาพสะท้อนที่ยืนยันได้ว่าคนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้  ยังคงแน่นหนักด้วย “จิตสำนึกสาธารณะ” ซึ่งศรัทธาต่อการเรียนรู้ในระบบ “นอกชั้นเรียน”  โดยมีชุมชน หมู่บ้าน โรงเรียนเป็นห้องเรียน หรือสถานีการเรียนรู้ที่หลากชีวิต

ระยะหลังผมพยายามอย่างมากกับการกระตุ้นให้นิสิตชาวค่ายได้จัดกิจกรรมแบบบูรณาการ  ถึงแม้จะลงแรงในเรื่องการสร้าง,การสอน,การอบรม สัมมนามากแค่ไหน  แต่ก็ชี้เป้าให้นิสิตได้เรียนรู้เรื่องราวอันเป็นบริบทของพื้นที่เหล่านั้นด้วยเสมอ  ด้วยการชูแนวคิดผ่านวาทกรรมที่นิสิตชาวค่ายคุ้นชินเสมอมาว่า “ไม่มีที่ใดปราศจากการเรียนรู้...ไม่มีที่ใดปราศจากเรื่องเล่า”

ล่าสุด,  ผมติดตามเรื่อเล่าชาวค่ายจากนิสิต  ผมไม่ได้พูดหนักแน่นว่านี่คือกระบวนการหนึ่งของการจัดการความรู้ (Knowledge Management)  หากแต่บอกกับนิสิตในทำนองว่าอยากให้ช่วยกันเขียนเรื่องราวที่เกิดในค่ายให้ได้มากที่สุด  เพื่อบันทึกเหตุการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และแต่ละเหตุการณ์นั้นนิสิตชาวค่ายขับเคลื่อนหรือคลี่คลายด้วยกระบวนการใด  หรือแม้แต่มีความสุข ความเศร้าในเรื่องใดก็ขอให้เขียน หรือเล่าผ่านตัวหนังสือออกมาให้ได้มากที่สุด  เพราะนี่คือกระบวนการของการ “บอกเล่าสู่กันฟัง” ...

ครับ, ในช่วงของการปิดเทอมต้น (ตุลาคม) ปิดเทอมปลาย (มีนาคม)  ที่ “มมส”  มีองค์กรนิสิตออกค่ายอาสาพัฒนาจำนวนมาก และไม่เคยต่ำกว่า 20 ค่าย และส่วนใหญ่ก็จัดหางบประมาณเองแทบทั้งสิ้น  ซึ่งค่ายแต่ละค่ายก็มักเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันเสมอ  ทำให้นิสิตจำนวนไม่น้อย “รักพี่เสียดายน้อง”  จำต้องเลือกไปเรียนรู้ “นอกชั้นเรียน” กับค่ายใดค่ายหนึ่ง  เสร็จจากนั้นก็กลับคืนสู่ภาวะปกติ นั่นก็คือกลับเข้าสู่การเรียนรู้ใน “ชั้นเรียน” อีกครั้ง

ด้วยเหตุนี้  ผมถึงพยายามกระตุ้นให้นิสิตชาวค่ายได้ถ่ายทอดเรื่องราวค่ายของตนเองออกมาเป็นหนังสือ “เด็กค่าย”  เพื่อสื่อสารกับคนที่ไม่ได้ไปค่าย  เพราะนี่คือกระบวนการอันแสนงามที่สุดอีกกระบวนการหนึ่งที่ยืนยันได้ว่านิสิตสามารถ “แบ่งปันความรู้และความดีงาม” สู่กันได้  แถมยังสามารถนำไปเป็นฐานข้อมูลในการเรียนรู้ในจังหวะต่อไป  เพราะผมเชื่อว่าเรื่องเล่าที่เขียนขึ้นนั้น ย่อมผ่านการ “ถอดบทเรียน” (Lessons Learned) เสร็จสรรพ หรือตกผลึกในระดับหนึ่ง เมื่อสื่อสารเป็นหนังสือ หรือแม้แต่มานั่งเล่าสู่กันฟัง  ผมก็ถือว่านั่นคือกระบวนการของการเรียนรู้ร่วมกัน (Share & Learn) เพื่อยึดโยงสู่การจัดกระทำข้อมูลในสังคมฐานความรู้ (Knowledge-based Society) สู่การเป็นคลังความรู้และองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ที่มีการจัดการความรู้อย่างไม่รู้จบ (Infinity KM)

แต่ในความเป็นจริง  ผมอาจไม่จำเป็นต้องพูดศัพท์แสงเชิงวิชาการเช่นนั้นเสมอไป  เพราะเชื่อว่าหากนิสิตสร้างสรรค์เรื่องเล่าออกมาได้  ก็เท่ากับว่านิสิตชาวค่ายเหล่านั้นได้ขับเคลื่อนกระบวนการอันแสนงามเหล่านั้นไปในตัวอยู่แล้ว เมื่อเรื่องเล่าของชาวค่ายเดินทางมาถึงมือผม  หน้าที่หลักของผมก็คือนำพาเรื่องราวเหล่านั้นไปโลดแล่นในสไตล์ของมันเอง  ด้วยการจัดกระทำเป็นหนังสืออ่านเล่นตามแนวคิด “นวัตกรรมความคิดนิสิต มมส”  ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่าเป็นการสร้างจดหมายเหตุนิสิตชาวค่ายในอีกมิติหนึ่งด้วยเหมือนกัน

อย่างไรก็ดี  หนังสือ “เด็กค่าย” เล่มนี้  ผมตัดสินใจรวบรวมเรื่องเล่าของนิสิตชาวค่ายตั้งแต่ปีการศึกษา 2553-2554  มาจัดเรียงไว้ด้วยกัน  ด้วยหวังใจว่าจะเป็นการสะท้อนให้เห็นเรื่องราวอันเป็นปรากฏการณ์ หรือพัฒนาการบางอย่างไปในตัว  คล้ายกับจะชวนให้นิสิตชาวค่ายได้ถอดบทเรียนชีวิตกลับไปสู่อดีตกันอีกสักครั้ง  เพื่อให้สามารถเห็นจุดยืนของวันนี้และปลายทางที่จะเดินไปสู่พรุ่งนี้ให้เป็นรูปธรรมและมีพลังมากยิ่งขึ้น

ซึ่งก็เป็นที่น่าสุขใจ...
หลายเรื่องสามารถบันทึกเรื่องราวรายวันของค่ายได้อย่างน่าทึ่ง  สะท้อนภาพชีวิตชาวค่ายตั้งแต่เช้ารุ่งไปจนถึงเข้านอน  หลายเรื่องชื่อสารความงามของมิตรภาพชาวค่ายและชาวบ้านอย่างมหัศจรรย์  งานค่ายเป็นบทสรุปที่หนักแน่นว่า “ไม่ใช่ญาติ...ก็เหมือนญาติขาดไม่ได้”  เพราะงานค่ายได้หลอมรวมผู้คนให้รักและผูกพันกันราวกับเป็นพี่น้องจากท้องเดียวกัน.. มิหนำซ้ำยังยืนยันอย่างแน่นหนักว่า “ความรัก” จาก “พ่อฮักแม่ฮัก” นั้นบริสุทธิ์และยิ่งใหญ่เกินบรรยาย หรือแม้แต่การสื่อสะท้อนให้เห็นว่างานค่าย คือกระบวนการสำคัญของการสร้างเสริมจิตสำนึกให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในบริบทของค่ายได้หันกลับไปทบทวนเรื่อง “จิตสำนึกสาธารณะ” หรือ “สำนึกรักบ้านเกิด” ของตนเองได้อย่างนิ่งเนียน

ท้ายที่สุดนี้  ผมขอให้เรื่องเล่าในแต่ละเรื่องได้ทำหน้าที่ของมันเอง  แม้จะไม่เด่นสง่าเฉกเช่นนักเขียนทั่วไป  แต่ก็ชื่อเหลือเกินว่าเรื่องทุกเรื่องล้วนงดงามและแสนงามเกินละข้ามไปได้

ก็แน่ละ “ความดี” (จิตสำนึกสาธารณะ)  ย่อมงดงามและแสนงามเสมอ

 

ศรัทธา เชื่อมั่น
พนัส  ปรีวาสนา
กันยายน,2554

 

หมายเลขบันทึก: 463990เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2011 20:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 17:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ขอสนับสนุนและเอาใจช่วยเสมอครับ

  • ทำได้ขนาดนี้เชียวหรือเนี่ย
  • การหาวิธีพัฒนาองค์ความรู้ที่อยู่ในกิจกรรมชาวค่ายอย่างนี้ คงได้บทเรียนดีๆสำหรับพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ใหม่ๆ มากมายเลยนะครับ

...

หัวใจยังคงนำพา
ศรัทธายังคงเดินทาง
หัวใจไม่เคยเว้นว่าง
พลังยังคงสร้างคน

...

งานหนัก ไม่เคยฆ่าใคร
หัวใจ ไม่เคยฆ่าเพื่อน
ความดีงาม ไม่เคยเลอะเลือน
ไม่มีคำเตือน ห้ามอ่านเกินวันละสองรอบ ;)...

...

สบายดีเช่นเดิมนะครับ ;)...

  ผมอาจไม่จำเป็นต้องพูดศัพท์แสงเชิงวิชาการเช่นนั้นเสมอไป  เพราะเชื่อว่าหากนิสิตสร้างสรรค์เรื่องเล่าออกมาได้  ก็เท่ากับว่านิสิตชาวค่ายเหล่านั้นได้ขับเคลื่อนกระบวนการอันแสนงามเหล่านั้นไปในตัวอยู่แล้ว

ประทับใจและเห็นด้วยคะ ความรู้อยู่ในตัวคน มิได้อยู่ที่คำนิยาม ขอบคุณคะ :-)

สวัสดีครับท่านอาจารย์ แผ่นดิน

อ่านบันทึกนี้แล้วให้นึกถึงหนานเกียรติจับใจ

ทุกค่ายเยาวชนที่จัดให้เด็กได้คิดได้เขียนได้เก็บข้อมูล แล้วมาทำเป็นหนังสือทำมือ

ค่ายเยาวชนที่เผ่าลั๊วะ ได้รู้ไโ้เห็นเด็กชายขอบ สนใจ...อยาก...เราผู้ใหญ่ก็มีความสุขที่ได้ให้......

สวัสดีค่ะ

"......งานค่าย คือกระบวนการสำคัญของการสร้างเสริมจิตสำนึกให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในบริบทของค่ายได้หันกลับไปทบทวนเรื่อง “จิตสำนึกสาธารณะ” หรือ “สำนึกรักบ้านเกิด” ของตนเองได้อย่างนิ่งเนียน...."

ลำดวนคิดเช่นเดียวกันนี้ค่ะ

ค่ายเล็กๆในโรงเรียนประถม

ที่เราช่วยกันผลักดันจึงมีให้เห็นอยู่บ้างเช่นกัน

อย่างน้อยเป็นการฝึกพื้นฐานการอยู่ร่วมกันค่ะ

ขอเป็นหนึ่งกำลังใจค่ะ

เป็นบันทึกที่งดงามปลูกฝังจิตสาธารณะที่น่าชื่นชมมากค่ะ...มีภาพน้องๆจิตอาสาเยี่ยมคุณตาคุณยายด้วยความสุขของทุกฝ่ายค่ะ..

  

  

สวัสดีครับ คุณ อักขณิช

ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจ นะครับ

สวัสดีครับ อ.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

หนังสือค่ายชุดนี้ ค้นพบปรากฏการณ์หลายประเด็น เช่น

  • เป็นค่ายบูรณาการที่รวมกลวิธีต่างๆ แต่มีประเด็นร่วมคือไม่ว่าจะเป็นค่ายสร้าง ค่ายสอน การเรียนรู้  แต่ทุกค่ายจะให้ความสำคัญกับการเรียนรู้บริบท อันเป็นตำนานบ้านตำนานเมือง
  • ค่ายทุกค่าย จะมีการจัดการความรู้ภายในค่ายแบบมีส่วนร่วม ภายใต้การประชุมในแต่ละวัน ทั้งสรุปงานและการมอบหมายงาน
  • ค่ายแต่ละค่าย จะมีกลยุทธที่สำคัญในการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน นั่นก็คือการฝากตัวเป็น "ลูกฮัก" ของชาวบ้าน
  • ฯลฯ

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ พี่นาง มณีวรรณ ตั้งขจรศักดิ์

ไม่ได้ทักทายกันนานน่าดู เป็นยังไงบ้างครับ

...

 

  • สวัสดีครับอาจารย์
  • สุดยอดไปเลยครับ
  • เป็นการส่งเสริมและจูงใจแก่จิตอาสาเพิ่มมากยิ่งขึ้น
  • ผมชอบประโยคนี้ครับ "การกระตุ้นให้นิสิตชาวค่ายได้จัดกิจกรรมแบบบูรณาการ  ถึงแม้จะลงแรงในเรื่องการสร้าง,การสอน,การอบรม สัมมนามากแค่ไหน  แต่ก็ชี้เป้าให้นิสิตได้เรียนรู้เรื่องราวอันเป็นบริบทของพื้นที่เหล่านั้นด้วยเสมอ  ด้วยการชูแนวคิดผ่านวาทกรรมที่นิสิตชาวค่ายคุ้นชินเสมอมาว่า “ไม่มีที่ใดปราศจากการเรียนรู้...ไม่มีที่ใดปราศจากเรื่องเล่า"
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท