ตรวจเยี่ยมติดตามงานสุขภาพแรงงานต่างด้าว


ถ้าสกัดกั้นโรคจากกลุ่มต่างด้าวไม่ได้ สุดท้ายก็จะเข้ามาหาคนไทยจนได้ นับเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมาก

ในเดือนสิงหาคม เป็นช่วงเดือนที่ชีพจรลงเท้ามากเป็นพิเศษเดือนหนึ่งของปีนี้ เริ่มต้นตั้งแต่วันแรกของเดือนคือ 1-2 สิงหาคม ได้ไปตรวจเยี่ยมและนิเทศงานที่อำเภอชายแดน 3 อำเภอคือแม่สอด พบพระ อุ้มผาง เป็นการตรวจเยี่ยมกิจกรรมวัณโรคชายแดนและสุขภาพต่างด้าวของจังหวัดตากเป็นครั้งแรกหลังจากมารับหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกันของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก ในวันแรกไปที่ สสอ.แม่สอด ได้พบกับทีมงานจากโรงพยาบาลแม่สอด สสอ.แม่สอด และทีมNGOที่ทำเกี่ยวกับสุขภาพแรงงานต่างด้าว ทำให้ได้รับทราบกิจกรรมที่ทำในกลุ่มแรงงานต่างด้าว เสร็จแล้วได้ไปเยี่ยมชมแม่ตาวคลินิกของหมอซินเทีย ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด 160 เตียงในอำเภอแม่สอด ที่ไม่ถูกกฎหมายแต่ก็ช่วยลดภาระการดูแลรักษาคนต่างด้าวได้อย่างมาก สภาพภายในโรงพยาบาลทำเป็นจุดบริการต่างๆและเป็นเรือนนอนที่ใช้ที่นอนแทนเตียง มีการอบรมคนต่างด้าวให้เป็นผู้ช่วยในการดูแลผู้ป่วยที่เรียกว่าเมดิก ซึ่งใช้เวลาฝึกอบรมประมาณ 6 เดือน  ถ้ามองในแง่มุมของความถูกต้องตามกฎหมายก็จะถือว่าไม่ถูกต้อง แต่ถ้ามองในแง่มนุษยธรรมก็ถือว่าสามารถช่วยคนต่างด้าว แรงงานต่างด้าวได้มาก แต่จะทำอย่างไรให้ทั้งสองอย่างนี้ไปด้วยกันและสามารถควบคุมคุณภาพทางวิชาชีพได้ เป็นเรื่องที่ยังคงต้องถกเถียงกันอีกนาน หลังจากนั้นได้ไปที่อำเภอพบพระเพื่อตรวจเยี่ยมงานที่ สสอ.พบพระ ซึ่งมีหลายกิจกรรมกับแรงงานต่างด้าวที่เราต้องสร้างสมดุลของการดูแลกับความมั่นคงของประเทศ หลังจากนั้นก็ไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลพบพระ ก่อนเดินทางเข้าไปที่ อำเภออุ้มผาง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงกว่าจะถึงที่พักและรับประทานอาหารเย็นร่วมกับทีมงานของ สสอ.อุ้มผาง

รุ่งเช้า 2 สิงหาคม ได้รับฟังการสรุปประเด็นต่างๆจาก สสอ.อุ้มผางและโรงพยาบาลอุ้มผาง และเลยเข้าไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลอุ้มผาง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนที่มีศักยภาพน้องๆโรงพยาบาลทั่วไป ให้การรับนอนผู้ป่วยเกือบ 100 คน (ในขนาด 30 เตียง) จนต้องเอาเตียงคนไข้ออก ใช้แต่ที่นอนวางให้นอนเพื่อจะได้ใช้พื้นที่ได้เยอะๆ ภายใต้บุคลากรที่จำกัด ประมาณเที่ยงก็ร่วมกินอาหารกลางวันที่ สสอ.อุ้มผางแล้วรีบเดินทางไปสมทบกับทีมงานของสำนักระบาดวิทยาที่จะเข้ามาสำรวจข้อมูลการระบาดของโรคไข้เลือดออกที่ค่ายอพยพแม่หละ อำเภอท่าสองยางที่อยู่ห่างกันคนละด้านกันกับอุ้มผางใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมงถึงที่ค่ายแม่หละประมาณ 4 โมงครึ่งเย็น ได้นั่งรถสำรวจพื้นที่และสภาพความเป็นอยู่ในค่ายอพยพที่อยู่กันอย่างหนาแน่น  ได้ไปเยี่ยมชมโรงพยาบาลค่ายแม่หละ ที่มีลักษณะคล้ายๆกับคลินิกแม่ตาวเป็นโรงพยาบาลขนาด 120 เตียง ที่ไม่มีเตียง น่าจะเรียกว่าขนาด 120 ที่นอนมากกว่า มีการปรับใช้อุปกรณ์ต่างๆตามสภาพเช่นใช้ไม้ไผ่เป็นเสาน้ำเกลือ มีทีมแพทย์จากAMIมาทุกวัน เป็นแพทย์ชาวฝรั่งเศส มา 9 โมงเช้าถึง 3 โมงเย็น การดูแลผู้ป่วยส่วนใหญ่ดูแลโดยเมดิกที่ฝึกมาจากแม่ตาวคลินิก ในค่ายแม่หละจะมีปลัดอำเภอ 1 คนเป็นผู้ปกครองดูแล โดยอยู่ในความรับผิดชอบของUNHCR มีกลุ่มNGOหลายกลุ่มเข้าไปดูแลด้านสุขภาพ แต่ขาดการบูรณาการกันและทำให้เกิดช่องว่างของการป้องกันควบคุมโรคจนเกิดการระบาดของไข้เลือดออกในค่ายลามออกมาสู่พื้นที่คนไทยนอกค่าย ทำให้ทีมงานของสาธารณสุขต้องเข้าไปช่วย แต่จะมีปัญหาในการประสานมากเพราะทีมของAMIถือว่าเป็นหน้าที่ของเขา ไม่ให้เราเข้าไปยุ่ง จนสุดท้ายต้องมีการพูดคุยกันและเราก็ต้องเข้าไปช่วยดูแลและสำนักระบาดวิทยาต้องเข้ามาสำรวจข้อมูลเพื่อหาข้อเท็จจริง  กว่าจะเสร็จภารกิจกลับถึงตัวจังหวัดตากประมาณ 4 ทุ่ม

อยู่ตากมา 10 ปี แทบไม่ได้รับรู้เรื่องโรคชายแดนเลย พอมาอยู่จังหวัด ทำให้รู้ว่ายังมีปัญหาสุขภาพอีกมากมายที่จะต้องเข้าไปดูแลและร่วมแก้ไข เพราะถ้าสกัดกั้นโรคจากกลุ่มต่างด้าวไม่ได้ สุดท้ายก็จะเข้ามาหาคนไทยจนได้ นับเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมาก
คำสำคัญ (Tags): #health
หมายเลขบันทึก: 45917เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2006 08:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผมศรัทธาการทำงานของคุณหมอพิเชฐมานานแล้วครับ ตั้งแต่ทำงานอยู่หน่วยควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่อำเภอบ้านตาก ถ้าประเทศไทยมีคนเก่งอย่างคุณหมอเยอะๆ ก็คงดี ตอนนี้ที่ทำงานของผมเข้าเริ่มเห็นความสำคัญของการทำ KM แล้วครับและเริ่มมีการจัดตั้งองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่ชื่อ ศูนย์เรียนรู้โรคติดต่อนำโดยแมลง มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์แสดงวิวัฒนาการการควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงในอดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ยังขาดFacilitator ที่ทรงคุณวุฒิในการให้คำแนะนำ ถ้าคุณหมอพอมีเวลาอยากขอเรียนเชิญคุณหมอเยี่ยมชมสักครั้ง ผมPost มาอาจจะไม่เกี่ยวกับ Topic ของคุณหมอผมต้องขอกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

ที่ตั้งศูนย์เรียนรู้โรคติดต่อนำโดยแมลง

ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่ 8.1 กำแพงเพชร 4/13 ถ.พหลโยธิน ต.ระแหง อ.เมือง จ.ตาก(ข้างโรงเรียนตากพิยาคม)

      ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

      สามารถ  เฮียงสุข (01-0438695)

             ขอบคุณสำหรับคำชื่นชมที่เป็นกำลังใจให้ครับ 10 ปีที่รู้จักกันแต่ทำงานด้วยกันแค่ 2 ปี แล้วคุณสามารถก็ก้าวหน้าขึ้นไปในหลายๆที่ แต่ก็จำบรรยากาศดีๆที่ได้ทำงานร่วมกันครับ ยิ่งตอนที่แข่งกีฬาข้าราชการสัมพันธ์ที่ต้องเล่นฟุตบอลด้วยกันแล้วยิ่งจำแม่นเลยเพราะคุณสามารถเป็นกำลังสำคัญของทีมเรา

              ผมจะหาโอกาสไปเยี่ยมชมและเรียนรู้จากศูนย์เรียนรู้โรคติดต่อนำโดยแมลงให้ได้ครับ

              ช่วง 20-22 กันยายน ตั้งใจว่าทาง สสจ.ตากจะจัดตลาดนัดการเรียนรู้เมืองตากแข็งแรง คนตากแข็งแรงและสุขภาพชายแดน ก็ขอเชิญชวนคุณสามารถและทีมงานมาร่วมกิจกรรมและจัดตลาดนัดการเรียนรู้ด้วยกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท