(๑.) "กรณีของน้องนุช กับยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล"


มันเป็นความผิดของ“น้องนุช” ด้วยหรือ ที่เธอจะต้องกลายเป็นเด็กหญิงที่ไม่มีตัวตนทางกฎหมาย เป็นบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และกลายเป็นบุคคลไร้รากเหง้า เพียงเพราะเธอเป็นบุตรของบิดาและมารดาที่เป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

                กรณีของน้องนุช กับยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล               

               มันเป็นความผิดของน้องนุช ด้วยหรือ ที่เธอจะต้องกลายเป็นเด็กหญิงที่ไม่มีตัวตนทางกฎหมาย  เป็นบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และกลายเป็นบุคคลไร้รากเหง้า  เพียงเพราะเธอเป็นบุตรของบิดาและมารดาที่เป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

              “น้องนุช คงไม่ใช่เด็กคนแรก และคนสุดท้ายในประเทศนี้ที่กำลังประสบกับปัญหาเกี่ยวกับสถานะและสิทธิของบุคคล  แม้ว่าเธอไม่อาจเลือกได้ว่าจะเกิดที่ใด  แต่เธอก็ควรมีสิทธิเลือกว่าจะดำรงชีวิตต่อไปอย่างไรมิใช่หรือ

                   เราไม่ทราบประวัติเธออย่างแน่ชัดว่า น้องนุช  หรือเด็กหญิงปิยนุช อากาเป  วัย 11 ปี เกิดในประเทศไทยหรือไม่ เรารู้เพียงว่าเธอมีพ่อและแม่เป็นแรงงานต่างด้าวชาวพม่า(ไม่แน่ชัดว่าสัญชาติพม่า ด้วยหรือไม่ )ที่เข้ามาโดยผิดกฎหมาย  และด้วยเหตุนี้ก็เพียงพอที่จะทำให้เธอไม่อาจได้สัญชาติไทยตามหลักดินแดน ตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 ได้ เนื่องจาก มาตราดังกล่าววางหลักว่าบุคคลซึ่งจะได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนนั้นจะต้องเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ยกเว้น บุคคลตาม มาตรา 7  ทวิ วรรค 1[i] 

                อย่างไรก็ดีผู้บัญญัติกฎหมายเหมือนจะมีตาที่สามเล็งเห็นปัญหาอันจะเกิดตามมาในอนาคต จึงได้บัญญัติมาตรา 7 ทวิ วรรค 2 เป็นการเปิดช่องโดยวางหลักว่า หากเป็นกรณีที่เห็นสมควรรัฐมนตรีจะพิจารณาสั่งเฉพาะรายให้บุคคลดังกล่าวได้สัญชาติไทยก็ได้ โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด  

          นั่นย่อมแสดงนัยว่าหากมีคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้สัญชาติไทยแก่น้องนุช คนไทยตามข้อเท็จจริง ซึ่งปราศจากการยอมรับความมีตัวตนในทางกฎหมายเธอก็จะกลายเป็นคนไทยทั้งตามกฎหมายและตามข้อเท็จจริงได้อย่างเต็มภาคภูมิ

          และด้วยเหตุที่มีกฎหมายเปิดช่องให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจใช้ดุลพินิจในการให้สัญชาติไทยแก่บุคคลตาม มาตรา 7 ทวิ วรรค 2 ประกอบกับแนวทางตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่  18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ที่ว่า ประชาชนที่อยู่ในประเทศเขามีมานานแล้ว แต่ก็ไม่เป็นคนไทย คือ  เขาไม่ถือว่าเป็นคนไทยแท้จริง เขาอยู่และเกิดในเมืองไทย แต่ก็ไม่ได้รับประโยชน์ของความเป็นไทย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่จะต้องปฏิบัติเหมือนกัน เพราะว่าถ้าหากว่ามีคนที่อยู่ในเมืองไทยและก็มีความน้อยใจมาก ไม่มีใครเอาใจใส่ ก็จะทำให้ความมั่นคงของประเทศด้อยไป คณะรัฐมนตรีจึงมีมติลงวันที่ 18 มกราคม 2548 กำหนดยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ขึ้นมาเพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว โดยน้องนุชถือเป็นบุคคลกลุ่มที่ 5 ตามยุทธศาสตร์กำหนดสถานะ คือ เป็นบุตรที่เกิดจากแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ที่ได้รับการจดทะเบียนแต่ไม่สามารถเดินทางกลับได้เนื่องจากประเทศต้นทางไม่ยอมรับ จึงได้รับสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศชั่วคราว  และต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเพื่อกำหนดสถานะตาม กลุ่ม 2 คือ ในกรณีของเด็กและบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาของประเทศไทยแต่ไม่มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย  และเมื่อเธอยังไม่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจึงจำต้องเข้าสู่กระบวนพิจารณาตามยุทธศาตร์สำหรับบุคคลที่อพยพเข้ามาประเทศไทยว่าจะเข้ากรณีการให้สัญชาติไทยแก่บุตรของคนต่างด้าวที่มีชื่อในระบบทะเบียนซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยติดต่อกันเป็นเวลานานไม่ต่ำกว่า 10 ปี จนกลมกลืนกับประเทศไทยและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทาง หรือไม่มีจุดเกาะเกี่ยวใดๆกับประเทศต้นทางอันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด   โดยบุตรของคนต่างด้าวนั้นจะได้รับสัญชาติไทยก็ต่อเมื่อเกิดในราชอาณาจักรไทยตามหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด หรือไม่

            นอกจากนี้น้องนุช ยังอาจได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 ได้ แต่ก็อาจเนิ่นช้าไปไม่ทันกาล เพราะ กฎหมายบัญญัติว่าผู้ที่จะขอแปลงสัญชาติได้นั้นจะต้องบรรลุนิติภาวะทั้งตามกฎหมายไทยและกฎหมายที่เขามีสัญชาติ และจะต้องมีความประพฤติดี  มีอาชีพเป็นหลักฐาน มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรต่อเนื่องมาจนถึงวันยื่นคำขอไม่น้อยกว่า 5 ปี และต้องมีความรู้ภาษาไทยตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง  ซึ่งอย่างน้อยน้องนุชก็ต้องรออีก 9 ปี แล้วช่วงเวลานี้เธอจะดำเนินชีวิตอย่างไรล่ะ 

       แม้ว่ากฎหมาย[ii]จะมีบทบัญญัติรองรับสิทธิขั้นพื้นฐานของน้องนุชซึ่งถือเป็นสิทธิมนุษยชนอันเป็นสิทธิตามธรรมชาติ (natural right)ที่ติดตัวเธอมาตั้งแต่คลอดออกมาแล้วอยู่รอดเป็นทารกก็ตาม  แต่เธอก็ไม่สามารถบริโภคสิทธิเหล่านั้นได้อย่างบริบูรณ์ ตราบเท่าที่เธอยังคงเป็นเพียงบุคคลไร้รัฐ  ไร้สัญชาติ หรือบุคคลไร้รากเหง้า

            หากจะถามว่าทำไมเราจึงควรยื่นมือเข้าช่วยเหลือน้องนุช  ก็สามารถตอบได้ทันทีโดยไม่ต้องคิดว่า เพื่อเห็นแก่มนุษยธรรม นั่นเอง แต่ถ้าจะต้องอธิบายโดยยึดโยงกับหลักการแล้วก็ต้องกล่าวถึง อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก[iii] (Convention on the Rights of the Child 1989 )ซึ่งกำหนดสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กไว้ 4 ประการ คือ ประการแรก หลักการห้ามเลือกปฏิบัติ โดยไม่คำนึงว่าเด็กจะมีที่มาที่ไปอย่างไร เพศใด นั่นย่อมหมายความว่าน้องนุช ควรจะได้รับการจดทะเบียนเกิดโดยปราศจากการแบ่งแยกสัญชาติ

        ประการต่อมา คือ หลักการคำนึงถึงผลประโยชน์สูงของเด็ก (Best Interest of the Child ) กล่าวคือ เราควรให้การรับรองน้องนุชให้มีสถานะเป็นบุคคลจริงๆตามกฎหมาย แทนการปล่อยให้น้องนุชกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไร้รากเหง้าในที่สุด  

        ประการที่สาม คือ เด็กทุกคนย่อมมีสิทธิอยู่รอดและสิทธิที่จะได้รับการพัฒนา (Right to Life ,Survival and development ) กล่าวคือ หากเราไม่จดทะเบียนให้น้องนุช ย่อมส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตตั้งแต่การเรื่องการได้รับรัฐสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน  การรักษาพยาบาล การประกอบอาชีพ การประกันสังคม และอื่นๆอีกมากมายที่จะตามมาในอนาคตซึ่งย่อมส่งผลไปจนถึงรุ่นลูก รุ่นหลานของเธอด้วย

           และประการสุดท้าย  คือ การเคารพและรับฟังความคิดเห็นของเด็ก ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

        ปัญหาของน้องนุชเกิดขึ้นเนื่องจากเธอขาดเอกสารใดๆที่แสดงความมีตัวตนทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือรับรองการเกิด หรือเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก แม้เธอจะมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศพม่าตามหลักสืบสายโลหิต เนื่องจากเธอมีบิดาและมารดาสัญชาติพม่า แต่จะมีประโยชน์อันใดเล่าเมื่อประเทศพม่าไม่ปลอดภัยสำหรับเด็กหญิงเล็กๆตัวคนเดียวเช่นเธอ และเธอก็ไม่เคยรับรู้เรื่องราวใดๆเกี่ยวกับญาติพี่น้องของพ่อ และแม่ในพม่าเลยแม้แต่น้อย มันจะไม่ดูเป็นการใจร้ายเกินไปหรือหากเราพยายามส่งตัวเธอกลับไปยังพม่า ดินแดนซึ่งเธอไม่เคยแม้แต่ใช้ชีวิตมาก่อน

               อย่างไรก็ดีข้าพเจ้าอดไม่ได้ที่จะกล่าวชื่นชมโรงเรียนวัดโพธิ์ทองบนไทยรัฐ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และกระทรวงศึกษาธิการที่เปิดโอกาสให้เด็กไร้สัญชาติและไม่มีทะเบียนเกิดอย่าง น้องนุช เข้าเรียนได้โดยถือเป็นแบบอย่างของการกระทำที่เป็นคุณต่อเด็กอย่างยิ่ง ดีกว่าปล่อยให้กลายเป็นเด็กเร่ร่อน ที่เป็นภาระและเป็นปัญหาต่อสังคมในอนาคต

          ท้ายนี้ข้าพเจ้าหวังว่าปัญหาการรับรองสถานะและสิทธิดังเช่นกรณีของน้องนุชจะเป็นกรณีศึกษาสุดท้าย  หากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือเอกชนร่วมมือร่วมใจในการแก้ไขเยียวยา และผลักดันให้ยุทธศาสตร์ตามมติคณะรัฐมนตรีดำเนินไปอย่างรูปธรรมและรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้



[i] มาตรา 7  ทวิ วรรค 1ได้วางหลักในเรื่องนี้ไว้ว่า ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะเกิดนั้นบิดาตามกฎหมาย (บิดาโดยนิตินัย) หรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดา(บิดาโดยพฤตินัย) หรือมารดาของผู้นั้นเป็น.....(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

[ii] กฎหมายที่รับรองสิทธิกรณีของน้องนุชได้แก่
1. กฎหมายระหว่างประเทศ
1. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal declaration of Human Rights 1948)  ข้อ 6  ข้อ 15 (1)  
2. กติการะหว่างประเทศว่าด้วย สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant On Civil And Political Rights 1966)  ข้อ 16   ข้อ 24   ข้อ 26   
3. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม  (International Covenant on Economic, Social and Culteral Rights 1966) ข้อ 10  
4. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child 1989 )  ข้อ 1  ข้อ 2 .1       ข้อ 7  
1. เด็กจะได้รับการจดทะเบียนทันทีหลังการเกิด และจะมีสิทธิที่จะมีชื่อนับแต่เกิด และสิทธิที่จะได้สัญชาติ และเท่าที่จะเป็นไปได้ สิทธิที่จะรู้จัก และได้รับการดูแลเลี้ยงดูจากบิดามารดาของตน      
2. รัฐภาคีจะประกันให้มีการปฏิบัติตามสิทธิเหล่านี้ตามกฎหมายภายในและพันธกรณีของรัฐภาคี ที่มีอยู่ภายใต้ตราสารระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เด็กจะตกอยู่ในสถานะไร้สัญชาติ
2. กฎหมายภายใน
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 4 รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมาตรา 30 รับรองหลักความเสมอภาคของบุคคล
2. พระราชบัญญัติสัญชาติพ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 มาตรา 7 ทวิ วรรค 2 3. พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 มาตรา 23 เกี่ยวกับการออกหนังสือรับรองการเกิด  
[iii] ที่มา :  http://www.childthai.org/cic/c169.htm 
บรรณานุกรม
1.         พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร , สถานภาพความเป็นบุคคลตามกฎหมาย สู่สิทธิการมีสัญชาติของเด็กที่มีปัญหาการพิสูจน์ตน ,วารสารวิชาการสิทธิมนุษยชน ,ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 (เมษายน มิถุนายน ),2546,หน้า 11-36.
2.              อัจฉรา ฉายากุล. หลักการคุ้มครองเยาวชนที่ถูกลิดรอนเสรีภาพ .กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, 2547.
3.         รายงานการสัมมนาคุ้มครองสิทธิเด็กเรื่องปัญหาการจดทะเบียนการเกิด,วันที่12 กันยายน 2545 ณ โรงแรมโซลทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพมหานคร,2547.
4.              http://www.rvsd.ac.th/jobs/law/declaration/declar4.html
5.              http://www.ucl.or.th/story_1/th_ICESCR.htm
6.              http://www.childthai.org/cic/c169.htm   
       ……………………………………………………
หมายเลขบันทึก: 46008เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2006 15:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาอ่านอีกครั้งแล้วค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท