“จากไม้ฟืนถึงไฮโดรเจน” เส้นทางพลังงานโลกจากมุมมองอนาคต (2)


บริษัทน้ำมันขนาดเล็กแห่งหนึ่งที่ชื่อ เชลล์ ได้ตั้งหน่วยงานภายในขึ้นมาศึกษาว่า หากสถานการณ์ราคาน้ำมันเป็นอย่างนี้ต่อไปอนาคตจะเป็นอย่างไร

หย่าน้ำมัน ไม่ง่ายเหมือนทารกหย่านม?

กลับมาที่เรื่องของน้ำมัน ขณะที่ความพยายามในการพยากรณ์อนาคต แพร่หลายออกไปในหมู่บริษัทเอกชนบางแห่ง เมื่อ 50 ปีก่อนก็มีนักวิชาการชื่อนาย M. King Hubbert ซึ่งขณะนั้นทำงานให้กับบริษัทน้ำมันแห่งหนึ่ง ใช้ข้อมูลทางธรณีวิทยาเกี่ยวกับการสำรวจแหล่งขุดเจาะและปริมาณน้ำมันสะสม สร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ขึ้นมาอันหนึ่ง

เขาใช้แบบจำลองของเขาพยากรณ์ไว้ตั้งแต่คราวนั้นว่า กำลังการผลิตน้ำมันของโลกจะขึ้นถึงจุดสูงสุดในราวปี 2000 เศษ จากนั้นก็มีแต่จะตกลงเรื่อย ๆ ลองดูในภาพข้างล่างนี้

็ีิHubbert's Peak

ตั้งแต่นั้นมายอดบนของเส้นโค้งในภาพนี้ก็ถูกเรียกว่า ยอดเขาของฮับเบิร์ท หรือ Hubbert’s Peak

หลายสิบปีต่อมามีการตั้งสมาคมวิชาการขึ้นมาศึกษางานของเขาโดยเฉพาะ และจากการคำนวณด้วยข้อมูลใหม่ล่าสุด ร่วมกับเทคนิคที่ทันสมัยกว่ายุคนั้นอย่างไม่เห็นฝุ่น ก็ยืนยันผลการพยากรณ์ของเมื่อ 50 ปีก่อนอย่างค่อนข้างแม่นยำ

การคำนวณอื่น ๆ ของ Hubbert เช่นที่ทำนายเกี่ยวกับเรื่องจุดสูงสุดของกำลังการผลิตแก๊สธรรมชาติในสหรัฐ ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมือปี ค.ศ. 2003 ก็ตรงกับความจริง!

ดูภาพเมื่อครู่อีกครั้ง แล้วลองเช็คราคาน้ำมันของวันนี้เทียบกับเมื่อสามสี่ปีก่อน ท่านจะเห็นความจริงที่น่าสะดุ้งใจ... เรากำลังอยู่ในยุควิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่สาม และนี่อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะยาวนานกว่าทุก ๆ ครั้ง

ย้อนกลับไปก่อนเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งแรกของโลกเมื่อต้นยุคทศวรรษที่ 1970 ขณะนั้นราคาน้ำมันของโลกยังคงตัวอยู่นิ่ง ๆ มาตลอดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง บริษัทน้ำมันขนาดเล็กแห่งหนึ่งที่ชื่อ เชลล์ ได้ตั้งหน่วยงานภายในขึ้นมาศึกษาว่า หากสถานการณ์ราคาน้ำมันเป็นอย่างนี้ต่อไปอนาคตจะเป็นอย่างไร และสร้างสถานการณ์จำลองขึ้นมาอีกอันหนึ่งว่า หากราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นจากการรวมหัวกันของกลุ่มโอเปค โลกจะเป็นอย่างไร!

การสร้างนิยายอนาคตที่สมจริงของบริษัทเชลล์นี้ ได้กลายเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญในเวลาต่อมา เพราะเหตุการณ์รวมหัวกันขึ้นราคาน้ำมันได้เกิดขึ้นจริงไม่กี่ปีหลังจากนั้น บริษัทเชลล์ซึ่งเห็นภาพนี้ก่อนคนอื่น อาศัยการเตรียมตัวที่ดีกว่าเข้ารับสถานการณ์ และถีบตัวเองขึ้นมาอยู่เป็นบริษัทผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก และต่อมายังได้พยากรณ์เหตุการณ์ล่มสลายของสหภาพโซเวียตได้อย่างถูกต้องอีกด้วย

แต่โลกของ foresight ก็ยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น นอกจากวิธีการจำลองภาพอนาคต ยังมีการนำเครื่องมืออื่น ๆ มาใช้ เช่น การสำรวจแบบเดลฟี (Delphi) ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นใช้ในการทำ foresight เพื่อมองอนาคตเทคโนโลยีตั้งแต่เมื่อเกือบสี่สิบปีก่อน และทุกวันนี้ก็ยังดำเนินอยู่ อย่างสนิทแนบแน่นกับการดำเนินนโยบายภาครัฐ

ถัดจากนั้น สหภาพยุโรป รวมถึงประเทศอุตสาหกรรมเกิดใหม่อย่างเกาหลี และจีน ก็เริ่มผนวกเอากิจกรรม foresight เ้ข้าเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศเช่นกัน

…เวลานี้สิ่งที่ประเทศเหล่านี้มองหาคือ ทางเลือกใหม่ที่จะช่วยให้ “หย่าน้ำมัน” ได้ แต่อะไรล่ะจะมาเป็นเชื้อเพลิงที่ทดแทนน้ำมันในอนาคต?!?

(มีต่อ)  

หมายเลขบันทึก: 45689เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2006 22:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท