ล่องเรือไปตามลำน้ำ สุขล้ำตามลำคลอง


ผู้ให้กลายมาเป็นผู้รับไปเต็มๆ คือ ได้รับสุขจากการเห็นพี่น้องและเพื่อนๆ คนอื่นๆ แสดงความสนใจและอยากเข้าร่วมเดินทางไปด้วย....

เมื่อศูนย์ความรู้ได้รับมอบหมายให้เป็นแม่งานจัดทัศนศึกษาในท้องถิ่นของโรงเรียน  เพื่อให้บุคลากรได้รู้จักท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนนั้น

มีเงื่อนไขตามมาว่า

·       ต้องจัดให้มีทัศนศึกษาจำนวน ๑๐ ครั้ง ภายในปีการศึกษานี้  

·       เป็นการเดินทางแบบเช้าไปเย็นกลับเท่านั้น

·       บุคลากรแต่ละคนมีสิทธิไปคนละ ๒ ครั้งต่อปีการศึกษา

·       ออกเดินทางเฉพาะในวันเสาร์เท่านั้น

 

ตอนแรกผู้จัดการโรงเรียน (ผู้มอบหมาย) มีความกังวลว่าจะไม่มีคนไป

ซึ่งจะทำให้โครงการไม่บรรลุเป้าหมายตามที่ผู้จัดการตั้งไว้

ว่าร้อยละ ๘๐ ของบุคลากรต้องเข้าร่วมโครงการ

เรื่องการตั้งเป้าหมายที่จำนวนการเดินทาง ๑๐ ครั้ง

และต้องได้ผู้ร่วมโครงการร้อยละ ๘๐ ของบุคลากรทั้งหมดนี้

ผู้เขียนมีความเห็นว่า

เป็นระบบการจัดตั้งโครงการที่ตั้งสายตาไว้นอกงานประจำ

แล้วใช้ระบบประเมินผลเชิงปริมาณ มาเป็นเครื่องมือประเมินผลโครงการ

 

ดังนั้นในฐานะผู้รับผิดชอบหลักในส่วนของการดำเนินงาน

จึงได้เสนอขอตั้งคณะทำงานที่เป็นอาสาสมัครตัวแทนจากทุกหน่วยงาน

และเมื่อได้คณะทำงานมาแล้ว  ก็เริ่มประชุมกันทันที

 

ลำดับแรกสุดก็คือต้องมาทำความเข้าใจคำว่า "ท้องถิ่น" กันก่อน

หลังจากพิจารณาว่าจะเลือกกำหนดขอบเขตของ "ท้องถิ่น" ของโรงเรียนด้วยอะไร

จะใช้มิติของระยะทาง  หรือมิติของเวลาในการเดินทาง กันอย่างไร

เมื่อถกกันจนได้ที่แล้ว  ก็ได้ข้อสรุปว่า

เนื่องจากในเอกสารแนะนำโรงเรียนเพลินพัฒนา ระบุว่าเราเป็นโรงเรียนที่มีท้องถิ่นคือกรุงเทพมหานคร

เราจึงควรทำความรู้จักกับ "กรุงเทพมหานคร" นั่นเอง

แล้วจึงร่วมกันกำหนดวัตถุประสงค์หลักด้วยกัน

 

หลังจากนั้นคณะทำงานก็แยกกันไปเก็บข้อมูลจากบุคลากรในฝ่าย

ที่ช่วยกันเสนอสถานที่และแหล่งเรียนรู้กันเข้ามา

เมื่อนัดประชุมกันอีกครั้ง  ก็ได้พบกับความปิติยินดีว่า

บุคลากรในแต่ละหน่วยงานได้เสนอสถานที่และแหล่งเรียนรู้กันเข้ามามากมาย

ทั้งที่เคยรู้ เคยเห็น เคยไป  แล้วอยากให้คนอื่นได้ไปบ้าง

ทั้งที่ไปค้นหาข้อมูลจากหนังสือ และ Internet

และที่ๆ อยากไปรู้ไปเห็น  เพราะได้ยินเขา "เล่ากันว่า" น่าสนใจก็มี

นอกเหนือไปกว่านั้น สถานที่หลายแห่งก็เหมาะกับการพานักเรียนไปออกภาคสนาม

การจัดทัศนศึกษานี้จึงเป็นการทำให้ครูทำงานง่ายขึ้น

และยังเป็นการแบ่งปันแหล่งความรู้  แหล่งข้อมูลกัน  ในหมู่บุคลากรโดยตรง

ทั้งข้ามช่วงชั้น และสายงาน

 

ยังมีสิ่งที่พลิกความคาดหมายอย่างมากอีกก็คือ  ได้มีการขอต่อรองว่า

ไม่จำกัดจำนวนครั้งไม่ได้หรือ  ที่กำหนดว่าให้ไปคนละ ๒ ครั้งต่อปีมันน้อยไป

ผู้จัดการซึ่งตอนแรกกลัวว่าจะไม่มีคนไป  จึงได้อนุมัติให้เป็นคนละ ๕ ครั้งต่อปี

เนื่องจากโรงเรียนเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย  โดยใช้งบประมาณในส่วนของการพัฒนาบุคลากร

ข้อนี้เป็นการตอบโจทย์ง่ายๆ ในการสร้างการมีส่วนร่วมในโครงการ

นั่นคือให้เขาได้มีส่วนในการกำหนดวางแผนนั่นเอง  ฟันธง !!!

 

ยิ่งไปกว่านั้น  ครูที่ดูแลหน่วยวิชามานุษกับโลก (แปลว่ามนุษย์หลายๆ คน กับการทำความรู้จักโลกทั้งในแง่ของธรรมชาติศึกษาและสังคมศึกษา)

ได้เสนอโครงการบันทึกการเดินทางด้วยวิดีทัศน์ 

เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนของช่วงชั้นที่ ๑ ด้วย

เพราะอยากให้เด็กรู้จักชีวิตชุมชนแถวโรงเรียน

แต่ก็ไม่สามารถพาเด็กเล็กขึ้นเรือไปดูของจริงได้

 

ตอนที่สนุกกันมากก็คือ การวางโครงเรื่องและเส้นทาง

โดยแบ่งเป็นตอนย่อยๆ ๑๐ ตอน  ตลอดปีการศึกษา

แต่ละตอนเป็นเรื่องราวที่ร้อยเรียงต่อกัน  และจบลงในตัวเองก็ได้ด้วย

(จะขอเล่ารายละเอียดแยกเป็นอีกบันทึกหนึ่งค่ะ)

 

ในตอนย่อยทั้ง ๑๐ ตอนนี้ก็มีทีมสำรวจและจัดการเล็กๆ ๑๐ ชุด เป็นผู้รับผิดชอบในแต่ละตอนย่อย

อันหมายรวมถึงการเขียนบท  กำหนดเรื่องราวสำหรับทำสื่อวิดีทัศน์ด้วย

(เมื่อประชุมถึงตรงนี้มีการเสนอตัวเองเป็นพิธีกรกันอย่างสนุกสนาน)

 

น่าแปลกที่มีผู้อาสาเป็นทีมสำรวจและจัดนำเที่ยวตอนย่อยกันอย่างคึกคัก

ทั้งที่แต่ละคนก็มีงานประจำกันอยู่อย่างเต็มมือ

ทำให้เห็นว่า การได้ทำในสิ่งที่เรารัก เราชอบ

และได้เป็นเจ้าของงานเอง

ได้เป็นการเพิ่มพลัง  โดยเฉพาะการลงมือเพื่อมุ่งทำให้คนอื่นแบบนี้

ทำให้ ผู้ให้กลายมาเป็นผู้รับไปเต็มๆ  คือ ได้รับสุขจากการเห็นพี่น้องและเพื่อนๆ คนอื่นๆ

แสดงความสนใจและอยากเข้าร่วมเดินทางไปด้วย

ทั้งจากการถามไถ่แบบ F2F

และดูได้จากสถิติการเข้าดู Forum ที่พุ่งสูงเป็นพิเศษ

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ความเคลื่อนไหวใน Forum เป็นศูนย์ (หลังจากจบงาน  Artifact )

 

ซึ่งการใช้ Forum นี้  ศูนย์ความรู้ตั้งใจให้คณะทำงานได้ใช้ Forum เป็นกระดานข่าวแจ้งรายละเอียดและความคืบหน้าของโครงการ

เพื่อเป็นการปูทางในการเปิดพื้นที่เสมือนในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของบุคลากรต่อไป

เป็นการทำงานเดียวแต่ได้ผลหลายอย่างที่ผู้เขียนชอบมาก

 

และในวันที่เขียนบันทึกนี้

ก็ได้ผ่านการเดินทางตอนแรกไปแล้ว

ผลตอบรับที่ทำให้คณะทำงานดีใจมากก็คือ

มีการจองที่สำหรับการเดินทางล่วงหน้าจนถึงครั้งสุดท้ายเข้ามาแล้ว

นั่นคือการจองข้ามปี เพราะครั้งสุดท้ายจัดในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๐

ซึ่งเป็นการเดินทางก่อนปิดภาคเรียนสุดท้ายของปีการศึกษานี้

 

ขอจบบันทึกด้วยภาพบางส่วนจากการเดินทางในครั้งนี้ค่ะ



ป้ายจราจรแบบนี้ ต้องเดินทางด้วยเรือจึงได้พบเห็นเท่านั้น





ริมคลองไม่มีเซเว่นฯ



วันนี้...ผู้คนก็เริ่มหันหลังบ้านออกคลอง



แล้วเราก้าวเข้าสู่...ยุคสมัยของการหันส้วมออกคลองแทนหน้าบ้านแล้ว

คำสำคัญ (Tags): #การเดินทาง
หมายเลขบันทึก: 46109เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2006 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท