Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

๑๐.กัณฑ์สักกบรรพ


เป็นกัณฑ์ที่พระอินทร์จำแลงกายเป็นพราหมณ์มาขอพระนางมัทรี แล้วถวายคืนพร้อมถวายพระพร ๘ ประการ ท้าวสักกเทวราชเสด็จแปลงเป็นพราหมณ์เพื่อทูลขอนางมัทรี พระเวสสันดรจึงพระราชทานให้ พระนางมัทรีก็ยินดีอนุโมทนาเพื่อร่วมทานบารมีให้สำเร็จพระสัมโพธิญาณ เป็นเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวสะท้าน ท้าวสักกเทวราชในร่างพราหมณ์จึงฝากนางมัทรีไว้ยังไม่รับไป ตรัสบอกความจริงและถวายคืนพร้อมถวายพระพร ๘ ประการ

เมื่อกษัตริย์ทั้งสององค์ คือพระเวสสันดรและพระนางมัทรี ตรัสสัมโมทนียกถาต่อกันและกันอยู่อย่างนี้. ท้าวสักกเทวราชทรงดำริว่า เมื่อวันวานนี้ พระเวสสันดรมหาราชนี้ได้ประทานปิยบุตรแก่ชูชกพราหมณ์ แผ่นดินไหว. บัดนี้ ถ้าจะมีคนต่ำช้าผู้หนึ่งไปเฝ้าพระเวสสันดร ทูลขอพระนางมัทรีผู้สมบูรณ์ด้วยลักษณะทั้งปวง มีศีลาจารวัตรบริบูรณ์ พาพระนางมัทรีไป ทำให้ท้าวเธออยู่คนเดียว แต่นั้น ท้าวเธอก็จะเปล่าเปลี่ยวขาดผู้ปฏิบัติ อย่ากระนั้นเลย เราจะจำแลงเพศเป็นพราหมณ์ ไปเฝ้าท้าวเธอ ทูลขอพระนางมัทรี ให้ถือเอาทานนั้นเป็นยอดแห่งทานบารมี. ทำให้ไม่ควรสละแก่ใครๆ แล้วถวายพระนางเจ้านั้นคืนท้าวเธอไว้อีก แล้วกลับเทวสถานของเรา. ท้าวสักกเทวราชนั้นได้เสด็จไปสู่ สำนักแห่งพระบรมโพธิสัตว์ ในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
ลำดับนั้น เมื่อราตรีสิ้นไป ดวงอาทิตย์อุทัยขึ้นมา ท้าวสหัสสนัยจำแลงเพศเป็นพราหมณ์ ได้ปรากฏแก่สองกษัตริย์นั้น แต่เช้า.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปาโต เนสํ อทิสฺสถ ความว่า ได้มีรูปปรากฏ ยืนอยู่เบื้องหน้าของกษัตริย์ทั้งสอง แต่เช้าทีเดียว

ก็และครั้นประทับยืนอยู่แล้ว เมื่อจะทรงทำปฏิสันถาร จึงตรัสว่า
พระองค์ไม่มีพระโรคาพาธกระมัง พระองค์มีความผาสุกสำราญกระมัง พระองค์ทรงยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยเสาะแสวงหาผลาหารสะดวกกระมัง มูลผลาหารมีมากกระมัง. เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานทีจะมีน้อยกระมัง. ความเบียดเบียนให้ลำบาก ในวนประเทศที่เกลื่อนไปด้วยเนื้อร้าย ไม่ค่อยมีกระมัง.


เมื่อท้าวสักกเทวราชทูลถามอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์ เมื่อทรงทำปฏิสันถารกับท้าวสักกเทวราชนั้น ตรัสว่า
ดูก่อนพราหมณ์ เราทั้งหลายไม่มีอาพาธ สุขสำราญดี ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยเสาะแสวงหาผลไม้สะดวกดี และผลาผลก็มีมาก อนึ่ง เหลือบ ยุงและสัตว์เลื้อยคลานมีบ้างก็เล็กน้อย. ความเบียดเบียนให้ลำบากในวนประเทศ ที่เกลื่อนไปด้วยเนื้อร้าย ก็ไม่ค่อยมีแก่เรา. เมื่อพวกเรามาอยู่ป่า มีชีวิตเตรียมตรมตลอด ๗ เดือน เราพึงเห็นพราหมณ์ผู้มีเพศดังเพศแห่งเทพ ถือไม้เท้ามีสีดังผลมะตูม ทรงหนังเสือเหลืองเป็นเครื่องปกปิดกาย แม้นี้เป็นคนที่สอง.


ดูก่อนมหาพราหมณ์ ท่านมาดีแล้ว และมาไกล ก็เหมือนใกล้ เชิญเข้าข้างใน ขอให้ท่านเจริญเถิด ชำระล้างเท้าของท่านเสีย ดูก่อนพราหมณ์ ผลมะพลับ ผลมะหาด ผลมะซาง และผลหมากเม่า เป็นผลไม้มีรสหวานปานน้ำผึ้ง เชิญท่านเลือกบริโภคแต่ที่ดีๆ เถิด. ดูก่อนพราหมณ์ น้ำดื่มนี้เย็นนำมาแต่ซอกเขา ขอเชิญดื่มเถิด ถ้าปรารถนาจะดื่ม.



พระมหาสัตว์ทรงทำปฏิสันถารกับพราหมณ์นั้นอย่างนี้แล้ว ตรัสถามว่า
ก็ท่านมาถึงป่าใหญ่ด้วยเหตุการณ์เป็นไฉน เราถามท่านแล้ว ขอท่านจงบอกความนั้นแก่เราเถิด.


พระมหาสัตว์ตรัสถามถึงเหตุที่ท้าวสักกะมา ด้วยประการฉะนี้ ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชทูลสนองว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ข้าพระองค์เป็นคนแก่มาในที่นี้ มาเพื่อทูลขอประทานพระนางมัทรีอัครมเหสีของพระองค์ ขอพระองค์โปรดประทานพระนางเจ้านั้นแก่ข้าพระองค์.


ครั้นทูลฉะนี้แล้ว กล่าวคาถาว่า
ห้วงน้ำซึ่งเต็มเปี่ยมตลอดเวลา ไม่มีเวลาเหือดแห้ง ฉันใด. พระองค์มีพระหฤทัยเต็มเปี่ยมด้วยศรัทธา ฉันนั้น. ข้าพระองค์มาเพื่อทูลขอพระนางมัทรีกะพระองค์ ขอพระองค์โปรดพระราชทานพระมเหสีแก่ข้าพระองค์ ผู้ทูลขอเถิด.


เมื่อท้าวสักกเทวราชแปลงทูลอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์มิได้ตรัสว่า เมื่อวานนี้ อาตมาได้ให้บุตรบุตรีแก่พราหมณ์ไปแล้ว อาตมาจะต้องอยู่ในป่ารูปเดียวเท่านั้น จักให้มัทรีแก่ท่านได้อย่างไร ดังนี้ เป็นเพียงดัง ผู้มีกำลังวางถุงกหาปณะพันหนึ่ง ลงบนหัตถ์ที่เหยียดออกรับ มีพระมนัสไม่ขัด ไม่ข้อง ไม่หดหู่ เป็นราวกะยังภูผาให้บันลือลั่น ตรัสว่า
ดูก่อนพราหมณ์ อาตมาให้สิ่งที่ท่านขอต่ออาตมา อาตมาไม่หวั่นหวาด ไม่ซ่อนสิ่งที่มีอยู่ ใจของอาตมายินดีในทาน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺตํ นปฺปฏิคุยฺหามิ ความว่า ไม่ซ่อนสิ่งที่มีอยู่.

ก็และครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์ทรงนำน้ำมาด้วยพระเต้าทันทีทีเดียว หลั่งน้ำลงในมือของพราหมณ์ พระราชทานปิยทารทานแก่พราหมณ์ มหัศจรรย์ทั้งปวงมีประการดังกล่าวแล้ว ในหนหลัง ได้ปรากฏในขณะนั้นนั่นเทียว.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
พระเวสสันดรผู้ยังแคว้นสีพีให้เจริญ ทรงจับพระกรพระนางมัทรีด้วยพระหัตถ์ข้างหนึ่ง จับพระเต้าน้ำด้วยพระหัตถ์ข้างหนึ่ง หลั่งอุทกลงในมือพราหมณ์ ได้พระราชทานพระนางมัทรีแก่พราหมณ์. มหัศจรรย์อันให้สยดสยอง และยังโลมชาติให้ชูชัน คือเมื่อพระเวสสันดรทรงบริจาคพระนางมัทรีแก่พราหมณ์. แผ่นดินได้กัมปนาทหวั่นไหว ในกาลนั้น พระนางมัทรีมิได้ทำพระพักตร์สยิ้วกริ้วพระภัสดา ไม่ทรงแสดงพระอาการขวยเขิน ไม่ทรงกันแสง เมื่อพระภัสดาทอดพระเนตรพระนางเจ้าก็ทรงดุษณีภาพ พระภัสดาก็ทรงทราบพระอัธยาศัยอันประเสริฐของพระนางเจ้า.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อทา ทานํ ความว่า พระเวสสันดรมหาสัตว์ตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ผู้เจริญ พระสัพพัญญุตญาณเท่านั้นเป็นที่รักของอาตมา ยิ่งกว่าแม้พระนางมัทรีร้อยเท่าพันเท่าแสนเท่า ขอทานของอาตมานี้ จงเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ดังนี้แล้ว ได้ทรงบริจาคปิยทารทาน.

สมจริงดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสไว้ว่า
เราตถาคต เมื่อสละชาลีโอรส กัณหาชินาธิดา และมัทรีเทวีผู้เคารพต่อภัสดา มิได้คิดเสียดายเลย เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น ลูกทั้งสองเป็นที่เกลียดชังของเรา ก็หามิได้. มัทรีเทวีไม่เป็นที่รักของเรา ก็หามิได้ พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรายิ่งกว่า เพราะฉะนั้น เราจึงได้ให้บุตรธิดาและเทวีผู้เป็นที่รักเสีย.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมกมฺปถ(๑. ม. สมปกมฺปถ.) ความว่า แผ่นดินไหวจดถึงน้ำ. บทว่า เนวสฺส มทฺที ภกุฏี ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขณะนั้นพระนางมัทรีมิได้มีพระพักตร์สยิ้ว เพราะกริ้วว่า พระราชาเวสสันดรประทานเราแก่พราหมณ์แก่. บทว่า น สนฺธียติ น โรทติ ความว่า มิได้ทรงเก้อเขิน มิได้ทรงกันแสง จนน้ำตาเต็มพระเนตรทั้งสอง ด้วยทรงคิดว่า พระสวามีดูเราทำไม ทั้งทรงดุษณีภาพเข้าพระทัยว่า เมื่อให้นางแก้วเช่นเรา จักไม่ให้เพราะไร้เหตุ อธิบายว่า พระนางมัทรีประทับยืนทอดพระเนตร ดูพระพักตร์ของพระเวสสันดรซึ่งมีวรรณะดังดอกปทุมบาน ด้วยเข้าพระทัยว่า พระสวามีของเรานี้แหละ ทรงทราบสิ่งที่ประเสริฐ.

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทอดพระเนตรดูพระพักตร์ของพระนางมัทรี ด้วยทรงคิดว่า มัทรีจะเป็นอย่างไร. พระนางเจ้าจึงทูลถามว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์ทอดพระเนตรดูหน้าหม่อมฉัน ทำไม.
เมื่อทรงบันลือสีหนาท จึงตรัสคาถานี้ว่า
หม่อมฉันผู้ยังเป็นสาว เป็นเทวีของพระองค์ท่านใด พระองค์ท่านนั้นเป็นพระภัสดา เป็นใหญ่ของหม่อมฉัน พระองค์ท่านทรงปรารถนาจะพระราชทานแก่บุคคลใด ก็จงพระราชทานแก่บุคคลนั้น หรือจะพึงขายพึงฆ่าเสีย ก็ย่อมได้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยสฺส ความว่า หม่อมฉันเป็นเทวีสาวของพระองค์ท่านใด พระองค์ท่านนั้นแหละเป็นพระภัสดาด้วย เป็นใหญ่ด้วยของหม่อมฉัน พระองค์ท่านปรารถนาจะพระราชทานแก่ผู้ใด ก็พึงพระราชทานแก่ผู้นั้น หรือเมื่อต้องการทรัพย์ ก็พึงขายหม่อมฉัน หรือเมื่อต้องการเนื้อก็พึงฆ่าหม่อมฉัน เพราะฉะนั้น พระองค์จงกระทำสิ่งที่ทรงชอบพระทัยเถิด หม่อมฉันไม่โกรธ.

ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงทราบอัธยาศัยอันประณีตของกษัตริย์ทั้งสอง จึงทรงชมเชยสองกษัตริย์นั้น.


พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบพระดำริของสองกษัตริย์ จึงได้ตรัสคำนี้ว่า ข้าศึกทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์ พระองค์ทั้งสองทรงชนะแล้ว ปฐพีบันลือลั่นเสียงสาธุการก้องไปถึงสวรรค์ชั้นไตรทิพ สายฟ้าก็แวบวาบไปโดยรอบ เสียงโกลาหลนั้นปรากฏ ดังหนึ่งเสียงภูเขาถล่มทลาย เทพนิกายทั้งสอง คือนารทะและปัพพตะเหล่านั้น ย่อมอนุโมทนาแก่สองกษัตริย์นั้น พระอินทร์ พระพรหม พระปชาบดี พระโสม พระยม และพระเวสวัณมหาราช เทพเจ้าทั้งหมดย่อมอนุโมทนาว่า


พระองค์ทรงทำกิจที่ทำได้ยากแท้ เพราะความที่เหล่าผู้ให้ทานให้ด้วยยาก เพราะความที่เหล่าผู้ทำบุญกรรมทำด้วยยาก อสัตบุรุษทั้งหลายทำตามไม่ได้ ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย อันอสัตบุรุษทั้งหลายนำไปยาก เหตุดังนั้น คติภูมิที่ไปจากโลกนี้ของสัตบุรุษและอสัตบุรุษทั้งหลายต่างกัน อสัตบุรุษทั้งหลายย่อมไปสู่นรก สัตบุรุษทั้งหลายมีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
ข้อที่พระองค์ เมื่อเสด็จประทับแรมอยู่ในป่า ได้พระราชทานกุมารกุมารีและพระมเหสีนี้ นับว่าเป็นพรหมยานอันสัมฤทธิ์แล้วแด่พระองค์ เพราะจะมิต้องเสด็จไปในอบายภูมิ ขอพระกุศลทานอันนั้น จงอำนวยวิบากสมบัติแด่พระองค์ในสวรรค์เถิด.



บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปจฺจูหา ได้แก่ ข้าศึก. บทว่า ทิพฺพา ได้แก่ ห้ามเสียซึ่งทิพยสมบัติ. บทว่า มานุสา ได้แก่ ห้ามเสียซึ่งมนุษยสมบัติ แต่อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า บทว่า เต ได้แก่ ธรรม คือความตระหนี่. ความตระหนี่ทุกอย่างนั้น อันพระมหาสัตว์ผู้ประทานโอรสธิดาและมเหสี ทรงชำนะแล้ว เพราะเหตุนั้น ท้าวสักกเทวราชจึงตรัสว่า สพฺเพ ชิตา เต ปจฺจูหา ดังนี้. บทว่า ทุกฺกรํ หิ กโรติ โส ความว่า ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า เทวดาทั้งปวงเหล่านั้นอนุโมทนาอย่างนี้ว่า พระราชาเวสสันดรนั้นประทับอยู่ในป่า พระองค์เดียวเท่านั้น เมื่อประทานพระมเหสีแก่พราหมณ์ ย่อมกระทำกรรมที่ทำได้โดยยาก ท้าวสักกเทวราช เมื่อทรงทำอนุโมทนา จึงตรัสคาถาว่า ยเมตํ เป็นต้น. บทว่า วเน วสํ แปลว่า ประทับอยู่ในป่า. บทว่า พฺรหฺมยานํ ได้แก่ ยานอันประเสริฐก็ธรรม คือความสุจริตสามอย่าง และธรรม คือการบริจาค เห็นปานนี้ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งอริยมรรค ดังนั้น ท่านจึงเรียกว่าพรหมยาน เพราะฉะนั้น พรหมยานนี้จึงสำเร็จแก่พระองค์ ผู้ให้ทานในวันนี้เพราะไม่ต้องเสด็จไปสู่อบายภูมิ. บทว่า สคฺเค เต ตํ วิปจฺจตุ ความว่า จงให้พระสัพพัญญุตญาณ ในที่สุดแห่งวิบากนั่นเทียว


ท้าวสักกเทวราชทรงอนุโมทนาแด่พระเวสสันดรอย่างนี้แล้ว ทรงดำริว่า บัดนี้ ควรที่เราจะไม่ชักช้าในที่นี้ ควรถวายคืนพระนางมัทรีแด่พระเวสสันดร แล้วกลับไป.

ทรงดำริฉะนี้ แล้วตรัสว่า
ข้าพระองค์ขอถวายพระนางมัทรีพระมเหสีผู้งามทั่วสรรพางค์ คืนแด่พระองค์ผู้เจริญ เพราะพระองค์มีพระฉันทะอัธยาศัย เสมอด้วยพระนางมัทรี และพระนางมัทรีก็ทรงมีพระฉันทะอัธยาศัย เสมอด้วยพระองค์ผู้พระสวามี น้ำนมและสังข์มีสีเสมอเหมือนกัน ฉันใด พระองค์และพระนางมัทรี ก็มีพระมนัสเจตนาเสมอเหมือนกัน ฉันนั้น พระองค์ทั้งสองเป็นขัตติยชาติ สมบูรณ์ด้วยพระวงศ์ เกิดดีแล้วแต่พระมารดาพระบิดา ถูกเนรเทศเสด็จมาแรมอยู่ ณ อาศรมในราวไพรนี้ ขอพระองค์ เมื่อทรงบำเพ็ญทานต่อๆ ไป พึงบำเพ็ญบุญกุศล ตามสมควรเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฉนฺโน ได้แก่ สมควร. บทว่า อุโภ สมานวณฺณิโน ความว่า ทั้งสองมีวรรณะเสมอกันบริสุทธิ์แท้. บทว่า สมานมนเจตสา ความว่า ประกอบด้วยใจ กล่าวคือมนะที่เสมอกัน โดยคุณมีอาจาระเป็นต้น. บทว่า อวรุทฺเธตฺถ ความว่า ถูกเนรเทศจากแว่นแคว้น ประทับอยู่ในอรัญประเทศนี้. บทว่า ยถา ปุญฺญานิ ความว่า พระองค์อย่าทรงยินดีด้วยบุญเพียงเท่านี้ คือบุญที่ทรงทำไว้เป็นอันมากในกรุงเชตุดร บุญที่ทรงทำ เช่นเมื่อวันวานพระราชทานพระโอรสธิดา วันนี้พระราชทานพระมเหสี ทรงบริจาคทานต่อๆไป แม้ยิ่งขึ้นกว่าที่กล่าวแล้วนั้น พึงบำเพ็ญบุญทั้งหลายตามสมควรเถิด.

ครั้งนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงมอบพระนางมัทรีแด่พระมหาสัตว์แล้ว เมื่อจะแจ้งพระองค์ว่าเป็นพระอินทร์ เพื่อถวายพระพร จึงตรัสว่า


หม่อมฉัน คือท้าวสักกะจอมเทพ มาสู่สำนักของพระองค์ ข้าแต่พระราชฤาษี ขอพระองค์จงทรงเลือกเอาพระพร หม่อมฉันขอถวายพระพร ๘ ประการแด่พระองค์ท่าน.


เมื่อท้าวสักกะจอมเทพตรัสอยู่นั่นเอง ก็รุ่งเรืองเปล่งปลั่งด้วยอัตภาพทิพย์ สถิตอยู่ในอากาศ ปานประหนึ่งภาณุมาศเปล่งรัศมีอ่อนๆ ฉะนั้น.


แต่นั้น พระโพธิสัตว์ เมื่อจะทรงรับพระพร จึงตรัสว่า


ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่ของสรรพสัตว์ ถ้าพระองค์จะประทานพระพรแก่หม่อมฉัน

 

ขอพระชนกของหม่อมฉันพึงทรงยินดี ให้หม่อมฉันกลับจากป่านี้สู่นิเวศน์ของหม่อมฉัน พึงเชื้อเชิญด้วยราชบัลลังก์ หม่อมฉันขอเลือกข้อนี้เป็นพระพรข้อที่ ๑.

 

หม่อมฉันไม่ชอบการฆ่าคน แม้ทำผิดร้ายแรง พึงยังคนมีโทษให้พ้นจากการประหารชีวิต หม่อมฉันขอเลือกข้อนี้เป็นพระพรข้อที่ ๒.

 

ชนเหล่าใดเป็นคนแก่ เป็นคนหนุ่ม และเป็นคนกลางคน ชนเหล่านั้นพึงอาศัยหม่อมฉันเลี้ยงชีพ หม่อมฉันขอเลือกข้อนี้เป็นพระพรข้อที่ ๓.

 

หม่อมฉันไม่พึงถึงภรรยาของชนอื่น พึงขวนขวายแต่ในภรรยาของตน และไม่พึงตกอยู่ในอำนาจแห่งสตรีทั้งหลาย หม่อมฉันขอเลือกข้อนี้เป็นพระพรข้อที่ ๔.

ข้าแต่ท้าวสักกะ บุตรของหม่อมฉันที่พลัดพรากไปนั้น พึงมีอายุยืน พึงครองแผ่นดินโดยธรรม หม่อมฉันขอเลือกข้อนี้เป็นพระพรข้อที่ ๕.

 

เมื่อราตรีสิ้นไป พระอาทิตย์อุทัยขึ้นมา ขอให้ภิกษาหารอันเป็นทิพย์พึงปรากฏมี หม่อมฉันขอเลือกข้อนี้เป็นพระพรข้อที่ ๖.

 

เมื่อหม่อมฉันบริจาคทาน ทรัพย์สมบัติพึงไม่หมดสิ้นไป บริจาคแล้วไม่พึงเดือดร้อนภายหลัง เมื่อกำลังบริจาคพึงทำจิตให้ผ่องใส หม่อมฉันขอเลือกข้อนี้เป็นพระพรข้อที่ ๗.

 

เมื่อหม่อมฉันพ้นจากอัตภาพนี้ พึงไปสู่สวรรค์ถึงชั้นดุสิตอันวิเศษ จุติจากชั้นดุสิตนั้นมาเป็นมนุษย์ พึงเป็นผู้ไม่เกิดอีก หม่อมฉันขอเลือกข้อนี้เป็นพระพรข้อที่ ๘.



บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนโมเทยฺย ได้แก่ พึงทรงรับ คือไม่กริ้ว. บทว่า อิโต ปตฺตํ ได้แก่ จากป่านี้ถึงนิเวศน์ของตน. บทว่า อาสเนน ได้แก่ ด้วยราชบัลลังก์ คือพระเวสสันดรตรัสว่า ขอพระชนกจงประทานราชสมบัติแก่หม่อมฉัน. บทว่า อปิ กิพฺพิสการกํ ความว่า หม่อมฉันเป็นพระราชา พึงปล่อยนักโทษประหาร แม้เป็นผู้ทำความผิดต่อพระราชา ให้พ้นจากถูกประหาร. หม่อมฉัน แม้เป็นถึงอย่างนี้ก็ไม่ชอบการประหาร. บทว่า มเมว อุปชีเวยฺยุ ความว่า ขอเขาเหล่านั้นทั้งหมดพึงอาศัยหม่อมฉันนี่แหละเลี้ยงชีพ. บทว่า ธมฺเมน ชิเน ความว่า จงชนะโดยธรรม คือจงครองราชสมบัติโดยเรียบร้อย. บทว่า วิเสสคู ความว่า พระเวสสันดรตรัสว่า ขอหม่อมฉันจงเป็นผู้ไปสู่สวรรค์ชั้นพิเศษ คือเป็นผู้บังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต. บทว่า อนิพฺพตฺตี ตโต อสฺสํ ความว่า พระเวสสันดรตรัสว่า หม่อมฉันจุติจากดุสิตพิภพนั้ นแล้วมาสู่ความเป็นมนุษย์ พึงเป็นผู้ไม่บังเกิดในภพใหม่ทีเดียว คือ พึงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
ท้าวสักกะจอมเทพได้ทรงสดับพระดำรัสของพระมหาสัตว์นั้นแล้ว ได้ตรัสคำนี้ว่า พระราชบิดาผู้บังเกิดเกล้าของพระองค์จักเสด็จมาพบพระองค์ โดยไม่นานนัก.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทฏฺฐเมสฺสติ ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระบิดาของพระองค์ประสงค์จะเยี่ยมพระองค์ จักเสด็จมาที่นี้โดยไม่นานนัก ก็และครั้นเสด็จมาแล้ว จักพระราชทานเศวตฉัตรแด่พระองค์ แล้วเชิญเสด็จไปกรุงเชตุดรทีเดียว ความปรารถนาของพระองค์ทุกอย่างจักถึงที่สุด อย่าร้อนพระหฤทัยไปเลย จงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด มหาราช.

ครั้นประทานโอวาทแด่พระมหาสัตว์อย่างนี้แล้ว ท้าวสักกเทวราชก็เสด็จไปสู่ทิพยสถานของพระองค์ นั่นแล.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
ท้าวมัฆวานสุชัมบดีเทวราชตรัสดังนี้แล้ว ประทานพระพรแด่พระเวสสันดร แล้วเสด็จไปสู่ หมู่เทพในสรวงสวรรค์.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เวสฺสนฺตเร ได้แก่ แด่พระเวสสันดร. บทว่า อปกฺกมิ ได้แก่ เสด็จไปแล้ว คือเสด็จถึงแล้วโดยลำดับ นั่นแล.


จบสักกบรรพ

หมายเลขบันทึก: 463200เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2011 00:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

“สักกบรรพ” แปลว่า ตอนที่ว่าด้วย พระอินทร์

คือ ท้าวโกสินทร์สักรินทร์เทวราช ผู้เป็นจอมเทพบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

กัณฑ์สักกบรรพ ประดับด้วยคาถา ๑๓ พระคาถา

เป็นพระนิพนธ์ใน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

เพลงประจำกัณฑ์ คือ เพลง “กลม” หรือ “เหาะ”

ประกอบกิริยาเหาะลงมา และการแปลงกายของพระอินทร์

ข้อคิดจากกัณฑ์

การทำความดี แม้ไม่มีคนเห็น แต่เทพยดาอารักษ์ย่อมรู้ย่อมเห็น

เนื้อความโดยย่อ

เมื่อ พระเวสสันดร ประทานสองพระกุมารให้ชูชกไปแล้ว

พระอินทรเทพ ทรงดำริว่า

แม้นมีผู้มาทูลขอพระนางมัทรี พระเวสสันดร ก็จะทรงยกให้อีก

จะทำให้ พระเวสสันดร ขาดผู้ปฏิบัติดูแล

จึงทรงนิรมิตองค์เป็นพราหมณ์แก่เข้าไปทูลขอพระนางมัทรี

และเป็นดังที่ทรงคาด

เมื่อพราหมณ์จำแลงรับพระนางมัทรีมาแล้ว

จึงกลับร่างเป็น พระอินทรเทพถวาย พระนางคืน

พร้อมประทานพร ๘ ประการ

ตามที่ พระเวสสันดร ทรงแสดงพระประสงค์คือ

๑. ให้พระบิดาทรงรับพระองค์ กลับไปทรงครองราชย์สมบัติดังเดิม

๒. ให้พระองค์มีพระกรุณาและพระปัญญา ที่จะไม่ต้องเข่นฆ่าผู้มีทุจริตร้ายกาจ

๓. ให้พระองค์ทรงกอปรด้วยพระเมตตาและพระอำนาจ เป็นที่พึ่งและเป็นที่รักแก่ปวงชน

๔. ให้พระองค์ทรงพอพระทัย ตั้งมั่นอยู่แต่พระชายาพระองค์เดียว

แม้มีสตรีเป็นที่รักมากเพียงใด ขออย่าให้ทรงลุอำนาจของสตรี

จนเป็นทางที่ทุจริตผิดตามมาได้

๕. ให้พระโอรสได้ปกครองแผ่นดิน ทรงอำนาจด้วยธรรมปฏิบัติ

๖. ให้เกิดภักษาหารมากเพียงพอที่จะบริจาคเป็นทานมิได้ขาด

๗. ให้มีทรัพย์สมบัติเป็นเครื่องอุดหนุนเป็นเครื่องไทยธรรมทานการกุศลของพระองค์

มีแต่เพิ่มพูนมิรู้หมดสิ้น เช่นเดียวกับน้ำพระทัยในทางกุศลของพระองค์

๘. เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ไป ขอให้บังเกิดในสวรรค์ชั้นสูง

มีพระบารมีและมิมีวันเสื่อมถอยลดลง จากพระบารมีที่ทรงบำเพ็ญ

พระโบราณจารย์เจ้า ได้แสดงอานิสงส์แห่งการบูชาในเวสสันดรชาดกไว้โดยลำดับดังนี้

ผู้บูชากัณฑ์สักกบรรพ (กัณฑ์ที่ ๑๐)

จะเป็นผู้ที่เจริญด้วยลาภยศตลอดจนจตุรพิธพรทั้ง ๔

คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ตลอดกาล

สาธุ สาธุ ดีมากเลย ได้ความรู้มากๆๆ

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนามหาเวสสันดรชาดก ซึ่งประดับด้วยคาถาประมาณ ๑,๐๐๐ คาถานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน มหาเมฆก็ยังฝนโบกขรพรรษให้ตก ในที่ประชุมแห่งพระประยูรญาติของเรา อย่างนี้เหมือนกัน.

ตรัสดังนี้แล้ว ทรงประชุมชาดกว่า

พราหมณ์ชูชกในกาลนั้น คือ ภิกษุเทวทัต.

นางอมิตตตาปนา คือ นางจิญจมาณวิกา.

พรานเจตบุตร คือ ภิกษุฉันนะ.

อัจจุตดาบส คือ ภิกษุสารีบุตร.

ท้าวสักกเทวราช คือ ภิกษุอนุรุทธะ.

พระเจ้าสญชัยนรินทรราช คือ พระเจ้าสุทโธทนมหาราช.

พระนางผุสดีเทวี คือ พระนางสิริมหามายา.

พระนางมัทรีเทวี คือ ยโสธราพิมพา มารดาราหุล.

ชาลีกุมาร คือ ราหุล.

กัณหาชินา คือ ภิกษุณีอุบลวรรณา.

ราชบริษัทนอกนี้ คือ พุทธบริษัท.

ก็พระเวสสันดรราช คือ เราเองผู้สัมมาสัมพุทธเจ้า แล.

คุณค่าด้านวรรณศิลป์

คุณค่าด้านเนื้อหา

คุณค่าด้านปัญญา ของกัณฑ์สักกบรรพ คืออะไรคะ

วิเคราะห์ความหมายความสัมพันธ์ตัวละครกล่าวถึงไครบ้างครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท