ชื่นชม ผศ. นพ. เอื้อพงศ์ จตุรธำรง ผู้ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา ๒๕๔๘ สาขาความเป็นครู


          เมื่อวันที่ ๑๖ สค. ๔๙ สภามหาวิทยาลัยได้เชิญ ผศ. นพ. เอื้อพงศ์ จตุรธำรง ผู้ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา ๒๕๔๘ สาขาความเป็นครู ไปนำเสนอผลงานต่อสภามหาวิทยาลัยอย่างไม่เป็นทางการในรูปของ lunch talk      และผมได้ขอให้ท่านช่วยเสนอแนะว่า ถ้าจะให้เกิดการสร้างสรรค์งานด้านบริการเช่นนี้ให้มากขึ้น และทำได้ดียิ่งขึ้น     ควรมีนโยบายหรือการจัดระบบสนับสนุนอย่างไร

          ผศ. นพ. เอื้อพงศ์ ได้เตรียมเอกสารนำเสนอแจกล่วงหน้า     และนำเสนอด้วย PowerPoint อย่างน่าชื่นชมมาก     ผมขอนำเอกสารมาเผยแพร่ ณ ที่นี้    เพื่อให้ผู้สนใจได้นำแนวคิดและวิธีการที่พิสูจน์แล้วว่ามีคุณประโยชน์ ไปปรับใช้ต่อไป  

เอกสารประกอบการนำเสนอผลงานของผู้ช่วยศาสตราจารย์เอื้อพงศ์ จตุรธำรง
ผู้ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาความเป็นครู ปีการศึกษา ๒๕๔๘
เสนอต่อสภามหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ ๓๙๑
วันพุธ ที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙
------------------------------------

          ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยกรุณาให้ผมนำเสนอผลงานต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ ๓๙๑ ในวันพุธ ที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๙  ผมขอสรุปผลงานที่ผมภาคภูมิใจซึ่งได้กระทำในช่วงเวลากว่า ๑๕ ปี ที่ได้ช่วยงานการศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  ดังนี้

          ๑. การปรับปรุงหลักสูตรและวิธีการจัดการเรียนการในระดับมหภาค และระดับจุลภาค
          ๒. การพัฒนารูปแบบและวิธีการจัดการเรียนการสอนที่ถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด
          ๓. การพัฒนาหลักสูตรการประชุมเชิงปฏิบัติ / ฝึกอบรมวิชาครูให้แก่คณาจารย์
          ๔. การกระตุ้นให้เริ่มดำเนินการประเมินคุณภาพการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม
          ๕. การช่วยมหาวิทยาลัยมหิดลปรับปรุงพัฒนาการเรียนการสอนหมวดวิชาศึกษาทั่วไป

          เพื่อให้เหมาะสมกับเวลาการนำเสนอ ผมขออธิบายรายละเอียดเพียงเรื่องเดียวที่ผมเห็นว่าสำคัญและอาจเป็นประโยชน์ต่อคณะ/สถาบันต่างๆ ของมหาวิทยาลัย คือ เรื่องการพัฒนารูปแบบ และวิธีการจัดการเรียนการสอนที่ถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด

          คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงพัฒนาการเรียนการสอนมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเตรียมการประมาณ ๓-๔ ปีก่อนที่จะประกาศใช้หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตฉบับปรับปรุง พ.ศ.๒๕๓๘ และในช่วงต่อๆมา หลังจากใช้หลักสูตรใหม่  ฝ่ายการศึกษาของคณะฯและคณาจารย์ภาควิชาทางปรีคลินิคหลายภาควิชาได้ช่วยกันพัฒนาและประยุกต์ใช้รูปแบบวิธีการจัดการเรียนการสอนที่เน้น active student participation เช่น interactive lecture, knowledge synthesizing activity (ย่อว่า KSA หมายถึง “กิจกรรมสังเคราะห์ความรู้” เป็นคำที่ใช้สื่อกันในศิริราช แต่ขณะนี้เริ่มเป็นที่รู้จักในคณะและสถาบันแห่งอื่นๆ) problem-based learning, และ small group teaching รูปแบบต่างๆ ซึ่งเน้นกระบวนการฝึกคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์ความรู้  สำหรับการจัดลำดับเนื้อหารายวิชาต่างๆ สามารถจัดให้มีการบูรณาการกัน (integration) ได้เป็นอย่างดี (key success factors คือความเสียสละของคณาจารย์ที่ยอมให้ฝ่ายการศึกษาของคณะฯ เป็นผู้จัดเวลาและลำดับหัวข้อการสอนของอาจารย์แต่ละท่านได้  โดยไม่มีการกำหนดเป็น “ตารางสอนตายตัว” ว่า วิชาใดจะสอนวันเวลาใดของสัปดาห์ ทำให้สามารถจัด integration ได้สะดวก) รูปแบบวิธีการจัดการเรียนการสอนต่างๆ ที่ปรับปรุงพัฒนาขึ้นมา มีหลักการสำคัญอยู่สองประการคือ เน้นการเรียนรู้ และการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของนักศึกษา

          ต่อมามีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒  ฝ่ายการศึกษาของคณะฯ ได้พยายามหารูปแบบการเรียนการสอนและการประเมินผลนักศึกษา ที่สอดคล้องกับหลักการที่ ถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด (มาตรา ๒๒) และให้มีการประเมินพัฒนาการของผู้เรียน (มาตรา ๒๖) ตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ปัญหาในขณะนั้นคือ การตีความคำว่า ผู้เรียนสำคัญที่สุด และการหาวิธีการ ประเมินพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน ตัวอย่างที่กระทรวงศึกษาธิการและนักวิชาการหลายท่านนำเสนอ ส่วนใหญ่เป็นการเรียนในระดับอนุบาลหรือประถมศึกษา หรือเป็นตัวอย่างการเรียนรู้จากชุมชนหรือจากธรรมชาติ สิ่งที่สื่อสารออกไปถึงโรงเรียนต่างๆชวนให้เข้าใจว่า “ผู้เรียนสำคัญที่สุด ก็คือผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งก็คือจัดการเรียนการสอนตามความต้องการของผู้เรียน หรือตามใจผู้เรียน ส่วนครูให้มีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator)”  การตีความเช่นนี้ ทำให้มีอาจารย์ท่านหนึ่งถามเป็นเชิงประชดประชันว่า “ถ้านักศึกษาแพทย์ขอไม่ขึ้นเรียนวิชากุมารเวชศาสตร์ เนื่องจากไม่ชอบเด็ก จะขอใช้ช่วงเวลานั้น เรียนวิชาอายุรศาสตร์แทน เพราะในอนาคตต้องการเป็นอายุรแพทย์และจะไม่รักษาเด็ก เช่นนี้ควรจัดให้ตามความต้องการหรือตามใจผู้เรียนหรือไม่” เป็นต้น

          หลังจากได้ศึกษาและวิเคราะห์วิจารณ์กันอย่างถี่ถ้วน คณาจารย์และฝ่ายการศึกษาของคณะฯ มีความเห็นว่า  สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้เรียน ก็คือ การเรียนรู้ (Learning) และ การพัฒนาทักษะและเจตคติที่สำคัญอื่นๆ นอกเหนือจากความรู้ทางด้านวิชาการ และมั่นใจว่า รูปแบบและวิธีการจัดการเรียนการสอนที่ได้ช่วยกันปรับปรุงพัฒนามาอย่างต่อเนื่องหลายปีดังกล่าวข้างต้น เป็นสิ่งที่ถูกต้อง จึงดำเนินการพัฒนาการเรียนการสอนตามหลักการและแนวทางนี้มาตลอด

          ต่อมาเมื่อมีโอกาสไปเข้ารับการอบรมเรื่อง Benchmarking และ Thailand Quality Award (TQA) ซึ่งจัดโดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จึงพบว่าหลักการและแนวทางที่คณะฯ ดำเนินการอยู่ สอดคล้องกับเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา (Malcolm Baldrige Education Criteria for Performance Excellence) ซึ่งใช้คำว่า learning-centered แทนคำว่า student-centered และให้คำจำกัดความของ learning-centered education ไว้ว่าเป็นการจัดการศึกษาที่

           “ .. placing the focus of education on learning and the real needs of students .... derived  from market and citizenship requirements .. in order to develop the fullest potential of  all students

          จากประสบการณ์ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และจากคำอธิบายเรื่อง learning-centered education ของเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา สามารถสรุปสาระสำคัญของการศึกษาที่ถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุดได้ดังนี้


          • การจัดการศึกษาที่ถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุดมี Keywords อยู่ ๓ คำคือ การเน้นหรือให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้ (learning), ความต้องการที่แท้จริง (real needs) และอย่างเต็มตามศักยภาพสำหรับนักศึกษาทุกคน (fullest potential of all students)
          • ความต้องการที่แท้จริง (real needs) ไม่ใช่ความพอใจ และไม่ใช่การตามใจ  แต่หมายถึงความต้องการที่ถูกต้อง/ที่จำเป็นต่อการประกอบวิชาชีพ และการพัฒนาตนในด้านต่างๆ ซึ่งก็คือ การพัฒนาทักษะและเจตคติที่สำคัญอื่นๆ นอกเหนือจากความรู้ทางด้านวิชาการ ดังกล่าวข้างต้นนั่นเอง
          • จุดประสงค์การศึกษา (educational objectives) ต้องอยู่ในระดับ “high expectations and standards for all students” และต้องปรับปรุงพัฒนาให้สอดคล้องกับ “changing and emerging student, stakeholder, and market requirements” อยู่เสมอ
          • การเรียนการสอน (learning experiences) ต้องไม่ลืมว่านักศึกษาแต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้แตกต่างกันและช้าเร็วต่างกัน  ดังนั้น จึงต้องพัฒนารูปแบบ วิธีการและสื่อการศึกษาที่หลากหลาย รวมทั้งต้องคำนึงถึงการสร้างแรงจูงใจ (motivation) และเหตุปัจจัยต่างๆ ที่กระตุ้น ส่งเสริม หรือ
“drive student learning, satisfaction, and persistence”
          • การเรียนการสอน (learning experiences) ต้องพยายามจัดให้เป็น active learning ซึ่งหมายถึงการเรียนการสอนที่ “engage students in such higher-order thinking tasks as analysis, synthesis, and evaluation” (ตัวอย่างเช่น KSA ซึ่งจะนำเสนอในที่ประชุม เป็นการเรียนการสอนที่เน้นการใช้สมองระดับการสังเคราะห์ หรือ synthesis อันเป็นระดับสูงที่สุดตาม Taxonomy of Cognitive Domain ของ Bloom ) รวมทั้งการเรียนการสอนที่มีลักษณะเป็น cooperative หรือ collaborative learning ในสถานการณ์จริง  (เช่น การศึกษาและฝึกปฏิบัติในหอผู้ป่วย)
          • การประเมินผล (evaluation) ต้องมีทั้ง formative evaluation ซึ่งหมายถึงการประเมินในช่วงระหว่างการเรียนการสอน เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุงพัฒนาตน (ตัวอย่างเช่น การประเมินพัฒนาการของผู้เรียน ซึ่งจะนำเสนอวิธีการในที่ประชุม) ส่วนการประเมินหลังสิ้นสุดการเรียนรายวิชาต่างๆ หรือ summative evaluation ต้องประเมิน “against key, relevant external standards and norms regarding what students should know and be able to do”

          ที่สรุปข้างต้นคือคุณลักษณะสำคัญของการจัดการเรียนการสอนที่ถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด สำหรับตัวอย่างรูปแบบและวิธีการจะนำเสนอในที่ประชุม ซึ่งเป็นการเรียนการสอนวิชาพยาธิวิทยา หัวข้อ Diseases of the urinary system และวิชาจุลชีววิทยา หัวข้อ Self - non-self discrimination และ Transplantation immunology

________________________________________________

          ผมขอแสดงความชื่นชมต่อการริเริ่ม รูปแบบวิธีการจัดการเรียนการสอนที่เน้น ให้นักศึกษาเป็นผู้ทำ เช่น การบรรยายแบบ interactive, การสังเคราะห์ความรู้, การเรียนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน, และ การสอนกลุ่มย่อย รูปแบบต่างๆ ซึ่งเน้นกระบวนการฝึกคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์ความรู้     เน้นให้มีการบูรณาการเนื้อหาระหว่างวิชา     และสามารถระดมความเสียสละของคณาจารย์ที่ยอมลดความสะดวกของฝ่ายตนลง

          รูปแบบวิธีการจัดการเรียนการสอนต่างๆ ที่ ผศ. นพ. เอื้อพงศ์ ปรับปรุงพัฒนาขึ้นมา มีหลักการสำคัญอยู่สองประการคือ เน้นการเรียนรู้ และการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของนักศึกษา

          เรื่องเชิงนโยบาย เชิงระบบ ที่สำคัญที่สุด ต่อการสร้างสรรค์ผลงานด้านการเรียนการสอน คือการให้คุณค่า    ให้ความสำคัญต่อผลงาน     ทั้งในลักษณะคุณค่าทางใจ การชื่นชม    และคุณค่าทางวัตถุ    คือให้ทรัพยากรสนับสนุน    และให้ตำแหน่งหรือการตอบแทนที่เป็นระดับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งที่สูงขึ้น  ตามระดับของผลงานด้านการเรียนการสอน

          ผมขอแสดงความชื่นชมต่อ ผศ. นพ. เอื้อพงศ์ จตุรธำรง อีกครั้งหนึ่ง     และคำสนทนาใน lunch talk จะค่อยๆ พัฒนาขึ้นเป็นระบบที่เป็นรูปธรรมต่อไป     การนำเสนอครั้งนี้ให้แรงบันดาลใจแก่ผมมาก     ดังจะได้นำมาเอ่ยถึงในบันทึกอื่นๆ ของผมใน gotoknow.org 

 

                                                                                  วิจารณ์ พานิช
                                                                                   ๒๑ สค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 45929เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2006 10:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 21:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท