ชีวิตอันน่าทึ่งของ...."จั๊กจั่น"


สิริรวมอายุแล้ว จั๊กจั่นแต่ละตัวจะมีอายุยืนประมาณ 18 ปีเลยนะครับ โดยนับจากช่วงเป็นไข่ 4 เดือน ฝังอยู่ใต้ดิน 17 ปี และขึ้นมาใช้ชีวิตอยู่เหนือพื้นดินอีก 4 เดือน

 

 

 

 

 

 

เรื่องเล่าจากบ้านแม่ตาด  :

ชีวิตอันน่าทึ่งของ......“จั๊กจั่น”

 

เจ้าจั๊กจั่นบินจนหมดแรง...แล้วก็มาเกาะอยู่ที่มุ้งลวด

 

 

 

(๑) 

 

          ประมาณ 4 ทุ่มกว่าๆ ของเมื่อหลายคืนก่อน ขณะที่ผมกำลังพยายามกล่อมลูกๆ ให้หลับนอน 

          อยู่ๆ จั๊กจั่นตัวหนึ่งก็บินมาเกาะที่ประตูหน้าบ้าน แล้วก็ส่งเสียงดังลั่น 

          แอ่ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

          เสียงของมันดังประมาณ 200 เดซิเบล เห็นจะได้ จนทำให้ทุกๆ คนในครอบครัวของผมพากันเอามือปิดหูและแตกตื่นไปตามๆ กัน 

          “มันคือเสียงอะไรค่ะ คุณพ่อ?”  น้องเพียงพอถามผมด้วยความสนใจ 

          “เสียงจั๊กจั่นจ๊ะ” ผมตอบเธอ “เป็นจั๊กจั่นตัวผู้ คงจะตัวโตมาก เลยเสียงดังขนาดนี้” 

          “เราออกไปดูดีไหมค่ะ?” เธอถาม 

          “อย่าเลยลูก! ปล่อยให้มันร้องอยู่ตรงนั้นแหละ สักครู่มันก็คงจะบินหนีไปเองจ๊ะ” ผมบอกลูกสาว

          “ทำไมมันถึงบินมาตอนกลางคืนละค่ะ?” 

          “มันคงอยากกินตับเด็กๆ ที่นอนดึกมั้งลูก ก็เลยบินมาที่บ้านเราโดยเฉพาะ”   ผมได้ที ก็เลยเอาจั๊กจั่นมาขู่ลูกๆ ให้หลับซะเลย ( คิคิคิ) 

          “อึ๋ย!  น่ากลัวจังเลย!”  เธออุทานด้วยความกลัว แล้วก็รีบกอดผมไว้แน่น  ในขณะที่น้องแพรวพราวนั้นมุดเข้าไปอยู่ใต้ผ้าห่มตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ จนทำให้ผมกับภรรยาพากันยิ้มและหัวเราะเบาๆ ด้วยความรู้สึกขำ

 

          สักพักหนึ่ง.... แม่ยายของผมซึ่งนอนอยู่อีกห้องหนึ่ง ก็เปิดประตูห้องนอนเดินไปเปิดไฟและเปิดประตูบ้าน เพื่อจะไล่เจ้าจั๊กจั่นตัวนั้นให้หนีไปส่งเสียงที่อื่น 

          พอเด็กๆ ได้ยินเสียงของยายไล่จั๊กจั่นอยู่ด้านนอก ก็พากันลุกจากเตียง  พากันเปิดประตูห้องนอน และเดินไปหายายที่กำลังแหงนมองดูจั๊กจั่นตัวนั้นบินว่อนไปมาอยู่เหนือศีรษะ 

          เสียงของลูกๆ ที่กำลังสนุกสนานกับการไล่จับจั๊กจั่นอยู่นอกห้องนอน ทำให้ผมกับภรรยาต้องเดินออกมาดูด้วย  

          เมื่อจั๊กจั่นตัวนั้นบินจนหมดแรงแล้ว มันก็บินไปเกาะอยู่ที่มุ้งลวดที่ประตูหน้าบ้าน  ผมเลยเดินเข้าไปจับมันมาให้เด็กๆ ได้ดูแบบเต็มๆ ตา 

          จั๊กจั่นที่เห็นตอนนี้ คือ “จั๊กจั่นยักษ์” หรือที่ชาวบ้านแม่ตาดเรียกว่า “จั่นโจ้” ซึ่งเป็นจั๊กจั่นที่มีขนาดใหญ่กว่าจั๊กจั่นชนิดอื่นๆ

          ผมเห็นว่ามันมีขนาดใหญ่กว่าตัวอื่นๆ ที่ผมเคยเห็นมา ก็เลยนำกล้องถ่ายรูปมาบันทึกภาพไว้ พร้อมทั้งทำการวัดขนาดลำตัวและปีกของมันดู เพื่อจะได้รู้ว่ามันใหญ่ขนาดไหน 

          จั๊กจั่นตัวนี้ ลำตัวยาว 3 นิ้ว เมื่อกางปีกออกสามารถวัดความยาวของปีกได้ถึง 7  นิ้ว  นับว่าเป็น “โคตรจั๊กจั่น” เลยทีเดียว ( คิคิคิ) 

          “ทุกคนเชื่อไหมว่า จั๊กจั่นตัวนี้อายุตั้ง 18   ปี เชียวน่ะ?”  ผมถามภรรยาและลูกๆ 

          “โห!  ขนาดนั้นเชียว  พ่อโม้เกินจริงหรือเปล่าค่ะ?”  ภรรยาผมถามขึ้น 

          “ไม่ได้โม้น่ะ  พูดจริงๆ  อยากฟังไหม?  จะเล่าให้ฟัง”  ผมถามขึ้น 

          “อยากฟังค่ะ”  ภรรยาและน้องเพียงพอตอบขึ้นพร้อมๆ กัน   

          “เอาล่ะ!  ถ้าอย่างนั้น  พ่อจะเล่าให้ฟังน่ะ”  ผมบอก

          จากนั้นผมก็เริ่มต้นเล่าเรื่องราวอันน่าทึ่งของจั๊กจั่นให้ภรรยาและลูกๆ ฟัง  ในฐานะที่ผมเป็น "นักกีฏโภชนา" ผู้ช่ำชอง (คนละสายกับ "นักกีฏวิทยา" นะครับ....คิคิคิ) โดยมีเจ้าจั๊กจั่นตัวนั้นเป็นดาราประกอบเรื่องด้วย แบบไม่ค่อยจะเต็มใจมากนัก

 

 


(๒) 

 


          เมื่อหลายปีก่อน ผมเคยอ่านหนังสือความรู้รอบตัวและหนังสือสารานุกรมเกี่ยวกับแมลง (แต่น่าเสียดายที่ผมจำชื่อหนังสือเหล่านั้นไม่ได้แล้ว เลยไม่สามารถจะนำมาอ้างอิงไว้ในบันทึกนี้ได้) ทำให้ผมได้ทราบถึง “ความน่าทึ่ง” ของแมลงชนิดหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า  “จั๊กจั่น” 

          “จั๊กจั่น” มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า Cicada” เป็นแมลงดึกดำบรรพ์ที่กำเนิดขึ้นมาในโลกนี้เมื่อราว 200 ล้านปีก่อน   ปัจจุบันโลกเรามีจั๊กจั่นอยู่กว่า 2,000  ชนิดด้วยกัน

          ตามปกติเราจะพบเห็นจั๊กจั่นได้ง่ายและชุกชุมในช่วงหน้าแล้งหรือฤดูแล้ง  ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายนของทุกๆ ปี  ซึ่งเป็นช่วงที่จั๊กจั่นที่โตเต็มที่กำลังอยู่ในช่วงฤดูแห่งการผสมพันธุ์  ส่วนในฤดูอื่นๆ นั้น จะพบเห็นได้น้อยมาก โดยเราจะพบเห็นมันเกาะอยู่ตามต้นไม้ต่างๆ  และต้นไม้ที่มันชอบมากเป็นพิเศษ ก็คือ “ต้นฉำฉา” หรือ “ต้นจามจุรี” นั่นเอง

          แม้ว่าจั๊กจั่นจะเป็นแมลงตัวเล็กๆ ก็จริง หากแต่เวลามันขยับปีกทำเสียงแล้ว จะดังมากจนแสบแก้วหู  โดยจั๊กจั่นตัวใหญ่และโตเต็มที่จะสามารถทำเสียงดังได้ถึง 200  เดซิเบล เลยทีเดียว 

          ลืมบอกไปว่า.....เสียงที่เราได้ยินนั้นเป็นเสียงของจั๊กจั่นตัวผู้นะครับ ส่วนตัวเมียนั้นไม่สามารถทำเสียงได้ และเสียงที่เราได้ยินก็ไม่ใช่เสียงที่ร้องออกมาจากปากของมันแต่อย่างใด หากแต่เป็นเสียงที่เกิดจากการขยับปีกทำเสียงของมันนั่นเอง   โดยมีเหตุผลในการทำเสียงหลายอย่างด้วยกัน เช่น  เตือนภัย  เรียกร้องความสนใจจากสาวๆ(จั๊กจั่นสาว) และบ่งบอกให้เราได้ทราบถึงความเปลี่ยนแปลงแห่งฤดูกาล(เสียงของจั๊กจั่นทำให้เราได้ทราบโดยอัตโนมัติว่า “ฤดูร้อน” เริ่มมาเยือนแล้วน่ะ) 

          ที่ผมบอกว่า....จั๊กจั่นมี “ความน่าทึ่ง”  ก็เพราะว่า  มันเป็นแมลงที่มีช่วงอายุยาวนาน ถึง 18 ปี เลยทีเดียว ดั่งที่นักกีฏโภชนาอย่างผมจะเล่าให้ทราบพอสังเขป ดังต่อไปนี้.....แอ่น!  แอ่น!  แอ๊น!

          เริ่มต้นจาก........หลังจากจั๊กจั่นทำการผสมพันธุ์กันเรียบร้อยแล้ว  เมื่อไข่แก่เต็มที่แล้ว จั๊กจั่นตัวเมียก็จะไปคลอด เอ๊ย! ไปวางไข่ไว้ตามใต้เปลือกไม้ต่างๆ  เมื่อวางไข่เสร็จแล้วตัวเมียจะหมดอายุไขและตายลงไป ซึ่งช่วงที่เป็นไข่นี้จะอยู่ประมาณ 4 เดือน  จากนั้นไข่ก็จะกลายสภาพเป็นตัวอ่อน(คล้ายๆ หนอน) และตกลงไปฝังตัวอยู่ในดินและใช้ชีวิตอยู่ใต้ดินเป็นเวลาประมาณ 17 ปี ด้วยกัน(ขอย้ำนะครับว่า...17 ปี จริงๆ) โดยจะดูดกินน้ำเลี้ยงหรืออาหารจากรากของต้นไม้  ซึ่งบางตัวจะอยู่ลึกลงไปในดินมากถึง 1 เมตรเลยก็มี

          หลังจากใช้ชีวิตอยู่ใต้ดินครบ 17 ปีแล้ว ตัวอ่อนหรือ "ดักแด้" ของจั๊กจั่นก็จะคลานต้วมเตี้ยมๆ ขึ้นมาเหนือพื้นดินและไต่ขึ้นไปเกาะอยู่ตามต้นไม้ต่างๆ  และลอกคราบกลายเป็นจั๊กจั่นอย่างสมบูรณ์แบบต่อไป โดยจะเกาะอยู่ตามต้นไม้ และกินน้ำเลี้ยงของต้นไม้เป็นอาหาร ซึ่งช่วงที่โดยเต็มวัยนี้จะมีระยะเวลาประมาณ 4 เดือนด้วยกัน .....จากนั้น มันก็จะมีการผสมพันธุ์ วางไข่ หลบไปอยู่ใต้ดิน และขึ้นมาลอกคราบ.......วงจรชีวิตของมันก็จะเป็นวัฏจักรหมุนเวียนอยู่อย่างนี้....ตราบชั่วนาตาปี 

          สิริรวมอายุแล้ว จั๊กจั่นแต่ละตัวจะมีอายุยืนประมาณ 18 ปีเลยนะครับ โดยนับจากช่วงเป็นไข่ 4 เดือน ฝังอยู่ใต้ดิน 17 ปี และขึ้นมาใช้ชีวิตอยู่เหนือพื้นดินอีก 4 เดือน  

          แล้วยังงี้ จะไม่ให้เรียกว่า...เป็น “ความน่าทึ่ง”  ได้อย่างไรละครับ......  จริงไหม? 

 


(๓) 

 


           “โห!  น่าทึ่งจริงๆ เลยนะค่ะ   น่าทึ่งทั้งจั๊กจั่นและคนเล่าเลยอ่ะ” ภรรยาของผมกล่าวชมกึ่งๆ แซวเล่น

           “อ้าว!  ทำไมล่ะ?”  ผมถามบ้าง

           “ก็น่าทึ่งตรงที่ไม่น่าเชื่อว่าจั๊กจั่นจะมีอายุยืนถึงขนาดนั้น  ซึ่งไม่เคยรู้เรื่องมาก่อนเลย  ในขณะเดียวกันก็รู้สึกทึ่งมากที่พ่อเข้าใจไปเสาะหาเรื่องราวแปลกๆ แบบนี้มาเล่าให้พวกเราได้ฟัง  คิดไม่ถึงเลยว่าพ่อจะรู้เรื่องราวของแมลงได้อย่างลึกซึ้งมากถึงเพียงนี้   น่าทึ่งจริงๆ   คิคิคิ ”    เธอพูดไปขำไป 

          “นี่แค่จิ๊บๆ เท่านั้นแหละ  ในพระไตรปิฎกยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจและน่าทึ่งมากกว่านี้อีกเยอะแยะเลย.... จะบอกให้”   ได้ที ผมก็เลยขี่ยีราฟไล่ซะเลย  คิคิคิ 

          “จริงเหรอค่ะ?  เล่าเลยไหม?  อยากฟัง”  แม่บ้านผมอ้อน 

          “พอๆ ดึกแล้ว  เข้านอนได้แล้ว  เอาไว้วันหลังจะเล่าให้ฟังละกัน  วันนี้ง่วงแล้ว เดี๋ยวพรุ่งนี้พ่อจะตื่นไปทำงานไม่ทัน”   ผมชิงตัดบทเอาเสียดื้อๆ งั้นแหละ  ไม่งั้นแล้วคืนนี้คงไม่ต้องหลับต้องนอนกันละ     

         หลังจากผมนำจั๊กจั่นไปปล่อยที่นอกบ้านแล้ว ก็พาลูกๆ และภรรยาเข้านอน   

 

 

          ดึกดื่นคืนนั้น  แม้ภรรยาและลูกๆ จะพากันหลับใหลไปเรียบร้อยแล้ว   หากแต่ผมยังนอนกระสับกระส่ายไปมาอยู่บนเตียงท่ามกลางความมืดมิดของรัตติกาล 

          ผมนอนคิดอะไรไปเรื่อยเปื่อย.....คิดถึงเจ้าจั๊กจั่นยักษ์ตัวนั้นที่ผมเพิ่งจะปล่อยมันไป.....ป่านนี้เจ้าจะเป็นอย่างไรบ้างหนอ?  เหตุใดเจ้าถึงมาเยี่ยมเยือนในยามราตรีเช่นนี้?  เจ้าต้องการจะสื่อสารสิ่งใดให้ฉันทราบหรือเปล่า  ข่าวดีหรือข่าวร้ายหนอ?  เจ้าอยู่เพียงลำพังตัวเดียวหรือว่าอยู่กับใคร? เหตุไฉนเจ้าถึงร้องเสียงดังมากมายขนาดนั้น?  หรือว่าเจ้ากำลังตามหาคู่รักของเจ้าที่จากจรอยู่? 

          แต่แล้ว....วูบหนึ่งของความคิด “อกุศลจิต” ก็เข้ามาครอบงำจิตใจของผม ทำให้ผมกลายสภาพจาก “เทพบุตรที่แสนดี” เป็น “จอมมารอึ่งยืน” ผู้มีจิตใจโหดร้ายและสุดแสนจะอำมหิตขึ้นมาทันที  เนื่องจากผมกำลังคิดอยู่ในใจว่า.....

          “แหม! มาเยี่ยมกันทั้งที ก็น่าจะพากันมาหลายๆ ตัวน่ะ สัก 20 ตัวก็คงจะดี  อวบๆ อ้วนๆ แบบนี้ จับไปคั่วแล้วเอาไปตำทำน้ำพริกกินกับผักสดๆ  คือสิแซ่บและนัวคักขนาด”       คิ  คิ  คิ


 

 

เจ้าจั๊กจั่นยอมกางปีกให้ผมถ่ายรูปและวัดขนาดแต่โดยดี

(ลำตัวยาว 3 นิ้ว ปีกสองข้างกว้าง 7 นิ้ว ลำตัวกว้าง 1 นิ้ว)

 

รูปถ่ายด้านข้าง

 


น้องเพียงพอกำลังกางปีกคุณพี่จั๊กจั่น

 

คลิปวีดีโอจาก BBC Wildlife

Amazing Cicada life cycle -Sir David Attenborough's Life in the Undergrowth - BBC wildlife

ขอบคุณ คุณหนูรี มากๆ เลยครับ 

ที่กรุณาแนะนำแหล่งข้อมูลข้างบนเพิ่มเติม

ทำให้บันทึกหรือเรื่องเล่าของผมมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

โดยในคลิปวีดีโอเรื่องนี้ได้ยืนยันอย่างชัดเจนว่า จั๊กจั่นใช้ชีวิตอยู่ใต้ดินถึง 17 ปีจริงๆ  พร้อมทั้งมีข้อความภาษาอังกฤษระบุเอาไว้ว่า.....

"After lying beneath the earth for up to 17 years, cicadas venture above ground as a massive group to shed their larvae shells, sprout wings and sing for a mate. Sir David Attenborough demonstrates how easy it is to hypnotise a male cicada with the click of his fingers in this amazing wildlife video from BBC animal show 'Life in the Undergrowth' ".


 

เพลงประกอบภาพยนตร์ เรื่อง  "Forest Gump"

(หนังเรื่องโปรดของผม)

 

 


หมายเลขบันทึก: 459938เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2011 20:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2013 19:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (51)

ได้ความร้ใหม่ค่ะ

เพิ่งรูว่าจักจั่นใช้ชีวิตอยู่ใต้ดินตั้ง ๑๗ ปี  มีชีวิตบนดินแค่ ๑ ปี

จั๊กจั่นตัวผู้เท่านั้นที่ขยับปีกส่งเสียงได้ถึง ๒๐๐ เดซิเบล (เรียกตัวเมีย?? - เหมือนนกตัวผู้ใช้สีสันสวยงามเรียกความสนใจตัวเมีย - แต่มนุษย์ตัวเมีย เอ๊ย ผู้หญิง ใช้ความสวยดึงดูดผู้ชาย??)

สุดท้าย จั๊กจั่นคั่ว ตำน้ำพริกกินอร่อย???

เพิ่งเคยเห็นตัวใหญ่ขนาดนี้

17 ปี ได้ยินมาบ้างเหมือนกัน

เล่าเรื่องสนุกมากเลยล่ะค่ะ

ดีแล้วที่ไม่กิน

อาจเป็นจั๊กจั่น..ผี..น้า บรื่อออออออ

สวัสดีครับ คุณ Nui

-ตอนแรกผมอ่านเจอในหนังสือความรู้รอบตัว(ภาษาไทย) ผมก็ไม่อยากเชื่อเหมือนกันนะครับ เลยเข้าไปอ่านในสารานุกรมเกี่ยวกับแมลง(ภาษาอังกฤษ)ดูอีกที แล้วก็พบข้อมูลว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ คือ เขาจะใช้ชีวิตอยู่ใต้ดินนานถึง 17 ปีจริงๆ ก็เลยทำให้ผมได้เกร็ดความรู้เกี่ยวกับจั๊กจั่นมาไว้ถ่ายทอดให้คนอื่นๆ ฟังต่อ

- น้ำพริกจั๊กจั่นนี่อร่อยจริงๆ นะครับ แถวๆ บ้านผมที่อีสานและที่เชียงใหม่ก็กินกันครับ อร่อยมากกกกกกกกกกก คิคิคิ

สวัสดีครับ คุณหนูรี

-ขอบคุณมากๆ ครับ ที่กรุณาแนะนำแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม โดยเฉพาะคลิปวิดีโอของ BCC ซึ่งในนั้นได้ยืนยันเอาไว้อย่างชัดเจนเลยครับว่า จั๊กจั่นใช้ชีวิตอยู่ใต้ดิน 17 ปีจริงๆ ดังข้อความต่อไปนี้ครับ...... "After lying beneath the earth for up to 17 years, cicadas venture above ground as a massive group to shed their larvae shells, sprout wings and sing for a mate. Sir David Attenborough demonstrates how easy it is to hypnotise a male cicada with the click of his fingers in this amazing wildlife video from BBC animal show 'Life in the Undergrowth'.

-ขออนุญาตนำเอาคลิปจากบันทึกของคุณหนูรีไปอ้างเป็นแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมต่อนะครับ -ผมไม่เคยเห็นจั๊กจั่นสีเขียวแบบนี้มาก่อนเลยนะครับ สวยมากๆ เลย

-ทางภาคใต้ เขากินจั๊กจั่นไหมเอ่ย? คิคิคิ

สวัสดีครับ คุณหมอ ทพญ.ธิรัมภา

-ขอบคุณมากๆ ครับ ที่กรุณาแวะมาเยี่ยมและให้กำลังใจ

-จั๊กจั่นมีหลายขนาดนะครับ แต่ตัวที่เห็นนี้เป็นพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุด(ของเมืองไทย?) จั๊กจั่นที่มีชีวิตอยู่ในช่วงนี้ส่วนใหญ่จะเป็นตัวผู้นะครับ ส่วนตัวเมียนั้นตายไปตั้งแต่หลังจากวางไข่เสร็จใหม่ๆ แล้ว

-วันนั้น มีแค่ตัวเดียวครับ เลยปล่อยมันไป หากมาสัก 10 ตัว คงไม่ปล่อยไปหรอกครับ แม้ว่ามันจะเป็นจั๊กจั่นผีก็ตาม คิคิคิ

  • อ่านบันทึกนี้แล้วได้หลายอารมณ์มากเลยค่ะ
  • เล่าเรื่องได้น่าติดตาม
  • ครอบครัวน่ารักและอบอุ่นดีค่ะ
  • เรื่องน่าทึ่งของจั่นโจ้ ..จักจั่น..
  • ดีนะค่ะที่ดึกแล้วไม่งั้นคงแถมเรื่องราวในพระสูตรด้วย 5555
  • ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันค่ะ

วันก่อนมีมาเกาะประตูหน้าโรงนาตัวหนึ่งเหมือนกันค่ะ

ชอบกลวิธีการเขียน...ถ้อยคำทุกอย่าง

ชอบเพลงสุดท้ายที่โปรด...ด้วยครับ

ขอบคุณครับ

ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันค่ะ ที่บ้านมีต้นไม้ใหญ่ นานๆจึงได้ยินเสียงร้องระงมอึงมี่ แต่ไม่เคยเห็นตัวชัดๆสักที ได้มาเห็นที่บันทึกนี้ พร้อมเรื่องเล่าและสารคดีน่าสนใจกับเพลงไพเราะค่ะ :)

ยินดีด้วยที่ได้มารู้จัก"นักกีฏโภชนา" ตัวจริงเสียงจริง  เป็นบุญของเจ้าจั๊กจั่นที่

ฉายเดี่ยวมาเพราะถ้ามากันเป็นครอบครัวรับรองไม่รอดกลับไปแน่  แล้วเราก็จะ

เจอมันในถ้วยน้ำพริกในวันถัดมา.....

เคยฟังแต่เสียงของมันอย่างรำคาญบ้าง  เพราะบ้างแล้วแต่อารมณ์ในขณะนั้น

แต่ใจไม่ด้านเอ้ย..กล้าพอ  ที่จะเอามันมาทำเป็นอาหารลำๆค่ะ....

ชอบดูตอนเด็กๆๆ เขาสั่นปีกแล้วเสียงดัง เดี๋ยวนี้หายากมากๆ

สวัสดีครับ คุณบัวชมพู

-วันนี้แม่บ้านแซวผมเล่นๆ ว่า ....."แหม! ขนาดจั๊กจั่นบินหลงเข้ามาในบ้านเพียงตัวเดียวแท้ๆ ยังเขียนเป็นเรื่องเป็นราวได้ตั้งหลายตอน ถ้าหากว่ามีแมลงอื่นๆ หลงมาด้วยสัก 30 ชนิด คงจะมีเรื่องเขียนเป็นตุเป็นตะได้เป็นเล่มๆ แน่เลยเน๊าะ เฮ้อ! น่าทึ่งๆ " คิคิคิ

-รู้สึกดีใจครับ ที่ทราบว่างานเขียนของผมทำให้คุณบัวชมพูและเพื่อนๆ ที่ติดตามอ่านมีความรู้สึกที่ดีๆ และมีความสุข.....หากเป็นอย่างนี้ ผมก็ทำให้ผมมีกำลังใจที่จะนำเรื่องราวต่างๆ มาเขียนให้อ่านต่อไปเรื่อยๆ นะครับ

-ขอบคุณมากๆ เลยนะครับ ที่กรุณาติดตามอ่านและให้กำลังใจเสมอมา

สวัสดีครับ คุณหมออดิเรก(ทิมดาบ)

-ขอบคุณมากๆ ครับ ที่กรุณาเข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจเสมอมา

-ผมเขียนงานได้หลายแนวนะครับ แต่แนวที่ผมถนัดมากที่สุดก็คือ "แนวสารคดี" หรือ "เรื่องเล่า" เพราะว่าเราสามารถที่จะใส่ความรู้สึกต่างๆ ลงไปได้อย่างเต็มที่ ทั้งโศกเศร้า เหงา ฮา ตลก หรือขำขัน....โดยส่วนตัวแล้วชอบเขียนแนวขำๆ นะครับ เพราะนอกจากจะทำให้คนเขียนอารมณ์ดีแล้ว ก็ยังทำให้ผู้อ่านมีความสุข ผ่อนคลาย และอารมณ์ดีตามไปด้วย.....นับว่าเป็นการทำบุญหรือความดีอย่างหนึ่งด้วยนะครับ

-ดีใจจริงๆ ที่คุณหมอชอบหลายๆ อย่างคล้ายกับผม.....ขอบคุณมากๆ นะครับ

สวัสดีครับ คุณ นงนาท สนธิสุวรรณ

-ขอบคุณคุณป้าใหญ่มากๆ เลยนะครับ ที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังเสมอมา

-ช่วงที่ผมทำงานอยู่ที่ กทม. เคยไปเที่ยวที่จุฬาฯ สวนลุม และสวนสาธารณะหลายแห่งช่วงหน้าร้อน ผมยังได้ยินเสียงจั๊กจั่นส่งเสียงดังระงมอยู่เต็มเลยนะครับ เพียงแต่อาจจะต้องตั้งใจสังเกตให้มากๆ หน่อย จึงจะสามารถมองเห็นตัวของเจ้าจั๊กจั่นได้

-ขอบคุณมากๆ นะครับ

สวัสดีครับ คุณครู krugui

-วันนั้นหากมากันหลายๆ ตัว พวกเขาก็คงจะถูกผมแปรรูปเป็นน้ำพริกจั๊กจั่นอย่างแน่นอนเลยนะครับ คิคิคิ พอดีแถวๆ บ้านที่สันกำแพงเขากินกันนะครับ ตอนหน้าแล้งเขาจะใช้ไฟล่อมันลงมาจากต้นไม้ บางคนจับได้เป็นกาละมังเลยก็มี ขายกิโลละ 300 บาท....ทอดกินก็ได้ ตำน้ำพริกก็ได้ และลาบก็ได้นะครับ ลำแต้ๆ ..... แหม! พูดแล้วน้ำลายย้อยเลยทีเดียว คิคิคิ

- ขอบคุณมากๆ เลยนะครับ ที่กรุณาแวะเข้ามาให้กำลังใจเสมอมา

สวัสดีครับ อาจารย์ ขจิต ฝอยทอง

-ปัจจุบันจั๊กจั่นยังมีให้พบเห็นได้ทั่วไปนะครับ โดยเฉพาะในฤดูแล้งหรือฤดูร้อนจะชุกชุมมากเป็นพิเศษ

-คิดว่าที่กำแพงแสนเอง ก็คงจะมีอยู่เป็นจำนวนมากเหมือนกันนะครับ เพียงแต่ต้องรอให้ถึงช่วงหน้าแล้งก่อน จึงจะสังเกตเห็น เนื่องจากเป็นฤดูที่เขาจะออกมาผสมพันธุ์กันพอดี ส่วนจั๊กจั่นที่พบในช่วงนี้นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นจั๊กจั่นตัวผู้และจั๊กจั่นหลงฤดูนะครับ

เล่าเรื่องได้น่าสนใจมากค่ะ ชอบชอบ

แถวบ้านก็ได้ยินเสียงร้องกันระงมเช่นกัน

ทีแรกก็หนวกหูน่าดู แต่พอนึกในสิ่งดีดี คงเป็นบุญของเราที่มีเสียงดนตรีมาขับกล่อม

  • สวยงาม น่ารักมาก
  • เคยไปที่ลาว เห็นชาวบ้านเอามาขาย
  • สวย เสียงดี ก็ยังมีคนกินได้ลงคอ
  • ขอบคุณครับ

ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆ ที่นำสู่ความรู้ใหม่ๆ ครับ อยู่กับป่าเขา และจั๊กจั่นมานมนาน ไม่เคยรู้เลยครับ ว่ากว่ามันจะเติบโตมาให้เราได้กินมันใช้ชิวิตในดินถึง 17 ปี คงไม่กินแล้วละครับ...เส้นทางชีวิตในดินคงสุขนัก เพียงไม่ถึงปีที่ออกจากดิน ก็ถูกจับกินซะงั้น สงสารจัง..เจ้า..จั๊กจั่น..

อิ อิ แหม มีแบบ มาเยียมแต่ละที นาจะมาเยอะๆ หน่อย ... กำลังหิวเลยใช่ไหมเจ้า

ช่วงอยู่เกาะ ได้ยินแต่เสียงน้องจั๊กจั่น ร้องได้ทุกวี่วัน ตรงเวลาด้วยนะคะ ..

ขอบคุณเรื่องเล่าน่ารักนะคะ นักกีฏโภชนา .. อิ่ม ลำ ยามเที่ยงนี้นะคะ

ลูกๆ ผมชอบมากเลยครับ ได้ความรู้ ตื่นตาตื่นใจ...

ขอบคุณมากครับ

 

สวัสดีครับ คุณ natacha

-ขอบคุณมากๆ ครับ ที่กรุณาแวะมาเยี่ยมและทักทาย

-ปัจจุบันในเมืองไทยเรายังมีจั๊กจั่นให้พบเห็นอยู่ทั่วไปนะครับ โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อน ยิ่งแถวไหนมีต้นจามจุรีอยู่เยอะๆ ด้วยแล้ว แถวนั้นจะมีเสียงจั๊กจั่นดังมากเป็นพิเศษ หากเราขุดดินลงไปลึกสัก 1 ฟุต รับรองว่าจะได้เจอตัวอ่อนของจั๊กจั่นอย่างแน่นอนครับ

-หากฟังดีๆ เสียงของจั๊กจั่นก็มีความไพเราะเหมือนกันนะครับ เป็นเสียงดนตรีจากธรรมชาติที่ช่วยขับกล่อมโลกเราให้มีชีวิตชีวามากขึ้น

สวัสดีครับ คุณ สันติสุข สันติศาสนสุข

-ชาวอีสาน ชาวลาว และชาวเหนือ ล้วนมีวัฒนธรรมการกินที่ใกล้เคียงกันนะครับ และจั๊กจั่นก็เป็นหนึ่งในอาหารป่าหรืออาหารพื้นเมือง(ที่มีเฉพาะในบางฤดู)ที่สามารถจะนำมารับประทานได้ เช่นเดียวกับ ตั๊กแตน แมงจีนูน แมงเม่า และแมลงอื่นๆ

-ขอบคุณมากๆ ครับ ที่กรุณาแวะมาเยี่ยมและให้กำลังใจ

สวัสดีครับ คุณป่าไม้เลื้อย/พาดีซอ

-ดูเหมือนจะหายหน้าหายตาไปนานเลยนะครับ.....ขอบคุณมากๆ ครับ ที่แวะมาเยี่ยมและทักทายเช่นเคย -โลกของแมลงยังมีความเร้นลับอยู่อีกมากมายนะครับ ที่รอคอยให้เราเข้าไปศึกษาและเรียนรู้ ผมแอบๆ อ่านและศึกษาเรื่องราวของแมลงหลายๆ อย่าง แต่รู้สึกทึ่งมากที่สุด ก็คือ "จั๊กจั่น" นิแหละครับ

-ผมบอกไม่ถูกจริงๆ ว่า ผมควรจะดีใจหรือเสียใจดี ที่บันทึกของผมเรื่องนี้จะส่งผลทำให้หลายๆ คนต้องเลิกกินจั๊กจั่นไปตามๆ กัน คิคิคิ

สวัสดีครับ คุณ Poo

-ที่เชียงรายมีเกาะด้วยเหรอครับ? คิคิคิ

-ที่จริง ผมก็ไม่ได้ใจร้ายขนาดนั้นหรอกนะครับ แค่เพียงเขียนให้จบแบบ "หักมุม" เพื่อให้คนอ่านไป ยิ้มไป มีความสุขและบันเทิงใจ จะได้อารมณ์ดีตลอดปีและตลอดไป....แค่นั้นเอง คิคิคิ

-เอาไว้ช่วงฤดูร้อนปีหน้า จะหาจั๊กจั่นคั่วไปฝากที่เจียงฮายนะครับ คิคิคิ

สวัสดีค่ะ

แวะมาเยี่ยม "นักกีฏโภชนา"

ไม่ทราบว่า ที่ผ่านมา อะไรอร่อยที่สุดคะท่าน.. hahaha

สวัสดีครับ อาจารย์ อ.นุ

-รู้สึกดีใจครับ ที่ทราบว่าลูกๆ ของอาจารย์ชอบเรื่องนี้มาก.....ช่วงฤดูร้อน ว่างๆ ก็อย่าลืมพาพวกเขาไปดูจั๊กจั่นตัวจริงและเสียงจริงให้ได้นะครับ แถวๆ กทม. คงจะมีให้พบเห็นหลายที่เหมือนกันครับ

-เรื่องคลิปวีดีโอนั้น ต้องยกความดีให้กับ "คุณหนูรี" นะครับ ที่กรุณาแนะนำแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม ทำให้สามารถนำเอาคลิปสารคดีเรื่องราวของจั๊กจั่นจาก BBC wildlife มาลงไว้ในบันทึกให้ทุกท่านได้เปิดดูด้วย....รู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจและความปรารถนาดีของเธอมากจริงๆ ครับ

สวัสดีครับ คุณ ชาดา ~natadee

-ขอบคุณมากๆ ครับ ที่กรุณาแวะมาเยี่ยมและทักทาย

-เท่าที่นักกีฏโภชนาผู้ช่ำชองอย่างผม(คิคิคิ) เคยลิ้มลองมา แมลงที่อร่อยที่สุด ก็คือ "แมงมัน" และ"ไข่แมงมัน" นะครับ(แมงมันลักษณะคล้ายๆ กับแม่เป้งมดแดง หากแต่อาศัยอยู่ใต้ดิน...ชาวภาคเหนือนิยมกินกัน แต่ภาคอื่นไม่กินกันนะครับ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะไม่รู้ว่า....มันสามารถกินได้...นั่นเอง) แมงมันที่ทอดแล้วจะกรอบอร่อย ส่วนไข่จะคล้ายๆ ไข่มดแดงนะครับ.....ส่วนที่อร่อยรองลงมา ก็คือ "ไข่มดแดง" นะครับ

แหม! พูดแล้ว น้ำลายจะหกเอาให้ได้เลยนะเนี่ย คิคิคิ

มาชมจั๊กจั่นค่ะคุณอักขณิช

เคยเห็นเมื่อวัยเด็ก ทึ่งในความดังและความไพเราะของเสียง

ตัวนิดเดียว แต่เข้าข่าย "เล็กพริกขี้หนู" ไม่ผิดเพี้ยน

ยิ่งทึ่งเข้าไปใหญ่ พอรู้ว่าอาศัยอยู่ใต้ดินถึง 17 ปี

ว๊าว! เหลือเชื่อไปหมดสำหรับเจ้าแมลงตัวนี้

ขอบคุณสำหรับความรู้ใหม่ค่ะ

มีความสุขกับครอบครัวทุกวันนะคะ

สวัสดีค่ะคุณอักขณิช

   ตัวโตมากค่ะ สวย เด็กๆได้เรียนรู้ สัมผัส ดีจังค่ะ

   เสียงจั๊กจั่นเป็นดนตรีที่ธรรมชาติสร้างมา ที่สกล ในป่ายังมีเสียงจั๊กจั่นประสานกันระงมค่ะ

    ขอบคุณสำหรับภาพสวยๆและความรู้ที่นำมาฝากค่ะ

สวัสดีครับ คุณครู krupadee

-ขอบคุณมากๆ เลยครับ ที่กรุณาแวะเข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจ

-ช่วงหน้าแล้ง จั๊กจั่นจะมีเยอะมากเป็นพิเศษนะครับ.....คิดๆ ดูแล้ว หากหน้าแล้งไม่มีเสียงจั๊กจั่นเลย คงจะเงียบเหงามากๆ เลยนะครับ

-ขอให้คุณครูมีความสุขกับทุกๆ ช่วงเวลาของชีวิตนะครับ

สวัสดีครับ คุณถาวร

-จั๊กจั่นที่เห็นในบันทึกของผม เป็นจั๊กจั่นยักษ์หรือที่ภาคเหนือเรียกว่า "จั่นโจ้" ครับ จะพบเห็นในช่วงหน้าฝน ส่วนจั๊กจั่นตัวเล็กๆ เรียกว่า "จั่นแจ้" หรือ "จั่นแคระ" ครับ ที่สกลฯ หรือที่อีสานก็คงจะมีคล้ายๆ กันนะครับ

- เอ!....ทำไมจั๊กจั่นในรูปที่คุณถาวรส่งมาให้ดูถึงไร้ปีกและแน่นิ่งอย่างนั้นละครับ? คิคิคิ

-ขอบคุณมากๆ ครับ ที่กรุณาแวะมาเยี่ยมและให้กำลังใจเสมอมา

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์โสภณ เปียสนิท

-ขอบคุณมากๆ ครับ ที่กรุณาแวะเข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจ

-ขอให้อาจารย์มีความสุขและสนุกกับการทำงานตลอดเวลานะครับผม

เนื่องในวาระคล้ายวันเกิด 17 กันยายน 2554นี้

ขอถือโอกาสนำคำอำนวยพรมาฝากไว้ ณ ที่แห่งนี้

Ico256

ขอพระพุทธวิสุทธิเป็นที่พึ่ง

ขอพระธรรมในคำนึงถึงเสมอ

ขอพระสงฆ์ทรงคุณบุญบำเรอ

ขอให้เจอ "ศีลธรรม" สุขสำราญ เทอญ



สวัสดีครับ ท่านอาจารย์โสภณ เปียสนิท

 

ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างสูงเลยนะครับ

ที่กรุณาอวยพรวันเกิดให้ผมล่วงหน้าด้วยบทกวีอันทรงคุณค่าอย่างยิ่ง.....ซึ่งเป็นเหมือนกับหยาดน้ำทิพย์ที่ช่วยชะโลมใจของผมให้มีความอิ่มเอิบและเบิกบานใจอยู่ตลอดเวลา

 

ขอให้ท่านอาจารย์มีความสุข มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ประสบแต่สิ่งที่ดีงาม และเป็นที่รักของทุกๆ คนตลอดไป....นะครับ

ขอบพระคุณมากๆ ครับ

  • ถ้าไม่ได้อ่านเรื่องนี้ จะเสียดายแย่เลยค่ะ คุณอักขณิช    
  • เห็นชื่อบันทึกแว้บๆ หลายวันก่อน ว่าจะตามมาอ่านเพื่อระลึกถึงประสบการณ์ในวัยเด็ก แต่ยุ่งๆ เลยลืมไปเลย 
  • เห็นหน้าคุณอักขณิชก่อนวันใหม่ นึกได้ตามมาอ่าน สนุกมากค่ะ อ่านแล้วก็ต้องอุทานว่า" จั๊กจั่น อัศจรรย์ถึงเพียงนี้! : Amazing Cicada!" และตอนจบยังได้หัวเราะกับข้อความ "แหม! มาเยี่ยมกันทั้งที ก็น่าจะพากันมาหลายๆ ตัวน่ะ สัก 20 ตัวก็คงจะดี  อวบๆ อ้วนๆ แบบนี้ จับไปคั่วแล้วเอาไปตำทำน้ำพริกกินกับผักสดๆ  คือสิแซ่บและนัวคักขนาด” (ใช้ภาษาอีสานบ้านเฮาผสมกับภาษาคำเมืองได้กลมกลืนเชียวนะคะ)  
  • Amazing Cicada life cycle -Sir David Attenborough's Life in the Undergrowth - BBC wildlife ก็ทำให้ตื่นตาตื่นใจมากค่ะ น้องเพียงพอและน้องแพรวพราวได้ดูเหมือนลูก อ.นุ ไหมคะ
  • ที่อุ้มในภาพประจำตัวของคุณอักขณิชคือน้องแพรวพราวใช่ไหมคะ ตอนนี้เธออายุเท่าไหร่แล้ว
  • น้องเพียงพอหน้าตาดีมาก (คุณแม่คงเป็นคนงามนะคะ) และท่าทางที่จับปีกพี่จั๊กจั่นกาง ก็น่ารักมากค่ะ เสียดายว่าเสื้อเธอลายเข้มไปหน่อย ทำให้ภาพจั๊กจั่นถูกกลืนไปกับลายเสื้อ แต่ภาพจั๊กจั่นที่กางปีกบนโต๊ะ ปีกสวยมากค่ะ ขนาดความยาวของลำตัว (3 นิ้ว) ตามที่คุณอักขณิชระบุ ทำให้ต้องหยิบไม้บรรทัดมาดู โอ้โห! ตัวใหญ่จริงๆ ด้วยค่ะ
  • จั๊กจั่นตัวสีเขียวของคุณหนูรีก็สวยแปลกดีค่ะ ไม่เคยเห็น
  • ตอนที่อยู่บ้านป่า (ก่อนที่พ่อจะเสีย พ่อเสียตอนตนเองอายุ 4 ปีแล้วย้ายกลับไปบ้านเกิดพ่อแม่) จำภาพได้ติดตาว่า ได้ตามผู้ใหญ่ไปติดไข่จั๊กจั่นในป่า โดยเขาจะใช้ไม้ยาวๆ ปลายไม้ติดยางเหนียวๆ ไปแปะเข้ากับไข่จั๊กจั่นที่ติดอยู่กับลำต้นของต้นไม้ในตำแหน่งที่ค่อนข้างสูง (เป็นไม้ป่าค่ะไม่ใช่ฉำฉา) ไข่จั๊กจั่นเป็นทรงรียาวค่ะ (คุณอักขณิชเคยเห็นไหมคะ) แล้วผู้ใหญ่ก็จะนำไข่ดิบไปคลุกกับข้าวเหนียวนึ่งที่ยังร้อนๆ ทำให้ไข่สุก ข้าวก็จะมีสีเหลือง แล้วก็แบ่งให้เด็กคนละปั้น (ภาษาบ้านเฮา) ยังจำกลิ่นและรสได้ดี กลิ่นหอมรสชาติมันอร่อยกว่าไข่อื่นๆ ค่ะ
  • คิดเหมือนกันกับคุณพาดีซอเลยค่ะ พอรู้ว่าเขาต้องใช้ชีวิตอยูใต้ดินยาวนานขนาดนั้น ก็ทำให้กินไม่ลงค่ะ แม้ตนเองจะเป็นนักกีฏโภชนาคนหนึ่ง
  • ขอบคุณมากนะคะที่นำทั้งความรู้ที่น่าทึ่ง ภาพที่ตื่นตา และความสัมพันธ์ในครอบครัวมาแบ่งปัน 
  • ขออนุญาตนำเรื่องเล่านี้ไปเป็นกรณีตัวอย่างในหัวเรื่อง "ปัจจัยด้านการเลี้ยงดูในครอบครัวต่อการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก" ในการสัมมนานักศึกษาในวันที่ 22 กันยายน 2554 ด้วยนะคะ (อยากเห็นภาพ Video ที่คุณอักขณิชกล่อมลูกจังค่ะ กล่อมด้วยเพลงอะไรคะ ผลการวิจัยชี้ว่า ลูกในครอบครัวที่มีพ่อช่วยแม่เลี้ยงดู จะมีพัฒนาการดีกว่าลูกในครอบครัวที่พ่อไม่ได้ช่วยเลี้ยงดูค่ะ) ความเห็นยาวราวกับเป็นอีกบันทึกหนึ่งเลยนะคะ
  • จะรออ่านเรื่องแนวนี้อีกนะคะ เล่าได้สนุกเพลิดเพลินดีจังค่ะ   

สวัสดีครับ อาจารย์ ผศ.วิไล แพงศรี

-ขอบคุณมากๆ เลยครับ ที่อาจารย์กรุณาเข้ามาเยี่ยมและช่วยเล่าเรื่องราวของจั๊กจั่นเพิ่มเติม ซึ่งช่วยทำให้บันทึกนี้มีความสมบูรณ์มากยิ่งๆ ขึ้น (ผมอ่านแล้ว ก็เคลิ้มตามอาจารย์ไปด้วยนะครับ คิคิคิ)

-คำว่า "แซ่บ" และ "นัว" ที่ผมเขียนไว้ในตอนท้าย เป็นคำอีสานบ้านเฮาทั้งหมดนะครับ บ่แมนภาษาภาคเหนือเด้อครับ....เพียงแต่คำว่า "นัว" ส่วนใหญ่จะใช้พูดกันมากทางอีสานเหนือ หมายถึง "อร่อยแบบกลมกล่อม" หากเป็น "นัวเลิ่ก" อันนี้จะเป็นคำที่ใช้พูดกันใน สปป.ลาว หมายถึง "อร่อยมากๆ จนบรรยายไม่ถูก" นะครับ

-น้องเพียงพอและน้องแพรวพราว ชอบดูสารคดีเรื่องนี้เช่นกันนะครับ ตอนดู ผมก็อธิบายให้เธอฟังไปด้วย ทำให้เธอสนใจมากๆ แถมยังบอกว่า "งั้นหนูก็ต้องเรียกจั๊กจั่นว่า....พี่จั๊กจั่นนะสิค่ะ" คิคิคิ

-ที่ เห็นในภาพประจำตัวของผม คือ น้องเพียงพอ ครับ(ตอนเธออายุ 3 เดือน) ตอนนี้อายุ 6 ปี กับ 4 เดือน ครับ..... ส่วนน้องแพรวพราวนั้น ต้องเข้าไปดูในบันทึกเรื่อง "ตุ๊กตาหมาขี้ไคลกับลูกสาวคนเล็ก" นะครับ ตอนนี้อายุ 3 ขวบ กับ 5 เดือนครับ

-ผมยังไม่เคยเห็นจั๊กจั่นตัวสี เขียวมาก่อนเช่นกันนะครับ เพิ่งเห็นจากคุณหนูรีนี่แหละ สวยงามมากๆ .....ลืมบอกไปว่า คลิปวีดีโอที่ผมเอามาลงไว้ในบันทึกนี้ ผู้ที่แนะนำแหล่งข้อมูลให้ผม ก็คือ "คุณหนูรี" นะครับ เธอช่างเป็นกัลยาณมิตรที่แสนดีและน่ารักมากๆ เลยครับ

-น้องเพียงพอ หน้าตาเหมือนแม่ครับ แต่ผิวมาทางพ่อ(คิคิคิ) ส่วนแพรวพราวหน้าตาคล้ายพ่อ แต่ผิวขาวไปทางแม่ครับ ....แม่บ้านผมสวยปานกลางนะครับ น่ารัก พูดน้อย ไม่ขี้บ่น อารมณ์ดี และใจดีมากๆ เลยครับ.....ดีใจและภูมิใจมากๆ เลยครับ ที่ผมได้เธอมาเป็นคู่ชีวิต

-จั๊กจั่นที่เห็นในภาพ เรียกว่า "จั่นโจ้" หรือ "จั๊กจั่นยักษ์" ตัว นี้ใหญ่ที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา.....ตอนอยู่ที่อีสาน ผมเคยเห็นแต่ตัวเล็กๆ นะครับ แต่ตัวใหญ่อย่างนี้ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย จึงไม่แน่ใจว่าทางอีสานบ้านเฮามีตัวใหญ่ขนาดนี้บ้างหรือเปล่า

-ที่ เชียงใหม่เขาก็กิน "ไข่จั่น" หรือ "ไข่จั๊กจั่น" เช่นกันนะครับ ช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.ของทุกปี ชาวบ้านเขาจะพากันไปหาไข่จั่นกัน (ผมก็เคยไปนะครับ เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้าน) โดยเอาปลายไม้ไผ่ไปแซะเอาตามเปลือกไม้ จากนั้นก็เอามาห่อใบตองและปิ้ง เวลาสุกแล้ว ไข่จะมีสีเหลือง(เหมือนที่อาจารย์บอกมา) เอาข้าวเหนียวจิ้มกิน อร่อยอย่าบอกใครเชียว คิคิคิ

-รู้สึกเป็นเกียรติมากๆ เลยครับ ที่อาจารย์จะนำเรื่องราวของผมไปเป็นกรณีตัวอย่างประกอบการสัมมนา....ปลื้มใจจริงๆ ครับผม

-รู้สึก ดีใจจังเลยครับ ที่ได้ทราบว่าบันทึกของผมทำให้อาจารย์และเพื่อนๆ หลายท่านที่ได้อ่านมีความสุข ยิ้ม ขำ และอารมณ์ดี.....หากเป็นเช่นนี้ ต่อไปผมก็จะพยายามหาเรื่องราวดีๆ มาเขียนให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันบ่อยๆ นะครับ เพื่อให้ทุกท่านมีความสุข เบิกบานใจ และอารมณ์ดีตลอดปีและตลอดชาติ คิคิคิ

-ขอบคุณอาจารย์มากๆ เลยนะครับ

ช่างมีเรื่องแปลกๆมาเล่าสู่กันนะคะ อ่านเพลินเลยค่ะ

จั่นโจ้นี่ไม่เคยเห็นมาก่อน ปีกสวยมาก

เสียงจักจั่นกรีดปีกทำให้นึกถึงฤดูร้อน แถวบ้านก็จะดังระงมแต่ไม่ค่อยได้เห็นตัวเขาหรอกค่ะ

สวัสดีครับ อาจารย์ คุณนายดอกเตอร์

-ขอบคุณมากๆ ครับ ที่กรุณาแวะมาเยี่ยมและให้กำลังใจ

-จั่นโจ้ เป็นจั๊กจั่นพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทยเรานะครับ สามารถพบเห็นได้ตลอดทั้งปี แต่วงจรชีวิตก็เป็นเช่นเดียวกันกับจั๊กจั่นชนิดอื่นๆ นะครับ

- ตามปกติจั๊กจั่นจะมีมากในฤดูร้อน เพราะเป็นช่วงที่เขาจะโผล่ขึ้นมาจากใต้ดินเพื่อลอกครอบ ผสมพันธุ์ และวางไข่ .....เมื่อใดก็ตามที่เราได้ยินเสียงของจั๊กจั่น เมื่อนั้นแสดงว่าฤดูร้อนได้มาถึงแล้ว

-ขอเอาใจช่วยให้บ้านของอาจารย์รอดพ้นจากน้ำท่วม และพบเจอแต่สิ่งที่ดีๆ ตลอดเวลานะครับ

ผู้ใหญ่ก็ช่างจะหลอกเด็กนะครับ เด็กๆผมก็เจอประจำเลย ไม่ใช่จั๊กจั่นนะ ผู้ใหญ่หลอกนะ แสงไฟกลางคืนก็ว่า "นั่นกระสือนะ ถ้าเด็กๆออกนอกบ้านกลางคืนกระสือจะกินไส้" เห้อ...

สวัสดีครับ   คุณยุวนุช

 

-ก่อนต้องขออภัยมากๆ ด้วยครับ ที่ผมเข้ามาอ่านความคิดเห็นช้าไปตั้งหลายเดือน เนื่องจากไม่ค่อยได้เปิดอ่านบันทึกเก่าๆ มากเท่าใดนัก

-จั๊กจั่นมีหลายชนิดนะครับ แต่ที่เห็นในรูปนั้น เรียกว่า "จั่นโจ้" ซึ่งเป็นจั๊กจั่นที่มีขนาดใหญ่กว่าจั๊กจั่นทั่วๆ ไป เป็นพันธุ์ที่หายากด้วย

จั๊กจั่นที่ร้อนระงมในฤดูร้อน เป็นจั๊กจั่นขนาดเล็กนะครับ ต้องสังเกตดีๆ จึงจะมองเห็น

-ยินดีที่ได้รู้จัก และขอบคุณมากๆ ครับ ที่กรุณาแวะเข้ามาเยี่ยมเยือน

สวัสดีครับ คุณนกขมิ้น

 

-ตอนแรกผมก็ตั้งใจจะหลอกเด็กแหละนะครับ แต่เจ้าจั๊กจั่นมันไม่ยอมบินหนีไปสักที ก็เลยต้องเล่าเรื่องราวของมันให้คนในบ้างฟังอย่างที่เห็น

-การหลอกเด็ก ส่วนใหญ่จะเป็น "กุศโลบาย" ที่ช่วยทำให้เด็กเกิดความกลัวและเชื่อฟังผู้ใหญ่นะครับ ในกรณีที่เด็กๆ ซุกซนหรือดื้อรั้น ซึ่งก็ได้ผลเกือบทุกทีไป กว่าจะรู้ตัวว่าถูกหลอกก็สายไปหลายปีเลยทีเดียว 555

ขอบคุณมากมายค่ะสำหรับความรู้ใหม่ คงต้องนำข้อมูลนี้ไปเล่าให้น้อง ๆ บนดอยฟังบ้างแล้วค่ะ

เสียดายจังให้ดอกไม้ได้แค่ดอกเดียว ไม่งั้นจะให้ทั้งสวนเลยคราบ 555 อ่านบันทึกนี้แล้วมีความสุขกับครอบครัวที่อบอุ่น และอิ่มความรู้ที่ได้รับครับ ขอบคุณที่แบ่งปันสิ่งดี ๆ ให้ได้สัมผัสนะครับ

สวัสดีครับ คุณดอกหญ้าน้ำ

 

หากน้องๆ บนดอยได้ฟังข้อมูลใหม่เรื่องนี้แล้ว

รับรองว่าจะรู้สึกสงสารและเลิกกินจั๊กจั่นไปอีกนานเลยละครับ 555

สวัสดีครับ คุณ nobita

 

* เกร็ดความรู้เรื่องจั๊กจั่นในบันทึกนี้ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้นะครับ ซึ่งจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกทึ่งอย่างมากเลยทีเดียวละครับ

** ขอบคุณมากๆ ครับ ที่กรุณาแวะเข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจ

ใช่เลยค่ะน่าจะเป็นเวลาของเขาค่ะ เสียงดังระงมเลยค่ะตอนที่อ่านบันทึกค่ะขอบคุณความรู่้ดีๆอันนี้ค่ะ 

ลุ้นแทบแย่ค่ะ นึกว่าจะมีเมนูจั่นโจ้ทอด ตามประสานักโภชนาภัตราคารบ้านทุ่งค่ะ แซวเล่นนะคะ 

ทราบแล้วค่ะพื้นที่ความสุขของน้องเพลินคืออะไร

สวัสดีครับ  คุณ c write


ขอบคุณมากๆ ครับ ที่กรุณาแวะเข้ามาเยี่ยมและอ่านบันทึกนี้

ต้องขออภัยมากๆ ด้วยครับ ที่ผมมาตอบคอมเม้นท์นี้ช้าไปตั้ง 2 เดือน  555

สวัสดีครับ  พี่กิ่ง Sila Phu-Chaya


พื้นที่ความสุขของผมมีอยู่รอบๆ บ้านนะครับ

และความสุขก็หมุนอยู่รอบๆ ตัวผมทุกช่วงเวลาเลยละครับ  555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท