ผิดไหม ที่ใครสักคนจะกล่าวว่า การมีตัวตนทางกฎหมาย สำคัญกว่าการมีพ่อมีแม่เสียอีก ?!


“การไม่มีพ่อแม่ก็แย่มากแล้ว ยิ่งไม่มีเอกสารด้วย ชีวิตยิ่งแย่ไปกว่า เพราะการไม่มีพ่อแม่ก็ยังพออยู่กับตัวเองได้ แต่ไม่มีเอกสารนี่ ทำให้รู้สึกว่าตัวเองผิดปกติ ต่ำต้อยและน้อยหน้าคนอื่น กลัวด้วย กลัวคนอื่นรู้ กลัวถูกตำรวจจับ บางครั้งต้องกลับมาบ้านร้องไห้กับตัวเอง”

ไข่มุก เทพรัตน์   เป็นชื่อนามสกุลที่เธอตั้งขึ้นมาตามความทรงจำอันน้อยนิดเกี่ยวกับตัวเอง ที่จำได้เพียงว่าตอนเด็กๆ มีคนเรียกเธอว่า มุก  ส่วนพ่อแม่เป็นใครมีชื่อเสียงเรียงนามอย่างไรนั้นได้เลือนหายไปจากความทรงจำ..นานมากแล้ว

 

ไข่มุก ยังพอจำได้เลือนลางว่า เมื่อตอนเด็กๆ เธอเคยอาศัยอยู่  บ้านปางป๋อง   ตำบลเปียงหลวง   กิ่งอำเภอเวียงแหง   จังหวัดเชียงใหม่  พออายุประมาณ ๕-๖ ขวบ มีเพื่อนรุ่นพี่ที่อยู่หมู่บ้านเดียวกัน ชวนมาทำงานกับคนรู้จักที่จังหวัดกระบี่ เธอจึงได้เริ่มต้นการทำงานก่อนวัยอันควรในดินแดนห่างไกลบ้านเกิด ด้วยการทำงานล้างจานในร้านขายก๋วยเตี๋ยว ไข่มุกต้องอยู่ที่ร้านนั้นตามลำพังต่อมาอีกหลายปีหลังจากพี่ที่พาเธอมาจากหมู่บ้านได้ทิ้งเธอไว้ให้เผชิญชีวิตตามลำพัง จนกระทั่งได้พบกับนางระรวย แต่งงาม แขกที่มาทานอาหารที่ร้าน ซึ่งได้พูดคุยกับไข่มุกถึงเรื่องราวชีวิตที่ผ่านมา จึงเกิดความสงสารและเอ่ยปากขอรับเธอมาอุปการะ

 

ป้าระรวยมีอาชีพเป็นแม่ค้า และทำสวนไม่ได้ร่ำรวยอะไร   ไข่มุกจึงต้องช่วยทำงานทุกอย่าง   ป้าระรวยเคยคิดพาไข่มุกไปฝากเรียน แต่ไม่กล้าเพราะทราบว่าทางโรงเรียนต้องเรียกเอกสารการเกิด  แต่ไข่มุกไม่มีเอกสารใด  อย่างไรก็ตามยังโชคดีที่มีพี่แถวบ้านรู้สึกสงสาร ดังนั้นเมื่อมีเวลาว่างในแต่ละวันจึงมาช่วยสอนหนังสือให้  จนไข่มุกสามารถอ่านและเขียนหนังสือได้ 

 

แต่ไข่มุกก็ไม่ได้อยู่กับป้าระรวยนานนัก พออายุได้ ๑๐ กว่าปี ที่พอทำงานเลี้ยงตัวเองได้ ก็ขอป้ากลับไปทำงานที่จังหวัดกระบี่เหมือนเดิม เธอจำได้ว่าได้เปลี่ยนที่ทำงานหลายที่ ระยะสั้นบ้างยาวบ้าง ที่ไหนอยู่ได้นานหน่อยก็พอจำชื่อนายจ้างได้ อย่างร้านเจ๊ทิพย์ หรือที่ร้านฝรั่งที่มีภรรยาใจดีจำได้ว่าอยู่นาน

 

ชีวิตที่ต้องทำงานเลี้ยงตัวเองอย่างโดดเดี่ยวของไข่มุก ได้เปลี่ยนไปเมื่อประมาณปี ๒๕๔๗ ซึ่งเธอได้รู้จักกับผู้ชายคนหนึ่งทางโทรศัพท์ หลังจากติดต่อกันระยะหนึ่งจึงได้ย้ายไปอยู่ด้วยกันที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จนหลังเหตุการณ์คลื่นสึนามิ จึงได้พากันมาอยู่ที่บ้านเกิดของสามี ที่อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา และได้เรียนรู้วิธีการทำขนมจากแม่สามีพอขายได้เล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ไม่กล้าไปขายที่ตลาดเพราะกลัวตำรวจ ปัจจุบันจึงทำงานอยู่ที่ร้านคนรู้จัก ซึ่งทำงานหนักมาก และได้ค่าแรงน้อยกว่าคนอื่น แต่เธอก็ต้องอดทนเพราะไม่รู้จะไปหางานทำที่ไหน

 

เรื่องราวของไข่มุกเริ่มเป็นที่รู้จักของคนทำงานด้านสถานะในปี ๒๕๔๘ เมื่อสามีของเธอได้ฟังข่าวทางวิทยุชุมชนว่ามีหน่วยงานพัฒนาเอกชน คือ มูลนิธิเด็กและมูลนิธิกระจกเงา รับให้คำปรึกษาปัญหาของคนที่ไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายสัญชาติ อยู่ที่อำเภอเขาหลัก จึงได้มาติดต่อและรับการสำรวจ รวมทั้งเข้าร่วมประชุมกับทางคณะอาจารย์ ที่โรงแรมเมอร์ลิน   ซึ่งทำให้เธอเริ่มมีความหวังในชีวิตที่จะมีบัตรประชาชนเหมือนคนอื่น 

 

ไข่มุกเล่าให้ฟังด้วยเสียงสั่นเครือว่า การไม่มีพ่อแม่ก็แย่มากแล้ว ยิ่งไม่มีเอกสารด้วย ชีวิตยิ่งแย่ไปกว่า เพราะการไม่มีพ่อแม่ก็ยังพออยู่กับตัวเองได้ แต่ไม่มีเอกสารนี่ ทำให้รู้สึกว่าตัวเองผิดปกติ ต่ำต้อยและน้อยหน้าคนอื่น กลัวด้วย กลัวคนอื่นรู้ กลัวถูกตำรวจจับ บางครั้งต้องกลับมาบ้านร้องไห้กับตัวเอง

 

ความรู้สึกที่ถ่ายทอดจากประสบการณ์ความเจ็บปวดตั้งแต่เป็นเด็กหญิงตัวเล็กๆ จนบัดนี้เป็นสาววัยประมาณ ๒๕ ปี ของไข่มุก คงสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ความสำคัญของการมีตัวตนทางกฎหมาย สำหรับเด็กกำพร้าที่ต้องดิ้นรนคนหนึ่งนั้น สำคัญกว่าการมีพ่อมีแม่เสียอีก

 
หมายเลขบันทึก: 45524เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2006 22:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

นึกถึงกรณีน้องโบ หรือน้องนุ่น เด็กกำพร้าไร้รากเหง้า ที่เขียนใน ๒ กระทู้ก่อนหน้านี้

ถ้าไม่รีบแก้ไขปัญหาตั้งแต่ตอนเด็กๆ คงทำให้เขาโตมาพร้อมกับซึมซับความไม่มั่นคงในจิตใจเหมือนเช่นไข่มุก

ซึ่งถึงเวลานั้น คงยากกว่า เพราะต้องเยียวยาทั้งเรื่องสถานะทางกฎหมาย และเยียวยารักษาจิตใจ

ขอช่วยกันคิดด้วยค่ะ ว่าจะทำเช่นไรกับกรณีเหล่านี้??

เมื่อเดือนก่อนได้ทราบข่าวว่า ไข่มุกได้เลิกกับสามีแล้ว ขณะที่เธอก็กำลังตั้งครรภ์อยู่ในท้อง

รู้สึกตกใจ แต่ไม่ค่อยแปลกใจ เพราะเมื่อ ๒ เดือนก่อนตอนไปคุยที่บ้าน สามีเขาตอบคำถามแปลกๆ ให้เราสะดุดใจว่า "รู้สึกเสียหน้า ถ้าเพื่อนๆ หรือลูกค้า รู้ว่ามีแฟนเป็นอย่างนี้"

แล้วตอนจีบกันใหม่ๆ ไม่เห็นพูดกับไข่มุกอย่างนี้เลยนี่คะ

อดเป็นห่วงไข่มุกไม่ได้ ทำอย่างไรกันดี?

 

ห่วงเด็กมากกว่า แม้จะเลิกกับสามี แต่ที่จะต้องถามสามีว่า ยังรับเด็กในท้องเป็นลูกไหม ? ถ้าไม่ ? เราอาจต้องทำงานที่ไม่เคยทำมาก่อน ? ก็คือ ฟ้องพ่อให้รับลูกเป็นลูก หวังว่า จะไม่ต้องทำ

ในส่วนที่เกี่ยวกับคนไร้รากเหง้านั้น เป็นเรื่องหนัก สังคมไทยสงสาร แต่ความสงสารไม่บรรลุถึงการแก้ปัญหาเสียที

แม้เรื่องนี้ปรากฏในยุทธศาสตร์จัดการสถานะและสิทธิของบุคคล แต่เรื่องก็ไม่คืบหน้า

ก็เหมือนป๋าเปรมว่า ยุทธศาสตร์นั้น ถึงมี ก็ไม่ใช่จะเป็นผล

ขออภัยค่ะ มีความเข้าใจผิดในข้อมูลบางส่วนค่ะ

ความจริงแล้วน้องไข่มุกไม่ได้ตั้งครรภ์ค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท