ตะลึง! ระบบ GFMIS ทำงบฯ หาย ‘บุญศักดิ์’ สั่งด่วนเร่งตามข้อเท็จจริง


ตะลึง! ระบบ GFMIS ทำงบฯ หาย ‘บุญศักดิ์’ สั่งด่วนเร่งตามข้อเท็จจริง
กรมบัญชีกลางหัวปั่นเงินงบประมาณผ่านระบบ GFMIS หายจากบัญชี วงในเผยบางวันหายถึง 500 ล้านบาท "อธิบดีกรมบัญชีกลาง" สั่งเจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง แจงหากพบเงินหายจริงถือเป็นเรื่องใหญ่ของระบบบริหารเงินของประเทศ แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ภายหลังจากที่มีการนำระบบ  การเบิกจ่ายผ่านระบบการบริหารการเงินการคลังภาครัฐสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) เข้ามาใช้แทนระบบการเบิกจ่ายแบบเดิม ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมากมายเนื่องจากเป็นการดำเนินการในระยะแรก โดยปัญหาใหญ่ คือ เม็ดเงินงบประมาณสูญหายไปจากการเบิกจ่ายผ่านระบบนี้ เพราะไม่มีระบบป้องกันที่รัดกุมเพียงพอ  ทั้งที่  ก่อนหน้านี้มีการท้วงติงถึงระบบรักษาความปลอดภัยมาแล้ว นอกจากนี้ยังมีกรณีความผิดพลาดอื่น เช่น       การลงบันทึกข้อมูลและความล่าช้าในการดำเนินการเพิ่มมากขึ้นด้วย  "แทนที่ระบบนี้จะช่วยให้การบริหารงานงบประมาณรวดเร็วขึ้น กลับเกิดปัญหาตามมามากมาย โดยเฉพาะเงินหายไปจากบัญชี บางวันก็หายไป 1 ล้านบาท บางวันก็หายไป 5 ล้านบาท และเคยหายมากถึงครั้งละ 500 ล้านบาท   หากปล่อยทิ้งไว้ก็จะหายไปมากกว่านี้         อีกหลายเท่าตัว เพราะในระยะแรกที่เซ็ทระบบงานกันขึ้นมา มีหลายคนที่ติงว่า ให้เพิ่มระบบการป้องกันให้มากกว่านี้เพื่อรองรับความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต  แต่คนที่รับผิดชอบบอกว่าไม่จำเป็นระบบที่มีอยู่ก็เพียงพอแล้ว ตอนนี้ไม่รู้ใครจะรับผิดชอบได้บ้างที่อยู่ ๆ เงินของประเทศก็หายไปไม่รู้ว่าถูกขโมยไปหรือเลินเล่อ หรือระบบคอมพิวเตอร์มันรวน" แหล่งข่าว กล่าวนายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ให้ความเห็นในประเด็นข้างต้นว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับเงินงบประมาณที่หายไปจากระบบ GFMIS ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็ถือเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับการบริหารเงินงบประมาณของประเทศ  ดังนั้นจึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ เร่งรัดติดตามหารายละเอียดและข้อเท็จจริงโดยด่วน ทั้งในส่วนที่เป็นการจ่ายตรงในระบบ GFMIS และการเบิกจ่ายเงินของท้องถิ่นซึ่งกรมบัญชีกลางจะตัดจ่ายให้ไปทั้งก้อนและท้องถิ่นนำไปบริหารการเบิกจ่ายเอง  "หากเงินหายจริงก็ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่อย่างไรก็ตามต้องมีความชัดเจนก่อนว่าเกิดเรื่องนี้จริงหรือไม่ และหากทราบข้อมูลที่แท้จริงแล้ว จึงจะสามารถบอกถึงความรับผิดชอบได้ว่าเป็นของฝ่ายใดเพราะเม็ดเงินที่มีการเบิกจ่ายนี้ มี 2 ส่วน คือ          ส่วนที่เป็น GFMIS และส่วนที่ตัดจ่ายเป็นก้อนให้กับท้องถิ่น ซึ่งขึ้นอยู่กับท้องถิ่นจะนำไปบริหารการเบิกจ่ายเอาเอง" นายบุญศักดิ์ กล่าวภายหลังที่ได้รับทราบข่าวดังกล่าวจากผู้สื่อข่าว "ฐานเศรษฐกิจ" นายบุญศักดิ์ ได้ต่อสายโทรศัพท์ให้คุยกับ นางอรอนงค์ มณีกาญจน์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลการบริหารงานในระบบ GFMIS ซึ่งรับที่จะไปดำเนินการติดตามหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นต่อกรณีดังกล่าว แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมถึงกระบวนการเบิกจ่ายว่า โดยปกติแล้วกรณีที่มีการเบิกเงินแล้วพบว่าเงินงบประมาณไม่เพียงพอ ผู้เบิกเงินจะต้องติดต่อกับสำนักงานคลังจังหวัดว่าได้ประสานโครงการ      
           พร้อมทั้งแจ้งให้ส่วนราชการประสานกับต้นสังกัดเพื่อตรวจสอบการบันทึกงบประมาณเข้าระบบ
GFMIS และเรียกรายงานเอกสารตั้งเบิกรายงานสถานะผลการเบิกจ่ายให้ส่วนราชการตรวจสอบ โดยให้ส่วนราชการดำเนินการตรวจสอบข้อมูลที่นำส่งธนาคารว่าเป็นรายการใด พร้อมกับดำเนินการส่งข้อมูลเข้าระบบ GFMIS หรือกรณีที่    ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ให้ติดต่อประสานงานกับสำนักงานคลังจังหวัด หรือกรณีที่หน่วยงานมีปัญหาว่าเมื่อตั้งเบิกแล้วยังไม่ได้รับเงินให้ติดต่อศูนย์ประสานงานGFMIS   ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่บางรายแจ้งให้ทราบว่าในการเบิกเงินของส่วนราชการบางครั้ง ระบบจะแจ้งว่า       เงินงบประมาณไม่พอ   แต่หลังจากนั้น เมื่อมีเงินงบประมาณเพียงพอที่จะขอเบิกได้แล้ว แต่ยังติดข้อกำหนดที่ว่าจะเบิกได้เพียงวันเดียวเท่านั้น  ดังนั้นเมื่อเวลาล่วงเลยไปก็ทำให้ไม่สามารถเบิกเงินได้อีกเพราะผู้ทำหน้าที่อนุมัติฎีกาขอเบิก คือ ผู้ถือ Smart Card และมีรหัสผ่านเท่านั้น  ซึ่งในเรื่องนี้หลายฝ่ายต้องยอมรับว่าเป็นการดำเนินการในระบบที่ซับซ้อน และมีความยุ่งยากมาก  ทำให้เกิดความผิดพลาดในการดำเนินการ เช่น บางกรณีมีการเบิกจ่ายที่ไม่ถูกต้องทางเจ้าหน้าที่ก็จะหาทางจัดทำตัวเลขทางบัญชีให้ลงตัว หรือในบางจังหวัดที่มีเงินงบประมาณที่สามารถเบิกจ่ายได้เพียง 10 ล้านบาท แต่เมื่อมีการเบิกจ่ายกลับสามารถเบิกจ่ายได้กว่า 100 ล้านบาท   ในขณะที่บางจังหวัดมีเงินงบประมาณที่สามารถเบิกจ่ายได้ 10 ล้านบาท แต่เมื่อถึงเวลาเบิกจ่ายกลับไม่มีเงินในบัญชีเลย ทั้งนี้ ระบบการเบิกจ่าย (AP:Account Payable) ในระบบ GFMIS นั้น จะเริ่มตั้งแต่การสร้างข้อมูลหลักผู้ขาย (Vendor) เมื่อหน่วยงานผู้เบิกส่งข้อมูลการตั้งเบิกเงินเพื่อจ่ายให้บุคคลภายนอกเข้ามา เช่น การตั้งเบิกที่อ้างอิงใบสั่งซื้อ (PO)   การตั้งเบิกที่ไม่อ้างอิงใบสั่งซื้อ (Non-PO)   การตั้งเบิกเพื่อจ่ายเงินให้หน่วยงานผู้เบิกนำเงินไปชดใช้ใบสำคัญการตั้งเบิกเงินเดือนและค่าจ้าง เป็นต้น กระบวนการต่อไปทางกรมบัญชีกลางจะดำเนินการตรวจสอบและอนุมัติสั่งจ่ายเงิน โดยการปลดบล๊อครายการต่าง ๆ ที่หน่วยงานทำรายการตั้งเบิกอยู่ในระบบแล้วสั่งจ่ายเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของเจ้าหนี้หรือหน่วยงานผู้ขอเบิกต่อไป   ซึ่งหากพิจารณาเผิน ๆ จะเห็นว่า ระบบนี้ต้องใช้ smart card และรหัสผ่าน แต่ในความเป็นจริงแล้วใครก็ได้ที่เป็นผู้ถือบัตร และมีรหัสก็สามารถที่จะเบิกจ่ายเงินได้ ทั้งที่ควรจะมีระบบที่รัดกุมมากกว่านี้ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเรื่องการจัดทำระบบ GFMIS ระยะแรก ไปเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2546โดยมอบหมายให้ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ลงทุนให้ก่อน จำนวน 1,400 ล้านบาท แต่ภายหลัง          ขอเพิ่มขึ้นเป็น 1,569.91 ล้านบาท ตามปริมาณงานและขอบเขตที่เพิ่มขึ้นจริงเป็น พร้อมทั้งให้สำนักงบประมาณจัดสรรค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม จำนวน 316.15 บาท   ค่าบำรุงรักษา จำนวน 100.07 ล้านบาท   และค่าธรรมเนียมธนาคารตามที่จ่ายจริงในปี 2548 และ 2549 ด้วย (กรณีหน่วยงานที่ถูกหักค่าธรรมเนียม เกิดจากการเลือกประเภทการจ่ายเงินให้เจ้าหนี้ ซึ่งมีการหักค่าธรรมเนียม 10 บาทต่อครั้ง)  ทั้งที่มีการลงทุนไปเป็นเม็ดเงินจำนวนมากในเรื่องนี้ แต่ผลที่ได้กลับมาถือว่ายังไม่เหมาะสม คือด้านการเบิกจ่ายเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ พบว่ายังมีปัญหาการทำเอกสารขอเบิกซ้ำซ้อนกัน                                                                       ฐานเศรษฐกิจ  21  ส.ค.  49
หมายเลขบันทึก: 45570เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2006 10:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 16:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท