ชีวิตแพทย์พอเพียง ของ ศ.นพ. ธีระ ทองสง


ทุกเช้าที่ตื่นพร้อมด้วยความกรุณา และคำถามว่า วันนี้ เราพอจะให้อะไรใครได้บ้าง

    ศ.นพ. ธีระ ทองสง เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสูตินรีเวช คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่  ตนเองไม่เคยรู้จักอาจารย์มาก่อนเลย  ท่านเป็นคนผิวคล้ำ วัยสี่สิบปลาย  หน้าเข้มเหมือนคนใต้ และเมื่อได้ยินเสียงท่าน ก็แน่ใจได้เลยว่า ท่านเป็นคนใต้แท้ๆ  ท่านเรียนแพทย์ที่เชียงใหม่ และก็เลยทำงานเป็นอาจารย์แพทย์ต่อที่นั่น

    ไม่อยากเชื่อเลยว่า ยังมีอาจารย์แพทย์ หรือแพทย์แบบท่านอยู่ ด้วยการบอกกล่าวเล็กๆ น้อยของผู้ดำเนินรายการ บอกว่า ขณะนี้ ท่านยังใช้รถมอเตอร์ไซด์อยู่เลย แล้วก็ได้ข่าวว่ารถรถมอเตอร์ไซด์คันแรกในชีวิตอาจารย์แพทย์ของท่าน นักเรียนช่วยกันซื้อให้  ท่านบอกว่า ท่านสอนนักศึกษานอกเวลามาตลอด 20 ปีและ ก็ไม่ได้ขอค่าตอบแทนเลย  ถึงท่านจะสมถะ พอเพียง แต่ไม่ล้าสมัย  อันนี้ยืนยันได้จาก สไลด์ที่ประกอบการบรรยาย ที่ทำได้อย่างมืออาชีพมากๆ   ถึงท่านเป็นคนสมถะ พอเพียง แต่ไม่พอเพียงเรื่องการทันโลก ทันวิชาการ  ท่านมีผลงานวิจัยมากมายในระดับนานาชาตินับเป็นหลักร้อย

    ในการบรรยายนั้น ท่านพูดเรื่อง สุขเกินพอ กับ ชีวิตที่เกินพอ  เป็นแนวคิดและปรัชญาการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า  ซึ่งใช้ได้กับทุกวิชาชีพไม่เฉพาะแพทย์ หรืออาจารย์แพทย์เท่านั้น  ท่านพูดได้อย่างสนุกสนาน แต่มีสาระมากๆ และผู้ฟังรับรู้ได้ว่าท่านสื่อมาจากใจ จากการปฏิบัติจริงของท่านเอง

    ท่านเขียนบทความเรื่อง “อาจารย์ในมหาวิทยาลัยกับความพอ” มีความยาว 5 หน้า A4 บรรจุอยู่ในหนังสือประกอบการประชุม เป็นบทความที่มีความลึกซึ้งมาก และถึงแม้เป็นบทความเกี่ยวกับบทบาทครู แต่โดยเนื้อแท้แล้ว คิดว่าเป็นแนวคิดสำหรับทุกวิชาชีพ   เนื่องจากในส่วนที่ท่านพูดในห้องประชุม จดไม่ทัน หากนำมาเล่า ก็ไม่ได้เนื้อหาที่ครบถ้วน  จึงได้ mail ไปขออนุญาตท่าน นำบทความบางส่วน มาเผยแพร่ในบล็อก ท่านก็อนุญาต 


บางส่วนจากบทความ “อาจารย์มหาวิทยาลัยกับความพอ”

อาจารย์ที่พึงปรารถนา
    กระผมระลึกได้ถึงสมัยที่กระผมเป็นนักศึกษาแพทย์ ที่เคยถามตนเองว่า อยากจะเห็นอาจารย์ของตนเป็นเช่นไร  อยากได้อาจารย์แบบไหน  ใจเรารู้ดีว่า ต้องการอาจารย์ที่เป็นกัลยาณมิตร ที่เป็นแบบอย่าง ถ่ายทอดความรู้ ทักษะด้วยเมตตา ขยัน ตรงเวลา สร้างสรรค์ คิดค้นองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้เรารู้สึกว่าศิษย์มีครู  รู้สึกว่าดีใจที่ได้เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์  ถ้าผมจะเคารพอาจารย์ ก็มิใช่เพราะผมขับรถราคาแพง มีตำแหน่งวิชาการสูง  เป็นเจ้าของธุรกิจใหญ่โต  แต่เป็นเพราะอาจารย์ทำอะไร อุทิศตนเช่นไร เสียสละเพียงใด…..

วิถีครู
    หลายปีมานี้ ความสุขจากความเป็นครูสูญหายไปจากใจครูหลายคน  กระผมถือว่า เราได้สูญเสียส่วนสำคัญที่สุดของชีวิตไปแล้ว  จากนี้ไป แม้เราอาจมีอะไรขึ้นมามากมายในชีวิต ก็ไม่อาจมาทดแทนได้  เราจำเป็นต้องมีชีวิตอยู่เพื่อสิ่งที่ยิ่งกว่าเงินทอง  ความสำเร็จสูงส่งของชีวิตครู คือการได้ตื่นมาถามหาความสวยงามในชีวิต  ทุกเช้าที่ตื่นพร้อมด้วยความกรุณา และคำถามว่า วันนี้ เราพอจะให้อะไรใครได้บ้าง แทนที่ว่าวันนี้เราได้อะไรจากการที่เราจะไปทำงาน  ภารกิจสำคัญชิ้นหนึ่งของครู คือการสร้างบรรยากาศให้เกิดความใฝ่ฝันที่จะเรียนรู่และอยากทำสิ่งดีๆ ทั้งในและนอกชั้นเรียน ทำให้จิตใจนักเรียนปลอดโปร่ง สร้างบรรยากาศกันเอง บรรยากาศของกัลยาณมิตร  ผมคิดว่า การสร้างความปรารถนาดีที่แท้จริงจากใจครู เป็นภารกิจเบื้องต้นที่ต้องพัฒนาให้เกิดก่อน และสร้างแรงบันดาลใจให้ใครๆ ต่อใครเกิดความปรารถนาที่จะดี

    สิ่งจำเป็นเบื้องต้นของชีวิตครู คือความใฝ่ฝันที่จะเป็นผู้ให้ ซึ่งเป็นหัวใจที่อบอุ่น และมีความสุข แล้วครูจะมีความสุขในการสอน สุขใจในการสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการ (วิจัย)  ทุกห้องเลคเชอร์ มีความสุขงดงามซ่อนอยู่  ความดีงามแม้เพียงเล็กน้อย ก็เป็นสิ่งยิ่งใหญ่ในชีวิตครับ  กระผมอยากเห็นครูทุกคนรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นครู  มากกว่าภูมิใจที่ได้เป็นผู้บริหาร เป็นผู้มีธุรกิจทางวิชาชีพที่รุ่งเรือง  เป็นเจ้าพ่อวิชาการ บางครั้ง เราอาจสำคัญตนว่าจบสูง  ความรู้ดี มี authority มีระดับ กรีดกรายอยู่ในสังคมนี้อย่างหยิ่งทะนง  แต่เราอาจไม่ได้อยู่ในหัวใจของใครเลยที่อยู่รอบด้าน…………………………………

บทบาทคือแบบอย่าง
     กระผมเชื่อว่าความสุขในการงาน คือความสำเร็จของมนุษย์  ครูอาจารย์ ควรมีชีวิตการทำงานอย่างมีความสุขโดยไม่ต้องฝืน  เป็นแบบอย่างโดยเต็มใจ  ครูควรเป็นแบบอย่างให้กับศิษย์ มากกว่าที่จะให้ศิษย์เป็นแบบอย่างให้ครู  พฤติกรรมของครูจะสอนศิษย์ได้ดีกว่าคำพูด  ครูจะต้องคงความศรัทธาไว้ในใจศิษย์เสมอ และพฤติกรรมครูจะกำหนดพฤติกรรมเด็กเสมอ  ยกตัวอย่างเช่น ครูแพทย์สอนให้แพทย์ออกตรวจโอพีดีตรงเวลา  เก้าโมงตรง แต่อาจารย์ออกไม่ค่อยตรงเวลา  คำสอนนั้นมักจะไม่มีคุณค่า ……………

เป้าหมายในชีวิต
     อาจารย์ก็เหมือนคนทั่วไป ที่เราต่างได้ถูกยุยงให้สร้างวิถีทาง สร้างบันได เพื่อก้าวไปสู่บางสิ่งบางอย่างที่เราเองก็เลือนราง  เราได้พากันลงทุนทั้งชีวิต ที่จะก่อร่างสร้างหนทางที่เราไม่รู้เป้าหมาย  เราถูกกระซิบให้วิ่งไปข้างหน้าเพื่อไขว่คว้าสิ่งที่สังคมชี้นำเสมอ  เรายินยอมอุทิศชีวิตเพื่อสร้างรากฐานแห่งการมีโอกาสเข้าถึงเงิน เครดิต ทรัพย์สิน เกียรติยศ  เราถูกปล่อยให้อยู่ในโลกของจินตนาการเหล่านั้นมานานนับสิบๆ ปี  นับครั้งไม่ถ้วนที่เราเพ้อฝัน เคลิบเคลิ้มอยู่กับบางสิ่งบางอย่าง จนคลั่งไคล้ทุ่มเทชีวิตไปกับมัน แต่ทุกครั้งที่เราไขว่คว้า หรือแม้แต่ได้มาบำบัดความใฝ่ฝัน  แต่แล้วในที่สุดเราก็พบว่า สิ่งใดที่หามาได้นั้น หาได้มีคุณค่ามากมายไม่……

    ถึงแม้ทุกวันนี้เรามีการเรียนการสอนที่ลึกซึ้ง สลับซับซ้อนซอกซอนลงลึกในทุกสาขาวิชา แต่โศกนาฏกรรมทางการศึกษาได้บังเกิดขึ้นอย่างน่าใจหาย  กลับกลายเป็นว่า คนที่มีความรู้มาก กลับใหดร้ายต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หยาบคายต่อสภาพแวดล้อมผู้ให้กำเนิด  ใช้ประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ และโอกาสที่เหนือกว่า คดโกงมนุษย์ด้วยกันในมาดที่น่าบูชา มีระดับ  บางทีแสงสว่างของมันสมองก็ไม่ทำให้หัวใจหายมืด การดำเนินชีวิตจึงอยู่อย่างรู้สึกขาดแคลนท่ามกลางความมั่งมี  อึดอัดด้วยความไม่รู้จักพอ  หงุดหงิดง่าย เปราะ เหงา เซ็ง ผสมผสานด้วยทัศนะอันร้อนระอุว่าต้องการหาเงินเพิ่มอีกเพื่อนำมาบำบัดปัญหาเหล่านี้  วิทยาการอาจอำนวยวิถีทางทำมาหากินที่รุ่งเรือง  แต่วิถีทางจิตใจยังร่นเร่ ระหกระเหิน สั่นสะเทือนด้วยการกระทบน้อยใหญ่ โศกๆ ซึมๆ เฮฮา แล้วก็หลบมาเซ็งอย่างโดดเดี่ยว  การดำเนินชีวิตอุทิศทุ่มตัวเพื่อซื้อสวัสดิการที่เหลวไหลของสังคมเช่นนี้ มีระบาดให้เห็นตัวอย่างอยู่มากมาย  จงขอโอกาสให้กับตนเอง ได้ถามหาเป้าหมายแห่งการมีชีวิตของตนเองด้วยเถิด 

….ยังมีต่อในบันทึกหน้า…….

หมายเลขบันทึก: 45601เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2006 13:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)
ชอบบันทึกนี้ของอาจารย์มากค่ะ จากบทความของอ.ธีระ ทำให้ได้ข้อคิดที่ดีหลายอย่าง ขอบคุณอาจารย์ที่นำมาเผยแพร่นะคะ กำลังรออ่านบันทึกหน้าอยู่ค่ะ

เป็นบันทึกที่อ่านแล้วมีความสุขมากค่ะ มายืนยันว่าอาจารย์ธีระ ตัวเป็นๆ เป็นตัวอย่างที่เป็นเลิศของความเป็นครู ความเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน และการเป็น "ผู้รู้ที่เก่งจริง" ค่ะ

สมัยที่อาจารย์เป็นเรสซิเด้นท์และเห็นพยาบาลอยู่เวรไม่มีข้าวเย็นกิน(ยุคนั้นร้านอาหารไม่ได้ผุดเป็นดอกเห็ดอย่างทุกวันนี้ค่ะ) ถ้าอาจารย์ไปกินข้าวจะกรุณารับฝากซื้อข้าวมาเผื่อคนอยู่เวรด้วยค่ะ......

  •  ขอบคุณอาจารย์ที่นำเรื่องดี ๆ มาถ่ายทอด อ่านแล้วได้ข้อคิดนำไปใช้ในชีวิต และการทำงาไนด้เป็นอย่างดียิ่งค่ะ
  •  ศ.นพ.ธีระ ทองสง  ท่านเป็นอาจารย์แพทย์ที่น่ายกย่อง
  • อ่านแล้วอยากเข้าไปเป็นผู้ร่วมฟังอาจารย์บรรยายด้วย
  • วิถีความพอเพียงใช้ได้กับทุก ๆ คนค่ะ
  • ตีตั๋วรออ่านต่อแล้วค่ะ
  • พี่เม่ยศรัทธาในความเป็น "หมอธีระ" ตั้งแต่ได้มีโอกาสไปร่วมประชุมวิชาการที่ มช. นานมาแล้วค่ะ  และในวันศุกร์ที่ผ่านมานี้ก็ไม่พลาดการเข้าฟังการบรรยายของท่านด้วยเช่นกัน 
  • ท่านเอื้ออย่าลืมประเด็น "ชั่วโมงแห่งวีรกรรม" ในบันทึกต่อไปด้วยนะคะ...ชอบค่ะ

เสียดายที่สัปดาห์ที่แล้วไม่อยู่    หล้าเคยรู้จักอ.ธีระ  ทองสง  สมัยเรียนมช. และพวกเราอยู่ชมรมพุทธศิลป์  เรียก อ. ธีระเป็นฉายาว่า หลวงพ่อ  หลวงพ่อจบแล้วแต่จะมาเยี่ยมพวกเรา มาสนทนาธรรมกับกัลยาณมิตรที่ชมรม  หลวงพ่อเขียนหนังสือธรรมะมากมาย โดยใช้เงินส่วนตัว  หลวงพ่อเป็นคนสมถะ ไม่ปรุงแต่งภายนอก แต่หลวงพ่อมีผลงานมากมาย

 

ขอบพระคุณมากนะคะ...สำหรับเรื่องเล่าดีๆ...และฅนต้นเรื่องที่น่าศรัทธายิ่ง...

....

ไม่ต้องบอก...ไม่ต้องประกาศ...หากแต่ลงมือทำต่อชีวิตตน...

ขอบพระคุณคะ

กะปุ๋ม 

 

  • ขอบคุณครับ ที่ช่วยขวนขวายให้คนอื่นได้อ่าน 
  • ต่อภาค 2 เร็ว ๆ นะครับ

ผมเคยได้เป็นน้องชมรมพุทธศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีพี่ธีระท่านนี้แหละที่ช่วยเหลือให้คำชี้แนะ อบรมสั่งสอนให้ผมรู้จักคุณค่าของชีวิต รู้จักการทำงานเพื่อผู้อื่น รู้จักการเป้นผู้ให้ รู้จักการทำงานอย่างมีคุณค่าอย่างมีความสุข แม้วันเวลาล่วงเลยไปยี่สิบ สามสิบปี ผมก็ยังใช้หลักการทำงานที่พี่ธีระชี้นำ อบรมสั่งสอน และยังผลดีต่อตนเองและผู้อื่นจริง ๆ ขอขอบคุณพี่ธีระ ทองสง อย่างสูง คงเป็นบุญวาสนาของผมที่ได้มาพบกับพี่ที่ดีและเก่ง สังคมของเราจะมีผู้คนอย่างพี่ธีระอีกไหมครับนี่

ทำงานกับอาจารย์มา 13 ปี ไม่เคยได้ยินเสียงอาจารย์โกรธ ดุด่าใคร บางครั้งแจ้งเรื่องคนไข้ที่น่าตกใจให้อาจารย์ทราบ อาจารย์ก็ไม่เคยจะตกใจ น้ำเสียงที่ถามตอบมาก็จะสงบเรียบ (อาจารย์จะสอนเสมอว่าจะทำอะไรขอให้เรามีสติ)อาจารย์เป็นคนใจดี ใจเย็น มีน้ำใจกับทุก ๆ คนเสมอ (ทุกระดับตั้งแต่คนงานภารโรงไปถึงศาสตราจารย์ด้วยกัน)เคยถามอาจารย์ว่าทำไมอาจารย์ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ อาจารย์ตอบว่า ชีวิตผมอยู่ไม่กี่ที่หรอก ก็มีที่ทำงาน ที่บ้าน ห้องเรียน ห้องตรวจ มีแค่นี้เอง ตามหาผมไม่ยากหรอก

ทุกวันนี้อาจารย์ก็ยังไม่ใช้รถยนต์ ยังคงใช้มอเตอร์ไซด์ (คันที่ 2) คันแรกหายไปแล้วเพราะอาจารย์มักจะเดินเสียมากกว่า แล้วจอดมอเตอร์ไซด์ทิ้งไว้นาน จนถูกขโมยไป

อาจารย์เป็นคนสมถะ และเป็นตัวอย่างในการใช้ชีวิตแบบพอเพียง

ที่พัทลุง เคยได้ยินกิตติศัพท์ว่าอาจารย์ธีระเป็นเด็กเรียนเก่งมาก เรียนเก่งกันทั้งครอบครัวด้วย คงจะได้รับการปลูกฝังสิ่งดีดีจากคุณพ่อคุณแม่ ถึงแม้เป็นคนชนบทแต่ทันสมัยในเรื่องความรู้และธรรมะ ..ที่สำคัญ คุณพ่อของท่านนั้น เพื่อนบ้านเรียกว่า " หลวง" นำหน้า เหมือนที่ อาจารย์ธีระได้รับฉายาว่า "หลวงพ่อ" (คนที่บวชมานานเมื่อสึกออกมา คนพัทลุงจะเรียกว่าหลวงนำหน้าชื่อ)

จุฑามาศ วงศ์อรินทร์

รู้จักพี่ธีระ ตั้งแต่เป็นรุ่นน้องชมรมพุทธศิลป์ มช.ซึ่งพวกเราเรียกพี่ธีระว่า"หลวงพ่อ" จำได้ว่ามีทั้งบรรยากาศของความสุข ความสนุกสนาน ความอบอุ่น ในชมรมพุทธศิลป์ที่มีพี่ๆหลายๆท่าน คอยดูแลให้กำลังใจ แนะนำแนวทางให้ความรู้ที่ดีและถูกต้องในการดำเนินชีวิต "หลวงพ่อ"ท่านนี้นอกจากจะแนะนำสั่งสอนแล้วท่านยังปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่างอีกด้วย น้องคนนี้ขอกราบขอบพระคุณพี่เป็นอย่างสูงนับว่าเป็นบุญจริงๆที่ได้มาเจอพี่ ตั้งแต่บัดนั้นจนกระทั่งบัดนี้พี่หลวงพ่อก็ยังคงปฏิบัติตัวเหมือนเดิม น้องจะขอน้อมนำมาเป็นแบบอย่างเตือนสติตัวเองทุกขณะจิตค่ะ ระลึกถึงพี่เสมอค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท