อรกิตติ์
นางสาว อรกิตติ์ พานิชยานุสนธิ์

โอกาส (ยาก) ของ FTA Thai-EU


การที่จะทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยกับ สหภาพยุโรปนั้นไม่ได้ง่าย และต้องประสบปัญหาหลายประการ
โอกาส (ยาก) ของ FTA Thai-EU อย่างที่ได้กล่าวในบทความก่อนๆ ว่าประเทศไทยมีความพยายามในการจะเปิดเขตการค้าเสรี หรือ ทำข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement) กับต่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศไทย และรวมถึงประเทศที่เป็นตลาดการค้าใหญ่ของโลก สหภาพยุโรป (European Union: EU) เป็นการรวมตัวกันของหลายประเทศในทวีปยุโรป (ในเวลาที่เขียนมี 25 ประเทศ) ซึ่งหมายความว่าการทำการค้ากับสหภาพยุโรป เท่ากับทำกับหลายประเทศโดยปริยาย ดังนั้นEU จึงถือเป็นตลาดใหญ่ของโลก ด้วย GDP ซึ่งสูงเกือบ 1 ใน 3 ของGDP โลก ประเทศไทยจึงต้องการที่จะทำข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป เพื่อเป็นการเปิดและขยายตลาดไทยไปยังประเทศในทวีปยุโรปซึ่งถือเป็นแหล่งเงินทุนขนาดใหญ่ แต่การที่จะทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยกับ สหภาพยุโรปนั้นไม่ได้ง่าย และต้องประสบปัญหาหลายประการ แต่ที่จะให้ความสำคัญซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ที่อาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ไม่สามารถทำข้อตกลงกันได้ คือปัญหาการเปิดเสรีตลาดสินค้าเกษตร ในการเจรจาทำข้อตกลงการค้าเสรีกันนั้น ประเทศไทยประสงค์ที่จะให้มีการเปิดตลาดสินค้าเกษตรเสรี ซึ่งหมายความว่า การค้าขายสินค้าเกษตรระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรปนั้น จะเป็นไปโดยเสรี ไม่มีอุปสรรคทางการค้าทั้งที่เป็นภาษี และที่ไม่เป็นภาษี แต่สหภาพยุโรปมีท่าทีที่ไม่เห็นด้วย นั้นเป็นเพราะอะไร? สาเหตุก็เพราะสินค้าเกษตรนั้นเป็นสินค้าอ่อนไหวของ EU ที่สำคัญคือ เมื่อปี 2004 นั้น EU ได้เปิดรับสมาชิกใหม่อีก 10 ประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่ยังมีความล้าหลังประเทศในสหภาพยุโรปที่มีอยู่เดิม EU จึงพยายามที่จะจัดการให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นพัฒนาให้ทัดเทียมกับประเทศเดิมใน EU ซึ่งก็ต้องมีมาตรการส่งเสริมให้มีการค้าขายกันเองใน EU เพื่อให้เงินทุนของประเทศที่มีอยู่เดิมเคลื่อนย้ายไปกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกใหม่ รวมถึงต้องมีมาตรการช่วยเหลืออื่น ทั้งการใช้มาตรการอุดหนุน การให้ความรู้เพื่อให้สินค้าได้มาตรฐานสากล ซึ่งป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยเพราะ ประเทศสมาชิกใหม่ส่วนมาก มีสินค้าเกษตรที่ส่งออกใกล้เคียงกับประเทศไทย เท่ากับว่าประเทศไทยต้องแข่งขันกับประเทศสมาชิกใหม่ของ EU ดังนั้นการเปิดตลาดสินค้าเกษตรเสรีกับ EU จึงเป็นไปได้ยาก สิ่งที่เป็นตัวแสดงถึงปัญหาที่ประเทศไทยต้องประสบในการเปิดตลาดสินค้าเกษตรเสรีกับ EU คือมาตรการต่างๆที่ออกมาใช้กับไทย โดยเฉพาะที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี ซึ่งภายหลังยิ่งมีมากขึ้น และเข้มงวดขึ้น ทั้งมาตรการทางด้านสุขอนามัย คุณภาพของสินค้า มาตรฐานสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรฐานด้านแรงงาน จากการกระทำดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นแล้วว่าโอกาสในการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับ EU โดยเปิดตลาดเสรีสินค้าเกษตรนั้นมีน้อย จึงอาจมองได้ว่าสุดท้ายแล้วการทำข้อตกลงการค้ากับ EU นั้น ประเทศไทยอาจต้องทำโดยเสียเปรียบ เพราะสินค้าเกษตรของไทยนั้นถือเป็นสินค้าหลักในการส่งออก ถ้าไทยไม่สามารถเปิดตลาดเสรีสินค้าเกษตรใน EU ได้ก็เท่ากับประเทศไทยจะไม่ได้รับประโยชน์จากการทำข้อตกลง ดังนั้นการทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยกับ EU ยังต้องมีการเจรจากันอีกหลายวาระ เพราะจากปัญหาที่กล่าวถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ และเป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งคงจะไม่สามารถตกลงกันได้โดยง่าย
หมายเลขบันทึก: 46053เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2006 21:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 08:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท