GMO กับสินค้าเกษตร ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์กบฏ


 

ความคิดเห็นกับสิ่งที่เป็นไป

           ไม่แน่ใจว่าขึ้นหัวข้อรุนแรงไปหรือเปล่า? คำว่ากบฏในที่นี้ผมขอทำความเข้าใจว่า หมายถึงตัวผมเองนะครับ ไม่ได้มีเจตนาพาดพิงบุคคลอื่น เพราะโดยพื้นฐานในจุดยืนของผมปัจจุบันแล้ว ยืนอยู่ตรงกึ่งกลางของนักการเกษตรและนักเศรษฐศาสตร์ จะว่าเก่งเรื่องการเกษตรก็ไม่ใช่ เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ก็ยิ่งห่างไกล ด้วยความรู้ที่มีอยู่แค่เพียงงูๆปลาทั้งสองด้านผมจึงอยากจะเสนอ เรื่องในหัวข้อข้างบนออกมาในมุมมองของผม
 
                    แรกเริ่มที่ได้อ่านบทความเรื่องพืช GMO ผมได้จินตนาการสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตสำหรับเกษตรกรไทย ดังนี้

๑.      เมล็ดพันธุ์พืช GMO ได้รับการผูกขาดจากเอกชน แน่นอนเมื่อมีการเผยแพร่ พืชเหล่านี้ในประเทศแล้ว อำนาจที่ขาดหายไปของเกษตรกรไทยคือการขยายพันธุ์พืชด้วยตนเอง เนื่องจากพืชพันธุ์ที่มีการตัดแปลงพันธุกรรม มีผู้ครอบครองคือเอกชนแทบทั้งสิ้น และได้มีการจดสิทธิบัตรไว้เรียบร้อย ทุกอย่างที่เกษตรกรปลูกอาจจะต้องซื้อในอนาคต

๒.    ผลผลิตเกษตรกรที่เพิ่มขึ้น แน่นอนหละราคาอาจจะตกต่ำลงเป็นธรรมดา ถามว่า หากเรายังประชาสัมพันธ์ว่าตนเองจะเป็นครัวของโลก ที่ผลิตอาหารปลอดภัยออกมา มีประเทศผู้นำเข้าในปัจจุบันประเทศใดบ้างที่เต็มใจรับซื้อผลผลิตที่มาจาก การดัดแปลงพันธุกรรมเหล่านี้อย่างเต็มใจ ถ้าหากมีเกษตรกรไทยก็ควรผลิตขายให้กับประเทศนั้นเถอะครับ แต่จากข้อมูลอันน้อยนิดที่ผมได้รับทราบมาในปัจจุบันยังไม่ได้พบเห็นประเทศ ไหนเลยที่ประกาศว่าตนเองพร้อมที่จะรับซื้อผลผลิตเหล่านี้อย่างเต็มภาคภูมิ ถ้ามีกรุณาแนะนำด้วยนะครับ
 
๓.     การเพิ่มผลผลิตเกษตร แต่ไม่ใช่การกระจายผลผลิต เมื่อพูดถึงความอดอยากของประชาชน ผมคิดว่าคงไม่ใช่ประเทศไทยที่ประสบปัญหานี่ เพราะประเทศของเราก็สามารถผลิตอาหารเพียงพอเลี้ยงประชาชนประเทศอยู่แล้ว หากมองว่าเป็นการเพิ่มผลผลิตเพื่อเพิ่มรายได้นั้นก็คงไม่ใช่คำตอบที่ถูก ต้องนัก เพราะส่วนใหญ่ผลผลิตเกษตรที่เราผลิตเพื่อเป็นการค้าในปัจจุบันผลประโยชน์ มักจะตกอยู่กับรายใหญ่เท่านั้น หากมีโอกาสได้ศึกษาเรื่องรายได้ของเกษตรกรที่ขายพืชเศรษฐกิจจะพบว่าส่วนใหญ่ จะได้รับผลตอบแทนเงินสดไม่คุ้มกับค่าแรงของตนเองและแรงงานในครอบครัวด้วยซ้ำ (จากข้อมูลส่วนตัวนะครับ ผมไม่สามารถเอามานำเสนอได้ด้วยตัวเลข) โดยเฉพาะพืชหลัก เช่น มันสำปะหลัง อ้อย และข้าว ที่เป็นตัวเลขรายได้เป็นหลักหมื่นหลักแสน มักจะเป็นเพียงเงินสดหมุนเวียนเท่านั้น ไม่ใช่รายได้สุทธิของเกษตรกร (ในข้อนี้เราอาจจะเลือกเอาระหว่างคุณภาพหรือปริมาณ) 

๔.     อาจจะมีผู้แย้งว่า การใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรมทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิต เช่น ค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง ค่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แล้วก็กระซิบด้วยเสียงเบาๆแทบจะไม่ได้ยินว่า เกษตรกรอาจจะต้องเสียค่าพันธุ์พืชเพิ่มขึ้นบ้างเพราะเราใช้เงินวิจัยไปเยอะ ค่าเสียโอกาสทางสิ่งแวดล้อมที่อาจกระทบบ้าง ไม่ต้องไปสนใจมันหรอก เพราะปลูกพืชเหล่านี้คุณมีรายได้เพิ่มขึ้นก็พอ? ภูมิปัญญาในการขยายพันธุ์พืชไม่ต้องไปใส่ใจหรอก ซื้อกับเราดีกว่าซึ่งให้ผลผลิตสูงกว่ากันเยอะไม่ต้องเสียเวลาด้วย
 
                 ผมรู้สึกว่าเรื่องที่ผมเขียนออกมาในวันนี้ค่อนข้างที่จะเต็มไปด้วยอารมณ์ จึงขอหยุดไว้เพียงเท่านี้.....ครั้งล่าสุดที่ผมเชื่อว่าได้รับประทานอาหาร ที่สดสะอาดและปลอดภัย คงประมาณ 1 เดือนก่อนได้มั้งเนื่องจากเป็นพืชที่ปลูกโดยญาติผู้ใหญ่ของผมเองที่ปลูกไว้ ในสวนหลังบ้าน ไม่ได้ใส่ปุ๋ย  ไม่ได้ใส่สารเคมี ผมแนะทำท่านว่าทำไมไม่เอาไปขายที่ตลาดเหมือนที่เคยทำ ก็ได้รับคำตอบสั้นๆว่า “ไม่มีใครซื้อหรอก ชาวบ้านนะชอบผักสวยๆ ใบโตๆเขียวๆ ผักที่เล็กๆ ลูกไม่สวย ใบไม่เขียวอย่างนี้ใครจะซื้อ เอาไปขายกี่กิโลฯ ก็ได้แบกกลับบ้านมาเท่านั้น





ปปป
 

ป.ล.
1. ความคิดเห็นส่วนตัว ไม่มีเจตนาที่จะทำให้ บุคคล องค์กร หรือ สถานที่ใดๆ ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น
2.จุดสิ้นสุดของการเดินทางที่มืดมน มักจะมีทางออกและแสงสว่างให้เห็นอยู่บ่อยๆ
 
 
  25 สิงหาคม 2547 เวลา : 18:33:00

 

นี่คือบทความจากคุณ Cphucphu (นามแฝง) เป็นบุคลากรที่ทำงานด้านวิชาการจากขอนแก่น
ท่านเป็นชาว ต.กุดโดน อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์
ซึ่งมีมุมมอง ความคิดเห็นที่น่าสนใจและหลายคนที่ได้อ่าน ประทับใจในบทความนี้
จึงนำมาเผยแพร่อีกครั้ง
ติดต่อผู้เขียนบทความท่านนี้
e-mail : [email protected]

หมายเลขบันทึก: 45985เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2006 14:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 14:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท