เกษตรกรไทย ลูกไก่ในกำมือ 3(ต้นข้าวในนาดินทรายที่แห้งแล้ง)


  ความคิดเห็นกับสิ่งที่เป็นไป

                    ชาวนาผู้ปลูกข้าว กับเกษตรกรผู้ปลูกผัก แทบจะหมดอิสรภาพในการเพาะปลูกของตนเองในปัจจุบัน นี่ไม่ใช่คำพูดที่เกินจริง เพราะมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังขยายวงกว้างออกมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่เกิดจากความจงใจและไม่ได้ตั้งใจ


                    จากการสอบถามชาวนาและได้สังเกตส่วนตั ข้าวที่เขาปลูกในปัจจุบันนี้ จะมีพันธุ์ข้าวหลักอยู่เพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น เช่นข้าวเจ้าพันธุ์ได้แก่ หอมมะลิ 105 ปทุมธานี ข้าวเหนียว ก.ข.6 หรือสันป่าตอง ส่วนข้าวนาปรังก็ได้แก่ ข้าวชัยนาท และข้าวสุพรรณบุรีเป็นต้น ความหลากหลายของท้องนาไทยได้ลดลงอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่สิบปี จากข้าวพื้นเมืองที่เคยมีอยู่เป็นร้อยเป็นพัน หรืออาจจะถึงหมื่นๆชนิดทั้งที่มีชื่อเสียงและไม่มีชื่อเสียง ได้เลือนหายและลบเลือนไปจากชาวนาส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ผมเคยถามชาวนาบางคนว่าทำไมเขาจึงเลิกเก็บรักษาพันธุ์ข้าวเองเหมือนอย่างที่ บรรพบุรุษของเขาเคยทำมา ก็มักจะได้คำตอบคล้ายๆกันว่า ข้าวมันแข็งไม่อร่อย ทางพ่อค้าผู้รับซื้อไม่ต้องการ และให้ราคาไม่ดี  

                ในความเห็นส่วนตัวของผมนั้นคิดว่า เป็น ไปได้หรือที่ข้าวพื้นเมืองหลายร้อยหลายพันชนิดที่บรรพบุรุษของเราได้เก็บ รักษาและสั่งสมมันมาเป็นเวลายาวนานจะไม่มีข้าวที่มีคุณภาพเลย ในความเป็นจริงที่น่าเจ็บปวด ข้าวที่ถูกพัฒนาขึ้นด้วยวิทยาการสมัยใหม่ ซึ่งเกษตรกรต้องจ่ายเงินซื้อหามานั้น ไม่สามารถเก็บรักษาพันธ์ข้าวไว้ปลูกในปีต่อๆไปได้ เพราะคุณภาพของข้าวจะลดลงเรื่อยๆในทุกๆปีที่ชาวนาเก็บรักษาพันธุ์ไว้ เขาจึงมีความจำเป็นต้องซื้อพันธุ์ข้าวใหม่มาเพาะปลูกในไร่นาของตนเองทดแทน อยู่เสมอ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นกับผักในกรณีที่คล้ายๆกัน เพราะหากเกษตรกรปลูกผักเพื่อการค้าแล้ว เขามักจะซื้อเมล็ดพันธุ์ผักลูกผสมที่มีผลผลิตสูง และมีลักษณะที่ตรงตามความต้องการของตลาด จึงจำเป็นต้องมีการซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่เกือบตลอดเวลา น้อยครั้งนักที่ผมจะเห็นเกษตรกรที่ปลูกผักเพื่อการค้าเก็บรักษาเมล็ดและ ขยายพันธุ์เอง
 

                   งานวิจัยด้านการเกษตรในปัจจุบัน จะมีมิติทางวิทยาศาสตร์ และเชิงธุรกิจมากกว่ามุมมองทางสังคม เมื่อพูดถึงการผลิตเราก็มักจะมองไปที่การปรับปรุงพันธุ์ การใช้ปุ๋ย และการปราบศัตรูพืช เมื่อมองถึงเรื่องของรายได้ทางเศรษฐกิจ เราก็มักจะมองไปที่ตลาด และกำไรที่คาดว่าจะได้ สองอย่างนี้ได้ผสมผสานและเข้ากันได้อย่างกลมกลืนเพราะนั่นคือสิ่งที่ผู้ หวังกำไรต้องการ และใช้เป็นข้ออ้างอันชอบธรรมในการพัฒนาสินค้าและการขายผลผลิต ผู้ที่มีความรู้ด้านการเกษตรส่วนใหญ่ก็มักจะเข้าทำงานในระบบธุรกิจเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตร จะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะลงมือทำการเกษตรของตนเอง น่าเสียดายที่ทรัพยากรบุคคลคนส่วนนี้อยู่ข้างคนรวยมากกว่าอยู่ข้างเกษตรกร ของประเทศ ซึ่งยังเป็นคนที่มีฐานะทางการเงินไม่สูงนัก ผมไม่ใช้คำว่ายากจน กับเกษตรกร เพราะจากประสบการณ์ของตนเองมองว่า เป็นการยากมากที่จะพบว่าเกษตรกรไทยยากจน ถึงแม้เขาจะมีรายได้เงินสดที่ไม่ถึงเส้นความยากจนที่ทางวิชาการกำหนด คือประมาณ 900 กว่าบาท/เดือน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีที่ดิน มีแหล่งทำกิน มีข้าวปลาอาหาร และมีเวลาพักผ่อน และทำกิจกรรมทางประเพณีวัฒนธรรมมากกว่าอาชีพอื่นๆ แม้มันจะไม่สามารถวัดออกมาเป็นตัวเงินได้ แต่แน่นอนมันไม่ใช่ความยากจน
 

                อยาก ให้ต้นหญ้าที่เป็นอาหารหลักของคนในชาติชนิดนี้ รวมถึงเกษตรกรจะได้รับมุมมองที่กว้างขึ้นจากคนภายนอกมากกว่าเดิม และยังคงมุ่งหวังอยู่เสมอว่าเขาจะสามารถยืนและเติบโตด้วยตัวของเขาเองอย่าง แข็งแกร่งต่อไปในอนาคต



ปปป

ป.ล.
1. ความคิดเห็นส่วนตัว ไม่มีเจตนาที่จะทำให้ บุคคล องค์กร หรือ สถานที่ใดๆ ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น
 
 
  20 สิงหาคม 2547 เวลา : 9:21:00
...นี่คือบทความจากคุณ Cphucphu (นามแฝง) เป็นบุคลากรที่ทำงานด้านวิชาการจากขอนแก่น
ท่านเป็นชาว ต.กุดโดน อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์
ซึ่งมีมุมมอง ความคิดเห็นที่น่าสนใจและหลายคนที่ได้อ่าน ประทับใจในบทความนี้
จึงนำมาเผยแพร่อีกครั้ง
ติดต่อผู้เขียนบทความท่านนี้
e-mail : [email protected]
หมายเลขบันทึก: 45981เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2006 14:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท