น้องนุชเด็กกำพร้าที่ไร้เอกสารพิสูจน์ตน


แม้ว่าประเทศไทยจะต้องสูญเสียงบประมาณที่ต้องใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในด้านการศึกษาให้แก่คนต่างด้าวหรือคนไร้สัญชาติก็ตาม แต่ด้วยพันธกรณีที่ประเทศไทยต้องผูกพันและด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม และเพื่อจะส่งเสริมหรือสนับสนุนให้บุคคลต่างด้าวหรือไร้สัญชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยที่มีความรู้ความสามารถได้ทำประโยชน์และเป็นกำลังสำคัญให้แก่ประเทศไทยแล้ว การให้สิทธิแก่คนต่างด้าวและคนไร้สัญชาติย่อมเป็นผลดีแก่ประเทศไทยมากกว่า

                          ผู้มีปัญหาสถานะบุคคลในสถานศึกษา

                     กรณี น้องนุชเด็กกำพร้าที่ไร้เอกสารพิสูจน์ตน            

                  

                กรณีของ ด.ญ ปิยนุช  อากาเป ถือเป็นบุคคลไร้รากเหง้า คือ เด็กที่ไม่สามารถสืบหาบุพการีที่แท้จริงได้ เนื่องจากบิดามารดาได้เสียชีวิตไปนานแล้ว  อีกทั้งบิดามารดาของนุชเป็นชาวพม่าที่เข้ามาในประเทศไทยโดยมิได้รับอนุญาตจึงเป็นบุคคลที่เข้ามาในประเทศไทยโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แม้หากพิสูจน์ได้ว่านุชเกิดในประเทศไทย นุชก็ไม่ได้สัญชาติไทยโดยผลของพ.ร.บ สัญชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 มาตรา 7 ทวิ เพราะบิดามารดาเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  นุชจึงมีสถานะเช่นเดียวกับบิดามารดาคือเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย และเนื่องจากบิดามารดาของนุชซึ่งมีสัญชาติพม่าได้เสียชีวิตนานแล้วจึงไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติของนุชว่าเป็นผู้มีสัญชาติพม่าได้ ประเทศพม่าจึงไม่ยอมรับว่านุชมีสัญชาติพม่าเช่นกัน 

                   ดังนั้น เมื่อไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่านุชมีสัญชาติใด  นุชจึงตกเป็นบุคคลที่ไร้สัญชาติ (Nationalityless) และไร้รัฐ   จะเห็นได้ว่านุชอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถไปอาศัยอยู่ประเทศใดได้ โดยหลักสัญชาติแต่ประเทศไทยในฐานะที่เป็นรัฐที่นุชพักอาศัยอยู่ ก็ควรที่จะมีการดำเนินการหรือหาวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เด็กคนนี้ด้วยหลักสิทธิมนุษยธรรม เพื่อให้นุชได้อาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายและสามารถเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศไทยได้ในอนาคต เพราะนุชเป็นเด็กฉลาดและเรียนหนังสือเก่งมาก การที่ประเทศไทยจะมีทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนโดยให้โอกาสแก่นุชให้มีสิทธิและโอกาสในการอยู่อาศัยในประเทศไทยและมีสิทธิในการศึกษา  และมีโอกาสที่จะทำงานรับใช้สังคมไทยต่อไปในอนาคต ประเทศไทยควรมีมาตรการและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนต่อการปฏิบัติต่อบุคคลที่ด้อยโอกาสเหล่านี้ เพื่อให้โอกาสบุคคลเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต 

                  หากพิจารณาแล้วว่าบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและสามารถพัฒนาประเทศไทยได้ เราก็ควรส่งเสริมและผลักดันให้นุชมีสิทธิได้รับการศึกษาและเป็นผู้สัญชาติไทยได้             ประกอบกับประเทศไทยมีพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่มีผลผูกพันต่อประเทศไทย เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948 ได้รับรองสิทธิในการศึกษาของบุคคลในข้อ26ที่กำหนดว่า บุคคลมีสิทธิในการศึกษา การศึกษาจะเป็นสิ่งที่ให้เปล่าโดยไม่คิดมูลค่าอย่างน้อยที่สุดในขั้นประถมศึกษาและขั้นพื้นฐาน 

                   จะเห็นได้ว่าการับรองและการยืนยันถึงสิทธิของบุคคลในการที่จะได้รับการศึกษาในปฏิญญาฉบับนี้ แสดงเห็นถึงความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงว่าบุคคลนั้นจะมีสัญชาติใด หรือแม้จะเป็นคนไร้สัญชาติก็ตาม และปฏิญญายังกำหนดให้การศึกษาเป็นสิ่งที่ให้เปล่าโดยไม่คิดมูลค่าในการศึกษาขั้นประถมศึกษาและขั้นพื้นฐาน

              ดังนั้นคนไร้สัญชาติจึงมีสิทธิได้รับการศึกษาขั้นประถมและขั้นพื้นฐาน และรวมถึงการเปิดโอกาสให้ได้ศึกษาในระดับสูงได้ตามความสามารถและความต้องการ  และตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ค.ศ.1966  ได้รับรองสิทธิในการศึกษาในข้อ13 ซึ่งกำหนดว่า รัฐภาคีแห่งกติกาฉบับนี้รับรองสิทธิของทุกคนในการศึกษา เพื่อจะมุ่งพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์ และความรู้สึกในศักดิ์ศรี และเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และรับรองว่าเพื่อให้สิทธินี้บรรลุผลอย่างเต็มที่ การศึกษาขั้นประถมให้เป็นการศึกษาภาคบังคับและจัดให้ทุกคนแบบให้เปล่า ทุกคนจะต้องสามารถได้รับการศึกษาขั้นอุดมศึกษาอย่างเท่าเทียมกันบนพื้นฐานความสามารถโดยวิธีการที่เหมาะสมทุกทาง โดยเฉพาะการนำการศึกษาแบบให้เปล่ามาใช้           

               จะเห็นได้ว่ากติกาฯฉบับนี้ได้ให้ความคุ้มครองสิทธิในการศึกษาของบุคคลรวมถึงคนไร้สัญชาติ เพื่อให้บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับการศึกษาแบบให้เปล่าอย่างน้อยที่สุดจนถึงระดับการศึกษาภาคบังคับ และมีโอกาสได้รับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาตามความสามารถ

               ส่วนอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. 1989 กำหนดให้รัฐภาคียอมรับสิทธิของเด็กที่จะได้รับการศึกษาบนพื้นฐานของโอกาสที่เท่าเทียมกัน จะเห็นได้ว่าอนุสัญญาฉบับนี้ได้รับรองสิทธิของเด็กในการศึกษาโดยมิได้มีการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ สีผิว เพศ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง ต้นกำเนิดทางชาติ ชาติพันธุ์หรือสังคม การเกิดหรือสถานะอื่นๆของเด็ก หรือบิดามารดา  ดังนั้นเด็กทุกคนแม้เป็นเด็กไร้สัญชาติจึงมีสิทธิได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน  ส่วนอนุสัญญาการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ ค.ศ. 1965 ได้กำหนดให้รัฐภาคีประกันสิทธิของบุคคลทุกคนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ สีผิว ในข้อ 5 ของอนุสัญญาฉบับนี้กำหนดให้บุคคลมีสิทธิในการได้รับการศึกษาและการฝึกอบรม  จะเห็นได้ว่าประเทศไทยเป็นภาคีในพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนทั้งตามกฎหมายระหว่างประเทศและจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่จะต้องรับรองและคุ้มครองสิทธิในการ ศึกษาของบุคคลให้ได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาคกัน ไม่แต่เฉพาะบุคคลสัญชาติไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบุคคลต่างด้าวและบุคคลไร้สัญชาติด้วย  และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 81 กำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษาอบรมและสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู่คู่คุณธรรม และมาตรา 43 ยังกำหนดให้บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและไม่เก็บค่าใช้จ่าย 

               จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญไทยได้รับรองสิทธิในการศึกษาของบุคคลอย่างชัดเจน  แต่การรับรองสิทธิในการศึกษาของบุคคลจะหมายถึงเฉพาะบุคคลสัญชาติไทยหรือไม่  เดิมรัฐธรรมนูญไทยฉบับก่อนๆ จะใช้คำว่า ประชาชนชาวสยาม แต่ปัจจุบันใช้คำว่า บุคคลโดยมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดให้บุคคลย่อมเสมอภาคกันในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ  สถานะของบุคคลอันขัดต่อบทบัญญัตินี้จะกระทำมิได้ 

               ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้รับรองและคุ้มครองสิทธิในการศึกษาไม่แต่เฉพาะบุคคลสัญชาติไทยเท่านั้นแต่ยังรวมถึงบุคคลต่างด้าวหรือบุคคลไร้สัญชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยด้วย   จะเห็นได้ว่าประเทศมีพันธผูกพันที่จะต้องรับรองและคุ้มครองสิทธิในการศึกษาแก่บุคคลโดยไม่เลือกปฏิบัติ ดังนั้น นุชซึ่งเป็นเด็กหญิงไร้สัญชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยก็ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกับบุคคลที่มีสัญชาติไทยเช่นกัน  แม้ว่าประเทศไทยจะต้องสูญเสียงบประมาณที่ต้องใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในด้านการศึกษาให้แก่คนต่างด้าวหรือคนไร้สัญชาติก็ตาม แต่ด้วยพันธกรณีที่ประเทศไทยต้องผูกพันและด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม  และเพื่อจะส่งเสริมหรือสนับสนุนให้บุคคลต่างด้าวหรือไร้สัญชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยที่มีความรู้ความสามารถได้ทำประโยชน์และเป็นกำลังสำคัญให้แก่ประเทศไทยแล้ว การให้สิทธิแก่คนต่างด้าวและคนไร้สัญชาติย่อมเป็นผลดีแก่ประเทศไทยมากกว่า 

            ดังนั้นภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องคิดหาวิธีการหรือหาทางออกให้กับบุคคลเหล่านี้ให้มีความชัดเจนมากขึ้น           

หมายเลขบันทึก: 45766เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2006 12:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท