ปัจจัยและอุปสรรคของการนำผลการวิจัยทางการพยาบาลไปใช้


นำมาให้เพื่อนๆ ในกลุ่มได้อ่านกันนะครับเป็นของ รศ. ดร. มาริสา ไกรฤกษ์
  ปัจจัยที่มีผลต่อการนำผลการวิจัยไปใช้เมื่อพิจารณาตามแนวคิดทฤษฎีการเผยแพร่ นวกรรมของ Rogers (1983 อ้างถึงใน วิภาดา คุณวิกติกุล & สุมิตรา เวฬุวนารักษ์, 2539) มีดังนี้

  ปัจจัยที่เอื้อต่อการนำผลการวิจัยไปใช้
          1. ลักษณะของงานวิจัยทางการพยาบาล มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องการแก้ปัญหา และงานวิจัยนั้นๆได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ งานวิจัยเป็นที่น่าเชื่อถือโดยมีความสอดคล้องกันและความถูกต้องของงานวิจัยในแต่ละส่วน
          2. ลักษณะของการสื่อสารและการนำเสนอผลงานวิจัยทางการพยาบาล งานวิจัยทางการพยาบาลที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ รวมทั้งมีการนำเสนอผลการวิจัยที่ชัดเจนและง่ายต่อการทำความเข้าใจ จะทำให้ผู้ที่ต้องการนำผลการวิจัยนั้นไปใช้สามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้จริง
          3. ลักษณะของพยาบาล ความสามารถของพยาบาลในการระบุปัญหาหรือประเด็นในการปฏิบัติการพยาบาล ลักษณะของพยาบาลผู้บริหารที่จะส่งเสริมให้มีการนำผลวิจัยไปใช้ เป็นผู้บริหารที่มีความเป็นผู้นำจะเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ เห็นการณ์ไกล พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง บริหารงานโดยมุ่งเน้นผลลัพธ์ และส่งเสริมการใช้ผลวิจัยในการปฏิบัติงาน ผู้บริหารที่สามารถจัดสรรทรัพยากรได้เพียงพอต่อการสนับสนุนให้เกิดการนำผลวิจัยไปใช้ ผู้บริหารที่สื่อสารกับผู้ปฏิบัติงานได้ชัดเจนถึงความสำคัญของการนำผลการวิจัยไปใช้ และให้แรงจูงใจในการนำผลการวิจัยไปใช้ รวมทั้งหาโอกาสให้นักวิจัยรุ่นใหม่และนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญได้พบปะพูดคุยกัน
          4. ลักษณะขององค์กร สิ่งแวดล้อมหรือบรรยากาศในองค์การที่ทุกคนในหน่วยงานมีความมุ่งมั่นที่จะระดมความคิดวิเคราะห์ (critical thinking) และใช้ผลวิจัยในการปฏิบัติการพยาบาล องค์กรที่มีแหล่งทรัพยากรที่เอื้ออำนวยในการนำผลการวิจัยไปใช้ เช่น เงินทุนสนับสนุนการวิจัย ห้องสมุดและคอมพิวเตอร์ที่จะใช้เป็นแหล่งค้นคว้า คณะกรรมการวิจัย เป็นต้น

  อุปสรรคของการนำผลการวิจัยไปใช้
          1. ลักษณะของงานวิจัยทางการพยาบาล ได้แก่ ไม่มีการทำวิจัยในเรื่องนั้นๆ หรืองานวิจัยที่ทำเสร็จแล้วแต่ไม่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ พยาบาลไม่มั่นใจว่าผลงานวิจัยทางการพยาบาลเรื่องนั้นๆเป็นที่น่าเชื่อถือ เนื่องจากวิธีดำเนินการวิจัยไม่เหมาะสม ผลการวิจัยที่ได้ไม่เป็นเหตุเป็นผล หรือการนำเสนอผลการวิจัยไม่ชัดเจน มีข้อจำกัดของการวิจัยในเรื่อง sample size หรือ design ซึ่งทำให้เกิดข้อจำกัดในการ generalize นอกจากนั้นงานวิจัยที่ไม่ได้ศึกษาจากปรากฏการณ์ในการปฏิบัติการพยาบาล จะทำให้พยาบาลไม่เข้าใจหรือไม่สามารถแปลผลการวิจัยได้
          2. ลักษณะของการสื่อสารและการนำเสนอผลงานวิจัยทางการพยาบาล ประกอบด้วย บทความหรือรายงานการวิจัยทางการพยาบาลหาอ่านได้ยาก การนำเสนองานวิจัยไม่ชัดเจน ข้อเสนอจากรายงานการวิจัยทางการพยาบาลถึงการนำผลการวิจัยไปใช้ไม่ชัดเจน สถิติที่ใช้วิเคราะห์ในงานวิจัยยากแก่การเข้าใจ
          3. ลักษณะของพยาบาล ได้แก่ การไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัยและเห็นว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการนำผลวิจัยทางการพยาบาลไปใช้มีเพียงเล็กน้อย พยาบาลที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญตรี จะไม่มีความเข้าใจงานวิจัยหรือมองไม่เห็นความสำคัญของงานวิจัยอย่างเต็มที่ พยาบาลที่ไม่คุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลง และไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น พยาบาลขาดความรู้และทักษะในการอ่านและวิพากษ์งานวิจัย รวมทั้งการแปลผลค่าสถิติต่างๆ พยาบาลขาดทักษะในการตั้งคำถามหรือมองประเด็นในการทำวิจัย นอกจากนั้นผู้บริหารการพยาบาลที่ไม่เห็นความสำคัญของการนำผลการวิจัยไปใช้ในการพยาบาล หรือไม่ส่งเสริมให้มีการทำวิจัยในหน่วยงานก็จะทำให้ไม่เกิดการนำผลวิจัยทางการพยาบาลไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพบริการพยาบาล
          4. ลักษณะขององค์กร อุปสรรคด้านองค์กรได้แก่ ขาดทรัพยากร เช่น ไม่มีเงินสนับสนุน ไม่มีเวลาอ่านงานวิจัยเนื่องจากภาระงานมาก ขาดผู้เชี่ยวชาญที่จะชี้แนะการนำผลวิจัยไปใช้ พยาบาลรู้สึกว่าไม่มีอำนาจพอที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการดูแลผู้ป่วยโดยใช้ผลการวิจัยทางการพยาบาล พยาบาลผู้ร่วมงานไม่สนับสนุนการนำผลวิจัยไปใช้

  กลยุทธ์การส่งเสริมการใช้ผลงานวิจัย   (Omery & Williams, 1999)
          1. ให้คุณค่าแก่งานวิจัย (Value research utilization)
          2. ประสานกับผู้นำทางการพยาบาล (Collaborate with nurse leaders) ผู้บริหารการพยาบาลและผู้นำทางการศึกษาพยาบาลควรมีการประสานงานกัน เพื่อนักวิชาการจะช่วยให้ผู้บริหารการพยาบาลมองเห็นแนวทางการนำผลวิจัยไปใช้ และช่วยเตรียมพยาบาลให้มีทักษะในการประเมินงานวิจัยและเลือกผลวิจัยไปใช้
          3. จัดการดำเนินงานให้เกิดการผสมผสานผลงานวิจัยไปใช้ในการปฏิบัติ (Integrate research findings) เช่น การจัดให้มีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพการพยาบาลที่ให้ข้อเสนอแนะการปรับปรุงคุณภาพการพยาบาลโดยใช้ข้อค้นพบจากงานวิจัย เป็นต้น
          4. นโยบายการใช้ผลงานวิจัย (Institutionalize research utilization) การใช้ผลงานวิจัยควรทำในรูปของนโยบายของหน่วยงานหรือองค์กรด้วย นอกเหนือจากการใช้ผลงานวิจัยโดยพยาบาลแต่ละคนเองแล้ว นั่นคือทุกคนในหน่วยงานต้องถือปฏิบัติเป็นหน้าที่รับผิดชอบ โครงการการนำผลวิจัยไปใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลต้องอยู่ในแผนกลยุทธ์ของกลุ่มงานการพยาบาล และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการวิจัยดำเนินงานด้วยี้
          5. ใช้ผลงานวิจัยอย่างเป็นรูปธรรม (Operationalize research utilization) การใช้ผลงานวิจัยควรมีทิศทางให้ชัดเจน เน้นการนำไปใช้ในคลินิกและในการบริหารองค์กร ผู้บริหารต้องจัดหา ทรัพยากร เช่น ผู้ทรงคุณวุฒิ เงิน และเวลาที่ใช้ในกิจกรรมที่ช่วยให้เกิดการนำผลวิจัยไปใช้
          6. ความมุ่งมั่นของผู้นำทางการพยาบาล (Commitment of leaders) ที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อเป็นการรับประกันคุณภาพบริการพยาบาลที่ปฏิบัติโดยมีพื้นฐานมาจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นระบบและเป็นเชิงประจักษ์แล้ว


  บรรณานุกรม
วิภาดา คุณาวิกติกุล & สุมิตรา เวฬุวนารักษ์. (2539). การนำผลการวิจัยทางการพยาบาลไปใช้.
          พยาบาลสาร, ปีที่ 23, ฉบับที่ 3, หน้า 9-16.
Beyea, S. C., & Nicoll, L. H. (1997). Barriers to and facilitators of research
          utilization in perioperative nursing practice. AORN Journal, 65, 830-831.
Omery, A., & Williams, R. P. (1999). An Appraisal of research utilization across the United States.
          Journal of Nursing Administration, 29(12), 50-56.
Rogers, M. E. (1983). Diffusion of innovation (3rd ed.). new York: The Free Press.
ที่มา: http://nu-elearning.kku.ac.th/researchnu/knowlegd/content_9.html
คำสำคัญ (Tags): #research#utilization
หมายเลขบันทึก: 45996เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2006 14:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 12:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท