พัฒนาโจทย์วิจัย ค้นหาของดีชุมชนปกาเกอเญอ


ผมเริ่มเห็นกล้าไม้ ในชุมชนที่กำลังจะเติบโตแล้ว...


 ภาพสาวปกาเกอเญอจาก www.weanghaeng.th.gs/

เมื่อคืน...ผมได้มีโอกาสไปทำเวทีการค้นหาโจทย์วิจัยในชุมชน ร่วมกับ คณะครู ศบอ.ปาย โชคดีที่ได้เจออาจารย์ผุสดี (คนเก่ง) ด้วย

อาจารย์สุรินทร์  หมูคำ ผู้ประสานงานเวทีนี้ มาสบทบหลังจากที่ผมไปถึง บ้านห้วยแก้วสักพัก..ใหญ่ๆ

บ้านห้วยแก้วเป็นหมู่บ้านกระเหรี่ยง หรือเราอาจเรียกพวกเขาว่า "ปกาเกอญอ" ขนาดประมาณ ๕๐ หลังคาเรือน ชุมชนตั้ง อยู่ก่อนถึงอำเภอปาย แม่ฮ่องสอน ...นับว่าเป็น ชุมชนพี่น้องกระเหรี่ยงที่เข้าถึงง่ายและสะดวกสบายที่สุด

คืนนี้อากาศดี ฝนไม่ตก ชาวบ้านที่เป็นคณะกรรมการทยอยมาเกือบครบ ผมและทีมของ ศบอ. ก็รอชาวบ้านมาให้ครบก่อน เราไม่รีบ เพราะเข้าใจว่า..ช่วงนี้ชาวบ้านเองก็ต้องลงไร่นา ทำงานตอนกลางวัน

ผมเริ่มทำเวทีเกือบสองทุ่มครึ่ง ...เริ่มต้นด้วยการแนะนำตัวเองและทีมงาน ว่าเป็นใครมาจากไหน..แต่ผมก็คิดว่า ชาวบ้านรู้จักผมส่วนหนึ่ง เพราะอาจเคยเห็นผมตั้งแต่เด็ก ..การสร้า้งความสนิทสนมจึงเป็นการแนะนำตัวแบบง่ายๆ 

เกริ่นเรื่องเวทีแรกที่บรรดาครู ศบอ. ได้จัดแล้วในชุมชน เป็นเวทีลักษณะประชาคม และได้ปัญหาของชุมชนมาชุดหนึ่ง..(ชุดใหญ่) เป็นปัญหาอย่างที่ผมเคยเขียนไว้ในบันทึกก่อนหน้านี้

วันนี้จึงเป็นการค้นหาของดี บ้านห้วยแก้ว...ผมมาชวนกันมามามองดู "ของดี"บ้านเรา โดยการระดมความเห็นผ่านการนั่งสนทนาพูดคุยอย่างเป็นธรรมชาติ บรรยากาศในเวทีเป็นกันเอง และไม่เร่งเร้า...ทุกอย่างจึงดำเนินไปได้ด้วยดี

ศักยภาพชุมชนที่เราได้จากเวที จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า พี่น้องกระเหรี่ยง มีของดีที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์เยอะมากมาย

ที่บ้านห้วยแก้วมีสิ่งดีๆ ที่พอประมวลได้ดังนี้

  • วัฒนธรรมกระเหรี่ยง ประเพณีต่างๆ เช่น ประเพณีมัดมือ
  • วัฒนธรรมการแต่งกาย ที่สวยงามน่ารัก ดูจากภาพยนตร์โทรทัศน์ช่อง ๗ ตอนหัวค่ำก็จะเห็น
  • การผลิตข้าวซ้อมมือแบบกระเหรี่ยง
  • การจักสานที่เป็นเอกลักษณ์
  • การทอผ้าฝ้ายกระเหรี่ยง
  • การฟอกย้อมด้วยสีธรรมชาติ

โดยเฉพาะการฟอกย้อมด้วยสีธรรมชาติ ที่นำพืชหลากหลายชนิดมาใช้เป็นวัตถุดิบในการให้สี ผมสนใจเป็นพิเศษ เพราะภูมิปัญญาด้านนี้ หากเราไม่อนุรักษ์ สืบทอดไว้ ในที่สุดก็จะหายไป...

เราจึงคุยกันในประเด็นนี้พอสมควร ทราบมาว่าโรงเรียนในชุมชนได้ทำหลักสูตรท้องถิ่น ประเด็นนี้ไว้ด้วยแล้ว(ขอปรบมือดังๆให้โรงเรียน) ส่วนในการส่งเสริมอาชีพทอผ้าฟอกย้อมสีธรรมชาติ ชาวบ้านบอกว่า มีปัญหาเรื่องการตลาด เพราะผ้าที่ฟอกย้อมออกมาแล้วนำมาทอ ขายไม่ได้...แต่ประเด็นนี้ขัดแย้งกับความคิดของผม ผมเห็นว่า สินค้าชุมชนที่เป็นสินค้าจากธรรมชาติเป็นที่นิยม แต่ชาวบ้านบอกว่า..เขาขายไม่ได้  อาจจะมีปัจจัยอื่นๆที่ผมยังไม่ได้ศึกษาเชิงลึก

ท่านผู้อ่านบันทึก หากพอมีความรู้เรื่องนี้ เรื่องการพัฒนาตลาด หรือมี ช่องทางการขายสินค้าชุมชน(ผ้าฟอกย้อมสีธรรมชาติ) ...เข้ามาแลกเปลี่ยนกันครับ...เพราะผ้าทอที่นี่สวยงามและทนทานด้วยสีธรรมชาติ สีสวยครับ

ท้ายสุดเราคุยกันเรื่อง "ธา" ธาคือ เพลงร้อง เพลงที่ใช่เกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว และทราบจากในเวทีว่า "ธา" ก็ใช้ในหลายๆโอกาสในวิถีของกระเหรี่ยง ทั้งงานแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ งานศพ หรือร้องกันในไร่...เดี๋ยวนี้เริ่มสูญหาย และเด็กๆเยาวชนกระเหรีี่ยงรุ่นใหม่ ลืมๆ และไม่สนใจแล้ว...

สุภาษิตปกาเกอญอ ส่วนหนึ่งของ "ธา" ที่พี่ไพบูลย์เขียนให้เราดูในเวที 

 

ประเด็นนี้คุยกันยาวครับ...เพราะชุมชนเห็นว่าเป็นปัญหา เป็นวิกฤตหนึ่งที่ชุมชนอยากจะแก้ไข อยากจะมีกระบวนการฟื้นฟู "ธา" ให้คงอยู่กับพี่น้องกระเหรี่ยงต่อไป

ว่าเรื่อง"ธา" พี่ไพบูลย์ ชอบพอ สมาชิกชุมชนคนหนึ่ง บอกว่า "ธา" เป็นภูมิปัญญาด้าน ภาษา ของกระเหรี่ยงการศึกษา "ธา" ก็จะส่งผลดีทั้งการออกเสียงศัพท์ และการเขียน...ดังนั้น การพัฒนาฟื้นฟู และอนุรักษ์ "ธา" น่าจะเป็นทางออก ทางเลือกในการแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่...พี่ไพบูลย์พูดถึง  การท่องเที่ยวโดยชุมชนที่พอจะมีฐานอยู่บ้านในชุมชนห้วยแก้ว ว่าสิ่งนี้จะปูฐานไปจนถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนในอนาคต... ผมชื่นชมพี่ไพบูลย์ผู้มองการณ์ไกลคนนี้เป็นอย่างยิ่ง 

ผมได้สรุปเวที และอำลาชุมชนไปในคืนนี้...ด้วยใจที่อิ่มเอบเช่นทุกครั้งเวลาไปทำงานกับชุมชน

ผมเริ่มเห็นกล้าไม้ ในชุมชนที่กำลังจะเติบโตแล้ว... 

 

 กลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ถิ่นงาม ลือนาม "เมืองสามหมอก"

หมายเลขบันทึก: 45908เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2006 07:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

ประเด็น "ธา" ของพี่น้องปกาเกอญอ  เป็นประเด็นที่จะนำเข้า่สู่การพัฒนาโจทย์วิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประเด็น "การศึกษากับวัฒนธรรม" สอดคล้องกับงาน ของ กศน. และ สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน

ซึ่งอาจารย์สุรินทร์ หมูคำ จะนำไปเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ต่อไปครับ 

สวัสดียามเช้าคะคุณเอก...

กะปุ๋มเข้าใจแล้วคะว่าทำไม...คุณได้รับเลือกหรือเดินมาเส้นทางสายการทำงานนี้...

เพราะคุณมีภาพที่สวยงามในใจมองผ่านออกมาเป็นเรื่องเล่า...ที่ได้เรื่องราวที่สวยงาม....บันทึกของคุณมาอ่านทีไรก็สบายใจเมื่อนั่น...เพราะทั้งภาพ....ภาษา...และมุมมองต่อเรื่องราว....ออกมาเป็นเชิงบวกทั้งนั้นคะ....

....

จะติดตามอ่านไปเรื่อยๆ นะคะ...

อ้อ!...ที่จะไปปิดโครงการวิจัยที่เชียงราย...เพราะเป็นใจที่ใฝ่"สุขนิยมคะ....(ฮา....)

ตามมาเจริญตา กับภาษาแห่งใจ เช่นเคยค่ะ

ขอบคุณ Dr.Ka-Poom และ พี่พัชราที่ตามมาติดๆ ครับ

เป็นความรักในงาน เป็นความตั้งใจที่อยากทำ มีความสุขดีครับ การเรียนรู้้การมองโลกในแง่บวกทำให้ผม เห็นโลกในมุมที่สวย และมองจากมุมที่สวย ก็ได้ถ่ายทอดออกมาให้ทุกคน เห็นร่วมกัน

ขอบคุณพี่ๆครับ ทั้ง ดร.กะปุ๋ม และ พี่พัชรา แห่งบำราศฯ ครับ 

คุณเอกคะ...

กะปุ๋มมองว่า..อะไรก็ตามที่เริ่มต้นออกมาจากใจ...

และปรับใจมองอะไรที่เป็นบวก...

...

โลกจะจรรโลง...และสวยงามยิ่งขึ้นนะคะ...

บันทึกบางครั้งก็สะท้อนอะไรบางอย่างของผู้บันทึกออกมาได้...จากส่วนลึก...ลงไปถึง spiritual...อย่างตอนนี้ตัวเองก็ลองศึกษาวิเคราะห์...พฤติกรรม ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมที่แท้จริงแห่งบุคคลต่อการบันทึก...

จบการศึกษาของตนใน phase แรกไปแล้ว...กำลังขยายผลในช่วงการศึกษาที่ศึกษา...หากวิเคราะห์เสร็จอาจจะนำเสนอผล...การศึกษาให้ทราบนะคะ...

ขอบคุณคะ

กะปุ๋ม

  • เล่าได้ประทับใจมากครับ
  • ของดีของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงในภาพรวมก็คือวิถีชีวิต คือรวมทุกๆ อย่าง ที่แตกต่างจากที่อื่น เป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง 
  • จะติดตามบันทึกต่อๆ ไปนะครับ 

ทำงานเร็วจังเลยนะคะ แค่ไม่กี่วันที่ได้ไปคุยพร้อมกัน คุณเอกสามารถเชื่อมต่อ กศน.ได้ทันควันและออกมาเป็นผลงานขนาดนี้  ต้องยกให้เป็นสุดยอดนักประสานฝีมือเยี่ยมค่ะ

นับถือ...นับถือ

ปล. KM ปาย กำลังจะลง Blog เร็ว ๆ นี้ค่ะ

Dr.Ka-poom ครับ

มุมมองแบบนักจิตวิทยา น่าสนใจมากครับ ผมเห็นด้วยครับ ว่าBlog เป็นสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ เป็นสิ่งแทนตัวคนได้ดี

อย่าง Blog ผมก็แสดงอัตลักษณ์ของผมครับ 

จะรอผลการวิเคราะห์งานครับ... 

พี่วีรยุทธ ครับ

ขอบคุณสำหรับการติดตามให้กำลังของพี่นะครับ...ทำให้ผมอบอุ่นใจมากเลย

วิถีชีวิตของคนปกาเกอเญอ น่าสนใจครับ คาดว่าใน เวทีต่อๆไป จะมีสิ่งดีๆที่เกิดขึ้นระหว่างทาง มาเล่าสู่กันฟังอีกครับ 

พี่ตุ่ม สคส.ครับ

บางอย่างก็รอได้ บางอย่างก็ทำได้เลย ผมมีความสุขที่ได้ทำงานกับชุมชนครับ หากเห็นคน กศน. ที่เขามีความตั้งใจก็รีบช่วยครับ

กลัวเขาเปลี่ยนใจ...อยากเรียนรู้ร่วมกับเขานะครับ 

ด้วยนับถือ..ชุมชนชาวปกาเกอญอทุกท่าน

เสื้อผ้าเราย้อมฟอกเอาจากธรรมชาติ
"ธา"ของเราเราสามารถสานฝันได้
กล้าไม้เรา..พร้อมขัดเกลาผ่านแรงใจ
ปกาเกอญอ..นามเราใช้เติมความดี

ความดีใดที่โลกหมายเราใฝ่สร้าง
เพราะป่า-น้ำคือความหวังเราที่นี่
และเพราะภูมิวัฒนธรรมเราล้วนมากมี
"ปกาเกอญอ" ชุมชนนี้เราภูมิใจ

 ..อ่านบันทึกแล้วได้แรงบันดาลใจเป็นกลอนดังนี้...
ขอบคุณค่ะ สำหรับบันทึกที่มีคุณค่าต่อจิตใจจริงๆ

   ช่วงนี้ต้องยอมรับว่าชีวิตตัวเองหาเวลาเป็นส่วนตัวได้น้อยมาก พอมีเวลานิดหน่อยก็รีบเข้าBlog อ่านเรื่องราวที่สร้างสรรทางปัญญา ทุกครั้งที่ได้อ่านสิ่งที่ อาจารย์เอามาฝาก ไม่เคยผิดหวังเลย ตัวอาจารย์เหมือนห้องสมุดเคลื่อนที่ได้ มีสาระเรื่องราวต่างๆอยู่ในตัวมากมาย  ขอบคุณอาจารย์มากค่ะโอกาสหน้าต้องขอคำชี้แนะ เกี่ยวกับงานวิจัยเชิงพื้นที่ หรืองานวิจัยด้านการท่องเที่ยว ตอนนี้กำลังจะจัดเวที พัฒนาโจทย์วิจัยด้านการท่องเที่ยวอยู่ค่ะ ถ้ามีปัญหาคงได้ปรึกษาอาจารย์แน่ค่ะ  ขอบคุณค่ะ
  • ไม่ได้อ่าน อึทา นานแล้ว
  • ไม้ไผ่ลำเดียวข้ามแม่นำไม่ได้ ข้าวโพดเม็ดเดียวต้มเหล้าไม่ได้
  • รักพี่น้องปกากะญอทุกคนครับ
  • ขอบคุณครับ

ขอบคุณ อาจารย์โอ๋..125.25.12.37

กลอนสวยงามและทำให้บันทึกนี้ ดูสวยงามและมีคุณค่ายิ่งขึ้นครับ

อาจารย์ Sunee ครับ

หากอาจารย์มีเวลาน้อย.. และพอมีเวลาเจียดมาอ่าน Gotoknow บ้าง ผมพยายามจะเขียนเรื่องราวจากประสบการณ์ตรงที่พบเจอ ในงานพัฒนาที่ผมทำอยู่...อย่างสม่ำเสมอครับ

ยินดีครับ...หากได้แลกเปลี่ยนเรื่อง CBT. ครับผม 

อาจารย์ขจิต

แสดงว่าอาจารย์เคยทำงานกับพี่น้อง ปกาเกอญอ หรือเปล่าครับ..เพราะเห็นอาจารย์พูดถึงกลุ่มชาติพันธุ์นี้บ่อยครั้งครับ...ยินดีครับสำหรับ "ธา" สุภาษิตที่อาจารย์เพิ่มเติมมาครับ 

  • เคยทำงานกับพี่น้องปกากะญอครับ
  • พูดได้นิดหน่อย ชอบครับ เคยทำงานวิจัยเรื่องชนเผ่าปกากะญอ
  • ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท