เรื่องเล่ากลุ่ม 8 งาน KM Workshop ผู้นำนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร


การแลกเปลี่ยนระหว่างกันเป็นธรรมชาติจนน่าจะเกิดเครือข่ายระหว่างกันมากขึ้น นั่นเป็นสิ่งดีๆ อีกประการหนึ่งของ KM Workshop คราวนี้

          ราวๆ 8.00 น. 19 สิงหาคม 2549 การทำ BAR ก่อนการทำงานก็เริ่มขึ้น เป็นการกำหนดหัวปลาที่เราต้องการให้นิสิตที่เข้าร่วม KM Workshop ได้อะไรกลับไป ซึ่งลงเอยที่ 3 ข้อใหญ่ๆ คือ

1.  ได้รู้จักและรู้วิธีการเรียนรู้ KM 

2.   แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันภายใต้หัวปลานิสิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยเน้นที่ จุดเด่น ความสามารถพิเศษ และความภาคภูมิใจ

3.     ได้รู้จัก Blog : GotoKnow.org

 

           ตอนบ่าย หลังจากท่านอาจารย์วิบูลย์ เริ่มทำความเข้าใจกระบวนการทำ KM ให้กับน้องๆ ผู้นำนิสิตและนำทำสมาธิแล้ว พวกเราชาวคุณอำนวยฝึกหัดก็แยกย้ายกันเข้ากลุ่ม (โดยมีข้อตกลงกันว่า คุณอำนวยทั้งหลายจะยุ่งเกี่ยวกับวงสนทนาให้น้อยที่สุด แต่สังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดที่สุด)

           ดิฉันอยู่กลุ่ม 8 มีสมาชิก 6 คน มีผู้สังเกตการณ์จากมหาวิทยาลัยราชภัฎลำปางมาร่วมด้วย 1 คน เริ่มต้นด้วยการแนะนำตัว เป็นการปูพื้นการทำ dialog และ deep listening ก่อน จากนั้นเลือกประธานและเลขาฯ กลุ่ม การเล่าเรื่องเริ่มจาก เลขาฯ กลุ่ม (อ. วิบูลย์ อธิบายเหตุผลว่า จะทำให้เลขาไม่กังวลกับเรื่องที่ตนจะเล่าจนลืมบันทึกแต่ต้องแจ้งให้ทุกคนบันทึกด้วย)

           น้องเมย์ (เลขาฯ กลุ่ม) สาวน้อยจากพะเยา เล่าเรื่อง เมื่อต้องรับผิดชอบการแปลอักษรของคณะ ตอนแรกไม่ได้รับความร่วมมือจากเพื่อนทั้งคณะ จึงเลือกเริ่มจากเพื่อนที่เห็นด้วยกับการทำโค้ดแปลอักษรและค่อยๆ ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับเพื่อนๆ จนในที่สุดก็ได้รับความร่วมมือและการแปลอักษรก็ประสบผลสำเร็จ  เพื่อนในกลุ่ม บอกว่า  key success ของเมย์ คือ ความเป็นผู้นำ         

           น้องหวาน สาวประวัติศาสตร์ เล่าเรื่อง การเอาชนะตนเองจากการเป็นคนขี้อาย ทัศนะคับแคบ จากการเข้าร่วมทำงานกิจกรรมชมรมอาสาพัฒนาชนบท ได้ทำงานให้คนอื่น ได้ทำงานร่วมกับคนอื่น เดี๋ยวนี้อายน้อยลง และกล้าแสดงออกมากขึ้น ตัดสินใจได้ดีขึ้น key success ของหวาน คือ การเอาชนะตนเอง          

           หนุ่มติ วิศวกรในอนาคต เล่าเรื่อง ตนและพี่สาวกำพร้าตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ต้องอาศัยอยู่กับญาติซึ่งเป็นข้าราชการที่มีลูกๆ อยู่ด้วยอีก 4 คน เขาและพี่สาวไม่ได้รับความรัก ความเอาใจใส่พอ จึงคับแค้น โกรธเคือง ขวางโลก มองโลกในแง่ร้าย ปิดตัว แต่มีความมุ่งมั่นที่จะเรียนระดับมหาวิทยาลัยแต่เมื่อมาทำงานองค์กรนิสิต พบว่าการมีเพื่อน มีโอกาสได้รับความรัก และมีโอกาสได้รัก ทำให้เปลี่ยนตนเองมาเป็นคนติงต๊อง (เจ้าตัวบอกเอง) อารมณ์ดี และเข้าใจผู้คนมากขึ้น key success ของติคือ การเอาชนะตนเอง          

           หนุ่มกอล์ฟ หนุ่มชอบยิ้มก่อนและขณะพูด เล่าเรื่องการทำงานด้านสันทนาการของค่ายอาสาพัฒนาชนบท เล่าเรื่องการได้รับความร่วมมือด้านสันทนาการจากเพื่อน ด้วยความเต็มใจ เป็นความภาคภูมิใจ เพื่อนในกลุ่มบอกว่า key success ของกอล์ฟ คือ ความเป็นผู้นำ         

            หนุ่มบัน  หนุ่มมุสลิมชาวยะลา จากชมรมมุสลิม ผู้มุ่งมั่นมาเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จากที่ไม่ชอบวิชาชีววิทยาแต่ชอบการคำนวณมากกว่าและไม่เคยคิดเรียนด้านแพทย์เลย แต่วันหนึ่งไปเที่ยวในชุมชนคนมุสลิมใกล้บ้านพบว่าการติดต่อสื่อสารระหว่างหมอและคนไข้มุสลิมเป็นไปด้วยความยากลำบาก หมอมีเพียง 40 คนทั้งจังหวัด อีกทั้งคุณยายก็ป่วยด้วยโรคร้ายหลายโรค โดยเฉพาะมะเร็งที่ญาติๆ ไม่ยอมให้คุณยายรับรู้ เป็นสาเหตุที่เขาตัดสินใจหันมาเรียนหมอและตั้งใจจะกลับไปทำงานที่ยะลาบ้านเกิด key success ของบันบัน คือ สำนึกรักบ้านเกิด (ติสรุปให้)          

             หนุ่มปีนัง พยาบาลหนุ่มจากชมรมโหราศาสตร์  ขอรับตำแหน่งเด็กซิ่ว เพราะรู้ความต้องการของตนว่าไม่เหมาะกับคณะนิติศาสตร์ แต่ชอบให้ความช่วยเหลือและดูแลคนแบบพยาบาลมากกว่า และครอบครัวเข้าใจ จึงสอบแข่งขันมาเรียนพยาบาลในที่สุด key success ของปีนังคือ การเอาชนะตนเอง           

             เรื่องที่ได้รับเลือกจากเพื่อนๆ ให้ไปนำเสนอกลุ่มใหญ่คือเรื่องของ บัน  และ ติหนุ่มผู้ไม่ชอบอยู่นิ่ง เป็นคนไปเล่าเรื่องของเพื่อนๆ ที่เหลืออีก 5 คน ในวันรุ่งขึ้น         

             ากวันที่ 19-20 สิงหาคม 2549 ทั้ง 6 คนก็สนิทสนมกัน จากการพูดคุย การแลกเปลี่ยนระหว่างกันเป็นธรรมชาติจนน่าจะเกิดเครือข่ายระหว่างกันมากขึ้น นั่นเป็นสิ่งดีๆ อีกประการหนึ่งของ KM Workshop คราวนี้

หมายเลขบันทึก: 45844เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2006 18:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท