ขอแค่..คิดเองทำเอง


พอมีความรู้เรื่องทักษะเพื่อชีวิตในศตวรรษที่ 21(21st Century Skills)จากเวทีครูเพื่อศิษย์ ซึ่งจะเกิดด้วยการเรียนรู้แบบโครงงานหรือPBL(Project Based Learning) ผมนึกถึงงานอย่างหนึ่งซึ่งเคยให้นักเรียนทำ ไม่ใช่การเรียนในห้อง ไม่ใช่งานนักเรียน แต่เป็นงานครูที่ให้นักเรียนช่วย ก่อนสมศ.จะมาประเมินภายนอกรอบ 3 ประทับใจการช่วยงานของนักเรียนครั้งนั้น ผมให้ม.6/1 จัดบอร์ดในห้องครับ

เหตุที่ไหว้วาน 6/1 เพราะห้องนี้มีฝีมือทางศิลปะหลายคน 4-5 คนเคยได้รับถึงรางวัลชนะเลิศการแข่งขันงานประดิษฐ์"ใบตอง"ระดับประเทศมาแล้วด้วย อีกอย่างรู้ว่าห้องนี้มีน้ำใจ ช่วยงานโรงเรียนต่างๆด้วยจิตอาสา รับผิดชอบสูง รู้จักห้องนี้ดี เพราะเมื่อครั้งอยู่ชั้นม.5 ผมทำหน้าที่เป็นครูประจำชั้นเอง

มีโปสเตอร์สวยๆที่ได้มาจากสสวท. 6-7 แผ่นครับ เป็นสื่อการเรียนรู้วิชาชีววิทยา เรื่อง ใบ ดอก การถ่ายละอองเรณู การเกิดและการงอกของเมล็ด เซลล์พืชและสัตว์ครูจะให้พวกเราช่วยกันจัดบอร์ดที่ห้องให้หน่อย ว่างกันตอนไหน ไปหาครูนะเอ่ยปากกับนักเรียนทั้งห้องเมื่อเจอในเช้าวันหนึ่ง และวันนั้นเองชั่วโมงสุดท้ายมากันเกือบครบ ขาดบางคนที่ไปเรียนนักศึกษาวิชาทหารเท่านั้น

ผมยกโปสเตอร์ทั้งหมด กระดาษชาร์ต แถบริบบิ้น และอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการตกแต่ง ซึ่งเบิกงานพัสดุมาจัดเตรียมไว้ให้ พร้อมบอกความต้องการ ครูอยากติดโปสเตอร์เหล่านี้บนบอร์ดทั้งหมดในห้อง ยังไงก็ได้ ไม่ต้องสวยอะไรมาก เอาให้เสร็จในชั่วโมงเลยตั้งใจจะให้แปะกระดาษชาร์ตเป็นพื้นบอร์ด แล้วก็ติดโปสเตอร์ลงไปเท่านั้น จึงคะเนว่าชั่วโมงเดียวก็พอ 

นักเรียนทั้งหมดราว 20 คน ใช้สายตาปรึกษากันอย่างรวดเร็ว แทบจะไม่มีการพูดคุยกันเลยด้วยซ้ำ จากนั้นต่างก็แยกย้าย ลงไม้ลงมือ คร่ำเคร่งกับงานที่แต่ละคนได้รับมอบหมายทันที บางคนจัดเตรียมแปะติดกระดาษชาร์ตเป็นพื้นบอร์ด ซึ่งทั้งห้องมีถึง 3 บอร์ด หลายคนช่วยพับและตัดกระดาษเป็นชิ้น รูปทรงแปลกตา กลุ่มนี้ตัดรูปร่างนี้ อีกกลุ่มตัดอีกรูปร่างหนึ่ง ผมถามครับ ได้รับคำตอบว่าจะนำแต่ละชิ้นมาประกอบเป็นดอกไม้เพื่อประดับในภายหลัง อีกกลุ่มหนึ่งตัดโปสเตอร์แต่ละแผ่นแยกเป็นส่วนๆ ผมเองถึงกับตะลึงครับ เพราะเห็นว่าโปสเตอร์เหล่านั้นก็สวยดีอยู่แล้ว น่าจะแปะติดได้เลย แต่ก็ไม่ได้พูดอะไรออกไปดอกนะครับ ประเดี๋ยวจะเสียความตั้งใจกันหมด

ก่อนนั้นนักเรียน 2-3 คนบอกกระดาษชาร์ตที่ครูเตรียม สีสันไม่ได้เรื่อง สีไม่เข้ากัน เด็กๆไม่ได้บอกครูด้วยคำพูดอย่างนี้ แต่ความหมายคืออย่างนี้ โอ! ผมเลือกสีมาเองกับมือ(ฮา) เริ่มเอะใจตั้งแต่ตรงนั้นเลยครับ ก็แค่แปะๆ สีอะไรก็ได้(กระมัง) จะได้เสร็จ

เอาสิ! อย่างนั้นนำไปเปลี่ยนที่ห้องพัสดุ เลือกสีเองเลย เรียนอาจารย์ว่าครูขอเปลี่ยนบอกเด็กๆไปอย่างนั้นครับ มาถึงตรงนี้เริ่มอยากรู้แล้ว นักเรียนจะจัดบอร์ดให้สวยงามได้อย่างไร

ผมสอนห้องนี้ทุกเทอมมาตั้งแต่ม.4 กิจกรรมในชั้นเรียนต่างๆที่จัดให้ ไม่เคยเห็นนักเรียนแบ่งงานกันเร็วและรู้หน้าที่แต่ละคนดีขนาดนี้ คงเป็นเพราะทำงานร่วมกันมานาน และงานช่วยครูครั้งนี้ น่าจะเป็นงานถนัดพวกเขาด้วย

สังเกตพบและน่าประหลาดใจอีกเรื่องหนึ่งคือ หัวหน้างานหรือหัวโจก คนสั่งและประสานกลุ่มเพื่อนให้ทำโน่นทำนี่จะมีอยู่ 2-3 คน ซึ่งได้แก่กลุ่มที่วิพากษ์ความเหมาะสมของสีกระดาษชาร์ตนั่นเอง ผมแปลกใจลูกศิษย์คนหนึ่งซึ่งอยู่ในกลุ่มผู้นำนั้น ปกติการเรียนในชั้น เธอไม่เคยแสดงบทบาทนี้ให้เห็นเลย ผลการเรียนที่ผ่านมาในรายวิชาผมหรือชีววิทยา ติด“0” ยังไม่ได้แก้ก็มี งานที่ให้ทำในวิชาเรียน เธอมักไม่ส่งหรือส่งไม่ทันเวลา แต่ขณะนี้เธอเป็นผู้นำและนำอย่างเข้มแข็งเสียด้วย เป็นครูจะเห็นกรณีอย่างนี้เสมอ อย่างหนึ่งไม่เก่งเลย ขณะที่อีกอย่างกลับเก่งมาก ครูต้องเร่งสังเกตลูกศิษย์ตัวเองให้พบ เพื่อจะส่งเสริมสนับสนุนเขาได้ถูกทาง

วันรุ่งขึ้น บอร์ดทั้ง 3 บอร์ดเสร็จเรียบร้อย สวยงามกว่าที่คาดหวังไว้มาก ใช้เวลาทั้งหมดสัก 3 ชั่วโมงเห็นจะได้ เฉลี่ยบอร์ดละ 1 ชั่วโมง การทำงานครั้งนี้ หลังบอกความต้องการไปแล้ว มิได้แนะอะไรนักเรียนอีกเลย ทำเพียงสังเกตและให้กำลังใจเท่านั้น เป็นความตั้งใจครับ ลูกศิษย์ผมทำงานโดยแบ่งงานเป็นระบบมาก พูดคุย และตัดสินใจร่วมกันตลอด โดยเฉพาะกลุ่มผู้นำนั้น

หลังเวทีเสวนาครูเพื่อศิษย์ผมนึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะเข้าใจว่าที่เราเรียกกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานหรือPBLนั้น คงไม่ได้หมายถึงเฉพาะการจัดการเรียนการสอนในห้อง หรือการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตรเท่านั้น โดยเฉพาะหลายคนติดภาพโครงงานว่า ต้องทำเอกสาร 5 บท บทนำ เอกสารที่เกี่ยวข้อง วิธีดำเนินการ ผล และสรุปอภิปราย หรือต้องนำเสนอด้วยการทำแผงโชว์ เหมือนการประกวดที่เพื่อนครูเราคุ้นตา กระบวนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานหรือPBLไม่น่าจะหมายความแค่นั้น แต่น่าจะรวมถึงทุกสิ่งทุกอย่าง ที่คุณครูจัดให้ลูกศิษย์ได้คิดวางแผน ลงมือทำ สรุป นำเสนอ จนถึงบอกข้อดีข้อเสีย เพื่อเป็นอุทาหรณ์ในครั้งต่อไป อาทิ แค่การจัดบอร์ดโดยเปิดโอกาสให้นักเรียนคิดเองทำเองอย่างแท้จริงตามที่กล่าวมา อย่างนี้ก็ฝึกทักษะได้ตั้งหลายอย่างแล้ว

ชั่วโมงนี้ในทุกสัปดาห์ เราจะมาพูดคุยและทำโครงงานชีววิทยาร่วมกัน โครงงานของครู อาจไม่ใช่อย่างที่นักเรียนนึกภาพ ทำแผงโครงงานโชว์ ทำเอกสารเล่มหนาเผยแพร่ เอาแค่ว่า เราได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับชีววิทยาสักอย่าง ค่อยทำไป คิด ศึกษา ค้นคว้า อาจต้องทดลอง พอปลายเทอม เราจะสรุปความรู้ให้ได้คนละ 1 เรื่อง เท่านี้ก็พอ ได้ตามหลักการแล้ว เป็นการศึกษาหาความรู้ด้วยตัวของเราเอง

(ที่มา : ซ่อมเสริมด้วยโครงงาน)

ลองพิจารณารายละเอียดดูก็ได้ ว่าเหตุการณ์นี้นักเรียนได้ฝึกทักษะ(21st Century Skills)อะไรบ้าง ทักษะด้านการเรียนรู้นวัตกรรม(Learning and Innovation Skills) ซึ่งประกอบด้วย 4 ทักษะ น่าจะเกือบครบ ได้แก่ การริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรม(Creativity and Innovation) การคิดอย่างลึกซึ่งและการแก้ปัญหา(Critical Thinking & Problem Solving) การสื่อสารและการร่วมมือ(Communication and Collaboration) สำหรับทักษะชีวิตและการประกอบอาชีพ(Life and Career Skills) ก็น่าจะเกือบครบทุกทักษะอีกเช่นกัน ได้แก่ ความยืดหยุ่นและปรับตัว(Flexibility and Adaptability) การริเริ่มและเป็นตัวของตัวเอง(Initiative and Self-direction) ทักษะสังคมและสังคมข้ามวัฒนธรรม(Social and Cross-Culture) การเป็นผู้สร้างหรือผลิตและความรับผิดชอบเชื่อถือได้(Productivity and Accountability) ภาวะผู้นำและความรับผิดชอบ(Leadership and Responsibility)

ทักษะที่ฝึกแถมนักเรียนห้องนี้มีอยู่แล้วอย่างเด่นชัด จนครูประทับใจ เป็นเรื่องการสื่อสาร เกือบ 20 คน แต่ปรึกษากันเร็วมาก ก่อนจะแยกไปทำหน้าที่ได้ทันที อย่างนี้ไม่ธรรมดา สื่อสารด้วยใจเลยหรือเปล่าหนอ อีกทักษะหนึ่งคือ ภาวะผู้นำและความรับผิดชอบ นักเรียน 2-3 คนโดดเด่นจริงๆ วางแผน มอบหมาย และประสานกลุ่มเพื่อนตลอด สำหรับคนอื่นถ้าไม่เป็นผู้นำตนเองหรือขาดความรับผิดชอบ สมาชิกช่วยงานคงอยู่ไม่ครบ รุ่งขึ้นคงไม่พร้อมหน้า สุดท้ายบอร์ดคงไม่สำเร็จหรือไม่สวยงาม

านนักเรียนช่วยจัดบอร์ดธรรมดาๆ แต่หลายอย่างเหลือเกินที่ได้เรียนรู้ แค่ให้โอกาสลูกศิษย์คิดเองทำเองครับ

หมายเลขบันทึก: 455932เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2011 20:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2015 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

นักเรียนมีความร่วมมือกันทำงาน วางแผนอย่างเป็นระบบ ผลสำเร็จของงานจึงสวยงามมีคุณภาพค่ะ

แสดงว่าคุณครูวางรากฐานของการทำงานระบบกลุ่มได้อย่างดีเยี่ยม

ชื่นชมมากมายค่ะ

สวัสดีค่ะ

Ico64

...เป็นความภูมิใจของทั้งครูและศิษย์นะคะ...นี่คือส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ... ขอแสดงความยินดีด้วยค่ะ...

สวัสดีครับท่านอาจารย์ ธนิตย์ ครูเพื่อศิษย์

เรียนรู้จากนักเรียน ผู้นำตามธรรมชาติ มักค้นพบจากเวที มีหลายครั้งที่คนอยากทำงานอยู่ข้างหลังมากกว่า ออกหน้าเวที

สังเกตุจากงานในหมู่บ้านที่ต้องออกปากบอกแขกช่วยแบกหาม จะมีคนที่เสียงดัง หน้าแดง แรงไม่ออก แต่คอยบอกคอยกำกับเป็นให้เป็นไปตามที่ทุกคนต้องการ

ทั้งฉลาดสอนและเป็นการนำเอากิจกรรมที่คุ้นเคยกันอยู่ทั่วไปมาให้ประสบการณ์เด็กอย่างมีกุศโลบายจริงๆครับ

***  ชอบขอให้เด็กๆ ได้คิด-สร้างสรรค์งาน....โดยอิสระ  แต่อยู่ในกรอบของ Theme เพื่อไม่ให้หลงทิศทาง  โดยไม่ได้หวังว่าจะนำผลงานนั้นไปใช้ประโยชน์ต่อครู   ผลของงานที่ได้ " รังสรรค์อย่างงดงาม มีชีวิต-ชีวา  และมีสาระความรู้ที่หลากหลาย "   ส่วนเอกสาร 5 บท นั่นมักจะถูกร้องขอเพื่อเป็นผลงานให้กับหน่วยงานค่ะ ***

                                            

ดีใจจังค่ะที่เห็นเยาวชนร่วมมืออย่างสรัางสรรค์เช่นนี้ บนโอกาสที่ครูเปิดให้ นำไปสู่ความชื่นชม และแนวทางการเรียนที่นักเรียนเป็นศูนย์กลาง ขอให้กำลังใจค่ะ ;)

+ สวัสดีค่ะ อ.ธนิตย์

+ อ่านแล้วมีความสุขมากค่ะ...อ่านไปยิ้มไปเลยค่ะ

+ ขอบคุณมากค่ะ

" ครูต้องเร่งสังเกตลูกศิษย์ตัวเองให้พบ เพื่อจะส่งเสริมสนับสนุนเขาได้ถูกทาง"

+ ประทับใจมากค่ะ

  • พี่ครูครับ
  • เด็กบางคนไม่เก่งเรื่องเรียน แต่อาจเก่งเรียนอื่นครับ
  • เหมือนเรื่องหมวก 6 ใบครับ
  • เด็กๆๆน่ารักมาก
  • เข้าใจจัดได้ดีมากๆ

ขอบคุณครับ สำหรับประสบการณ์ดีๆ  นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่การพํฒนาร่วมกันครับ

ÄÄÄ..มาขอแสดงความยินดีกับ..ผู้ให้..โอกาศ..กับเด็ก..ที่คิดเองทำเอง..เจ้าค่ะ..(อ่านแล้วแอบฝันว่า...คงจะมีมาขึ้นเรื่อยๆใน..โรงเรียนเมืองไทย..)..ประสพการณ์นี้เคยได้รับเหมือนกัน..ตอนได้มา"ทำงาน"กับนักศึกษาคุรุศิลปศาร์ตในมหาวิทยาลัยเบอรลินHDK.FB6.ในสถานะครู.. จึงไม่ประหลาดใจแม้ว่า..สามสิบปีให้หลัง.."ความคิดนี้..ให้โอกาศ..เด็ก.คิดเอง ทำเอง"จะเป็น จุดเริ่ม..ในบ้านเราบ้าง..ในวงการ..ศึกษา..โรงเรียนและมหาวิทยาลัย....ขอบคุณค่ะ คุณ ธนิตย์ สุวรรณเจริญ...

สวัสดีค่ะอาจารย์

ได้อ่านได้เห็นแล้วปลี้มแทนค่ะ  บางทีเด็ก ๆ เค้าอาจพร้อมที่จะทำ แต่รอโอกาสจากคุณครูอยู่ก็ได้ค่ะ พอได้โอกาสก็เต็มที่  สิ่งที่ได้มากกว่าผลงานน่าจะเป็นที่ "กระบวนการกลุ่ม" นะคะ  เห็นเทคนิคการจัดการเรียนรู้ของคุณครูแล้วชื่นชมค่ะ  ชื่นชม

ชอบที่อาจารย์ได้นำประสบการณ์มาสรุปท้ายด้วย 21st century skill คะ ได้ความรู้ไปด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท