แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานทันตฯ ในผู้สูงอายุ (1)


เรื่องช่องปาก ก็กระทบไปที่ความสุข กระทบไปที่จิต กระทบไปที่ร่างกาย เป็นการเชื่อมโยงภายใน และสุดท้ายนำไปสู่เรื่องของคุณภาพชีวิต

 

เมื่อวันที่ 24 สค.49 กองทันตฯ ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง ในโครงการศึกษาพัฒนารูปแบบ / ระบบการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากเพื่อสุขภาพ และคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ที่เอบีน่าเฮ้าส์ ผู้เข้าร่วมเวทีนี้จะมาจากจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ราชบุรี เพชรบุรี และสุพรรณบุรี ละค่ะ

จุดประสงค์ก็คือ เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ระหว่างผู้ปฏิบัติ ในบรรยากาศการพูดคุยเล่าเรื่องการทำงานแบบสบายๆ ตามสไตล์ของแต่ละจังหวัด ใครมีประสบการณ์ ก็เอามา Share กันและกัน

ในวันนั้น ผอ.กองทันตสาธารณสุข ... ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย ... ได้มากล่าวเปิดในสไตล์แบบกันเอง ระหว่างเพื่อน พี่ และน้อง เช่นกันว่า กองทันตสาธารณสุขยินดีที่พวกเราจะได้มานั่งพูดคุยกัน ในเรื่องที่จะเป็นประโยชน์มากมากในอนาคตไม่ใกล้ไม่ไกล ก็คือ เรื่องของผู้สูงอายุ ซึ่งเรื่องของผู้สูงอายุก็เป็นเรื่องที่ลูกๆ หลานๆ และรุ่นเด็กๆ พึงให้ความเคารพ ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูล เพราะว่าผู้สูงอายุล้วนได้ทำงานที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชน แก่ประเทศชาติมานาน อย่างน้อยๆ ก็คิดว่า กว่าจะอายุ 60 ปี ถ้าเขาทำงานตั้งแต่อายุ 20 เขาก็ทำงานมาแล้วกว่า 40 ปี ที่ทำงานให้กับประเทศชาติ ให้กับชุมชน หรือให้กับตัวเอง ก่อร่างสร้างตัว สร้างสังคม เป็นหมู่บ้าน เป็นอำเภอ ... เรื่องของการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ จะเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่ง ที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพ ทั้งทางกาย ทางจิต และเรื่องของการเข้าสังคมได้อย่างปกติสุข

จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ตรัสไว้ เมื่อเดือนเมษายน 2547 ว่า “เวลาไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง” พระราชดำรัสนี้เป็นพระราชอัจฉริยภาพของในหลวง ที่ทำให้งานทันตฯ เป็นที่ยอมรับมากขึ้น เพราะเนื่องมาจากกระแสพระราชดำรัสนี้ ... เรื่องช่องปาก ก็กระทบไปที่ความสุข กระทบไปที่จิต กระทบไปที่ร่างกาย เป็นการเชื่อมโยงภายใน และสุดท้ายนำไปสู่เรื่องของคุณภาพชีวิต ที่เราไป defend กับ สปสช. ก็คือ เรื่องของคุณภาพชีวิต การใส่ฟันเทียมเป็นการรักษาฟื้นฟูด้วยส่วนหนึ่ง แต่เหนือจากนั้น ก็คือเรื่องของ "คุณภาพชีวิต" คือ เราจะมี เรื่องของการรักษา ฟื้นฟู ในกลุ่มที่มีโรคแล้ว มีเรื่องของการป้องกันในกลุ่มที่เป็นกลุ่มเสี่ยงแต่ยังไม่เป็นโรค ในกลุ่มที่เป็นคนปกติเราก็ส่งเสริม และที่เหนือจากปกติ ก็คือเรื่องของคุณภาพชีวิต

โครงการ “ฟันเทียมพระราชทาน” จึงได้ได้น้อมนำพระราชดำรัสนี้ใส่เกล้าฯ และนำไปปฏิบัติให้พวกเราทุกคน เวลาไปพูดที่ไหน แม้แต่ท่านรัฐมนตรีฯ ท่านพินิจฯ ท่านได้ความสำคัญ และให้จัดทำผ้าป้ายขึ้น และขณะนี้ก็มีการติดเผยแพร่กระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อยู่ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และก็จะสนับสนุนให้จังหวัด ให้ได้นำไปติดไว้เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้โดยทั่วกัน

ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือ ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่จะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถ้าเราวิเคราะห์ให้ดี จะเห็นว่าปัจจัยด้านช่องปาก จะมีส่วนที่เกี่ยวโยงกับผู้สูงอายุ เช่น เรื่องของโรคปริทันต์จะเกี่ยวโยงกับเบาหวาน และเรื่องในช่องปากก็จะไปเกี่ยวโยงกับเรื่องหัวใจ และเรื่องช่องปาก ก็เป็นเรื่องที่ยอมรับกันมาช้านานแล้ว ว่า ปาก เป็นประตูสู่สุขภาพของร่างกาย ถ้าเราได้ดูแลตรงนี้ได้ดี เราก็จะลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ ได้มากขึ้นด้วย

ในโอกาสที่พวกเราได้เข้ามาร่วมกันทำตรงนี้ ผมก็คิดว่า ทำอย่างไรที่จะให้พวกเรา ก้าวพ้นจากเรื่องของ ฟันเทียมพระราชทาน กลับมาสู่บทที่เป็นเรื่องของการส่งเสริมป้องกันมากขึ้น ... ในระยะยาว เรื่องของผู้สูงอายุอาจต้องไปดำเนินการก่อนหน้าผู้สูงอายุด้วยซ้ำไป ซึ่งขณะนี้ กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ก็ได้ไปรณรงค์ในเรื่องของเด็กปฐมวัย เด็กวัยเรียนค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแปรงฟัน เด็กไทยไม่กินหวาน ซึ่งเป็นเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพในบริบทสิ่งแวดล้อมต่างๆ การเคลือบหลุมร่องฟันเป็นเรื่องของกลุ่มเสี่ยง

... เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีมาตรการตรงนี้แล้ว ในเรื่องขององค์ความรู้ทางด้านทันตสาธารณสุขนั้น เราอาจบอกว่า ง่ายมากเลยนะที่จะเน้นในการป้องกันโรคในช่องปาก หรือว่าทำให้สุขภาพช่องปากดี ... ง่ายนิดเดียว ก็มีอยู่ 2-3 เรื่องเท่านั้นเอง ... แต่ทำไมชาวบ้าน ประชาชน หรือเด็กๆ เขาไม่สามารถทำแบบที่เราทำได้ เคยคิดไหมครับ ว่าทำไมเขาทำไม่ได้อย่างที่เราทำ ทำไมเขาไม่แปรงฟันอย่างนี้ ยังไปกินขนมเสี่ยง 3-5 ซองต่อวัน ใช้ค่าขนมขนมประมาณ 20 บาทต่อวัน เป็นเรื่องของค่าขนม เคยวิเคราะห์ไหมครับว่า ทำไมเราถึงดูแลตัวเองได้ แต่ชาวบ้าน หรือเด็ก หรือประชาชนไม่รู้ ไม่เข้าใจ และทำไม่ได้ และยังปรากฏเป็นโรคกันเยอะ

อาจจะลองคิดก็ได้ว่า กว่าเราจะเป็นทันตแพทย์ ทันตาภิบาล เราก็ต้องใช้เวลาในการเรียน ต้องใช้เวลาสะสมความรู้ ความเข้าใจ และต้องเรียนทุกวัน พูดแต่เรื่องของฟัน เหงือก ช่องปาก รู้หมด ชาวบ้านเขาไม่รู้ เพราะฉะนั้น ตรงนี้คือ ต้องมีเรื่องของเวลา การตอกย้ำความคิดอยู่เรื่อยๆ พวกเราโชคดีที่เข้ามาเรียน ได้รับการตอกย้ำ ... แต่ชาวบ้าน เด็ก เขาไม่รู้ ขณะที่เขาไม่รู้ เขาก็มีเรื่องของปัจจัยด้านบริโภคนิยมเข้ามาด้วย ทีวี วิทยุ โฆษณาต่างๆ ค่อนข้างสูง ... มีบ้านไหนไหมครับที่คอยเน้นนย้ำกับลูกๆ โดยเสมอว่า อย่าลืมแปรงฟันนะ กินขนมหวานแล้วก็ต้องบ้วนปากนะ พูดอย่างนี้เป็นร้อยเป็นพัน หมื่น แสนครั้ง กว่าเขาจะโตมาเป็นวัยรุ่น การเตือนก็จะเป็นการตอกย้ำความคิดของเขา แต่ลูกชาวบ้านเขาจะได้รับคำพูดอย่างนี้หรือเปล่า

นี่ก็คือ ... ต้องเป็นพวกเราที่อยู่ในพื้นที่ ที่พบปะประชาชน ชมรมผู้สูงอายุ เด็ก อบต. เทศบาล อบจ. เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรที่จะขายความรู้ ขายวิธีคิด ที่จะทำให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ เพราะฉะนั้นบทของเราคงไม่ใช่บทที่จะลงไปทำ แต่เป็นบทที่จะลงขายสินค้า ขายความคิด ขายรูปแบบให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ชาวบ้าน ชุมชน ได้มาจับมือกัน ทำงานด้วยกัน ... ผมคิดว่าบทนี้จะเป็นบทที่สำคัญ ก็ต้องฝากพวกเราไปด้วยนะครับ

และก็ไม่ผิดหวังนะคะ เพราะในชั่วโมงต่อๆ ไปนั้น เราก็มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรมในชมรม หรือในหมู่บ้าน กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และได้เห็นกิจกรรมต่อยอดขึ้นมาได้มากมายจริงๆ ค่ะ

รวมเรื่อง แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานทันตฯ ในผู้สูงอายุ ครั้งที่ 1

 

หมายเลขบันทึก: 46351เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2006 14:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

 ปลัดอบต.ท่านหนึ่ง  เคยเล่าให้ฟังว่าเวลาทำประชาคม  เพื่อให้แกนนำชาวบ้านร่วมคิดว่าจะทำโครงการในเรื่อง การส่งเสริมสุขภาพอย่างไร  ชาวบ้านมักจะขอตัวกลับกันหมด  ท่านปลัดเลยสรุปว่า สงสัยยังคิดไม่ออก  เลยไม่ค่อยเป็นรูปเป็นร่างสักที   คิดว่าน่าจะให้อสม.มีความรู้มากพอที่จะนำไปสื่อต่อให้ชาวบ้านได้เข้าใจ  เพราะเขาพูดภาษาเดียวกัน แต่ความรู้ของเราขายยากหน่อย  เพราะต้องทำเอง ไม่สำเร็จรูปแบบขนม

  • เห็นด้วยค่ะ เจ๊ bubpa ว่า
  • "คิดว่าน่าจะให้ อสม. มีความรู้มากพอ ที่จะนำไปสื่อต่อให้ชาวบ้านได้เข้าใจ  เพราะเขาพูดภาษาเดียวกัน"
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท