Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

๑๒. กัณฑ์ฉกษัตริย์


เป็นกัณฑ์ที่ทั้งหกกษัตริย์ถึงวิสัญญีภาพสลบลงเมื่อได้พบหน้า ณ อาศรมดาบสที่เขาวงกต พระเจ้ากรุงสญชัยใช้เวลา ๑ เดือน กับ ๒๓ วันจึงเดินทางถึงเขาวงกต เสียงโห่ร้องของทหารทั้ง ๔ เหล่า พระเวสสันดรทรงคิดว่าเป็นข้าศึกมารบนครสีพี จึงชวนพระนางมัทรีขึ้นไปแอบดูที่ยอดเขา พระนางมัทรีทรงมองเห็นกองทัพพระราชบิดาจึงได้ตรัสทูลพระเวสสันดรและเมื่อหกกษัตริย์ได้พบหน้ากันทรงกันแสงสุดประมาณ รวมทั้งทหารเหล่าทัพ ทำให้ป่าใหญ่สนั่นครั่นครืนท้าวสักกะเทวราชจึงได้ทรงบันดาลให้ฝนตกประพรมหกกษัตริย์และทวยหาญได้หายเศร้าโศก

ฝ่ายพระชาลีราชกุมารให้ตั้งค่ายแทบฝั่งสระมุจลินท์ ให้กลับรถหมื่นสี่พันคัน ตั้งให้มีหน้าเฉพาะทางที่มา. แล้วให้จัดการรักษาสัตว์ร้าย มีราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง และแรดเป็นต้น ในประเทศนั้นๆ. เสียงพาหนะทั้งหลายมีช้างเป็นต้น อื้ออึงสนั่น. ครั้งนั้น พระเวสสันดรมหาสัตว์ได้ทรงสดับเสียงนั้นก็ทรงกลัวแต่มรณภัย. ด้วยเข้าพระทัยว่า เหล่าปัจจามิตรของเราปลงพระชนม์ พระชนกของเรา แล้วมาเพื่อต้องการตัวเรากระมังหนอ จึงพาพระนางมัทรีเสด็จขึ้นภูผาทอดพระเนตรดูกองทัพ.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
พระเวสสันดรราชฤาษีได้ทรงสดับเสียงกึกก้องแห่งกองทัพเหล่านั้น ก็ตกพระหฤทัย เสด็จขึ้นสู่บรรพต ทอดพระเนตรดูกองทัพด้วยความกลัว ตรัสว่า แน่ะพระน้องมัทรี เธอจงพิจารณาสำเนียงกึกก้องในป่า ฝูงม้าอาชาไนยร่าเริง ปลายธงปรากฏไสว พวกที่มาเหล่านี้ ดุจพวกพรานล้อมฝูงมฤคชาติในป่าไว้ด้วยข่าย ต้อนให้ตกในหลุมก่อน แล้วทิ่มแทงด้วยหอกสำหรับฆ่ามฤคชาติอันคม เลือกฆ่าเอาแต่ที่มีเนื้อล่ำๆ เราทั้งหลายผู้หาความผิดมิได้ ต้องเนรเทศมาอยู่ป่า ถึงความฉิบหายด้วยมืออมิตร เธอจงดูคนฆ่าคนไม่มีกำลัง.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิงฺฆ เป็นนิบาตลงในอรรถว่า ตักเตือน.
บทว่า นิสาเมหิ ความว่า เธอจงดู คือใคร่ครวญดูว่ากองทัพของเรา หรือกองทัพปรปักษ์ การเชื่อมความของสองคาถากึ่งว่า อิเม นูน อรญฺญมฺหิ เป็นต้น พึงทราบอย่างนี้ แน่ะพระน้องมัทรี พวกพรานล้อมฝูงมฤคในป่าไว้ด้วยข่ายหรือต้อนลงหลุม พูดในขณะนั้นว่า จงฆ่าสัตว์ร้ายเสีย ทิ่มแทงด้วยหอกสำหรับฆ่ามฤคอันคม เลือกฆ่ามฤคเหล่านั้นเอาแต่ตัวล่ำๆ ฉันใด สองเรานี้ถูกทิ่มแทงด้วยวาจาอสัตบุรุษว่า จักฆ่าเสียด้วยหอกอันคม และเราผู้ไม่มีผิด ถูกขับไล่คือเนรเทศออกจากแว่นแคว้นมาอยู่ในป่า ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น.
บทว่า อมิตฺตหตฺถฏฺฐคตา ได้แก่ ก็ยังถึงความฉิบหายด้วยมือของเหล่าอมิตร. บทว่า ปสฺส ทุพฺพลฆาตกํ ความว่า พระเวสสันดรทรงคร่ำครวญเพราะมรณภัยด้วยประการฉะนี้.

พระนางมัทรีได้ทรงสดับพระราชดำรัส จึงทอดพระเนตรกองทัพ ก็ทรงทราบว่า เป็นกองทัพของตน เมื่อจะให้พระมหาสัตว์ทรงอุ่นพระหฤทัย จึงตรัสคาถานี้
เหล่าอมิตรไม่พึงข่มเหงพระองค์ได้ เหมือนเพลิงไม่พึงข่มเหงทะเลได้ ฉะนั้น ขอพระองค์ทรงพิจารณาถึงพระพรที่ท้าวสักกเทวราชประทานนั้น นั่นแล ความสวัสดีจะพึงมีแก่เราทั้งหลายจากพลนิกายนี้ เป็นแน่.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อคฺคิว อุทกณฺณเว ความว่า ไฟที่ติดด้วยคบหญ้าเป็นต้น ย่อมไม่ข่มเหงน้ำทั้งกว้างทั้งลึก กล่าวคือทะเล คือไม่อาจทำให้ร้อนได้ ฉันใด ปัจจามิตรทั้งหลายย่อมข่มเหงพระองค์ไม่ได้ คือข่มขี่ไม่ได้ ฉันนั้น.
บทว่า ตเทว ความว่า พระนางมัทรีให้พระมหาสัตว์อุ่นพระหฤทัยว่า ก็พรอันใดที่ท้าวสักกเทวราชประทานแด่พระองค์ตรัสว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ไม่นานนักพระชนกของพระองค์จะเสด็จมา ขอพระองค์จงพิจารณาพร้อมนั้นเถิด ความสวัสดีพึงมีแก่พวกเราจากพลนิกายนี้ เป็นแน่แท้.

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทรงบรรเทาความโศกให้เบาลงแล้ว พร้อมด้วยพระนางมัทรีเสด็จลงจากภูเขาประทับ นั่งที่ทวารบรรณศาลา ฝ่ายพระนางมัทรีก็ประทับนั่งที่ทวารบรรณศาลาของพระองค์.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
แต่นั้น พระเวสสันดรราชฤาษีเสด็จลงจากบรรพต ประทับนั่ง ณ บรรณศาลา ทำพระหฤทัยให้มั่นคง.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทฬฺหํ กตฺวาน มานสํ ความว่า ประทับนั่งทำพระหฤทัยให้มั่นคงว่า เราเป็นบรรพชิต ใครจักทำอะไรแก่เรา.

ขณะนั้น พระเจ้าสญชัยตรัสเรียกพระนางผุสดีราชเทวีมารับสั่งว่า แน่ะผุสดีผู้เจริญ เมื่อพวกเราทั้งหมดไปพร้อมกัน จักมีความเศร้าโศกใหญ่ ฉันจะไปก่อน ต่อนั้น เธอจงกำหนดดูว่า เดี๋ยวนี้ พวกเข้าไปก่อนจักบรรเทาความเศร้าโศกนั่งอยู่แล้ว พึงไปด้วยบริวารใหญ่ ลำดับนั้น พ่อชาลีและแม่กัณหาชินารออยู่สักครู่หนึ่ง แล้วจงไปภายหลัง ตรัสสั่งฉะนี้ แล้วให้กลับรถให้มีหน้าเฉพาะทางที่มา จัดการรักษาในที่นั้นๆ เสด็จลงจากคอช้างตัวประเสริฐซึ่งประดับ แล้วเสด็จไปสู่สำนักของพระราชโอรส.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
พระเจ้าสญชัยผู้ชนกนาถให้กลับรถ ให้กองทัพตั้งยับยั้งอยู่แล้ว เสด็จไปยังพระเวสสันดรผู้โอรส ซึ่งเสด็จประทับอยู่ในป่าพระองค์เดียว. เสด็จลงจากคอช้างพระที่นั่ง ทรงสะพักเฉวียงพระอังสาประนมพระหัตถ์ อันเหล่าอำมาตย์ห้อมล้อม เสด็จมาเพื่ออภิเษกพระโอรส พระเจ้าสญชัยได้ทอดพระเนตรเห็นพระเวสสันดรราชโอรส มีพระกายมิได้ลูบไล้ตกแต่ง มีพระมนัสแน่วแน่ นั่งเข้าฌานอยู่ในบรรณศาลานั้น ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วุฏฺฐาเปตฺวาน เสนิโย ความว่า ให้พลนิกายตั้งยับยั้งอยู่เพื่อประโยชน์แก่การอารักขา. บทว่า เอกํโส ได้แก่ ทำผ้าห่มเฉวียงพระอังสาข้างหนึ่ง. บทว่า สิญฺจิตุมาคมิ ความว่า เสด็จเข้าไปเพื่ออภิเษกในราชสมบัติ. บทว่า รมฺมรูปํ ได้แก่ มิได้ลูบไล้และตกแต่ง.

พระเวสสันดรและพระนางมัทรีทอดพระเนตร เห็นพระราชบิดาผู้มีความรักในพระโอรสนั้น เสด็จมาเสด็จลุกต้อนรับถวายบังคม. ฝ่ายพระนางมัทรีทรงซบพระเศียรอภิวาทแทบพระบาทพระสัสสุระ กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันมัทรีผู้สะใภ้ของพระองค์ขอถวายบังคม ณ พระยุคลบาทของพระองค์. พระเจ้าสญชัยทรงสวมกอดสองกษัตริย์ประทับทรวง. ฝ่าพระหัตถ์ลูบพระปฤษฎางค์อยู่ไปมา ณ อาศรมนั้น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปาเท วนฺทามิ เต หุสา ความว่า พระนางมัทรีกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันผู้สะใภ้ของพระองค์ ขอถวายบังคมแทบพระยุคลบาท กราบทูลฉะนี้แล้วถวายบังคม. บทว่า เตสุ ตตฺถ ได้แก่ กษัตริย์ทั้งสองนั้น ณ อาศรมที่ท้าวสักกเทวราชประทานนั้น.
บทว่า ปลิสชฺช ความว่า ให้อิงแอบแนบพระทรวง ทรงจุมพิตพระเศียร ทรงลูบพระปฤษฎางค์ของสองกษัตริย์ด้วยพระหัตถ์อันอ่อนนุ่ม.

ต่อนั้น พระเจ้าสญชัยทรงกันแสงคร่ำครวญ ครั้นสร่างโศกแล้ว เมื่อจะทรงทำปฏิสันถารกับสองกษัตริย์นั้น จึงตรัสว่า
ลูกรัก พ่อไม่มีโรคาพาธกระมัง สุขสำราญดีกระมัง ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยเสาะแสวงหาผลาหารสะดวกกระมัง มูลผลาหารมีมากกระมัง เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานทีจะมีน้อยกระมัง ความเบียดเบียนให้ลำบากในวนประเทศที่เกลื่อนไปด้วยเนื้อร้าย ไม่ค่อยมีกระมัง.


พระมหาสัตว์ได้ทรงสดับพระดำรัสของพระบิดา จึงกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ หม่อมฉันทั้งสองมีความเป็นอยู่อย่างฝืดเคือง เที่ยวเสาะแสวงหามูลผลาหารเลี้ยงชีพ. ข้าแต่พระมหาราชเจ้า หม่อมฉันทั้งหลายเป็นผู้เข็ญใจ ฝึกแล้ว คือหมดพยศ. ความเข็ญใจฝึกหม่อมฉันทั้งหลาย ดุจนายสารถีฝึกม้าให้หมดพยศ ฉะนั้น. ข้าแต่มหาราช หม่อมฉันทั้งหลายถูกเนรเทศมีร่างกายเหี่ยวแห้ง ด้วยการหาเลี้ยงชีพในป่า จึงมีเนื้อหนังซูบลง เพราะไม่ได้เห็นพระชนกและพระชนนี.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยาทิสิ กีทิสา ความว่า เป็นความเป็นอยู่ต่ำอย่างใดอย่างหนึ่ง. บทว่า กสิรา ชีวิกา โหม ความว่า ข้าแต่พระบิดา ความเป็นอยู่ของหม่อมฉันทั้งหลายเป็นทุกข์ เพราะหม่อมฉันทั้งหลายมีชีวิตอยู่ด้วยการเที่ยวเสาะแสวงหามูลผลาหาร.
บทว่า อนิทฺธินํ ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ความเข็ญใจย่อมฝึกคนจนที่เข็ญใจ และความเข็ญใจนั้นย่อมฝึก คือทำให้หมดพยศ เหมือนนายสารถีผู้ฉลาดฝึกม้า ฉะนั้น หม่อมฉันทั้งหลายอยู่ในที่นี้เป็นผู้เข็ญใจอันความเข็ญใจฝึกแล้ว คือทำให้หมดพยศแล้ว ความเข็ญใจนั่นแหละฝึกหม่อมฉันทั้งหลาย. ปาฐะว่า ทเมถ โน ดังนี้ก็มี ความว่า ฝึกหม่อมฉันทั้งหลายแล้ว. บทว่า ชีวิโสกินํ ความว่า พระเวสสันดรทูลว่า หม่อมฉันทั้งหลายมีความเศร้าโศกอยู่ในป่า จะมีความสุขอย่างไรได้.

ก็และครั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระเวสสันดร เมื่อจะทูลถามถึงข่าวคราวของพระโอรสและพระธิดาอีก จึงทูลว่า
ทายาทผู้มีมโนรถยังไม่สำเร็จ ของพระองค์ผู้ประเสริฐของชาวสีพี คือพ่อชาลีและแม่กัณหาชินาทั้งสองตกอยู่ในอำนาจของพราหมณ์ร้ายกาจเหลือเกิน. แกตีพ่อชาลีและแม่กัณหาชินา ดุจคนตีฝูงโค. ถ้าพระองค์ทรงทราบ หรือได้สดับข่าวลูกทั้งสองของพระราชบุตรีมัทรีนั้น. ขอได้โปรดตรัสบอกแก่หม่อมฉันทั้งสองทันที ดุจหมองูเยียวยามาณพที่ถูกงูกัด ฉะนั้น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทายาทปฺปตฺตมานสา ความว่า พระเวสสันดรกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ทายาทของพระองค์ผู้ประเสริฐของชาวสีพี มีมนัสยังไม่ถึงแล้ว คือมีมโนรถยังไม่สมบูรณ์ ตกอยู่ในอำนาจของพราหมณ์. พราหมณ์นั้นแกตีสองกุมารนั้น ราวกะว่าคนตีฝูงโค. ถ้าพระองค์ทรงทราบ หรือได้สดับข่าวลูกทั้งสองของพระราชบุตรีมัทรีนั้น ด้วยได้ทอดพระเนตรเห็น หรือด้วยได้ทรงสดับข่าวก็ตาม.
บทว่า สปฺปทฏฺฐว มาณวํ ความว่า ขอได้โปรดแจ้งให้ทราบ คือตรัสบอกแก่หม่อมฉันทั้งสองทันที เหมือนหมองูเยียวยามาณพที่ถูกงูกัด เพื่อสำรอกพิษเสีย ฉะนั้น.

พระเจ้าสญชัยตรัสว่า
หลานทั้งสองคือชาลีและกัณหาชินา พ่อได้ให้ทรัพย์แก่พราหมณ์ชูชกไถ่ไว้แล้ว เจ้าอย่าวิตกเลย จงโปร่งใจเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิกฺกีตา ได้แก่ ให้ทรัพย์ไถ่ไว้แล้ว.

พระมหาสัตว์ได้ทรงสดับดังนั้น ก็ทรงได้ความโปร่งพระหฤทัย เมื่อจะทรงทำปฏิสันถารกับพระบิดา จึงตรัสว่า
ข้าแต่พระบิดา พระองค์ไม่มีพระโรคาพาธกระมัง สุขสำราญดีกระมัง พระเนตรแห่งพระมารดาของหม่อมฉัน ยังไม่เสื่อมกระมัง.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จกฺขุ ความว่า พระเวสสันดรทูลถามว่า พระเนตรของพระมารดาผู้ทรงกันแสง เพราะความเศร้าโศกถึงพระโอรส ไม่เสื่อมเสียหรือ.

พระเจ้าสญชัยตรัสว่า
ลูกรัก พ่อไม่ค่อยมีโรคและมีความสุขสำราญดี อนึ่ง จักษุของมารดาเจ้าก็ไม่เสื่อม.


พระมหาสัตว์กราบทูลว่า
ยวดยานของพระองค์หาโรคภัยมิได้กระมัง พาหนะยังใช้ได้คล่องแคล่วดีกระมัง ชนบทมั่งคั่งกระมัง ฝนตกต้องตามฤดูกาลกระมัง.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วุฏฺฐิ ได้แก่ ฝน.

พระเจ้าสญชัยตรัสว่า
ยวดยานของพ่อไม่มีโรคภัย พาหนะยังใช้ได้คล่องแคล่วดี ชนบทก็มั่งคั่ง ฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล.


เมื่อสามกษัตริย์ตรัสปราศรัยกันอยู่อย่างนี้ พระนางผุสดีเทวีทรงกำหนดว่า บัดนี้ กษัตริย์ทั้งสามจักทำความโศกให้เบาบาง ประทับนั่งอยู่ จึงเสด็จไปสู่สำนักพระโอรส พร้อมด้วยบริวารใหญ่.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
เมื่อสามกษัตริย์กำลังตรัสกันอยู่อย่างนี้ พระนางผุสดีราชมารดาผู้เป็นพระราชบุตรีพระเจ้ามัททราช เสด็จด้วยพระบาทไม่ได้สวมฉลองพระบาท ได้ปรากฏแทบช่องภูผา พระเวสสันดรและพระนางมัทรีทอดพระเนตร เห็นพระราชชนนีผู้มีความรักในพระโอรสกำลังเสด็จมา. ก็เสด็จลุกต้อนรับ เสด็จถวายบังคม. พระนางมัทรีทรงอภิวาทแทบพระบาทแห่งพระสัสสุด้วยพระเศียร ทูลว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า หม่อมฉันมัทรีผู้สะใภ้ ขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระแม่เจ้า.


ก็ในเวลาที่พระเวสสันดรและพระนางมัทรี ถวายบังคมพระนางผุสดีเทวี แล้วประทับยืนอยู่ พระชาลีและพระกัณหาชินาทั้งสอง อันกุมารกุมารีห้อมล้อมเสด็จมาถึง พระนางมัทรีประทับยืน ทอดพระเนตรทางมาแห่งพระโอรสพระธิดาอยู่ พระนางเจ้าทอดพระเนตรเห็นพระโอรสพระธิดาเสด็จมาโดยสวัสดี ก็ไม่สามารถจะทรงพระวรกายอยู่ด้วยภาวะของพระองค์ ทรงคร่ำครวญเสด็จไปแต่ที่นั้น ดุจแม่โคมีลูกอ่อน ฉะนั้น ฝ่ายพระชาลีและพระกัณหาทอดพระเนตรเห็นพระมารดา ก็ทรงคร่ำครวญวิ่งตรงเข้าไปหาพระมารดาทีเดียว.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
พระชาลีและพระกัณหาชินาผู้มาโดยสวัสดีแต่ที่ไกล ทอดพระเนตรเห็นพระนางมัทรี ก็ทรงกันแสงวิ่งเข้าไปหา ดุจลูกโคอ่อนเห็นแม่ ก็ร้องวิ่งเข้าไปหา ฉะนั้น พระนางมัทรีเล่า พอทอดพระเนตรเห็นพระโอรสพระธิดาผู้มาโดยสวัสดีแต่ที่ไกล ก็สั่นระรัวไปทั่วพระวรกาย คล้ายแม่มดที่ผีสิงตัวสั่น ฉะนั้น น้ำนมก็ไหลออกจากพระถันทั้งคู่.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กนฺทนฺตา อภิธาวึสุ ความว่า ร้องไห้วิ่งเข้าไปหา. บทว่า วารุณีว ปเวเธนฺติ ความว่า ตัวสั่นเหมือนแม่มดที่ถูกผีสิง. บทว่า ถนธาราภิสิญฺจถ ความว่า สายน้ำนมไหลออกจากพระถันทั้งสอง.

ได้ยินว่า พระนางมัทรีทรงคร่ำครวญด้วยพระสุรเสียงอันดัง พระกายสั่นถึงวิสัญญีภาพล้มลงเหยียดยาวเหนือปฐพี. ฝ่ายพระชาลีและพระกัณหาก็เสด็จมาโดยเร็วถึงพระชนนี ก็ถึงวิสัญญีภาพล้มลงทับพระมารดา. ในขณะนั้น น้ำนมก็ไหลออกจากพระยุคลถันของพระนางมัทรี เข้าพระโอษฐ์แห่งกุมารกุมารีทั้งสองนั้น. ได้ยินว่า ถ้าจักไม่มีลมหายใจประมาณเท่านี้ พระกุมารกุมารีทั้งสองจักมีหทัยแห้ง พินาศไป.
ฝ่ายพระเวสสันดรทอดพระเนตรเห็นพระปิยบุตรบุตรี ก็ไม่อาจทรงกลั้นโศกาดูรไว้ ถึงวิสัญญีภาพล้มลง ณ ที่นั้นเอง. แม้พระชนกและพระชนนีแห่งพระเวสสันดร ก็ถึงวิสัญญีภาพล้มลงในที่นั้น เหมือนกัน.
เหล่าอำมาตย์หกหมื่นผู้สหชาติของพระมหาสัตว์ เห็นกิริยาของ ๖ กษัตริย์ดังนั้น ก็ถึงวิสัญญีภาพล้มลง ณ ที่นั้น เหมือนกัน. บรรดาราชบริพารทั้งหลายที่เห็นเหตุการณ์อันน่าสงสารนั้น. แม้คนหนึ่งก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้โดยภาวะของตน. อาศรมบททั้งสิ้นได้เป็นเหมือนป่ารัง อันลมยุคันตวาตย่ำยีแล้ว. ขณะนั้น ภูผาทั้งหลายก็บันลือลั่น มหาปฐพีก็หวั่นไหว มหาสมุทรก็กำเริบ เขาสิเนรุราชก็โอนเอนไปมา เทวโลกทั่วกามาพจรก็เกิดโกลาหล เป็นอันเดียวกัน.
ครั้งนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงดำริว่า กษัตริย์ทั้ง ๖ องค์ พร้อมด้วยราชบริษัทถึงวิสัญญีภาพ ไม่มีใครแม้คนหนึ่งที่สามารถจะลุกขึ้น รดน้ำลงบนสรีระของใครได้ เอาเถอะ เราจักยังฝนโบกขรพรรษให้ตกลงเพื่อชนเหล่านั้น ในบัดนี้ ดำริฉะนี้ แล้วจึงยังฝนโบกขรพรรษให้ตกลง ณ สมาคมแห่งกษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์. ชนเหล่าใดใคร่ให้เปียกชนเหล่านั้นก็เปียก เหล่าชนที่ไม่ต้องการให้เปียก แม้สักหยาดเดียวก็ไม่ตั้งอยู่ในเบื้องบนแห่งชนเหล่านั้น เพียงดังน้ำกลิ้งไปจากใบบัว ฉะนั้น. ฝนโบกขรพรรษนั้นเป็นเหมือนน้ำฝนที่ตกลงบนใบบัว ด้วยประการฉะนี้ ในกาลนั้น กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ก็กลับฟื้นพระองค์ มหาชนทราบความมหัศจรรย์ว่า ฝนโบกขรพรรษตก ณ สมาคมพระญาติแห่งพระมหาสัตว์ และแผ่นดินไหว.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
ความกึกก้องใหญ่ได้เกิดแก่สมาคมพระญาติ ภูเขาทั้งหลายก็บันลือลั่น แผ่นดินก็หวั่นไหว ฝนตกลงเป็นท่อธาร ในกาลนั้น. ลำดับนั้น พระราชาเวสสันดรก็ประชุมด้วยพระประยูรญาติทั้งหลาย พระชาลีและพระกัณหาชินาผู้พระราชนัดดา พระนางมัทรีผู้สะใภ้ พระเวสสันดรผู้พระราชโอรส พระเจ้าสญชัยผู้มหาราชและพระนางเจ้าผุสดีผู้พระมเหสี ได้ประชุมโดยความเป็นอันเดียวกัน ในกาลใด. ความมหัศจรรย์อันให้ขนพองสยองเกล้าได้มี ในกาลนั้น.
ชาวแคว้นสีพีที่มาประชุมกันทั้งหมด ร้องไห้อยู่ในป่าอันน่ากลัว ประนมมือแด่พระเวสสันดร ทูลวิงวอนพระเวสสันดรและพระนางมัทรีว่า ขอพระองค์เป็นอิสรราชแห่งข้าพระองค์ทั้งหลาย ขอทั้งสองพระองค์จงครองราชสมบัติ เป็นพระราชาแห่งข้าพระองค์ทั้งหลาย.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โฆโส ได้แก่ ความกึกก้องอันประกอบด้วยความกรุณา.
บทว่า ปญฺชลิกา ความว่า ชาวพระนคร ชาวนิคมและชาวชนบททั้งหมด ต่างประคองอัญชลี.
บทว่า ตสฺส ยาจนฺติ ความว่า หมอบลงแทบพระบาทแห่งพระเวสสันดร ร้องไห้คร่ำครวญวิงวอนว่า ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์จงเป็นนาย เป็นใหญ่ เป็นบิดาของข้าพระองค์ทั้งหลาย มหาชนประสงค์จะอภิเษกทั้งสองพระองค์ ในที่นี้นี่แหละ แล้วนำเสด็จสู่พระนคร. ขอพระองค์จงรับเศวตฉัตร อันเป็นของมีอยู่แห่งราชสกุล.
จบฉขัตติยบรรพ

หมายเลขบันทึก: 463581เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2011 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

คำว่า “ฉ” หรือ ฉะ แปลว่า “๖” (หก)

ฉกัษตริย์ประดับด้วยคาถา ๓๖ พระคาถา

เป็นพระนิพนธ์ใน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร

เพลงประจำกัณฑ์ คือ เพลง “ตระนอน”

ประกอบ กิริยานอนหลับใหลของกษัตริย์ ๖ พระองค์ เมื่อได้ทรงพบกัน

ข้อคิดจากกัณฑ์

การให้อภัย สามารถลบรอยร้าวฉานและความบาดหมางทั้งปวง ก่อให้เกิดสันติสุข

เนื้อความโดยย่อ

พระชาลี ทรง ช้างปัจจัยนาเคนทร์ เป็นทัพหน้า

เสด็จถึงเขาวงกตก่อนเพื่อเตรียมรับเสด็จพระเจ้ากรุงสญชัย

เมื่อ พระเจ้ากรุงสญชัย เสด็จถึงเขาวงกต

ทรงพระดำริว่าหากเสด็จเข้าไปพร้อมกันทุกพระองค์

จะเป็นเหตุให้ทุกข์โศกสาหัสจนระงับมิได้

จึงเสด็จเข้าสู่พระอาศรมแต่พระองค์เดียวก่อน

พอทุเลาโศกลงบ้างแล้ว

จึงจะให้ พระนางผุสดีและสองพระกุมาร ตามเสด็จเข้าไป

แม้กระนั้น เมื่อทั้งสามพระองค์เสด็จเข้าไปในพระอาศรม

พระนางมัทรีซึ่งมิอาจทรงหวังได้เลยว่า จะได้พบสองพระกุมารอีก

ครั้นได้ทรงพบกัน จึงต่างกันแสงพิรี้รำพัน

ทั้งเศร้าโศรกและยินดี จนข่มพระทัยไว้มิได้

ก็สลบสิ้นสติสมปฤดี ณ ที่นั้นทั้งสามพระองค์

ฝ่าย พระเจ้ากรุงสญชัย พระนางผุสดีและพระเวสสันดร

ทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้น

ทรงกลั้นโศกมิได้ กันแสงแล้วสลบสิ้นสติสมปฤดีไปเช่นกัน

เหล่าพระสนมและข้าราชบริพารก็ล้วนโศกศัลย์ล้มสลบตามกันไป

เหตุครั้งนั้น ทำให้แผ่นพสุธาไหวทั่วทั้งพื้นพิภพ

พระอินทรเทพ ทรงทราบจึงทรงแก้เหตุวิกฤติที่อุบัติขึ้น

ทรงดลบันดาลให้ฝนโบกขรพรรษตกลงมา ณ ที่นั้น

กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ และผู้คนทั้งหลายต่างฟื้นคืนสติโดยทั่วกัน

นั่นเป็น ฝนโบกขรพรรษ ที่เคยตกมาสมัยก่อนพุทธกาล

ที่ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสเล่าโปรดพระอรหันตสาวก

อันเป็นพระพุทธปรารภเรื่อง พระเวสสันดร

พระโบราณจารย์เจ้า ได้แสดงอานิสงส์แห่งการบูชาในเวสสันดรชาดกไว้โดยลำดับดังนี้

ผู้บูชากัณฑ์ ฉกษัตริย์ (กัณฑ์ ที่๑๒ )

จักได้เป็นผู้เจริญด้วยพร ๔ ประการ

คือ อายุ วรรณ สุขะพละ ทุกๆชาติ แล

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนามหาเวสสันดรชาดก ซึ่งประดับด้วยคาถาประมาณ ๑,๐๐๐ คาถานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน มหาเมฆก็ยังฝนโบกขรพรรษให้ตก ในที่ประชุมแห่งพระประยูรญาติของเรา อย่างนี้เหมือนกัน.

ตรัสดังนี้แล้ว ทรงประชุมชาดกว่า

พราหมณ์ชูชกในกาลนั้น คือ ภิกษุเทวทัต.

นางอมิตตตาปนา คือ นางจิญจมาณวิกา.

พรานเจตบุตร คือ ภิกษุฉันนะ.

อัจจุตดาบส คือ ภิกษุสารีบุตร.

ท้าวสักกเทวราช คือ ภิกษุอนุรุทธะ.

พระเจ้าสญชัยนรินทรราช คือ พระเจ้าสุทโธทนมหาราช.

พระนางผุสดีเทวี คือ พระนางสิริมหามายา.

พระนางมัทรีเทวี คือ ยโสธราพิมพา มารดาราหุล.

ชาลีกุมาร คือ ราหุล.

กัณหาชินา คือ ภิกษุณีอุบลวรรณา.

ราชบริษัทนอกนี้ คือ พุทธบริษัท.

ก็พระเวสสันดรราช คือ เราเองผู้สัมมาสัมพุทธเจ้า แล.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท