การเขียนเพื่อการจัดการความรู้ (4) : กล้าเขียน กล้าเล่าเรื่อง เพราะทุกเรื่องมีค่าในตัวเอง


การเขียนไม่ใช่เรื่องยาก ขอเพียงเริ่มต้นจากการเขียนเรื่องใกล้ตัว, เขียนจากเรื่องที่ชอบ, เขียนเรื่องที่อยากจะเขียน, เขียนแบบเล่าเรื่อง หรืออารัมภบทไปเรื่อยๆ เขียนเหมือนกับสนทนาอยู่กับคนอ่าน, เขียนแบบอย่ากลัวว่าจะถูกจะผิด

ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา... 

        ผมได้รับเชิญจากงานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ (กองกิจการนิสิต มมส)  เพื่อเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่อง “การเขียนเรื่องเล่า”  ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักคือบุคลากรและนิสิตหอพักของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

        เวทีครั้งนี้ ไม่ถึงกลับเน้นการเขียน “เรื่องเล่าเร้าพลัง”  เป็นแต่เพียงการเขียน “เรื่องเล่า”  ธรรมดาๆ  เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้มีความรู้ ทักษะและแรงบันดาลใจที่จะเขียนเรื่องราวอันเป็น “ชีวิตของชาวหอพัก”  และเน้นหนักไปในทาง “เรื่องฮาในหอ”

        ด้วยความที่ผมไม่ใช่คนประเภท “ฮา,ขำกลิ้ง”  และเป็นคนประเภทที่เขียนเรื่อง “ฮาๆ ขำๆ” ไม่เก่ง (ไม่เป็น)  ผมจึงจำต้องปรับกระบวนยุทธสู่การชูประเด็น “การเขียนเรื่องเล่า” ในแบบที่ตนเองถนัด  ด้วยหวังว่าผู้เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้  จะมี “ความกล้าและพลัง” ที่จะ “เขียน” 

        ส่วนที่เขียนแล้ว “ฮา” หรือไม่  คงต้องฝากเป็นภาระของผู้เข้าร่วมกระบวนการไปเรียนรู้เอง...เพราะผมไม่สันทัดจริงๆ...

 

 

  

เปิดใจถามทัก "ความคาดหวัง” สู่การปรับกระบวนยุทธ

 

ก่อนถึงห้วงเวลาที่ผมจะต้องขับเคลื่อนเวทีนั้น  ทีมงานได้ประเมินความคาดหวัง (BAR) แบบง่ายๆ และเป็นกันเอง

        เดิมทีมงานฝากให้ผมช่วยทำกระบวนการนี้ด้วยเหมือนกัน  แต่ผมก็ปฏิเสธอย่างตรงไปตรงมาว่า “ทำเองเถอะ ทำไปเรียนรู้ไป  อย่ามาติดยึดกับผมเลย”           

        ครับ, ฟังดูห้าวห้าว แล้งน้ำใจอยู่มาก  แต่ความเป็นจริงไม่มีอะไรแฝงเร้นอยู่ในนั้น  ทุกคำยังเต็มไปด้วยมิตรภาพ  เพียงแต่กำลัง “สอนงาน สร้างทีม”  เพื่อให้พวกเขามี  “ตัวตน” ใน “งานของตัวเอง”  ให้มากที่สุดเท่านั้นเอง  

        และนี่คือส่วนหนึ่งที่ค้นพบจากความคาดหวังของผู้เข้าร่วมกระบวนการในวันนั้น

  • อยากได้ความรู้เกี่ยวกับทักษะและขั้นตอนการเขียนเรื่องเล่า  เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต และองค์ความรู้ในตัวเอง  เช่น  การลำดับเนื้อหา  ลีลาการเล่าเรื่อง การสร้างภาพ สร้างคำ
  • อยากได้ความรู้เกี่ยวกับทักษะการเขียนเรื่องเล่าเพื่อให้เกิดความน่าสนใจ
  • อยากได้ความรู้เกี่ยวกับศิลปะการใช้ภาษาเพื่อการเขียนเรื่องเล่า
  • อยากได้ความรู้และทักษะการเขียนเรื่องเล่าที่สนุก ตลก
  • อยากได้หนังสือที่สนุกๆ อ่าน

 

 

 

        จากข้อมูลที่สะท้อนข้างต้นนั้น  เห็นได้ชัดว่าทุกคนมุ่งหวังที่จะได้ “ความรู้และทักษะ”  ที่เกี่ยวกับการเขียนเรื่องเล่า  เพื่อให้สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครบถ้วนทั้งมิติ “บันเทิง..เริงปัญญา”

       
อีกทั้ง พอรู้ว่าผู้เข้าร่วมกระบวนการ ล้วนเป็น "มือใหม่" ในด้านการเขียน  จึงจำต้องปรับกระบวนยุทธแบบผสมผสานกันไประหว่างความรู้,ทักษะและแรงบันดาลใจ  เพื่อให้เกิดการกล้าคิด กล้าเล่าเรื่องราว ทั้งด้วยคำพูด, ภาพและตัวหนังสือ


        โดยตั้งใจว่า ครั้งต่อไปจะขยายพื้นที่อบรมต่อเนื่อง  ด้วยการนำกลุ่มนี้กลับมาสู่การลงลึกด้านทักษะการเขียนให้มากขึ้น  ทั้งเรื่องการวางโครงเรื่อง  การลำดับเนื้อหา การใช้ภาษา เป็นต้น

        ด้วยเหตุเช่นนี้  ผมจึงจำต้องปรับกระบวนการแบบกะทันหันอีกรอบ  ด้วยการบรรยายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ควบคู่ไปกับกิจกรรมปฏิบัติการด้านการเขียนทั้งในระดับ “ปัจเจกและกลุ่ม”

 

 

 

 

เขียนโลกและชีวิตส่วนตัวด้วย "ภาพและตัวอักษร" 

 

ผมเปิดเวทีด้วยวิธีการที่คุ้นเคย  ชวนทุกคน “วาดภาพ”  ตามแนวคิด “รู้จักฉันรู้จักเธอ”  

        ครั้งนี้ปักธงเรื่องราวภาพวาดที่เป็นความสุขของแต่ละคน  ด้วยหวังว่าจะใช้ภาพที่ว่านั้น ชวนให้ผู้วาด “ถอดบทเรียนชีวิต” ตัวเองกันอีกสักครั้ง  พร้อมๆ กับการเสริม “ทัศนคติ” สู่การเปิด “ประตูใจ”  ให้ตัวเองและคนรอบข้างได้เข้าไปสัมผัสกับเรื่องราวที่ถักทออยู่ใน “ภาพ” นั้นๆ  อันเป็นกระบวนการสำคัญของการเรียนรู้ร่วมกัน – เรียนรู้เพื่อการแบ่งปัน เยียวยา และเสริมพลังสู่กันและกัน

        กิจกรรมที่ว่านี้ เน้นการถอดบทเรียนชีวิต ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตผ่านงานศิลปะ  เสริมทักษะการสื่อสารเรื่องราวที่อยู่ในภาพ (ข้างหลังภาพ)  ทั้งในมิติของการสื่อสารกับ “ตัวเอง” และสื่อสารกับ “คนอื่น”

         นอกจากนี้ยังหมายรวมถึงการเรียนรู้ที่จะเป็นผู้พูดที่ดี  ผู้ฟังที่ดี  และฝึกการให้ความสำคัญต่อกันและกันไปในตัว   

        ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์ในสูตรสำเร็จคล้ายๆ กับเวทีอื่นๆ  กล่าวคือ เรื่องราวส่วนใหญ่จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน  ประกอบด้วยเรื่องราวการใช้ชีวิตในหอพัก เรื่องราวในวัยเด็ก เรื่องราวของครอบครัว ตามลำดับ

         ครับ ถึงแม้ผลลัพธ์ที่ได้มาจากกิจกรรมการวาดภาพ  อาจดูไม่แตกต่างจากเวทีอื่นๆ แต่ผมก็ยังยืนยันที่จะใช้กระบวนการนี้ขับเคลื่อนเสมอมา  เพราะเชื่อในอานุภาพของการใช้ศิลปะเพื่อการบำบัดและเสริมพลังบวกให้กับชีวิต 

         และเชื่อว่าเรื่องราวในภาพก็ล้วนเป็นผลพวงที่หมายถึงประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน  เมื่อดึงออกมาได้ ก็ย่อมกลายเป็น “สื่อ” แห่งการเรียนรู้และแบ่งปันร่วมกันได้..

 

 Large_dsc_0088

 

        ตอนท้ายของกิจกรรมแห่งการวาดภาพนั้น  ผมชวนให้แต่ละคนมอบภาพอันแสนรักของตัวเองให้กับคนที่เขาอยากจะให้  โดยมีกติกาง่ายๆ คือให้ลงลายมือชื่อไว้ใต้ภาพ  เขียนความรู้สึกดีๆ ให้กับใครที่ว่านั้น  เสร็จแล้วก็เดินไปยื่นให้กับเขาด้วยมือของตัวเอง-

        ถัดจากนั้น  ผมก็บรรยายด้วยสไตล์การ “เล่าเรื่อง” ไปเรื่อยๆ มีสนุก มีฮา มีเข้มข้นชวนคิด  หรือแม้แต่ชวนหลบหน้าคละเคล้ากันไป 

        บางห้วงผมคั่นบรรยากาศด้วย “คลิป,วีดีทัศน์” เพื่อปลุกเร้าและเรียกสมาธิของแต่ละคน  อาทิ การนำคลิปของตัวเองที่ทีมงาน gotoknow ได้ตัดต่อและสัมภาษณ์ผมไว้เมื่อหลายเดือนที่แล้วมาเปิดให้ได้ดูกัน  เพื่อบอกเล่าให้รู้ว่าหลายต่อหลายเรื่องในชีวิตของผมนั้น ล้วนเปลี่ยนแปลงผ่านกลไกการ “อ่าน,เขียนและจัดการความรู้”   

        เมื่อผ่านพ้นกิจกรรมหลักที่เกี่ยวกับการวาดภาพและวีดีทัศน์แล้ว  ผมก็ชวนให้แต่ละคนหันกลับมาจับปากกาเพื่อเขียน “โลกและชีวิต” ด้วย “ตัวอักษร”

        คราวนี้ผมให้โจทย์แต่ละคนเขียนเรื่องราว “อดีต ปัจจุบัน อนาคต” ของตัวเอง  โดยให้เลือกเขียนเพียงหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง  หรือจะเขียนทั้งสามหัวข้อเลยก็ได้

        ขั้นตอนนี้  ผมต้องการฝึกทักษะการเขียนผ่านการบันทึกประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านเลยมาของแต่ละคน   รวมถึงการเขียนถึงสถานะของการเป็นอยู่ในห้วงปัจจุบัน  หรือแม้แต่ฝึกให้เขียนถึงความคิดฝันของอนาคตอันเป็นจุดหมายปลายทางที่แต่ละคนปรารถนาที่จะไปให้ถึง  อันเป็นกระบวนการหนึ่งของการสะท้อนภาพ “ยุทธศาสตร์ชีวิต” ที่ประกอบขึ้นวาทกรรมหลักคือ “อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต”

 

 

        การเขียนในประเด็นข้างต้น  เป็นการเขียนที่มุ่งให้ผู้เขียนได้เขียนเรื่องราวจาก “โลกภายใน” ของตัวเองเป็นหัวใจหลัก  และในทำนองเดียวกันก็คือเป็นการเขียนเพื่อฟัง “เสียงของหัวใจ” ของตัวเองนั่นเอง 

         กระบวนการในครั้งนี้  ผมเจตนาที่จะไม่บอกให้แต่ละคนรู้ล่วงหน้าว่า เขียนเสร็จแล้ว จะให้เจ้าตัวอ่านเรื่องราวให้คนอื่นฟัง  ด้วยเชื่อว่าวิธีการเช่นนั้น  จะช่วยให้คนเขียนรู้สึกผ่อนคลาย  ไม่ต้องปั้นแต่งเรื่องให้ดูดีจนเกินควร  เน้นความไหลลื่น สบายๆ...เป็นธรรมชาติ  

          และที่สำคัญก็คือ  ผมไม่จำกัดรูปแบบของการเขียน  ใครจะเขียนด้วยสไตล์ที่เป็น กลอน ลำนำ ความเรียงสั้นๆ  เขียนแบบบันทึกประจำวัน หรืออื่นๆ ก็ได้ 
          เรียกได้ว่าเอา “ใจ” ของผู้เขียนเป็นตัวตั้ง ใครเหนื่อยก็พัก, อยากเขียนตอนไหนก็เขียน  พอเขียนเสร็จให้อ่านทวนอย่างเงียบๆ  
         
อ่านเสร็จ  จะขัดเกลาปรับแต่ง หรือคงต้นฉบับแบบดิบสดเช่นนั้นก็ไม่ผิด  ..โดยขณะที่เขียนนั้น  ผมก็เปิดเพลงและดนตรีบรรเลงเบาๆ คลอไปด้วย

          ผมเฝ้ามองการเขียนของแต่ละคนอยู่ห่างๆ  เห็นความสดใสในแววตา  เห็นความสุขของการเขียนผ่านแววตาและการเคลื่อนไหวของตัวอักษรบนแผ่นกระดาษ
           หลายคนเขียนเรื่องราวได้ค่อนข้างยาว
           บางคนเขียนเรื่องราวได้สั้นๆ
           บางคนเขียนแบบหยุดๆ เขียนๆ
           บางคนเขียนจนจบไม่ลง !
           และที่สำคัญ คือไม่มีใครที่จะเขียนอะไรไม่ได้

 

 

  

 

กล้าเขียน กล้าเล่าเรื่อง
เพราะเรื่องทุกเรื่องล้วนมีค่าในตัวเอง

 

ภายหลังกิจกรรมเขียนโลกและชีวิตผ่านตัวอักษรเสร็จสิ้นลง  ผมโยนคำถามแบบกว้างๆ ไปยังทุกคน เพื่อให้ทุกคนตอบตัวเองว่ารู้สึกอย่างไรกับการเขียนที่ผ่านมา  อึดอัด, สุขใจ ปลอดโปร่ง หรือแม้แต่ “มืดมิด” !

 

        ครับ, ส่วนใหญ่ยืนยันว่ามี “ความสุข” กับการเขียน  และเริ่มรู้สึกว่าการเขียนไม่ใช่เรื่อง “ยาก”  ยิ่งหากได้เขียนจากเรื่องราว “ใกล้ตัว” หรือเขียนจากเรื่องราวอันเป็น “โลกส่วนตัว” ของตัวเอง ยิ่งทำให้การเขียนผ่อนคลาย ไหลรื่น


        และที่สำคัญก็คือทุกคนมองในมุมเดียวกันคือ กิจกรรมที่เพิ่งผ่านพ้นทั้งการวาดภาพและเขียนเรื่องราวของตัวเองนั้น  ได้ช่วยให้แต่ละคนได้คิดทบทวนชีวิตที่ผ่านมา ไปพร้อมๆ กับการทบทวนจุดยืนของวันนี้และอนาคต  เพื่อเตือนสติตัวเองว่า “มาจากที่ใด กำลังทำอะไร ด้วยกระบวนการใด และจะไปหนแห่งใด” !

 

 

Large_dsc_0097

 

         ถัดจากนั้น ผมได้ชักชวนให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการอ่านเรื่องราวของตัวเองให้เพื่อนฟังตามความสมัครใจ  โดยซ่อนแนวคิดเรื่องการ “ประทับตราคุณค่า” ของเรื่องราวไว้เงียบๆ

          เมื่อผู้เข้าร่วมกระบวนการอ่านเรื่องราวของตัวเองสิ้นสุดลง  ผมไม่ได้สรุปว่านี่คือกิจกรรมที่ฝึกฝนทักษะการอ่าน  แต่พลิกมุมสรุปแบบกว้างๆ ว่า "ทุกเรื่องราวล้วนมีคุณค่าในตัวตนของมันเอง  อย่างน้อยก็มีคุณค่าต่อการเปลี่ยนแปลงตัวผู้เขียน" พร้อมๆ กับการยกตัวอย่างบางเรื่อง บางประโยค หรือบางวาทกรรมของใครบางคนมาให้ร่วมรับรู้และเรียนรู้ร่วมกัน

          ครับ,  ผมเชื่อในกระบวนการที่ว่านั้น  เพราะมันคือการ “ทะลายกำแพง” ความกลัวที่มีต่อการเขียน

 

Large_dsc_0041

 

         จากสภาพการณ์จริง  ผมเชื่อเหลือเกินว่า หลายคนไม่กล้าเขียนเพราะไม่รู้ว่าจะเขียนอะไร  และถึงแม้จะเขียนก็ไม่กล้าที่จะสื่อสารกับคนรอบกาย เพราะไม่มั่นใจว่าเรื่องราวของตัวเองจะมี “สาระ” หรือมี “คุณค่า” พอที่จะสื่อสารให้คนอื่นได้ร่วมเรียนรู้

          แต่กระบวนการที่ผมใช้นั้น  เป็นการยืนยันว่า  การเขียนไม่ใช่เรื่องยาก  ขอเพียงเริ่มต้นจากการเขียนเรื่องใกล้ตัว, เขียนจากเรื่องที่ชอบ, เขียนเรื่องที่อยากจะเขียน, เขียนแบบเล่าเรื่อง หรืออารัมภบทไปเรื่อยๆ เขียนเหมือนกับสนทนาอยู่กับคนอ่าน, เขียนแบบอย่ากลัวว่าจะถูกจะผิด ...

          สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นกลไกพื้นฐานที่จะนำไปสู่การเขียนเพื่อการการสื่อสารและการเขียนเพื่อการจัดการความรู้แทบทั้งสิ้น

          และที่สำคัญ  ในประเด็นที่เกี่ยวกับสาระและคุณค่านั้น  ผมก็พยายามชี้ให้เห็นว่าเรื่องทุกเรื่องล้วนมีคุณค่าในตัวของมันเอง  บางเรื่องผู้อ่านอาจจะไม่ได้สาระความคิดจากประเด็นหลักที่เขียนก็ได้  หากแต่อาจไปสะดุดอยู่กับแนวคิดรองๆ ในเรื่องนั้นๆ แทนก็เป็นได้


         ดังนั้นการเขียนของแต่ละคน  จึงเป็นการสื่อสารความคิดทั้งในโลกส่วนตัวและการงาน เพื่อจัดแต่งระบบชีวิตตัวเอง รวมถึงเพื่อแลกเปลี่ยนกับผู้อ่านในมิติต่างๆ อย่างเปิดใจ 

         เมื่อกล้าเขียนก็ต้องกล้าเล่าเรื่อง  เพราะการเล่าเรื่องคือการยืนยันว่าเรื่องแต่ละเรื่องมีความงามและคุณค่าในตัวของมันเอง  
         และการเล่าเรื่องก็คือกระบวนการที่ทำให้คนอ่านได้รับรู้ว่าเราพร้อมที่จะเรียนรู้ร่วมกับผู้อ่าน  เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และเติมเต็มกันและกันอยู่เสมอ

          แต่กระบวนการที่ว่านั้น จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากเราไม่เริ่มต้นที่จะเขียน และเล่าเรื่อง หรือสื่อสารออกมาจากโลกอันเร้นลับของตัวเราเอง...

          ดังนั้นเวทีนี้จึงปักธงกระตุ้นให้เกิดการเขียน ทะลายกำแพงความกลัวที่มีต่อการเขียน
          ทะลายกำแพงความกลัวที่จะสื่อสารการเขียนของตัวเองสู่คนรอบข้าง 
          พร้อมๆ กับการฝึกให้เกิดกระบวนการสำรวจ หรือทบทวนเรื่องราวอันเป็น "ผลึกชีวิต" ไปในตัว
          เพราะสิ่งเหล่านั้นคือ "ทุนและวัตถุดิบ" ที่จะนำมาใช้ในการเขียน...

 

 Large_dsc_0075

 

ยังไม่จบ

          ครับ, เรื่องราวอันเป็นกระบวนการสอนทักษะการเขียนยังไม่จบเท่านั้น  เพราะยังเหลือกระบวนการที่ว่าด้วยการเขียนแบบเชื่อมร้อยเรื่องราว  การผูกความ และสังเคราะห์ความร่วมกับคนอื่นๆ   อันเป็นกระบวนการที่ฝึกการเขียนในระดับ ”สังคม” หรือ “กลุ่ม” 

          หากแต่ตอนนี้  ขอละไว้เพื่อบอกเล่าในโอกาสต่อไป  (เพราะเท่าที่เขียนมานี้ ก็ดูจะยืดยาวเหลือทน!)

 

 

...


โครงการประกวดเรื่อเล่าชาวหอพัก
โดย งานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ กองกิจการนิสิต มมส
๑ สิงหาคม ๒๕๕๔
ภาพ : งานประชาสัมพันธ์และสาสนเทศ,พนัส ปรีวาสนา 

 

หมายเลขบันทึก: 456253เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2011 11:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)
  • ชอบเรื่องเล่า
  • ส่งเรื่องนี้เข้าประกวด ฮา
  • gotoknow.org/blog/yahoo/408698
  • เห็นสมาชิกตั้งใจเขียนมากๆ
  • ชอบจังเลยครับ

พี่พนัสคะ

ชอบบันทึกนี้จัง รู้สึกว่าเป็นกิจกรรมที่ทำให้เปิดใจ กล้าที่จะลองสิ่งไม่ใหม่ เพียงแค่ยังไม่เคยลองลงมือทำเท่านั้นเอง

ขอบคุณมากค่ะ หนูคงขออนุญาตนำเทคนิคนี้ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการอบรมการใช้งานด้วยค่ะ

^_^

สวัสดีครับท่านอาจารย์ แผ่นดิน

แนว ฮาๆทั้งเล่าทั้งเขียนชอบๆครับ

...

ความกล้าหาญ ของการเขียน คือเพียรคิด
ใช้ชีวิต ไตร่ตรอง มองให้เห็น
สิ่งง่ายง่าย รอบรอบตัว ไม่มัวเป็น
เขียนให้เห็น ภาพฉาย ที่ปลายใจ

อยากจะเขียน อะไร ก็จงเขียน
ไม่ต้องเรียน ให้สูง ก็เขียนได้
สักบรรทัด สักวลี ให้เขียนไป
ใช้หัวใจ เป็นหมึกหยด จรดปากกา

...

หัวใจยังคงนำพา
ศรัทธายังคงนำทาง
ไม่เคยเปลี่ยน ... ไป

...

ขอบคุณครับ ;)...

บางคนกล้าที่จะพูดแต่เขียนไม่ออก  บางคนกล้าที่จะเขียนแต่พูดไม่ได้ก็มีมากมาย

เพราะสิ่งที่ทุกคนขาดคือความมั่นใจในตัวเอง...

ขอบคุณกับบันทึกดีๆที่อ่านแล้วจะได้นำมาต่อยอดให้กับงานเขียนของตัวเอง

เขียนแบบอย่ากลัวว่าจะถูกจะผิด...

 เรื่องทุกเรื่องล้วนมีคุณค่าในตัวของมันเอง... 

  • ชอบมาก
  • มาอ่านเอาไปปรับใช้ต่อ
  • ขอบคุณนะคะ

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

เสร็จเวทีนี้ มีบางคนบอกกล่าวกับผมเป็นการส่วนตัวว่า "รู้สึกกล้าที่จะเขียน และมีความสุขที่จะเขียน"
แค่นี้ ผมก็ปลื้มสุดๆ แล้วครับ
ตอนนี้ มีน้องๆ ส่งเรื่องมาให้ช่วยอ่าน
ส่วนหนึ่งเข้าใจว่าจะนำเข้าประกวดสร้างสีสันการเรียนรู้ร่วมกัน

...

อยากมีความกล้าพูด กล้าเขียน บันทึก แบบ อาจารย์จังเลยนะคะ จะเขียนยังเรียบเรียงลำบาก ยากสำหรับคนที่ไม่อยากคิดจะเขียนนะคะ วันนี้ประทับใจในอนุทินท่านอาจารย์วิรัตน์ค่ะ

เข้าไปอ่านตามลิงค์นั้นแล้วครับ
ถือเป็นเรื่องเล่าที่ลำดับจังหวะได้ดี ไม่วกไปวนมาเหมือนเรื่องของผม 55

สวัสดีครับ มะปรางเปรี้ยว

จะเขียนบล้อกแต่ละที  ใช้พลังมากครับ  เพราะในแต่ละวันมันมีเรื่องให้ขบคิดมากมาย  เลยเขียนในยามที่พร้อม ทั้งๆ ที่ใจอยากเขียนทุกวัน  พอเขียนแล้วก็ทะลักไม่จบ เลยต้องทะยอยเขียนเก็บไว้ๆ...

ไม่ว่าสิ่งใดก็ตาม  เรามักกลัวการเริ่มต้นครับ
ในแต่ละเวที พี่จึงพยายามกระตุ้นเร้าให้กล้าและกระหาย
เป็นการ "นวด" ไปเรื่อยๆ...พอได้จังหวะก็ค่อยลงเทคนิคไปทีละนิดๆ...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ พี่วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei

เรื่องขำๆ ฮาๆ ...ผมคิดถึงจังหวะและสไตล์พี่มากครับ  มีแถมสาระให้ครบครันด้วยอีกต่างหาก

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ อ.Wasawat Deemarn

ชอบมากครับ

อยากจะเขียน อะไร ก็จงเขียน
ไม่ต้องเรียน ให้สูง ก็เขียนได้
สักบรรทัด สักวลี ให้เขียนไป
ใช้หัวใจ เป็นหมึกหยด จรดปากกา

...

ใช้ใจนำพาครับ..

เมื่อครั้งไปเชียงใหม่  มีบางท่านแอบมาคุยกับผม  ท่านบอกว่าจบการศึกษา ป.4 แต่พอฟังผมเล่าเรื่องการเขียนแล้ว ท่านมั่นใจและกระหายที่จะเขียนเรื่องราวชีวิตและการงานของตัวเองมาก

นั่นก็แสดงว่า การปลุกเร้าของผมเป็นผลแล้วครับ..

 

สวัสดีครับ อ.krugui Chutima

ความยาก คือการเริ่มต้น  ความยาก คือความมั่นใจในตัวเอง..
หากเริ่มต้นเขียนได้  ทุกอย่างย่อมมีพัฒนาการในตัวของมันเอง ฝึกฝนบ่อยๆ ก็เหมือนลับมีด สักวันมีดก็ย่อมมีคมขึ้นเรื่อยๆ...

และที่สำคัญ  ผมก็ฝากเรื่องทัศนคติเชิงบวกไว้เช่นเดิม  เพราะเราต้องเชื่อว่าเรื่องทุกเรื่องต่อให้เป็นเรื่องแย่ๆ ก็ย่อมมีมุมสวยงามชวนคิด ชวนทบทวนอยู่วันยังค่ำ ซึ่งก็คล้ายกับที่บอกว่า "เรื่องทุกเรื่องย่อมมีคุณค่าในตัวของมันเอง" ...

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ..ทพญ.ธิรัมภา

การเขียนแบบไม่มีผิด ไม่มีถูก..เป็นกลยุทธของการปลดปล่อยความกลัวเกี่ยวกับการเขียน ฟังดูง่ายแต่ก็ยากมากครับ  เพราะเมื่อเขียนได้ สิ่งที่ต้องเรียนรู้ถัดมาก็คือการรับฟังเสียงสะท้อนกลับสู่ตัวเรา  เสียงสะท้อนที่ว่านั้น  ไม่ว่าจะมีในมุมบวก หรือลบ ก็ล้วนเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการที่ดีของการเขียนแทบทั้งสิ้น

เป็นกำลังใจให้นะครับ

สวัสดีครับ คุณ Rinda

ยากสำหรับคนที่ไม่คิดที่จะเขียน หรืออยากเขียน...
กรณีเช่นนี้ ก็ค่อยเป็นค่อยไปครับ พร้อมเมื่อไหร่ มีใจเมื่อไร่ก็ค่อยลงมือเขียน  ดังนั้นการเริ่มต้นเขียนจึงน่าจะมาจากการเขียนบันทึกความจำ, บันทึกประจำวันนี่แหละ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่มีกระบวนที่ซับซ้อน  เขียนเหมือนคุยกับตัวเอง....

ผมเชื่อในกระบวนการเริ่มต้นในทำนองนี้ครับ...

 

ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันค่ะ .. ตามประสบการณ์ของตนเองนั้น เริ่มจากการเขียนและเล่าในวงแคบๆในครอบครัวและเพื่อนสนิท ..แบบเปิดใจและไม่ระวังรูปแบบ และเน้นเนื้อหา ..แต่ในกรณีที่เปิดกว้างขึ้นไปอีกในเชิงพื้นที่และกลุ่มคน (อย่าง g2k ฯลฯ) มีโจทย์ที่ต้องให้ตอบก่อนเขียนเล่าเพื่อความเหมาะสมมากขึ้น (เกรงใจผู้อ่านอีกต่างหาก)

  • สวัสดีค่ะอาจารย์ไม่ว่าจะเป็นการเขียนด้วยภาพ หรืออักษร ล้วนมีความยากสำหรับผู้ที่ขาดสันทัด และการฝึกฝน..ที่หมายรวมถึงตัวเองด้วย
  • ขอบคุณวิธีและแนวทางของอาจารย์มากนะคะ
  • การเขียนทำให้ต้องรวบรวมรายละเอียด ลำดับ และสรุป ยิ่งถ้าเป็นการเขียนประสบการณ์ ก็จะได้ทบทวนหลายๆอย่างที่ผ่านมาของตัวเองไปโดยอัตโนมัติ ผมเข้าใจและเห็นประโยชน์อย่างนั้นครับ..
  • ขอบคุณความรู้ครับอาจารย์

สวัสดีครับ พี่นงนาท สนธิสุวรรณ

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งนะครับกับกระบวนการการเขียนที่เริ่มจากวงเล็กๆ ในครอบครัวและเพื่อนฝูง  เพราะกลุ่มบุคคลเหล่านี้จะเป็นแรงหนุนและทุนที่ดีให้เรามีกำลังใจ มั่นใจกับการเขียน  ซึ่งยังถือเป็นวัฒนธรรมที่ดีเลยทีเดียว เชื่อมโยงสายสัมพันธ์ของกันและกันไปในตัว

ส่วนกรณีการเขียนที่สื่อสารสู่สาธารณะในวงกว้างนั้น  แน่นอนครับต้องคิดวิเคราะห์ กลั่นกรองก่อนว่าเหมาะสมแค่ไหน และจะนำเสนอด้วยกระบวนการใด  ถึงกระนั้นเมื่อสื่อสารมาแล้ว ก็คงต้องเรียนรู้ที่จะหนักแน่นเพื่อรับแรงเสียดทานจากผู้อ่าน  ซึ่งผมก็เขียนถึงไว้เหมือนกันว่าต้อง "อดทนต่อการทำงานหนัก" อันหมายถึง  ฝึกฝนต่อเนื่อง และเปิดใจรับคำวิพากษ์จากผู้อ่าน

ขอบพระคุณครับ

 

 

สวัสดีครับ Kanchana

ผมยังยืนยันนะครับ ไม่มีอะไรยากเกินการเริ่มต้น  เพราะนั่นคือการผลัก หรือดันภูเขาออกจากตัวเรา  เมื่อเริ่มต้นได้ ก็เหมือนโยนหินถามทางไปเรื่อยๆ ทำไป เรียนรู้ไป..

ผมเป็นกำลังใจให้นะครับ...

สวัสดีครับ อ.ธนิตย์ สุวรรณเจริญ

เห็นด้วยในทุกกระบวนความครับ...

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถึงแม้งานเขียนของเรา จะไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรกับสังคม หรือใครอื่นมากมายนัก  แต่อย่างน้อยการเขียนก็จะเจียระไนชีวิตเราไปในตัว  เสริมสร้างกระบวนการเติบโตทางโลกทัศน์และชีวทัศน์ของเราเอง...เมื่อเวลาผ่านไป ก็กลายเป็นจดหมายเหตุตัวเอง  เป็นหนังสือเรียนสำหรับคนในครอบครัวของเราได้เช่นกันครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท