จดหมายถึงแม่ : เพราะชีวิตไม่โตเกินกว่าจะบอกรักแม่


ผมหลงรักการเขียนจดหมายเป็นที่สุด  ผมมองว่าจดหมายคือความคลาสสิกของการสื่อสารเรื่องราวระหว่างมนุษย์กับมนุษย์  ถึงแม้บางเวลาจดหมายจะใช้เวลาเดินทางไปสู่ปลายทางอย่างเนิ่นช้าก็ตาม  หากแต่เมื่อจดหมายเดินทางไปถึงแล้ว  ความในที่ปรากฏในจดหมาย  ก็ย่อมทำหน้าที่ของมันอย่างคุ้มค่าทั้งต่อผู้ส่งและผู้รับ 

โครงการ “จดหมายจากมหาวิทยาลัย ถึงคนไกลที่อยู่ทางบ้าน”  ที่เพิ่งผ่านพ้นมายังไม่ถึงเดือน  ภาพความงดงามที่เกิดขึ้นในวันนั้น (15 สิงหาคม 2554) ยังตราตรึงและมีชีวิตอยู่หัวสมองของผม 

ทั้งผมและทีมงานจัดประกวดการเขียน "จดหมายถึงแม่"  เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างนิสิตกับผู้ปกครอง ในการบอกเล่าเรื่องราวอันเป็น “วิถีชีวิตของนิสิต”  กลับไปสู่ผู้ปกครองที่รออยู่ที่บ้าน หรือแม้แต่พลัดบ้านไปตามเงื่อนไขของ “ปากท้อง” ที่ต้องแบกรับ 

และนั่นก็คือส่วนหนึ่ง หรือกระบวนการหนึ่งที่ผมและทีมงานกำลังเดินทางเชื่อม "โลกสองใบ"  ให้เข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน  โลกใบแรกของโลกของ "นิสิต" ที่กรีดกรายแสวงหา "ความฝัน" ใน "วิถีการศึกษา" และโลกอีกใบที่ว่านั้น ก็คือโลกแห่งความเป็น "แม่" หรือแม้แต่ทุกสรรพสิ่ง ณ "บ้านเกิด" ที่เฝ้ารอข่าวคราวความเป็นไป ตลอดจนความสำเร็จของลูกผู้เป็นแก้วตาดวงใจ... 

ครับ,  การเขียนจดหมายตามโครงการที่ว่านั้น  ถึงแม้จะมี "ทุนการศึกษา" มอบให้อย่างไม่เขินอาย  แต่ผมก็เชื่อว่าทุนการศึกษาเป็นเรื่องน้อยนิดมาก  เพราะถึงแม้ไม่มีเงินทุนเป็นรางวัล  ผมก็เชื่อว่านิสิตจำนวนไม่น้อย จะยังยินดีที่จะเขียนจดหมายถึงแม่ผ่านเวทีที่ผมและทีมงานจัดขึ้นอย่างแน่นอน

 

การเขียนจดหมายถึงแม่  เป็นกระบวนการเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ที่สื่อให้เห็นความรักความกตัญญูของลูกที่มีต่อแม่  สื่อให้เห็นความเป็นเอกลักษณ์ของชาติผ่านมิติทาง “ภาษา” และยิ่งไปกว่านั้นก็คือการสื่อให้เห็น “หัวใจ” อันยิ่งใหญ่ของความเป็นแม่ที่มีต่อลูก  รวมถึงการสื่อให้เห็นถึงกระบวนการเลี้ยงดูของแม่สักคนที่ทำให้ลูกเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณค่า

 

นั่นแหละ  ผมถึงเชื่อว่าการเขียนจดหมาย ก็เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้เหมือนกัน  หากแต่เป็นการจัดการความรัก  ความรู้สึกตัว  สู่การจัดการความรู้  หรือเรียกง่ายๆ ก็คือการถอดบทเรียนชีวิต นั่นเอง

 

วันนี้  ผมเชื่อว่าจดหมายทุกฉบับเดินทางไปถึงปลายทางแห่งความรักและความคิดถึงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ขณะที่ต้นฉบับหนังสือ “จดหมายจากมหาวิทยาลัย ถึงคนไกลที่อยู่ทางบ้าน”  ก็เสร็จสิ้นแล้วเช่นกัน  เหลือเพียงการเดินทางออกจากโรงพิมพ์เพื่อสื่อสารสู่สาธารณะ

 

 

และนี่คือคำนำที่ผมเขียนไว้ในหนังสือเล่มนั้น 

          รักแม่ 

          นั่นคือคำและความหมายที่ปรากฏถี่ซ้ำอยู่ในจดหมายทุกฉบับที่นิสิตส่งผ่านมายังผมและทีมงานเนื่องในกิจกรรม “จดหมายจากมหาวิทยาลัย ถึงคนไกลที่อยู่ทางบ้าน” 

          ปีนี้ (2554)  ผมนั่งอ่านจดหมายทุกฉบับอย่างใจจดใจจ่อ  ยิ่งอ่านยิ่งรู้สึกว่าโลกใบนี้ไม่ได้เงียบเหงาเลยสักนิด อย่างน้อยก็มี “แม่” นั่นแหละที่คอยโอบกอดและประคองชีวิตของเราอยู่ทุกห้วงเวลา

          จดหมายบางฉบับมีปลายทางแห่งความคิดถึงอยู่ไกลถึงต่างประเทศ  เนื้อความในจดหมายสื่อชัดว่า “ลูกยังรัก, คิดถึง, ห่วงหา ห่วงใยต่อพ่อและแม่อย่างไม่หยุดหย่อน” หลายๆ ฉบับเดินทางสู่หมู่บ้านและท้ายทุ่ง ด้วยหวังจะถามทักถึงการงานแห่งชีวิตที่พ่อกับแม่กำลังแบกรับอยู่กลางเรือกสวนไร่นา  เช่นเดียวกับบางฉบับก็เปิดเปลือยถามถึงปู่ ย่า ตา ยาย พี่ป้าน้าอา น้องๆ และหลานๆ

          ครับ, ผมเชื่อเสมอมาว่า “ไม่มีที่ใดที่ความคิดถึงจะเดินทางไปไม่ถึง”

          ในทำนองเดียวกันผมก็เชื่อว่า “ในขณะที่เรากำลังคิดถึงใครสักคน ใครคนนั้นก็กำลังคิดถึงเราเช่นกัน”  ยิ่งได้อ่านจดหมายยิ่งรู้สึกว่าในระยะทางอันห่างไกลนั้น ระยะทางใจอันผูกพันของคนสองคนกลับใกล้แสนใกล้

          ผมและทีมงานจัดกิจกรรมนี้ขึ้น  มิใช่เพียงเพื่อต้องการตอบโจทย์ตัวชี้วัดใดๆ  ไม่ได้จัดเพราะต้องการพัฒนาทักษะการเขียนจดหมายและการใช้ภาษา และอนุรักษ์ภาษาของชาติอย่างสุดโต่ง  และไม่ได้จัดเพียงเพราะต้องการสวนกระแสของโลกแห่งเทคโนโลยีที่ “มือถือ” ทรงอานุภาพอย่างเหลือเชื่อ  หากแต่จัดกิจกรรมนี้เพราะรักและศรัทธาต่อความรักและความคิดถึงของมนุษยชาติที่มีต่อกัน  โดยยึดโยงให้ “วันแม่” เป็นเวทีแห่งการจุดประกายและตอกย้ำถึงอานุภาพแห่งความรักและความคิดถึง

          นอกจากนั้น ผมยังแอบคิดและเฝ้าหวังคนเดียวเงียบๆ ว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นนี้ ไม่เพียงสะท้อนภาพความรักและความคิดถึงของมนุษยชาติเท่านั้น  หากแต่หมายใจเป็นสะพานเชื่อมสู่การสื่อสารระหว่าง “แม่กับลูก” เพื่อให้ “แม่” ที่อยู่ทางบ้านได้รับรู้ว่า “ลูก” มีวิถีชีวิตเช่นใดในยามห่างไกลกัน รวมถึงการฝากแฝงให้นิสิตได้รู้และตระหนักว่าเขามี “รากเหง้า” เช่นใด มาจากที่ใด กำลังทำอะไร และจะไปสู่หนแห่งใด  ตลอดจนการเสริมพลังให้นิสิตได้รู้ว่าเขาไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกใบนี้  อย่างน้อยก็มีแม่นั่นแหละที่เฝ้ามองและอาทรเขาอยู่ตลอดเวลา 

และทั้งปวงจากจดหมายทุกฉบับ ผมถือเป็นกลไกหนึ่งของการ “ถอดบทเรียน” (ชีวิต) อันเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการของการจัดการความรู้ เพียงแต่ครั้งนี้เป็นการจัดการความรักก่อนความรู้เท่านั้นเอง

          ครับ, ผมอ่านจดหมายทุกฉบับอย่างมีความสุข  เห็นแก่นรากอันดีงามของนิสิตที่ผ่านการอบรมเลี้ยงดูจากแม่ของตัวเอง  -

          ผมสุขใจที่นิสิตบางคนสารภาพกับแม่ว่า “รักและอยากกอดแม่” 

          ผมสุขใจที่นิสิตบางคนยืนยันว่า “นี่คือจดหมายฉบับแรกที่เขียนถึงแม่”

          ผมสุขใจและอิ่มใจที่จดหมายหลายๆ ฉบับล้วนเดินทางกลับสู่ “ท้องทุ่ง” ด้วยกันทั้งนั้น

         ท้ายที่สุดนี้ผมอยากจะบอกว่า  ถึงแม้นิสิตจะหลงลืมไปแล้วว่าการเขียนจดหมายควรต้องเป็นแบบใด ขึ้นต้นอย่างไร ลงท้ายอย่างไร ใช้ภาษาอย่างไร ..

สิ่งเหล่านั้นกลายเป็นเรื่องน้อยนิดไปถนัดตา เมื่อรับรู้ว่า “นิสิตไม่เคยลืมแม่ของตัวเอง

 รักแม่เช่นกัน
พนัส  ปรีวาสนา
สิงหาคม,2554

 

หมายเลขบันทึก: 459441เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2011 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 19:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

มาร่วมชื่นชมด้วยค่ะ..คุณค่าเป็นยิ่งกว่าจดหมาย..แต่คือสื่อแทนใจ..ที่ร้อยรัดความรักผูกพัน ในยามที่อยู่ไกลกัน..เป็นความทรงจำอันยากลืมเลือน..

ร่วมชื่นชมด้วยคนค่ะ ในฐานะผู้เป็นแม่ ผู้เคยเขียนจดหมายถึงลูกตั้งแต่อุ้มท้อง เขียนเกือบทุกวันตามสถานะการณ์อำนวยแต่ไม่มีสักครั้งที่จะนำมาให้ลูกได้อ่าน....ตอนนี้ชักอยากเปิดผนึกแล้วล่ะ

เล่มนี้ ... โปรดนำติดมือมาด้วยนะครับ

ฝากซื้อ ๑ เล่ม ... สำหรับการถ่ายทอดการสอนของผมที่มีต่อนักศึกษา

อันจะยังประโยชน์มากครับ ;)...

ขอบคุณมากครับ

แสดงความรักแม่ พระสอนว่าเป็นคนดีนะครับ

ในวันที่ใครๆ ก็ใช้อีเมล์.. การเขียนด้วยลายมือตัวเองด้วยความบรรจง กลายเป็นของมีค่าที่จะ..

เชื่อม "โลกสองใบ"  ให้เข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน  โลกใบแรกของโลกของ "นิสิต" ที่กรีดกรายแสวงหา "ความฝัน" ใน "วิถีการศึกษา" และโลกอีกใบที่ว่านั้น ก็คือโลกแห่งความเป็น"แม่" หรือแม้แต่ทุกสรรพสิ่ง ณ "บ้านเกิด"

อาจารย์บรรยายเรื่องราว ได้งดงามมากคะ

สวัสดีครับคุณแผ่นดิน

ผมอีกคนที่ชอบเขียนจดหมาย และคิดถึงแม่ คิดถึงบ้านอยู่เสมอ โครงการนี้ยอดเยี่ยมอย่างแน่แท้

สวัสดีครับ พี่นงนาท สนธิสุวรรณ

ในเวทีวันนั้น  ผมพูดกับนิสิตและผู้เข้าร่วมงานว่า "อย่าปล่อยให้ความดีงามเดินทางอยู่อย่างเดียวดาย" ดังนั้นกิจกรรมการเขียนจดหมายฯ จึงตอบโจทย์ที่จะหนุนส่งให้ความรักและความดีงามของผู้คนได้สื่อสารถึงกันได้อย่างมีพลัง  และยิ่งอยู่ในรูปของจดหมาย ยิ่งเชื่อว่าจะเป็นจดหมายเหตุชีวิตของคนสองคนได้เป็นอย่างดี หรือแม้แต่คนในครอบครัวที่ถูกกล่าวถึงด้วยเช่นกัน

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ คุณอรุณี บุญเกิด

น่าชื่นใจมากครับที่มีจดหมายเหล่านั้น  "จดหมายถึงลูกที่อยู่ในท้อง"
หากวันนี้สามารถเอากลับมาอ่านได้  ผมเชื่อว่าจะเป็นเรื่องอันดีงามที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาและมีพลังอย่างยิ่งยวด  หรือแม้แต่การมอบเป็นของขวัญให้ "ลูก"  ก็ยิ่งดีเลยนะครับ  เขาจะได้รู้ว่าเขาเกิดมาด้วยความรักอันยิ่งใหญ่...

ให้กำลังใจนะครับ...และขอให้เปิดอ่านจดหมายเหล่านั้นในเร็ววันนี้

 

สวัสดีครับ อ.Wasawat Deemarn

ได้ไอเดีเลยครับ  วางขายหนังสือเหล่านี้กลับมาเป็น "ทุนการศึกษา" และประกวดจดหมายถึงมหาวิทยาลัยฯ เป็นการเสนอแนะการพัฒนาผ่านมุมมองของนิสิตอย่างสร้างสรรค์...

ไว้เจอกันที่เชียงใหม่ นะครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ คุณทิมดาบ

โลกไม่เงียบเหงา เพียงเพราะมีคนให้เราได้คิดถึง ...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อ.โสภณ เปียสนิท

แม่...คำๆ นี้ นิยามไม่รู้จบจริงๆ ครับ
ยิ่งใหญ่เกินพรรณนา
ยิ่งใหญ่เกินเปรียบเปรย

รักแม่ครับ

สวัสดีครับ CMUpal

โลกสองโลกเป็นหนึ่งเดียวกัน...
มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ นะครับ

สวัสดีครับ..せんせい

โลกไม่เงียบเหงา เพราะความรัก นั่นแหละครับ
การเขียนจดหมาย จึงเป็นความงามและสุดแสนจะน่ารัก

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ คุณ สุมิตรชัย คำเขาแดง

ไม่ได้คุยกันนานมากเลยนะครับ...
ผมชอบการเขียนจดหมาย และชอบอ่านจดหมาย
ถ้าเขียนด้วยดินสอ ยิ่งชอบมาก...
เคยเขียนจดหมายได้ครั้งละเป็นสิบๆ แผ่น

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อ.Wasawat Deemarn

ผมเข้าไปอ่านบันทึกที่ว่านั้นตั้งแต่คืนวันศุกร์แล้วครับ  เขียนคำฝากไว้แต่ระบบล่มจึงวกกลับไปเมื่อครู่

ขอบคุณที่ต่อยอดเรื่อยมา...
นี่คือมิตรภาพและการแบ่งปัน ครับ

  • ค่ะ การเขียนจดหมาย เป็นการฝึกทักษะในเรื่องของการหัดเขียนเรียงความ บทความให้เกิดเป็นความชำนาญด้วยค่ะ ยิ่งเป็นการเขียนที่บรรยายถึงความรัก ความห่วงใย ความห่วงหาอาทร ระหว่างแม่ + ลูก แล้ว ควรทำอย่างยิ่งค่ะ...จะทำให้คนไทยเก่งในเรื่องการเขียนมากยิ่งขึ้นด้วยนะคะ...
  • ผู้เขียนก็เคยเขียนเป็นบันทึกเล็ก ๆ ของผู้เขียนซึ่งอยู่ในฐานะของคำว่า "แม่" เขียนเพื่อให้คนที่ได้ขึ้นชื่อว่า "ลูก" ได้อ่าน แล้วเขาจะทราบความรู้สึกของคนที่เป็นแม่ เมื่อเขียนเสร็จ ผู้เขียนจะใช้ mail ให้ลูกทุกครั้ง เพื่อได้อ่านจดหมายที่แม่ได้เขียนถึงพวกเขาค่ะ
  • http://www.gotoknow.org/blog/bussayamas2558/toc

จดหมายถึงแม่.....

เชื่อว่า ลูกทุกคนต้องเคยเขียนจดหมายถึงแม่ สั้นบ้าง ยาวบ้าน ตามแต่สถานการณ์ (ขอเงิน อาจแจกแจงเหตุผลหน่อย ๕๕๕๕๕  )

สมัยใหม่มีโทรศัพท์ การเขียนก็ห่างหาย รวมถึงพี่ด้วย

แต่อย่างน้อยโทรศัพท์ก็มีข้อดีในแง่ ถามตอบได้รวดเร็วทันใจ

 

ขอบคุณบันทึกนี้ที่กระตุ้นต่อมความคิดถึง ให้โทรกลับไปหาแม่....ที่เมืองชายแดน

สวัสดีครับ อ.บุษยมาศ

ผมเห็นด้วยนะครับว่าเราสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านการเขียนได้  เพราะการเขียนคือกระบวนการปลายทางแห่งการสื่อสารความรู้สึกนึกคิดของผู้คนไปยังอีกคน  และยิ่งเป็นเรื่องราวที่ลึกซึ้งในมิติของความรักและความผูกพัน  ผมก็ยิ่งเชื่อว่าการเขียนจะทรงพลัง มีอานุภาพมากพอที่จะเชื่อมร้อยให้เกิดความมั่นคงได้  และยังเป็นเสมือนการถอดบทเรียนชีวิตไปเสร็จสรรพในตัวของมันเอง

ผมชื่นชมนะครับสำหรับการเขียนบันทึกถึง "ลูก" ...

สิ่งเหล่านี้ คือหลักฐานทางหัวใจที่จะบอกกับลูกได้ว่า  ในแต่ละวัน แต่ละวินาทีนั้น ลูกมีความสำคัญกับพ่อแม่มากแค่ไหน

ชื่นชมนะครับ ...

สวัสดีครับ พี่กระติก~natachoei ที่ ~natadee

เมื่อเช้าพ่อก็โทรมา  ยิ่งชวนให้ผมอยากกลับบ้าน  วันนี้มีงานทั้งวัน แต่พรุ่งนี้จะรบฝนไปหาท่าน  ท่านบอกว่าฝนตกน้ำหลากทุ่ง  คันนาแทบขาด  ต้นไม้ที่ปลูกไว้ ก็แตกใบหยัดรากลงทุกวัน

นั่นคือการสื่อสารของผมกับพ่อในวันนี้...

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท