การยศาสตร์กับการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ในห้องเรียนคอมพิวเตอร์ (2)


การนำหลัก การยศาสตร์ มาช่วยในการจัดสภาพแวดล้อมนับเป็นสิ่งที่ควรจะให้ความสำคัญมาก ด้วยเหตุที่ว่า สภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ ย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน

การยศาสตร์กับการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ในห้องเรียนคอมพิวเตอร์ (2)

วิชิต เทพประสิทธิ์

การยศาสตร์กับการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้

ในการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ในยุคปัจจุบันนอกจากจะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลัก ๆ เช่น การจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพ สภาวะรอบตัวที่มนุษย์สามารถสัมผัสได้โดยประสาทสัมผัสทั้ง 5 สภาพแวดล้อมทางจิตภาพ สภาวะที่สัมผัสได้ด้วยใจ และสภาพแวดล้อมทางสังคม สภาพแวดล้อมที่เกี่ยวกับสภาพสัมพันธ์ระหว่าง สภาพแวดล้อมทางกายภาพและจิตภาพ แล้ว การนำหลัก การยศาสตร์ มาช่วยในการจัดสภาพแวดล้อมนับเป็นสิ่งที่ควรจะให้ความสำคัญมาก ด้วยเหตุที่ว่า สภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ ย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ขนาด ความกว้าง ความสูง ของโต๊ะ เก้าอี้ การจัดระยะห่าง ระหว่างผู้เรียน กับเครื่องฉาย การติดตั้งจอ และระบบเครื่องเสียง ทั้งหมดนี้ควรจะมีลักษณะที่สอดคล้องกับหลักการยศาสตร์เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดในการเรียนขนาดของห้องเรียนควรจะมีการจัดให้สะดวกสบายและเหมาะสมกับสมาชิกของห้อง มีพื้นที่สำหรับผู้สอนที่จะนำเสนอกิจกรรมการสอน ถ้ากิจกรรมนั้นมีสื่อการสอน ก็ควรจะมีการจัดวางสื่ออย่างเรียบร้อยเป็นระบบ เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างคล่องตัว รวมถึงพื้นที่ว่างระหว่างผู้เรียนและผู้สอน กับจอภาพ ต้องให้มีความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น กระดานดำ บอร์ด โปรเจคเตอร์ โทรทัศน์ ก็ตาม (Mcvey, 1985) 

การจัดเรียงโต๊ะเก้าอี้ก็มีส่วนที่ทำให้ผู้เรียนเกิดการปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันได้ การเรียนเก้าอี้ในห้องเรียนนับว่ามีความสำคัญมาก เพราะเป็นส่วนที่ทำให้ผู้เรียนเกิดการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม นักเรียนจะสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ได้ดีและมีความรู้สึกเท่าเทียมกันเมื่อนั่งเก้าอี้ที่จัดรอบ ๆ โต๊ะรูปสี่เหลี่ยมมากกว่า การที่นั่งเก้าอี้ที่จัดเป็นรูปตัว V หรือ ตัว Y (Bass & Kluback) ในการจัดแบบสี่เหลี่ยมนี้ นักเรียนจะสามารถพูดคุยกับผู้เรียนซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามและผู้เรียนที่นั่งข้าง ๆ อย่างไรก็ตาม ผู้เรียนที่นั่งอยู่ตรงหัวโต๊ะก็จะมาปฏิสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปจากคนอื่นอยู่บ้าง (Hall, 1966)

 ลักษณะการจัดห้องเรียนและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน (Mcvey, 1985) 

จำนวนของเก้าอี้ การจัดวาง และขนาดของห้อง ก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด Menel, 1976 ได้กล่าวไว้ว่า ในการจัดห้องเพื่ออภิปรายทั่วไปนั้น ถ้าขนาดห้องเท่ากับ 20x32 ฟุต จะสามารถรองรับผู้ฟังได้ประมาณ 49 คนในลักษณะการจัดแบบการชมละคร จะสามารถรองรับผู้เรียนได้ 24 คน ถ้าจัดในลักษณะห้องเรียน  และจะสามารถรองรับผู้เรียนได้18 คน เมื่อจัดเป็นรูปตัว U และรองรับได้ 15 คนเมื่อมีการจัดวางแบบการอภิปรายที่มีการพูดคุยและปฏิสัมพันธ์กัน

 ภาพแสดงลักษณะการจัดวางเก้าอี้ในแบบต่าง ๆ ในห้องที่มีขนาดเดียวกัน (Mcvey, 1985)

ในการจัดโต๊ะเก้าอี้สำหรับห้องเรียนแบบปรกติ อาจสามารถจัดเรียงได้ตามภาพ แต่ถ้าหากเป็นห้องที่มีการใช้คอมพิวเตอร์ มาเป็นสื่อการสอน ก็ควรที่จะมีการจัดวางอย่างถูกหลักการยศาสตร์ด้วย เพราะการใช้คอมพิวเตอร์ ต้องอาศัยประสาทสัมผัสหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การใช้สายตา การใช้มือ การนั่ง เพื่อให้เกิดความคล่องแคล่ว สะดวกสบาย ในการใช้งาน และไม่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ หรือเมื่อยล้าต่อการทำงานกับคอมพิวเตอร์  

 

การยศาสตร์กับการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ในห้องเรียนคอมพิวเตอร์            

ในการจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียนคอมพิวเตอร์นั้น นอกจากที่ต้องคำนึงถึงสิ่งที่เป็นอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ โต๊ะ เก้าอี้แล้ว มีสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญและถือเป็นหัวใจสำคัญคือ เครื่องคอมพิวเตอร์ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุด สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเช่น เรื่องระยะห่างระหว่างคอมพิวเตอร์และผู้เรียน มุมในการมอง ลักษณะโต๊ะและเก้าอี้ และความสว่างตลอดจนการจัดแสง เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ ดังจะแยกเป็นหัวข้อย่อย ๆ ได้ดังนี้

มุมมอง และระยะห่างระหว่างผู้เรียนกับหน้าจอ 

 

Comerford, J. (2003).

           

 ในการศึกษาในเรื่องของระยะห่างระหว่างผู้เรียนและคอมพิวเตอร์นั้น ผลออกมาคือ ระยะห่างระหว่างผู้เรียนและคอมพิวเตอร์ควรจะอยู่ที่ระหว่า 16-24 นิ้ว สำหรับระยะที่ใกล้ที่สุด และระยะที่ห่างที่สุดจะอยู่ประมาณ 28-37 นิ้ว ระยะที่พอเหมาะพอควร ควรจะอยู่ที่ 20-28 นิ้วจึงจะมีความพอเหมาะกับทุกสภาพการณ์ ซึ่งผู้สอนควรจะแนะนำให้ผู้เรียนให้ทราบ และเมื่อผู้เรียนมองที่จอคอมพิวเตอร์ ตาของผู้เรียนควรจะขนานพอดีกับส่วนบนสุดของหน้าจอ ผู้เรียนควรจะมองลงมาสำหรับการอ่าน ลักษณะเช่นนี้สามารถจัดกระทำได้โดยการปรับที่เก้าอี้ของผู้เรียน

การออกแบบและความสูงของเก้าอี้

Comerford, J. (2003).

            ในการจัดเก้าอี้นั้น ควรจะคำนึงถึงการใช้งานคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะการพิมพ์บนแป้นพิมพ์ซึ่งมีความสัมพันธ์กับข้อมือ แป้นพิมพ์ควรจะขนานหรือ ต่ำกว่าข้อศอกเล็กน้อยและมีความเอียงที่ทำให้ผู้เรียนสามารถขยับข้อมือได้อย่างสะดวก การปรับความสูงของเก้าอี้ก็ต้องปรับพอดีกับแขนและระดับสายตาของผู้เรียนให้อยู่ตรงกับด้านบนสุดของจอภาพ การวางเท้าก็ควรจะแนบพอดีกับพื้น ถ้าผู้เรียนนั่งแล้วเท้าไม่ติดพื้นเมื่อปรับเก้าอี้ให้พอเหมาะกับแขนและสายตา โต๊ะคอมพิวเตอร์ก็ควรมีที่รองเท้าให้ผู้เรียนด้วย

 

Room lighting and ventilation Comerford, J. (2003).

แสงสะท้อนที่เกิดขึ้นบนจอภาพทำให้ดวงตาเกิดความเหนื่อยล้า เครียด ปวดหัวและเสียสมาธิ การลดแสงสะท้อนเป็นสิ่งที่สำคัญมากอาจใช้การปิดหน้าต่าง การปิดม่านหรือการทำคอกกั้นแสงจากภายนอกไม่ให้มารบกวนการมอง เป็นวิธีการที่สามารถนำมาใช้ได้ หากแสงที่มาจากหลอกฟลูโอเรสเซนต์สามารถจัดให้ตกกระทบโดยจากด้านบนของผู้เรียนได้ก็จะช่วยลดแสงสะท้อนได้มาก แต่ถ้าหากไม่สามารถจัดแสงดังกล่าวได้ อาจใช้อุปกรณ์ตัดแสงสะท้อนจากหน้าจอคอมพิวเตอร์มาช่วยได้เช่นกัน  และเนื่องจากคอมพิวเตอร์จะทำให้เกิดความร้อน ห้องที่ไม่มีหน้าต่าง หรือห้องที่ปิด จะเกิดความร้อนสูงอย่างรวดเร็ว ห้องคอมพิวเตอร์ควรจะมีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศและระบบระบายอากาศที่ดีจะช่วยลดความร้อนได้มาก อีกทั้งยังช่วยยืดอายุของคอมพิวเตอร์อีกด้วย           

จะเห็นได้ว่าในการจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียนคอมพิวเตอร์นอกจากการจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพต่าง ๆ เช่นการจัดโต๊ะ เก้าอี้ แล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงยังมีอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ แสงสว่างที่พอเพียงกับ การใช้งานและเหมาะสม การควบคุมเสียง การควบคุมอากาศให้มีความเหมาะสม ขนาดของจอและ มุมเงยในการมองของผู้ชมและยังรวมไปถึง การจัดบรรยากาศ ตกแต่ง และสีสัน ของห้อง เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกที่มีความสุข มีความกระตือรือร้นในการเรียน  เพื่อให้การเรียนการสอนบรรลุวัตถุประสงค์  เราในฐานะที่เป็นนักเทคโนโลยีการศึกษาที่มีส่วนสำคัญในการจัดกระทำเพื่อก่อให้เกิดสภาพต่าง ๆ ให้มีความหมาย ส่งผลต่อผู้เรียน โดยที่อาจจะสรุปเป็นหัวข้อหลัก ๆ ได้คือ

 

1.      การจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ทางกายภาพ  ที่มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เรียนและผู้สอน การจัดห้องให้เอื้อกับการเรียน ตลอดจนการจัดหาสื่อการสอนที่เหมาะสมกับชั้นเรียน เป็นส่วนที่ทำให้การเรียนมีบรรยากาศที่ดีมากขึ้น และเสริมประสบการณ์ในการเรียน

2.      การจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ทางจิตภาพ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความรู้สึกในเชิงบวกต่อผู้เรียน เช่น พอใจ กระตือรือร้น อบอุ่น ตื่นเต้น การเลือกใช้รูปภาพ การเลือกใช้สี และสื่อการสอนต่าง ๆ ต้องมีความพิถีพิถัน และเหมาะสมกับผู้เรียน การปรับบุคลิกภาพของผู้สอนให้เหมาะสม การวางตัวที่ดี จะช่วยทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกอบอุ่น ไม่เครียด และกล้าจะซักถามและตอบปัญหา ช่วยสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี

3.      การจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ทางสังคมภาพ มีจุดมุ่งหมายที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นในสังคมการเรียนการสอน ระหว่างผู้เรียน กับผู้สอน และระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน การอยู่กันเป็นกลุ่มจำเป็นต้องมีกฎเพื่อควบคุมพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ และทำให้ผู้เรียนเกิดเจตคติที่ดีต่อกัน เมื่อผู้สอนจัดให้มีกิจกรรมที่ต้องทำงานร่วมกัน

4.      การจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ในแหล่งทรัพยากรการเรียน ในปัจจุบันแหล่งการเรียนรู้มิได้จำกัดอยู่ภายในห้องเรียนเท่านั้น การจัดสภาพแวดล้อมในศูนย์วิทยบริการ ห้องสมุด ศูนย์สื่อ ต่าง ๆ ต่างก็มีความสำคัญเพราะเป็นแหล่งการเรียนรู้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะปัจจุบันที่เป็นยุคแห่งข่าวสารข้อมูล การจัดสภาพแวดล้อมบนเครือข่าย ก็เป็นสิ่งที่สามารถจัดกระทำได้ โดยใช้หลักการและทฤษฏีต่าง ๆ ที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้นั้นถูกใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล

 เอกสารอ้างอิง 

วนิดา  จึงประสิทธิ์. การบริหารและบริการงานโสตทัศนศึกษา. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร,         2536.

 

ไชยยศ  เรืองสุวรรณ. การบริหารสื่อและเทคโนโลยีการศึกษา. กรุงเทพมหานคร : ไทยวัฒนา พานิช, 2526.

 

สสิธร เทพตระการพร. เอกสารการอบรมการยศาสตร์. กรุงเทพฯ: บริษัท ริชเทค บิสซิเนส จำกัด         , 2546.

 

อรพันธ์  ประสิทธิรัตน์. สภาพแวดล้อมการเรียนรู้.เอกสารการอบรม._.

 

__.Computer Classroom Design :The Issues Facing Designers of Computer   Classrooms. From http://www.workspaceresources.com/education/         cicdesi1.htm#sci

 

Comerford, J. (2003). Ergonomics in the computer classroom. In  B. Hoffman (Ed.),            Encyclopedia of Educational Technology. Retrieved March 13, 2006, from      http://coe.sdsu.edu/eet/Articles/ergonomics/start.htm

 

Inger M. Williams, Ph.D. CergoS "Is Computer Ergonomics for Elementary and Middle       School Students Important?" from http://education.umn.edu/kls/ecee   /research.html

 

Mcvey.Ergonomics and the learning environment. In Handbook of research for       educational communication and technology. NewYork: Pergamon Press, 1996.

  

wichit thepprasit. copyright 2006.

หมายเลขบันทึก: 46083เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2006 00:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ดีคับถ้าให้ข้อมูลเยอะกว่านี้อีกจะดีมาๆเลยคับ

เเต่ต้องให้ตัวอักษรห่างกันหน่อยนะคับ ตาลายมากเลยคับ

ขอบคุณสำหรับข้อมูล

ข้อมูลดีมากๆเลยค่ะ

ขอบคุณที่นำมาบอกเล่านะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท