ภาษาในชีวิตประจำวัน


 

ความคิดเห็นกับสิ่งที่เป็นไป

                  อั่นนี่ลาคาทอได๋คับ........... ผมพยายามใช้ภาษาถิ่นเมื่อซื้อของกับแม่ค้าในร้านค้าปลีก ซึ่งในชีวิตประจำวันของตนเองมักจะวนเวียน อยู่กับภาษาอีสาน ภาษากลาง และภาษาอังกฤษ “ภาษาคือ อำนาจ” คำพูดของใครก็ไม่รู้ ที่เคยได้รับรู้เมื่อครั้งหนึ่งนานมาแล้ว และมันอาจจะเป็นคำพูดที่เป็นจริงก็ได้ ครั้งหนึ่งโลกของคนยังอยู่ในวงแคบๆของคนที่ใช้ภาษาเดียวกันในท้องถิ่นของตน เอง การรับรู้การเข้าใจมุมมองต่างๆจึงมักจะออกมาในรูปแบบเดียวกันแทบทั้งสิ้น


                    ทุกวันนี้โลกค่อยๆกลมกลืนกันมากขึ้นกว่าเดิม เพราะภาษาเป็นสื่อนำ (แต่ทำไมจึงเกิดความขัดแย้งบ่อยๆก็ไม่รู้) การรับรู้ข้อมูลข่าวสารจึงไม่ได้จำกัดเฉพาะวงแคบๆในท้องถิ่นของตนเองอยู่ อีกต่อไป ซึ่งบางครั้งก็สร้างความสับสนให้กับคนได้เหมือนกัน “เอา บ่วง มาไห่ อั๊ว แน” คำว่า บ่วง ในที่นี้เป็นภาษาอีสานที่ทำให้เพื่อนผมคนหนึ่งเข้าใจผิดว่า เป็นภาษาจีน มาตั้งแต่เล็กจนโต เพราะในภาษาไทยนั้น คำๆนี้ แปลว่า “ช้อน” เขาใช้มันอย่างกลมกลืนในชีวิตประจำวันจนไม่รู้ที่มาของรากคำ


                    ภาษาคือความภูมิใจ มีเรื่องเล่าอยู่หนึ่งเรื่อง ครั้งหนึ่งนักศึกษาสาวชาวต่างชาติต้องการที่จะเรียนภาษาไทย ทั้งพูดและเขียน จึงถือกระดาษพร้อมกับปากกามาให้เพื่อนชายชาวไทยเขียนคำศัพท์พร้อมทั้ง อธิบายความหมาย เมื่อชายหนุ่มเขียนศัพท์ภาษาไทยเสร็จ หญิงสาวก็จะเขียนภาษาของตนเองไว้ที่ข้างบนคำภาษาไทยทุกครั้ง เมื่อเป็นอย่างนี้มากๆเข้า ชายหนุ่มเกิดความรำคาญก็เลยเขียนไว้ที่มุมบนสุดของหัวกระดาษ จนไม่มีที่ว่างที่จะเขียนต่อ การเรียนภาษาไทยวันนั้นจึงต้องเลิกไปโดยปริยาย


                    ฮักของอ้ายมันกุ้ม คือสุ่มงุมหัว รักของพี่มันกลุ้ม เหมือนโดนสุ่มครอบหัว (มืดมนและไม่เห็นทางออก) หากสาวอีสานคนไหนได้ยินพญาจากปากของชายหนุ่มบทนี้เข้าคงต้องมีอัน เคลิบเคลิ้มเป็นแน่ ถ้าย้อนหลังไปซักสิบยี่สิบปีก่อนหรือนานกว่านั้น แต่หากหญิงสาวคนไหนได้ยินคำพูดเหล่านี้ในปัจจุบันคงอดที่จะหัวเราะไม่ได้แน่ หรือภาษาเฉพาะถิ่นกำลังสูญหายไปตามกาลเวลาและดูเหมือนล้าหลัง แล้วถูกแทนที่ด้วยภาษาใหม่ที่เป็นสากลมากกว่า พร้อมๆกับแนวคิดที่เปลี่ยนไปตามภาษาที่เราใช้


                    ประเทศไทยมีความเป็นนานาชาติมากกว่าที่คิด เพราะในแต่ละท้องถิ่นมักจะมีภาษาเฉพาะของตนเอง ภาคอีสานมีภาษา ลาว ญ้อ ภูไท เขมร ฯลฯ ภาคกลางมีภาษาไทย ภาคเหนือ มีล้านนา ภาษาของชาวไทยภูเขา และภาษาพม่า ภาคใต้ มีภาษาใต้ และยาวี และอื่นๆอีกมากมายที่จะกล่าวถึงได้ทั้งหมด แต่ทุกคนก็อยู่กันอย่างกลมกลืนภายใต้ภาษาไทย(มั้ง?) หลายวันก่อนได้อ่านบทความเกี่ยวกับครั้งหนึ่งในอดีต ได้มีผู้พยายามเปลี่ยนรูปแบบของภาษาไทยแล้วบังคับให้ประชาชนทำตาม แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะประชาชนและนักภาษาศาสตร์ต่อต้านจึงเลิกล้มความตั้งใจ นั้น หากท่านผู้นั้นยังมีชีวิตอยู่เขาก็คงจะภูมิใจในความคิดของตนเองเป็นแน่แท้ เพราะการใช้ภาษาปัจจุบันได้เปลี่ยนไปตามแนวทางที่ท่านตั้งใจโดยไม่มีใคร บังคับซะด้วย(.........แหมจะรอนิดรอหน่อยก็ไม่ได้ อย่าให้ถึงกับบังคับกันเลยนะ ฮึๆ)


                  ผมติดแผ่นภาพตัวอักษร ของประเทศเพื่อนบ้าน ไว้ที่ผนังห้องทำงานหลังเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อเรียนรู้และหัดอ่าน ทำให้ผมนึกถึงเรื่องของท่านผู้นั้น ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการใช้ภาษาไทย ถ้ามองในแง่ดี คือความสะดวกในการใช้งานจริงที่ตัดตัวอักษรที่ไม่จำเป็นออกเหมือนอย่างในภาพ พอพลิกเหรียญมาอีกด้าน ก็ทำให้ผมรู้สึกว่าความสวยงามของภาษาอาจจะสูญหายไปอย่างมหาศาลหากเราทำ อย่างนั้นจริงๆ





ปปป
ป.ล.
1. ความคิดเห็นส่วนตัว ไม่มีเจตนาที่จะทำให้ บุคคล องค์กร หรือ สถานที่ใดๆ ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น
2.พิมที่วิสาหะกิดโลงพิมสึกสา (ผมเขียนตามภาษาเขานะครับ)
3.บทความนี้เขียนเมื่อ 20/08/2547
 
 
  29 สิงหาคม 2547 เวลา : 20:00:00

 

นี่คือบทความจากคุณ Cphucphu (นามแฝง) เป็นบุคลากรที่ทำงานด้านวิชาการจากขอนแก่น
ท่านเป็นชาว ต.กุดโดน อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์
ซึ่งมีมุมมอง ความคิดเห็นที่น่าสนใจและหลายคนที่ได้อ่าน ประทับใจในบทความนี้
จึงนำมาเผยแพร่อีกครั้ง
ติดต่อผู้เขียนบทความท่านนี้
e-mail : [email protected]

หมายเลขบันทึก: 45986เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2006 14:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท