พ่อหลวงซั้วหยี้...ที่บ้านไร่


การจัดการความรู้ในตัวคน เริ่มที่ตัวเอง รู้จักคิด คิดได้ คิดเป็น คิดต่อ พร้อมลงมือทำ ผักม้งปลอดภัยที่ปางมะผ้า

พ่อหลวงซั้วหยี้...ที่บ้านไร่

พ่อหลวง(ผู้ใหญ่บ้าน)ซั้วหยี้  แซ่หัน บ้านไร่ เป็นชาวม้ง แต่ในชุมชนบ้านไร่มีเป็นชุมชนที่อยู่รวมกันหลายชนเผ่า ทั้งคนเมือง ลีซอ มูเซอ กะเหรี่ยง ไทยใหญ่  และม้ง  พ่อหลวงซั้วหยี้เป็นเกษตรกรตัวอย่างที่เปลี่ยนความคิดตัวเองจากการปลูกผักจำนวนมากและใช้สารเคมีผลิตผักได้เยอะส่งไปขายเชียงใหม่  การเข้ามาร่วมเป็นนักวิจัยชาวบ้านตัวแทนชาวม้งในโครงการต่อเนื่องของงานวิจัยเพื่อพัฒนากลไกการจัดการความรู้สู่ชุมชน อำเภอปางมะผ้า  กระบวนการที่เน้นการทบทวน คิด ค้น หาทางเลือกที่ดีกว่า ทำให้ พ่อหลวงซั้วหยี้เกิด คิดได้  ซึ่ง พ่อหลวงซั้วหยี้บอกว่าเขามาร่วมเวทีแลกเปลี่ยนทุกครั้ง การดำเนินงานของโครงการเอื้อประโยชน์กับชุมชนอย่างแท้จริง เป็นกลไกที่ทำให้เกิดความคิด ให้คนได้คิดและออกความคิดเห็นได้ไม่ใช่รับฟังอย่างเดียว สิ่งไหนดีก็ดึงมาใช้

พ่อหลวงซั้วหยี้เล่าความสำเร็จของตนเองที่ปลูกผักเชิงเดี่ยวส่งขายเชียงใหม่ แล้วเจอกับตัวเองเรื่องพิษภัยของสารเคมีที่ใช้ คนปลูกยังไม่กล้ากินแล้วจะไปให้คนอื่นกินได้อย่างไร พ่อหลวงซัวหยี้จึงเริ่มจากเรียนรู้ด้วยตนเองที่จะลดละเลิกการใช้สารเคมี  หันมาใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยขี้ไก่  ทำน้ำหมักชีวภาพไล่แมลง  ค้นพบว่าใบหญ้าที่ไหนที่แมลงไม่กินก็เอามาทำยาปราบศัตรูพืช   มีแปลงเพาะชำกล้าไผ่ให้ชาวบ้านไปปลูกกันตลิ่งพัง ซึ่งที่นี่ไม้ไผ่มีความสำคัญมาก ในการทำเกษตรก็ใช้ทำหลักทำรั้วในแปลงผัก คอกสัตว์ และอื่น ๆ   ซึ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากการ รู้จักคิด ซึ่งเป็นเรื่องดีมาก เป็นการฉุกคิดแล้วคิดต่อได้

พ่อหลวงซั้วหยี้บอกว่า การปฏิบัติจริง ๆ ส่วนตัวทำให้เกิดความรู้ เช่น ถ้าดินที่ใส่ปุ๋ยเคมีเกิน 5 ปี ให้ใส่ปุ๋ยมากเท่าไหร่ต้นพืชก็จะไม่โต ตนก็เลยเกิดความคิดหันมาใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยขี้ไก่  ทำด้วยตัวเอง ทำให้ดู แล้วจึงไปขยายชี้แนะถึงแปลง บางคนไม่เชื่อไปใช้แบบไม่รู้เรื่องก็ตายจริง ๆ ก็ต้องกลับมาเรียนรู้ใหม่  เคยใช้ปุ๋ย 30 เปอร์เซ็๋นต์ ก็เหลือแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น พืชที่ปลูกก็มีทั้งถั่วเหลือง กระเทียม เป็นต้น  เมื่อเห็นผลก็มีคนมาขอทำตาม เลยตั้งกลุ่มปุ๋ยขึ้นรวมกันไปซื้อจากเชียงใหม่ แล้วมาแบ่งกันใช้ มีการจัดการกองทุนกันเอง ช่วยเหลือกัน กำลังคิดที่จะหาวัตถุดิบอื่น ๆ ที่มีในท้องถิ่นมาใช้เพื่อจะได้ไม่ต้องไปซื้อจากที่อื่น

ปัจจุบันคนทั้งหมู่บ้านเป็นสมาชิกกลุ่มปุ๋ยและโดยได้รับการขยายแนวคิดและเห็นของจริงจากพ่อหลวงซั้วหยี้ ซึ่งมีบุคลิกของการเป็นคนช่างพูดช่างคุย ชอบดู ชอบสังเกตุ เมื่อไปเห็นอะไรมาแล้วก็เอามาลองทำแล้วบอกต่อ  แต่พ่อหลวงก็บอกว่ามีความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นแต่ตนไม่ได้มีการจดบันทึกไว้เพราะมันเป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันอยู่  อยู่ในกลุ่มเราก็ต้องศึกษากันเองว่าใครมีความรู้อะไรดี ๆ ผมไม่ชอบปลูกของแพง เพราะผลผลิตมันได้น้อย แต่ของถูกอย่างปลูกผักไม่ว่าผักอะไร ผลผลิตต่อไร่มันมากกว่า คิดแล้วคุ้ม นี่เป็นวิธีคิดของชาวม้ง ที่ว่าทำอะไรในพื้นที่น้อย ๆ ให้ได้ผลผลิตมาก ๆ แม้ราคาจะถูกแต่ก็คุ้มกว่าการปลูกผัก/พืชที่ใช้เวลานาน ลงทุนสูง หรือให้ผลผลิตน้อยแม้จะราคาแพงแต่เทียบกันแล้วก็ไม่คุ้ม

คนซื้อหวยรัฐบาล โอกาสถูกน้อยมาก คนก็ยังเสี่ยง แต่ผมทำผัก ผมลงทุน อย่างน้อยผมก็มีกิน

จะเห็นว่าประเด็นของพ่อหลวงซั้วหยี้ คือ การเป็นนักเรียนรู้ นักปฏิบัติ แต่ยังขาดการบันทึก แต่ความรู้ของเขาถูกใช้อยู่กับงานประจำ   ความเป็นพ่อหลวงซั้วหยี้ที่เห็นในปัจจุบันเป็นผลิตผลในตัวคนที่เกิดจากการทำงานของโครงการกลไกจัดการความรู้สู่ชุมชน พ่อหลวงซั้วหยี้เริ่มจากเปลี่ยนแนวคิดตัวเองแล้วขยายผลให้ลูกบ้าน และเมื่อทำแล้วก็พบว่าทำให้ตัวเองประหยัด จากเรื่องราวของพ่อหลวงซั้วยี่ในวันนี้วันรุ่งขึ้น เราก็มีโอกาสไปเห็นแปลงผักขนาดใหญ่มากที่บ้านไร่ดังภาพที่นำมาฝาก 

นี่แหละ พ่อหลวงซั้วหยี้ เมื่อคิดได้ ทำได้ แล้วบอกต่อ

คำสำคัญ (Tags): #ร่องรอย
หมายเลขบันทึก: 45837เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2006 18:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ภาพผักสวยดี สดจากไร่เลยนะครับ ผมคนพื้นที่แต่ยังไปไม่ถึงเลย

รายงานก็สดดี...จะติดตามต่อนะครับ 

มารอบแรกมาอ่านคะ...

ตาลาย...ก็เลยขอไปพัก...

มาเที่ยวนี้...

แวะมาดูภาพคะ...

...

กะปุ๋ม

  • รูปผักสวยมาก ๆ จริงครับ
  • ได้บรรยากาศมาก ๆ ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท