นักศึกษาปริญญาเอกด้าน KM


นักศึกษาปริญญาเอกด้าน KM

       วันนี้ (27 ก.ย.48) อ.ฉลาด  จันทรสมบัติ   ซึ่งเป็นอาจารย์ของ มมส. และกำลังทำปริญญาเอก   โดยทำวิทยานิพนธ์เรื่อง "การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการความรู้ขององค์กรชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" มาคุยด้วยเรื่องเค้าโครงวิทยานิพนธ์

       คำถามการวิจัยมี 4 ข้อคือ
 1. การบริหารจัดการความรู้ขององค์กรชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสภาพท้องถิ่นควรจะเป็นอย่างไร
 2. องค์กรชุมชน   ผู้นำองค์กรชุมชนและผู้สนใจ   จะเข้ามาเรียนรู้และมีบทบาทในการบริหารจัดการความรู้องค์กรชุมชนตามประเด็นที่ชุมชนสนใจและนำไปสู่การพัฒนาขยายผลได้อย่างไร
 3. นักวิชาการ (ผู้วิจัย) หมายถึงผู้อำนวยความสะดวก (Knowledge Facilitator),   นักจัดการความรู้  หมายถึงผู้ปฏิบัติ (Knowledge Practitioner),   ผู้นำองค์กรชุมชน (Chief Knowledge Officer),   นักพัฒนาหรือผู้นำท้องถิ่นองค์การบริหารส่วนตำบล   เป็นผู้เอื้ออำนวยการปฏิบัติงาน   จะเข้ามาเรียนรู้และมีบทบาทในการสร้างและพัฒนาองค์กรชุมชนที่มีประสิทธิภาพ   และมีการถ่ายทอดขยายผลได้หรือไม่  เป็นอย่างไร
 4. รูปแบบการบริหารจัดการความรู้ขององค์กรชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เน้นการพึ่งตนเอง   ควรเป็นอย่างไร

       จะมีการดำเนินการโดยใช้หมู่บ้านเป็น unit of analysis   ดำเนินการทดลองเป็นเวลา 1.5 ปี   โดยทำโครงการนำร่องใน 1 หมู่บ้านเป็นเวลา 6 เดือน   แล้วนำผลไปปรับดำเนินการทดลองในอีก 3 หมู่บ้าน   ใช้เวลา 1 ปี    อ.ฉลาดมีเป้าหมายถึงขนาดให้ชาวบ้านในระดับหมู่บ้านเข้า web ได้   และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันผ่าน IT ได้

       ผมคิดว่าโครงการวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์แบบที่ลงไปทำกับชาวบ้านอย่างนี้มีคุณค่าต่อสังคมมาก   จึงยินดีเข้าไปหนุนโดยรับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม   โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ รศ. ดร. บุญชม  ศรีสะอาด  และ รศ. ดร. วิเชียร  ชิวพิมาย

         วิจารณ์  พานิช
           27 ก.ย.48

หมายเลขบันทึก: 4592เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2005 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 23:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
ผมลืมบันทึกว่า เราได้คุยกันเรื่องที่ อ. ฉลาดจะไปรวบรวมแกนนำชุมชน และ อบต. ที่มุ่งมั่นดำเนินการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชน   เพื่อจัด ตลาดนัดความรู้และ สคส. ไปเป็นวิทยากร เพื่อฝึก "คุณอำนวย" ให้

เรียนท่านศาสตราจารย์ ดร.วิจารณ์ พานิช ที่เคารพยิ่ง

ผมต้องกราบขอบพระคุณอย่างยิ่งที่ท่านได้รับกระผมไว้เป็นศิษย์เพื่อถ่ายทอดแนวคิด หลักการ ทฤษฎีการปฏิบัติ การปรับปรุงพัฒนาการจัดการความรู้ในระดับสากลและที่สอดคล้องกับบริบทขอวสังคมไทย ทำให้กระผมมีชีวิตชีวาเพิ่มมากขึ้นอย่างบอกไม่ถูก  แนวคิดที่ท่านได้เสนอแนะกระผมจะได้นำไปทบทวนและประยุกต์ใช้ให้เกิดรูปธรรมต่อไป โดยเฉพาะกำลังวางแผนที่จะแสวงหานักจัดการความรู้ท้องถิ่นเพื่อเชื่อมโดยงองค์ความรู้ในระดับรากหญ้าให้เข้าถึงความรู้ความจริงที่มีควาหมายและมีความเชื่อมั่นในตนเองกลับคืนมาโดยเร็ว

เรียน ท่านศาสตราจารย์ ดร.วิจารณ์ พานิชที่เคารพยิ่ง

จากที่ท่านได้ให้ความกรุณาให้คำปรึกษาในการจัดทำวิทยานิพนธ์ในคราวที่มาเสวนาเครือข่ายการจัดการความรู้มหาวิทยาลัย ในวันที่ 6-7 มกราคม 2549 ที่ผ่านมา ผมได้ทบทวนและปรึกษากับท่านอาจารย์ที่ปรึกษา คือ รศ.ดร.บุญชม ศรีสะอาด แล้วได้มีข้อคิดเห็นออกมาเป็นรแนวทางในการพิจารณาตัวแปร กล่าวคือ

1.  ศึกษาการจัดการความรู้เพื่อให้เกิดการปฏิบัตินำไปใช้ในการพัฒนางาน  พัฒนาคนและพัฒนาองค์กรชุมชน  ซึ่งมีองค์ประกอบพื้นฐานคือ  การสร้างความรู้  การจำแนกความรู้  การจัดเก็บความรู้  การนำความรู้ไปใช้  การแบ่งบันแลกเปลี่ยนความรู้  และการประเมิน/ปรับปรุงความรู้
                   2.  เกณฑ์ในการพิจารณาองค์กรชุมชนแยกได้ดังนี้
                         2.1  การจัดตั้งพิจารณาจากรัฐ  เอกชนเป็นคนจัดตั้ง  และการรวมกลุ่มโดยประชาชน
                         2.2  ขนาดขององค์กรชุมชนพิจารณาจากขนาดใหญ่  ขนาดกลางและขนาดเล็ก
                         2.3  ลักษณะขององค์กรชุมชน  แยกพิจารณาตามสภาพบริบทของชุมชนเป้าหมายดังนี้
                                2.3.1  สหกรณ์การเกษตร
                                2.3.2  กลุ่มเกษตรผสมผสาน
                                2.3.3  กลุ่มอาชีพ  เช่น  กลุ่มปลุกหม่อนเลี้ยงไหม  กลุ่มทอผ้าไหม  กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร
                                2.3.4  กลุ่มภูมิปัญญาท้องถิ่น  ได้แก่  กลุ่มสมุนไพร  หมอพื้นบ้าน
                   3.  พื้นที่ในการศึกษา
                        3.1  บ้านน้ำเกลี้ยง ตำบลนาข่า อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม  ประเด็นที่เลือก มีกลุ่มองค์กรชุมชนที่หลากหลาย และมีกิจกรรมที่ดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรประชาคมน้ำเกลี้ยงเวียงชัย  กลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหม กลุ่มทอผ้า กลุ่มแปรรูปขนมจีน กลุ่มปุ๋ยชีวภาพ
กลุ่มจักสานหัตถกรรม  กลุ่มกลองยาว กลุ่มปลูกข้าวปลอดสารพิษ และกลุ่มผลิตน้ำยาล้างจานและ
สบู่เหลว
                         3.2  บ้านเหล่าราษฎรพัฒนา ตำบลประชาพัฒนา อำเภอวาปีปทุม  จังหวัดมหาสารคาม ประเด็นที่เลือก มีกลุ่มองค์กรชุมชนที่หลากหลาย และมีกิจกรรมที่ดำเนินงานต่อเนื่อง ได้แก่ กลุ่มปุ๋ยชีวภาพ  กลุ่มขนมจีนสมุนไพร  กลุ่มปลูกข้าวปลอดสารพิษ  กลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และดอนปู่ตา
กลุ่มเพาะเห็ด  กลุ่มโรงสีชุมชน กลุ่มไร่นาสวนผสมและกลุ่มสัจจะออมทรัพย์

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท