โครงการจัดตั้งชุมชนแนวปฏิบัติเรื่องผึ้ง


เนื่องจากเป็นโครงการนำร่อง ถ้าทำได้ดี คนอื่น ๆ ก็จะตามมาได้ถูกทาง ในทางกลับกันถ้านำร่องไม่ดี ก็อาจจะพากันเข้าป่าเข้ารกได้ จึงอยากเรียนเชิญทุกท่านช่วยกันพิจารณาโครงการพร้อมให้ข้อเสนอแนะด้วยครับ

         ท่านอาจารย์สมลักษณ์ วงศ์สมาโนดน์ จากคณะวิทยาศาสตร์ มน. เจตนาดีที่จะช่วยทำโครงการนำร่องเกี่ยวกับการจัดตั้ง CoP และขอรับทุนสนับสนุนตามประกาศของ มน. [ Link ] ความจริงอาจารย์อยากทำมานานแล้วแต่ติดสอนมากในภาคเรียนที่แล้ว ภาคเรียนต่อไปเห็นว่า สอนน้อยลง แต่งานวิจัยที่ต้องเร่งจัดทำรายงานก็ยังมีอยู่อีกมาก ผมถามเพื่อให้แน่ใจว่า “ไหวไหม จะไม่ load เกินไปหรือ” ท่านก็ยืนยันว่า “ไม่น่าจะมีปัญหา” ก็ต้องขอขอบคุณในความตั้งใจและความพยายามที่จะทำนำร่องให้เป็นตัวอย่างกับผู้สนใจกลุ่มอื่น ๆ ต่อไปด้วย

         ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการพิจารณาโครงการจากทั้งภายในและภายนอก มน. เพื่อช่วยกันให้ข้อเสนอแนะให้แน่ใจว่าสิ่งที่กำลังจะทำกันต่อไปนี้คือ “KM แท้” ไม่หลงทาง และมีการใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าสมเหตุสมผล เมื่อแน่ใจแล้วผมก็จะเสนอท่านอธิการบดีเพื่ออนุมัติทุนสนับสนุน ซึ่งกระบวนการพิจารณาก่อนการตัดสินใจนี้จะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน

         เนื่องจากเป็นโครงการนำร่อง ถ้าทำได้ดี คนอื่น ๆ ก็จะตามมาได้ถูกทาง ในทางกลับกันถ้านำร่องไม่ดี ก็อาจจะพากันเข้าป่าเข้ารกได้ จึงอยากเรียนเชิญทุกท่านช่วยกันพิจารณาโครงการพร้อมให้ข้อเสนอแนะด้วยครับ

         ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ สำหรับทุกข้อเสนอแนะ รายละเอียดโครงการมีดังนี้ครับ

โครงการจัดตั้ง
ชุมชนแนวปฏิบัติเรื่องผึ้ง

1. ชื่อชุมชน : ชุมชนแนวปฏิบัติเรื่องผึ้ง

    ทุนอุดหนุนที่ต้องการสนับสนุน : 20,000 บาท

2. ความสำคัญและประโยชน์
         การเลี้ยงผึ้งเป็นอุตสาหกรรม เป็นอาชีพทางการเกษตรที่น่าสนใจ และให้ผลตอบแทนในการลงทุนที่สูง ผลิตภัณฑ์จากรังผึ้งประกอบด้วยผลิตภัณฑ์หลัก 6 ชนิด คือ น้ำผึ้ง เกสรดอกไม้ รอยัลเยลลี่ ไขผึ้ง ยางไม้ (propolis) และพิษผึ้ง(bee venom)  ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังมีแนวทางการวิจัยที่จะพัฒนาต่อไป เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ (Center of Excellence) ด้านผึ้ง ประกอบกับมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญฉพาะทางเรื่องการเลี้ยงผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้งและสามารถเข้าถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง ปัจจุบันมีอยู่ 3 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยอาจารย์พิชัย คงพิทักษ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยอาจารย์สมลักษณ์ วงศ์สมาโนดน์ และมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยรองศาสตราจารย์ ดร.สมนึก บุญเกิด 

         สำหรับอาจารย์สมลักษณ์ วงศ์สมาโนดน์ เป็นที่ปรึกษาของกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งภาคเหนือตอนล่างแห่งประเทศไทย ประกอบด้วยสมาชิก 9 จังหวัดในเขตบริการของมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ประมาณ 100 ราย (ข้อมูลที่แน่นอนต้องจัดทำฐานข้อมูลในเดือนพฤศจิกายน 2548) และที่ปรึกษาของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้ง ตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมืองพิษณุโลก ซึ่งมีสมาชิกอยู่ประมาณ 20 ราย

         กล่าวโดยสรุปชุมชนแนวปฏิบัติเรื่องผึ้งจะมีความสำคัญและประโยชน์ดังต่อไปนี้

         • ประโยชน์ต่อตนเอง    ทั้งนี้โดยการพัฒนาและจัดตั้งเป็นหน่วยวิจัยผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้ง ในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อทำหน้าที่รวบรวมและเผยแพร่งานวิจัย ทั้งในด้านตัวงานวิจัยเอง ด้านความรู้เกี่ยวกับผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้งผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น บทความ บทสัมภาษณ์ทางวิทยุ และถ่ายทำเป็น VCD เป็นต้น

         • ประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินการไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการเรื่องผึ้ง อันจะเป็นการสนองตอบต่อทิศทางของมหาวิทยาลัย ในแนวนโยบายมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย ในระยะเวลาอีก 4 ปี ข้างหน้า  อาทิเช่น สร้างเครือข่ายการวิจัยในระดับคณะและมหาวิทยาลัยเรื่องผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้ง (เน้นผลิตภัณฑ์จากผึ้ง แต่ต้องได้วัตถุดิบ จากเกษตรกรต้นน้ำที่มีคุณภาพ)

         • ประโยชน์ต่อชุมชน เพื่อนำเรื่องที่เป็นปัญหาของชุมชน กลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งฯ มาแก้ปัญหาอย่างมีระบบ โดยใช้ศักยภาพของงานวิจัยในมหาวิทยาลัย (ส่วนใหญ่เป็นปัญหาด้านเทคโนโลยีการผลิตสินค้าใหม่ การบรรจุหีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์ และการหาตลาดใหม่ ๆ )

         • ประโยชน์ต่อประเทศชาติ ชุมชนนี้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นอย่างมาก ดังนั้นมีแนวพัฒนาเป็น 2 แนวทาง คือ แนวทางด้านพัฒนานิสิต ต้องการพัฒนาทางวิชาการเรื่องผึ้ง โดยส่งเสริมให้เกิดแนวคิดและแนวการศึกษาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางวิชาการได้ และแนวทางด้านพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงการค้าได้

3. รายชื่อผู้รับผิดชอบในการดูแลความก้าวหน้าของชุมชน (คณะผู้จัดตั้งชุมชน)
         หัวหน้าชุมชน นายสมลักษณ์  วงศ์สมาโนดน์ หน่วยวิจัยผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้ง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ห้อง SC3-301 ชั้น 3 อาคารชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

         โทรศัพท์ 0-5526-1001-4 ต่อภายใน 3330 หรือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ 0-9860-2155

         e-mail : [email protected], [email protected]

         website: http://www.gotoknow.org/beesman

         weblog ใน gotoknow.org  1.beemanNUKM (gotoknow.org/beesman) 2.การจัดการความรู้เรื่องผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้ง (gotoknow.org/somluckv) 3 .กลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งภาคเหนือตอนล่างแห่งประเทศไทย (gotoknow.org/somluckbee)

         คณะผู้จัดตั้งชุมชน
         1. อาจารย์ ศรีวรรณ  ฤฏษ์ภูริทัต คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาคณิตศาสตร์ สาขาสถิติ

         2. อาจารย์ ดร.อนุสรณ์ วรสิงห์    คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาเคมี 

         3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์อัษฏางค์  พลนอก คณะเภสัชศาสตร์ ภาควิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม

         4. ผศ.ดร.สุชาติ  แย้มเม่น  คณะวิศวกรรมศาสตร์

         5. ครูช่างประเทือง โมราราย  คณะวิศวกรรมศาสตร์

         6. นางสาววรรณิดา  แสงปัดดา  นิสิตเก่าคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาชีววิทยา

4. จำนวนและรายชื่อของผู้ต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกในชุมชนแนวปฏิบัติ
    ประกอบด้วย

         • กลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งภาคเหนือตอนล่างแห่งประเทศไทย จำนวนสมาชิกประมาณ 100 ราย

           ตัวอย่างรายชื่อ เช่น นายเสวก พ่วงปาน     ประธานกลุ่มฯ
                                      นายทัด  สีหราช        รองประธานกลุ่มฯ
                                      นายจเรศักดิ์  ศรีวงศ์   เลขากลุ่มฯ
                                      นายศิริ บุตรชา          กรรมการ
                                      นายวีรวัฒน์ เรืองเพชร กรรมการ 

         • กลุ่มเลี้ยงผึ้งวิสาหกิจชุมชน ต.บ้านกร่าง จังหวัดพิษณุโลก จำนวนสมาชิกประมาณ 20 ราย

           ตัวอย่างรายชื่อ เช่น นายดาว กันเกตุ   ประธานกลุ่ม

         • ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีกเกษตรกร จังหวัดพิษณุโลก (ผึ้ง) จำนวนสมาชิก 1 ราย
           นายสุรวิทย์  รักษ์วิศิษฏ์กุล

         • ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนล่าง จังหวัดพิษณุโลก จำนวนสมาชิก 5 ราย
           ตัวอย่างรายชื่อ เช่น สัตวแพทย์หญิง จันทร์เพ็ญ ชำนาญพูด

5. สถานที่หลักที่จะใช้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

         • พื้นที่จริง ภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยนเศวร เช่น หน่วยวิจัยผึ้งฯ คณะวิทยาศาสตร์ ศูนย์ฝึกอบรมและควบคุมระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ  โรงแรมอัม-ริทนร์ลากูล ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตรกร (ผึ้ง) ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนล่าง เป็นต้น

         • พื้นที่เสมือน (web blog)  ใน gotoknow.org   ประกอบด้วย blog หลัก คือ 1.beemanNUKM (gotoknow.org/beesman) 2. การจัดการความรู้เรื่องผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้ง (gotoknow.org/somluckv) 3. กลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งภาคเหนือตอนล่างแห่งประเทศไทย (gotoknow.org/somluckbee)

6. วัตถุประสงค์
         6.1 เพื่อจัดตั้งชุมชนแนวปฏิบัติเรื่องผึ้งเป็นโครงการนำร่อง
         6.2 เพื่อให้เกิดการพัฒนางานด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับผึ้งในลักษณะเครือข่ายทั่วมหาวิทยาลัย
         6.3 เพื่อประสานงานให้เกิดการทำงานด้านผึ้งร่วมกันในลักษณะสหสาขาวิชาและมีความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย
         6.4 เพื่อให้ชุมชนแนวปฏิบัติเรื่องผึ้งมีผลผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถส่งเสริมให้กลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งดำเนินการในเชิงการค้า ที่สามารถเพิ่มรายได้และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันระดับประเทศ
         6.5 เพื่อให้สามารถผลิตผลงานที่มีคุณภาพ ทั้งในด้านงานวิจัย บทความ หรือการผลิตบุคลากร
         6.6 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเสนอขอทุนจากแหล่งทุนภายนอกทั้งภาครัฐบาลและเอกชน
         6.7 เพื่อขอรับทุนเบื้องต้นในการพัฒนาให้เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานวิทยาศาสตร์ในอนาคต

7. แผนการดำเนินงานที่จะสามารถทำให้บรรลุวัตถุประสงค์
    ตัวอย่างแผนการดำเนินงานที่จะสามารถทำให้บรรลุวัตถุประสงค์

    แผนงานที่ 1 การส่งเสริมสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องผึ้ง

         แผนงานนี้มุ่งที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ (Knowledge Sharing)  ทางด้านการเลี้ยงผึ้งและการจัดการฟาร์มผึ้ง โดยเริ่มต้นจากความสำเร็จต่าง (Success story)  เช่น การจัดการฟาร์มผึ้งเพื่อขอมาตรฐานฟาร์มผึ้งจากหน่วยงานกรมปศุสัตว์ของกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้ง เป็นต้น ซึ่งเป็นลักษณะของการเล่าเรื่อง (Story telling) เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง (Active learning through action) จากผู้ที่ประสบความสำเร็จหรือมีประสบการณ์เกี่ยวกับการเลี้ยงผึ้ง จำนวนประมาณ 40 คน แบ่งเป็นกลุ่มประมาณ 4 กลุ่ม ใช้เวลาในการดำเนินงาน 1 วัน

         คณะผู้ดำเนินงานทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลและอำนวยความสะดวก (Knowledge facilitator)  จดบันทึกสรุปของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และให้แต่ละกลุ่มเสนอผลการเรียนรู้ร่วมกัน และสรุปความเห็นหรือองค์ความรู้ของผู้ที่แลกเปลียนเรียนรู้ และทำหน้าที่ขยายผลของการเรียนรู้เพื่อนำมาต่อยอดความรู้ (Knowledge leverage) ในด้านการใช้ประโยชน์จากผึ้ง และ/หรือเป็นโมเดลของการจัดการความรู้ภาคปฏิบัติเพื่อให้เกิดการขยายผลทั่วมหาวิทยาลัย ทั้งนี้จุดประสงค์หลักเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อันเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการขับเคลื่อนชุมชนฯต่อไป

    แผนงานที่ 2 การถ่ายทอดประสบการณ์ความสำเร็จด้านการผลิตเครื่องสำอางให้กับชุมชนแนวปฏิบิติเรื่องผึ้งเพื่อต่อยอดความสำเร็จ

         แผนงานนี้ ชุมชนแนวปฏิบิติเรื่องผึ้ง มีวัตถุประสง์ที่จะถ่ายทอดประสบการณ์การผลิตเครื่องสำอางโดยเฉพาะเรื่องสบู่ และแชมพู ของผศ.อัษฏางค์ พลนอก ให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งที่สนใจประมาณ 20 คน เน้นการปฏิบัติจริง ที่ห้องปฏิบัติการของคณะเภสัขศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยไม่เก็บค่าลงทะเบียน มีวัสดุอุปกรณ์แจก  มีอาหารและอาหารว่างเลี้ยง แต่ค่าที่พักผู้เข้ารับการอบรมต้องจ่ายเอง เนื่องจากมีภาคปฏิบัติ 2 วัน  ซึ่งความรู้ที่กลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งได้รับ สามารถนำไปต่อยอดความสำเร็จ โดยใช้วัตถุดิบจากผลิตภัณฑ์ผึ้ง เช่น น้ำผึ้ง หรือ รอยัลเยลลี่ หรือ พรอพอลิสเป็นส่วนผสมเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ปัจจุบัน อันเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า นำรายได้มาสู่ผู้ผลิต ซึ่งอาจจะนำไปสู่การจัดการกลุ่มฯ เพื่อความสามารถในการแข่งขันทางด้านการค้าต่อไป

8. ตัวชี้วัดความสำเร็จ (Key performance indicator, KPI)
    8.1 ความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของผู้เข้าร่วมกิจกรรม
    8.2 มีการนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดไม่น้อยกว่า ร้อยละ 20 ของผู้เข้าร่วมกิจกรรม
    8.3 ชุมชนแนวปฏิบัติเรื่องผึ้งมีความยั่งยืนของการทำกิจกรรมไม่น้อยกว่า 4 ปี

9. แผนการติดตามและประเมินผลโครงการ

    ในด้านของผู้ให้ทุน
         • ติดตามจากการดำเนินการกิจกรรม โดยหน่วยประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัย
         • ติดตามจาก web blog
         • ประเมินผลดดยหน่วยประกันคุณภาพ

    ในด้านของผู้เข้าร่วมกิจกรรม
         • ชุมชนฯ จะติตตามผลจากรายชื่อและที่อยู่ จากการลงทะเบียน
         • ประเมินผลโดยความพึงพอใจของผู้เข้ารับการบริการ

10. ผลการดำเนินงาน (Knowledge asset) ที่คาดว่าจะได้รับ และการรายงานผลการดำเนินงาน

     ผลที่คาดว่าจะได้รับ
         1. เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจในกิจกรรมที่เข้าร่วมมากขึ้น
         2. สร้างโอกาสและความมั่นใจให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม
         3. เพิ่มขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์
         4. มีแนวทางความร่วมมือกันในอนาคตในการขยายชุมชนฯและเครือข่าย

     การรายงานผลการดำเนินงานผ่านทาง web blog ของชุมชน
         รายงานผ่านทาง beemanNUKM blog และ บล็อกการจัดการความรู้เรื่องผึ้ง รวมภาพกิจกรรม

11. โอกาสที่จะสนับสนุนให้มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ (ถ้ามี)
     มีโอกาสภายใน 4 ปี ไม่น้อยกว่า 1 เรื่อง (โครงการร่วม)

12. โอกาสในการที่จะสนับสนุนให้เกิดการผลิตนิสิตระดับปริญญาโท/เอก (ถ้ามี)
     มีโอกาสภายใน 4 ปี ไม่น้อยกว่า 4 คน (โครงการร่วม)

13. โอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากแหล่งทุนภายนอก (ถ้ามี)
     มีโอกาสไม่น้อยกว่า 4 แสนบาท ภายใน 4 ปี (ผ่านชุมชนและหน่วยวิจัยผึ้งฯ)

         วิบูลย์  วัฒนาธร

 

หมายเลขบันทึก: 4590เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2005 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 23:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  1. การเขียนโครงการนำร่องที่ยังไม่มีใครเขียนนี่ทำยากครับ
  2. โครงการที่คิดไว้ทำได้แน่นอนครับ
  3. การที่มี Reader หลายท่าน ช่วยกันอ่านก่อนและเสนอแนะไม่ให้หลงทางจะดีมากครับ ถ้าเริ่มต้นดีก็สำเร็จไปมากกว่าครึ่งแล้วครับ
  4. เป็นความต้องการของผมมานานแล้วครับที่อยากจะเห็นการดำเนินโครงการต่างๆ อิงกับระบบราชการให้น้อยที่สุดครับ

 

 

ต้องขอออกตัวก่อนนะครับ   ผมมีความรู้ปฏิบัติเรื่อง CoP น้อยมาก   ถือว่าเป็นการแสดงมุมมองในฐานะคนที่ยืนอยู่นอกวง  ก็แล้วกันนะครับ    ว่าโดยส่วนตัวคิดเห็นอย่างไรกับการออกแบบ CoP ผึ้งครั้งนี้

ผมเข้าใจว่า CoP นี้  มีสมาชิก 2 กลุ่มใหญ่ๆ

กลุ่มแรก  คือนักวิชาการ จาก มน.  และ

กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้ง

ผมเดาเอาเองนะครับเพราะไม่ทราบความสัมพันธ์ระหว่าง 2 กลุ่มดังกล่าวจริงๆ   ว่า ทั้งสองกลุ่มมีความคุ้นชินกับวิถีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไม่เหมือนกัน   ดังนั้นหากเป็นอย่างที่ผมเดา  ก็หมายความว่า  การออกแบบเวที ลปรร ของทั้ง 2 กลุ่มอาจจะต้องดูแบบละเอียดนิดหนึ่ง   ผมไม่ได้หมายความว่าทั้ง สองวงจะต้องแยกออกจากกันนะครับ    เพียงแค่อยากมองให้เห็นว่ามีความเหมือนหรือความต่างของวัฒนธรรม ลปรร  มากน้อยเพียงใด    พอเห็นแล้วก็จะได้หาจุดเชื่อมต่อ  เพื่อยกระดับความรู้จากความรู้ปฏิบัติ  เป็นความรู้เชิงวิทยาศาสตร์มากขึ้น    อีกอย่างหนึ่งจะได้มองหาจุดเชื่อมต่อระหว่าง   ความรู้เดิมของผู้เลี้ยงผึ้ง  กับ  ความรู้ในเชิงวิทยาการใหม่  ให้เกิดการผสมได้อย่างลงตัวมากยิ่งขึ้น

อย่าลืมความสัมพันธ์ระหว่าง  คุณอำนวย  กับ คุณกิจ  นะครับ  อย่าเผลอเล่นบท  คุณอำนาจ  โดยไม่รู้ตัวนะครับ

สำหรับความเชื่อของผม   การออกแบบเวที ลปรร  (ทั้งจริงและเสมือน) ผมคิดว่าสำคัญมาก  เพราะจะมีผลต่อความต่อเนื่องในระยะยาว  การเกิดความเป็นเจ้าของของคนในชุมชนจะเป็นกาวใจอย่างดีครับตรงนี้ต้องหาปรอทวัดดีๆนะครับ  เพราะตรงนี้มักจะเจอของปลอมได้ง่าย      และที่สำคัญต้องหาให้เจอว่า   ผลที่ชัดเจนว่าเมื่อเมื่ออยู่ในชุมชนนี้แล้วจะได้อะไร?

ได้ผลผลิตมากขึ้น?   ได้เพื่อนมากขึ้น?   ได้รู้เรื่องการทำธุรกิจเลี้ยงผึ้งมากขึ้น?   ได้ความมั่นใจมากขึ้น?   ได้ใจคนมากขึ้น? ได้ความสุขใจมากขึ้นจากการช่วยกันรวบรวมหรือสร้างความรู้ใหม่ๆมากขึ้น    หรืออื่นๆอีกร้อยแปดพันเก้า..........  ตรงนี้คำตอบต้องไปหาที่ชุมชนแล้วหละครับ

เพราะหากคนรู้สึกว่าทำแล้วดี  มีความประทับใจเขาก็คงจะช่วยกันรักษาความเหนียวแน่นกันต่อไปนานมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ส่งกำลังใจมาช่วยครับ   ขอให้ CoP เป็นวง ลปรร  ของจริงและเป็นตัวอย่างให้กับสังคมไทยในอนาคตอันใกล้นี้ครับ

 

ขอเอาใจช่วยครับ  

ผมมีข้อสงสัยดังนี้

  ๑. ทุน ๒๐,๐๐๐ บาทนี้ขอใช้ในเวลา ๔ ปี หรือ ๑ ปีครับ

  ๒. ผู้รับผิดชอบเขียน บล็อก มีใครบ้างครับ    อ่านแล้วคล้ายกับว่า อ. สมลักษณ์คนเดียวเขียน ๓ บล็อก

Comment

 ๑. กิจกรรมที่จะทำคล้ายๆ มี ๒ วง   คือวงนักวิชาการ/วิจัย    กับวงผู้เลี้ยงผึ้ง    การมี ๒ วง มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

   - ข้อดี  เป็น KS/KM ไปในตัว  เพราะมีการ ลปรร. ข้ามกลุ่ม

  - ข้อเสีย  ไม่ชัดเจนว่าใครรับผิดชอบ action/การปฏิบัติ ส่วนไหน   และถ้าไม่ระวังความสัมพันธ์อาจเดินไปในทาง technology transfer ไม่ใช่ KM

 ๒. แผนงานที่ ๑  ดีมาก   แต่ยังไม่ชัดว่าการ ลปรร. แต่ละครั้งต้องมาที่ มน. ทุกครั้ง  หรือจะวนไปตามพื้นที่ของกลุ่มเลี้ยงผึ้ง    และไม่ชัดว่า การ ลปรร. ทุกครั้งต้องมีทีม มน. เป็นผู้จัดและอำนวยความสะดวก   หรือจะให้แต่ละกลุ่มเขาติดต่อกันเองด้วย   เช่นโทรศัพท์ไต่ถามกัน   มีการจดบันทึกการทดลอง   เอาไว้นำเสนอเวลาไปเยี่ยมกันเองและเวลามาประชุมกัน ฯลฯ    ผมมองว่าต้องมีกระบวนการส่งเสริมให้เกิกการ ลปรร. อย่างเป็นธรรมชาติมากที่สุด   มาที่ มน. เท่าที่จำเป็นเท่านั้น 

 ๓. แผนงานที่ ๒   ควรเลี่ยงสภาพ supply-push ให้มาก    คือต้องจัดให้ตามความต้องการของผู้เลี้ยงผึ้ง   ไม่ใช้นักวิชาการเป็นผู้กำหนด    และต้องไม่จำกัดเฉพาะตามความสามารถของนักวิชาการของ มน.    กล่าวคือถ้าผู้เลี้ยงตกลงกันว่าต้องการฟังการบรรยายเรื่อง X จาก ศ. ดร. ศิริวัฒน์ วงษ์ศิริ ของจุฬา   ทีม มน. ก็ช่วย facilitate ให้ (ผู้เลี้ยงอาจต้องลงขันค่าเดินทางและค่าตอบแทนกันเอง)   ทีม มน. ต้องไม่ตอบว่ามีบริการให้ตามความสามารถของ มน. เท่านั้น    คือต้องสร้างความสัมพันธ์แบบเปิดกว้าง

 ๔. ควรพิจารณาทำความตกลงเรื่องการจดบันทึกการเรียนรู้ของสมาชิกวงผู้เลี้ยงทุกคน    แล้วเอามา ลปรร. ตอนประชุม   หรือถ้าให้แต่ละกลุ่มสามารถเอาประเด็นการเรียนรู้หรือคำถามสำคัญๆ ลง บล็อก ได้ ก็ยิ่งดี

    ควรต้องทำความชัดเจนว่าการ ลปรร. ของผู้เลี้ยงผึ้งแบบ ไม่ใช่ F2F จะใช้วิธีใดบ้าง

 ๕. เรื่องแบบนี้ไม่มีการตัดสินได้-ตก ครับ    มีแต่ได้   แต่เราจะช่วยกัน comment ให้เกิดผลสำเร็จครับ

 ๖. ควรต้องบอกด้วยว่าเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท เอาไปใช้ทำอะไรบ้าง

   ขออวยพรให้สำเร็จครับ    อ่านข้อ ๑๐ - ๑๓ แล้วชื่นใจแทน มน. ครับ

มาช่วยให้กำลังใจครับ  ว่าขอให้โครงการสำเร็จจะได้
เป็นกรณีตัวอย่างที่ดี ให้กับโครงการอื่นๆ ต่อไป

เข้าไปดูที่ชุมชน BeemanNUKM ยังเห็นมีบล็อกอยู่แค่
สองบล็อก โดย อ.สมลักษณ์ทั้งคู่  จึงเสนอว่าน่าจะมี
การเล่าเรื่องจากอาจารย์ท่านอื่นๆ หรือผู้เข้าร่วมด้วย
จึงจะเกิดการสนทนาแบบ Blog-to-Blog ขึ้นครับ

สมลักษณ์ วงศ์สมาโนดน์

ผมขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ทั้ง 2 ท่านมากที่ช่วย comment ให้ครับ ผมขอตอบในบล็อก "การจัดการความรู้เรื่องผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้งนะครับ" gotoknow.org/somluckv

สมลักษณ์ วงศ์สมาโนดน์

พอดีขณะที่ผมกำลังเขียน Blog อยู่ อ.กรกฎ ได้กรุณา ช่วยเตือนให้อาจารย์ท่านอื่นมาร่วมชุมชนบล็อกด้วย คงต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดครับ และต้องทำให้ได้ครับ 

ตกลงกับอาจารย์สมลักษณ์ว่าจะทำโครงการแลกเปลี่ยนฯ กับชาวบ้านในวันที่ 25-26 ตุลาคม 48 นี้นะครับ

เป็นการทำ สบู่ ผสม สมุนไพร โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำผึ้งนะครับ

โดยวันที่ 25 จะมีการอบรมเชิงวิชาการนิดหน่อย จากนั้นตอนบ่ายก็จะมีการทำสบู่ก้อน ซึ่งระหว่ารอสบู่แข็งตัว เราก็จะมีเวลาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างนักวิชาการกับชาวบ้าน

พอวันที่ 26 ก็จะมีการทำสบู่ใส กับ สบู่เหลว และคงมีการ ลปปรร. อีกครับ

       อาจารย์อัษฎางค์น่ารักมากครับ ตกลงกันว่ามีงบเท่าไรเอาแค่นั้นงานนี้จะช่วยพร้อมทีมงาน 10 คนเป็นนักวิชาการและเจ้าหน้าที่ งานนี้ต้องมี ลปรร. กับกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งและกลุ่มแม่บ้าน 20 คน กันพอสมควร เผลอๆ อาจมีบล็อกเกิดขึ้นด้วยครับ นอกจากเรื่องคล้าย ๆ technology transfer แล้ว จะมีการ ลปรร. ด้วยและจะให้ประเมินผลโดยเขียนสมุดแห่งการเรียนรู้ด้วยครับ (อาจมี เพียง 1 เล่ม เวียนกันเขียนก่อน คงเป็น ช่วงที่ต้องค้างคืนครับ จะเสริมกิจกรรม ลปปร. หรืออาจมีการสังสรรค์กินข้าวเย็นกันแบบถูก ๆ นะครับ ตั้งใจทำมากครับ (เป็นคุณอำนวย) และผมร่วมลปรร. กับ เขาด้วยครับ (ผมทำตัวเป็นกลุ่มเกษตรกรครับ) ผมว่าท่านอาจารย์วิบุลย์น่าจะส่งคนจากหน่วยประกันมา ประเมินด้วยครับว่า 100 คะแนน จะให้งานนี้เท่าไร ผมตั้งเป้างานนี้แค่ให้เกิน 55 คะแนนก็พอ (มันคาบเกี่ยวกับ technology transfer) แต่ผลที่ไม่ได้คาดว่าจะได้รับ คงได้คะแนนสัก 90 กระมังครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท